วิตามินเอ (Vitamin A) มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร?

วิตามินเอ

วิตามินเอ (Vitamin A) มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร?

คุณเคยได้ยินไหม? กับความเชื่อที่ว่า “การทานแครอทช่วยให้มองเห็นในที่มืดได้ดีขึ้น” 

แครอทมีสารอาหารสำคัญที่เรียกว่าเบต้าแคโรทีน (เป็นสารที่ทำให้แครอทสีส้ม) มีบทบาทช่วยเสริมสร้างวิตามินเอ ต่อร่างกายและช่วยให้สายตาของคุณสามารถปรับสภาพในสภาวะที่มีแสงน้อยได้ดี แต่ถึงแม้จะทานแครอทอย่างเป็นประจำก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถทำให้คุณมีพลังพิเศษในการมองเห็นในที่มืดได้ตามความเชื่อที่เขาว่ากัน อย่างไรก็ตามการรับประทานแครอทในปริมาณที่เหมาะสมนั้นยังคงให้ประโยชน์ต่อสุขภาพสายตาของเรา

วิตามินเอ (Vitamin A) ยังช่วยในการผลิตและส่งเสริมระบบการทำงานของเม็ดเลือดขาว ปรับปรุงโครงสร้างกระดูก รวมถึงช่วยบำรุงเซลล์เนื้อเยื่อบุโพรง และควบคุมการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์ เช่น เซลล์ที่จำเป็นในการสืบพันธุ์

วิตามิน A สามารถแบ่งออกได้หลัก ๆ อยู่ 2 ประเภทคือ 

  • พรีฟอร์มวิตามิน A (Preformed vitamin A) หรือที่เรียกว่าเรตินอล ซึ่งพบได้ในเนื้อสัตว์ และอาหารเสริม 
  • โปรวิตามิน A คาโรทีนอยด์ (Provitamin A) เช่น เบต้าแคโรทีน ที่จะถูกเปลี่ยนเป็นเรตินอล ซึ่งพบได้ในพืชตามธรรมชาติ นอกจากนี้คาโรทีนอยด์ยังมีรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นวิตามิน A ได้ แต่มีสารสำคัณที่ช่วยส่งเสริมด้านสุขภาพ เช่น ไลโคพีน ลูทีน และซีแอนแธนธิน

ปริมาณสารอาหารที่แนะนำ

ปริมาณสารอาหารตามคำแนะนำของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสารอาหารแมคโคร หรือไมโคร จะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของประชากร จุดประสงค์ เทคโนโลยี และงานวิจัยที่เลือดใช้ โดยจะมีการอัพเดทในทุกๆ 5 ปีตามการค้นพบทางการแพทย์ใหม่ๆ (ปัจจุบันเป็นรอบ 2020-2023) โดยชื่อเรียกตามมาตรฐานจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น Recommeded Dietary Allowances (RDA), Dietary Standard, Safe Inteake of Nutrients, Recommended Nutrient Intakes หรือ Recommended Dietary Intakes โดยคุณสามารถดู RDA ของแต่ละสารอาหารได้ตามนี้ [RDA เปรียบเทียบตามแต่ละช่วงอายุ] 

วิตามินเอ (Vitamin A) มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร?

มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าการบริโภคอาหารหลากหลายชนิดที่มีวิตามิน A สูงโดยเฉพาะผลไม้และผัก สามารถช่วยป้องกันโรคบางชนิดได้ อย่างไรก็ตามประโยชน์ทางสุขภาพจากการรับประทานวิตามิน A ในรูปแบบอาหารเสริมยังไม่เป็นที่แน่ชัด

โรคมะเร็ง

มะเร็งปอด: การศึกษาที่ติดตามบุคคลที่ไม่สูบบุหรี่ และบุคคลที่สูบบุหรี่ในปัจจุบันหรือเคยสูบบุหรี่พบว่าการบริโภคคาโรทีนอยด์ที่อยู่ในระดับสูงจากผลไม้และผัก มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดที่ต่ำลง อย่างไรก็ตาม ในการทดลองขนาดใหญ่ที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มไม่พบว่าการใช้อาหารเสริมเบต้าคารอทีนและวิตามิน A สามารถช่วยป้องกันหรือลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดได้ 

อีกทั้ง พบว่าผู้ทดลอง 2 ใน 3 ของกลุ่มนี้ มีความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อมีการใช้อาหารเสริมเบต้าคารอทีน หรือเรตินอลปาล์มิเทตร่วมด้วย (รูปแบบหนึ่งของวิตามิน A) ดังนั้น แนะนำให้ผู้ที่สูบบุหรี่ในปัจจุบันหรือเคยสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการใช้อาหารเสริมเบต้าคารอทีนและเรตินอลปาล์มิเทตในปริมาณสูง นอกจากนี้ จากหลักฐานปัจจุบัน คณะกรรมการบริการสุขภาพของสหรัฐฯไม่สนับสนุนการใช้เสริมเบต้าคารอทีนเพื่อป้องกันมะเร็งใด ๆ

มะเร็งต่อมลูกหมาก: ไลโคปีนเป็นแคโรทีนอยด์ที่ทำให้ผลไม้และผักมีสีชมพูหรือสีแดง เช่น มะเขือเทศและส้มโอ ซึ่งไลโคปีนมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจึงทำให้มีคนสนใจเกี่ยวกับผลของไลโคปีนต่อมะเร็งเป็นอย่างมาก

มีการศึกษาได้ระบุถึงความเสี่ยงที่ลดลงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชายที่บริโภคผลไม้และผักในปริมาณมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าการศึกษาไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนเจาะจงถึงผลของไลโคปีน

ทั้งนี้การศึกษาของฮาร์วาร์ดในผู้ชายมากกว่า 51,000 คนจาก Health Professionals Follow-up Study พบว่าการรับประทานซอสมะเขือเทศในปริมาณมากมีผลในการป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะลุกลาม และการวิเคราะห์อภิมานในปี 2558 จากการศึกษา 26 ชิ้นพบว่าการบริโภคไลโคปีนที่สูงขึ้นนั้นช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบของ US FDA ระบุว่าไม่สามารถสรุปผลที่ชัดเจนเกี่ยวกับไลโคปีนได้ ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การรายงานปริมาณไลโคปีนที่ถูกต้องนั้นทำได้ยาก เกิดจากความผันแปรของปริมาณไลโคปีนระหว่างการปรุงอาหารและการเก็บรักษา อีกประการหนึ่งคืