เตือน! ดื่มน้ำมากเกินไปอาจสะเทือนถึงไตจากภาวะโซเดียมต่ำได้

ดื่มน้ำมากเกินไป

ตามความเข้าใจของทุกคนซึ่งถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก ๆ ในแต่ละวันควรดื่มน้ำให้ได้ไม่ต่ำกว่า 8-10 แก้ว หรือประมาณ 2 ลิตร เพื่อให้ร่างกายเกิดความชุ่มชื้น อวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ตามปกติ เลือดลมไหลเวียนดี นั่นจึงเป็นเหตุผลที่คนจำนวนไม่น้อยพยายามดื่มน้ำให้มากที่สุด อย่างไรก็ตามเมื่อมีการศึกษาอย่างลึกซึ้งกลับพบว่าการดื่มน้ำมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าที่คิดโดยเฉพาะอวัยวะอย่าง “ไต” จากภาวะโซเดียมต่ำ เรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหนลองมาหาคำตอบกันเลย

ปกติแล้วควรดื่มน้ำวันละกี่ลิตร

ตามที่เกริ่นเอาไว้ว่าตามการคำนวณพื้นฐานที่สามารถใช้เป็นข้อแนะนำเบื้องต้นให้กับทุกคนได้นั่นคือ ปกติแล้วควรดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว หรือประมาณ 2 ลิตร นั่นหมายถึงในแต่ละวันไม่ควรดื่มน้ำปริมาณน้อยกว่านี้เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณน้ำที่เพียงพอ

อย่างไรก็ตามเมื่อเจาะลึกลงไปก็ยังมีสูตรคำนวณปริมาณน้ำดื่มในแต่ละวันของทุกคนซึ่งจะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้านทั้งเรื่องน้ำหนักตัว กิจกรรมที่ทำ อายุ เพศ เป็นต้น โดยสูตรที่ใช้คำนวณในการหาปริมาณน้ำที่ควรดื่มต่อวัน คือ

            น้ำหนัก (กิโลกรัม) x 2.2 x 30/2 = ปริมาณน้ำ (มล.)

ตัวอย่างเช่น น้ำหนักตัว 55 x 2.2 x 30/2 = 1,815 มล. หรือประมาณ 1.8 ลิตร

ทั้งนี้หากกิจกรรมที่คุณทำในวันนั้น ๆ ต้องใช้แรงมากกว่าปกติ มีเหงื่อออกมาก เช่น ออกกำลังกายหนัก อยู่พื้นที่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ก็จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำที่ดื่มในวันดังกล่าวอีกประมาณ 0.5 – 1 ลิตร เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ

ดื่มน้ำมากเกินไปเสี่ยงต่อภาวะน้ำเป็นพิษ!

เมื่อเข้าใจถึงปริมาณการดื่มน้ำในแต่ละวันของตนเองกันไปแล้ว หลายคนยังอาจเข้าใจผิดว่าแบบนี้ก็สามารถดื่มน้ำให้เยอะสุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งดื่มเยอะเท่าไหร่ก็หมายถึงเป็นเรื่องดีต่อร่างกาย… จริงแล้วแนวคิดดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผิดอย่างมาก! เพราะการดื่มน้ำมากเกินไปอาจทำให้คุณเสี่ยงต่อการเกิด “ภาวะน้ำเป็นพิษ” ต่อร่างกาย ส่งผลกระทบกับไตได้

ภาวะน้ำเป็นพิษ คืออะไร และผลเสียจากการดื่มน้ำมากเกินไป

ภาวะน้ำเป็นพิษ คือ ภาวะที่เกิดจากร่างกายได้รับปริมาณน้ำดื่มมากจนเกินความจำเป็นกระทั่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการโซเดียมในเลือดต่ำกว่าปกติ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วปริมาณโซเดียมภายในเลือดควรอยู่ระหว่าง 135-145 mEg/L. แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณดื่มน้ำมากเกินไปจนค่าโซเดียมในเลือดต่ำกว่า 135 mEg/L. ก็จะเกิดภาวะน้ำเป็นพิษจากปริมาณโซเดียมในเลือดที่ต่ำกว่าปกตินั่นเอง โดยอาการเบื้องต้นที่สังเกตเห็นชัดเจนจากการที่ไตขับน้ำออกไม่หมด ประกอบไปด้วย

  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • อ่อนเพลีย
  • ท้องเสีย

กระทั่งเมื่อเซลล์เกิดการบวมน้ำเพิ่มอาการที่เกิดจะแสดงหนักขึ้น ได้แก่ สับสน มึนงง ง่วงซึม ปวดศีรษะ มือ เท้า ริมฝีปากบวม บางรายเมื่ออยู่ในขั้นระดับแร่ธาตุของร่างกายลดลงผิดปกติจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดตะคริวบริเวณกล้ามเนื้อ สูญเสียการรับรู้ ชัก ไม่ได้สติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

ขณะที่คนจำนวนไม่น้อยเมื่อดื่มน้ำมากเกินไปแม้อาการอาจไม่ได้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตแต่จะส่งผลกระทบต่อไตโดยตรง เนื่องจากการดื่มน้ำเยอะแต่ละครั้งไตต้องรับหน้าที่ในการกรองน้ำส่วนเกินออกจากเลือดมากกว่าปกติหลายเท่า ท้ายที่สุดจึงเสื่อมสภาพเร็วกว่าคนทั่วไป ต้องเข้าสู่กระบวนการฟอกไต อีกทั้งยังอาจได้โรคอื่นเพิ่มเติม เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือหัวใจวายเฉียบพลันได้

ดื่มน้ำมากเกินไป

กลุ่มบุคคลที่เสี่ยงต่อการดื่มน้ำมากเกินไปในแต่ละวัน

แม้โดยพื้นฐานแล้วควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร แต่สำหรับบางคนที่ต้องทำกิจกรรมหนักหรือมีภาวะผิดปกติ มีโรคในร่างกายซึ่งเสี่ยงต่อการดื่มน้ำมากเกินไปในแต่ละวันด้วย ได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคไต
  • ผู้ที่ออกกำลังกายหนักมาก หรือกลุ่มนักกีฬา
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ
  • ผู้ที่ต้องทำกิจกรรมกลางแดดจัด หรือพื้นที่มีอุณหภูมิสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่อยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมอากาศร้อนจัด
  • ผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงควบคุมน้ำหนักตัว หรือกลุ่มคนลดความอ้วน
  • ผู้ที่มีประวัติติดแอลกอฮอล์ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ที่มีประวัติเคยเสพ หรือยังเสพยาเสพติด
  • ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดา หรือทารกที่ได้รับน้ำนมจากมารดาซึ่งเป็นผู้ติดยาเสพติด หรือติดแอลกอฮอล์
  • ผู้ป่วยจิตเวชบางราย เช่น ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์

ตารางดื่มน้ำต่อวันที่เหมาะสมกับร่างกาย

สำหรับบางคนแม้จะมีการคำนวณตามสูตรที่เหมาะสมสำหรับการดื่มน้ำในแต่ละวันแล้ว ทว่าด้วยปัจจัยหลายด้านอาจทำให้ไม่แน่ใจว่าควรดื่มเท่าไหร่กันแน่ หรือควรดื่มแบบไหนเพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด สามารถนำตารางดื่มน้ำต่อวันที่แนะนำเหล่านี้ไปปรับใช้กันได้เลย

  • ผู้ชายควรดื่มน้ำประมาณ 3.7 ลิตร / วัน หรือประมาณ 15.5 แก้ว
  • ผู้หญิงควรดื่มน้ำประมาณ 2.7 ลิตร / วัน หรือประมาณ 11.5 แก้ว
  • เทคนิคในการดื่มน้ำที่ดีควรจิบคราวละน้อย ๆ ตลอดทั้งวันให้ครบตามจำนวนที่ร่างกายต้องการ
  • ไม่แนะนำให้ดื่มน้ำครั้งละมาก ๆ ภายในระยะเวลาสั้น ๆ เพราะจะทำให้ไตรับภาระหนักมากเกินไป (เฉลี่ยแล้วไม่ควรดื่มน้ำปริมาณ 1 ลิตร ภายใน 1 ชั่วโมง ติดต่อกัน)
  • ช่วงเวลาที่เหมาะสมตลอดวันในการดื่มน้ำที่แนะนำ ได้แก่
    • ดื่มน้ำ 1 – 2 แก้ว หลังพึ่งตื่นนอนตอนเช้า
    • ช่วงสาย 2 – 4 แก้ว รวมช่วงทานอาหารเช้า
    • ก่อนทานมื้อเที่ยง 1 แก้ว
    • ช่วงบ่าย 2 – 4 แก้ว รวมช่วงทานอาหารกลางวัน
    • ก่อนทานมื้อเย็น 1 แก้ว
    • หลังทานมื้อเย็น 2 แก้ว
    • ก่อนเข้านอน 1 ชั่วโมง 1 แก้ว

ดื่มน้ำมาก ปัสสาวะมาก เพราะเหตุใด

มีคนจำนวนไม่น้อยพยายามดื่มน้ำให้ได้ตามที่ร่างกายต้องการ สิ่งที่ตามมานั่นคือมีอาการปัสสาวะมาก เข้าห้องน้ำบ่อย ซึ่งในความเป็นจริงนี่ถือเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่กำลังบ่งบอกว่าคุณอาจดื่มน้ำมากเกินไปจนร่างกายพยายามขับออกทางปัสสาวะเพื่อปรับสมดุลแร่ธาตุให้ยังคงอยู่ในระดับเหมาะสม โดยเฉลี่ยแล้วต่อวันควรปัสสาวะไม่เกิน 6 – 8 ครั้ง รวมถึงอีกอาการที่บ่งบอกว่าคุณกำลังดื่มน้ำมากเกินไปนั่นคือสีของปัสสาวะเปลี่ยนจากสีเหลืองใสเล็กน้อย หรือสีเหลืองทอง เป็นสีใส

การดื่มน้ำประเภทอื่นเพื่อทดแทนน้ำเปล่าสะอาดทำได้หรือไม่

เชื่อว่ามีหลายคนยังมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องการดื่มน้ำประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงน้ำอัดลม สามารถทดแทนการดื่มน้ำเปล่าได้ ซึ่งในความเป็นจริงน้ำเหล่านั้นจะมีสิ่งที่เรียกว่า “คาเฟอีน” อันเป็นตัวการสำคัญที่มักทำให้ร่างกายพยายามขับน้ำออกมากกว่าปกติ ผลที่ตามมาคือนอกจากไม่ได้รับปริมาณน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตอย่างเพียงพอแล้ว ยังอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้อีกต่างหาก

ขณะที่การเลือกดื่มน้ำที่ไม่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น น้ำผลไม้ นม แม้ร่างกายจะได้รับปริมาณน้ำเท่ากับการดื่มน้ำเปล่าสะอาด แต่อย่าลืมว่าเครื่องดื่มเหล่านั้นมักมีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณมาก หากร่างกายได้รับเยอะเกินไปก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย ซึ่งผู้ที่ป่วยโรคเบาหวาน หรือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานยังมักสูญเสียน้ำมากกว่าคนทั่วไปเนื่องจากร่างกายมีการขับน้ำออกเยอะกว่าปกตินั่นเอง

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการดื่มน้ำ

นอกจากการดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกายซึ่งอาจมากหรือน้อยกว่า 2 ลิตร ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบุคคล รวมถึงไม่ควรดื่มน้ำชนิดอื่นทดแทนหรือนับเป็นการดื่มน้ำแล้ว ก็ยังมีความเชื่อผิด ๆ เรื่องอื่นเกี่ยวกับการดื่มน้ำที่ควรรู้เอาไว้ เพื่อการปฏิบัติตนเองอย่างถูกต้อง

1. การดื่มน้ำให้มากตามที่ร่างกายต้องการไม่ได้ทำให้เกิดโรคไต

แม้ผู้ป่วยโรคไตจะหมายถึงผู้ที่ไตทำงานผิดปกติ หรือไตเสื่อมสภาพจนไม่สามารถขับน้ำออกจากร่างกายได้เหมือนเดิม ยิ่งโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายอาจเสี่ยงต่อภาวะน้ำคั่งหรือน้ำท่วมปอดได้ง่าย แต่การดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอตามความจำเป็นของร่างกายไม่ได้ก่อให้เกิดโรคไต ในทางกลับกันน้ำยังเป็นผู้ช่วยลดความเข้มข้นของสารพิษที่ไปสู่ไตได้อีกด้วย

2. น้ำประปาต้มไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด

เชื่อว่าหลาย ๆ บ้านยังนิยมดื่มน้ำประปาต้มสุกด้วยคิดว่าสามารถขจัดเชื้อโรคและสารเคมีต่าง ๆ ออกไปจนหมด แต่ในความเป็นจริงขั้นตอนของการผลิตน้ำประปาจะต้องมีการใส่เกลืออะลูมิเนียมเพื่อทำให้สิ่งสกปรกทั้งหลายตกตะกอน รวมถึงยังมีการใส่คลอรีนฆ่าเชื้อโรค นั่นหมายถึงน้ำที่มาถึงบ้านไม่ได้มีเชื้อโรคใดอยู่แล้ว ทว่าสิ่งที่ตามมาแทนเมื่อต้มน้ำนั่นคือพิษของโลหะหนักที่อยู่ในน้ำประปาจะยิ่งเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น เป็นอันตรายกับร่างกายยิ่งกว่าเดิม

3. การดื่มน้ำด่างไม่ได้ป้องกันโรคมะเร็ง

มีอีกความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการดื่มน้ำด่าง หรือน้ำที่เพิ่มเติมเกลือแร่บางชนิดลงไปว่าช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง แต่จริงแล้วเป็นเพียงการปรับค่าความด่างให้สูงขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีผลใด ๆ กับร่างกาย มากไปกว่านั้นผู้ที่ป่วยโรคไต หรือมีภาวะเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ก่อนการเลือกดื่มน้ำด่าง

4. การดื่มน้ำ RO ดีต่อสุขภาพ

น้ำ RO คือ น้ำที่ผ่านกระบวนการกรองจากเครื่องกรองระบบ Reverse Osmosis จะทำให้แร่ธาตุหลายชนิดในน้ำถูกกำจัดออกไปพร้อมกับแบคทีเรียส่งผลให้ร่างกายมีโอกาสขาดแร่ธาตุบางชนิดในระยะยาว เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม นั่นจึงเป็นเหตุผลที่หลายประเทศไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องกรองน้ำชนิดนี้เด็ดขาด

สรุป

การดื่มน้ำมากเกินไปมีโอกาสส่งผลเสียต่อไตเนื่องจากภาวะโซเดียมในเลือดต่ำกว่าปกติ จึงควรคำนวณปริมาณการดื่มน้ำของตนเองให้เพียงพอแล้วเลือกดื่มน้ำสะอาดจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น บวกกับการทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสียสุขภาพ ความแข็งแรงอยู่ไม่ไกลเกินจริง

Ref:

  1. https://www.sikarin.com/health/water-intoxication
  2. https://www.petcharavejhospital.com/en/Article/article_detail/Over-Drink-Water-Negative-Effects-to-Health
  3. https://www.pobpad.com/ดื่มน้ำมากเกินไปส่งผลเ
  4. https://ch9airport.com/th/จริง-ๆ-แล้ว-เราควรดื่มน้/
  5. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ดื่มน้ำ-ยังไง-ให้ดีต่อร่/
  6. https://www.phyathai.com/th/article/2581-why_drinking_a_lot_of_water_cannot_cause_you_branchpyt2

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *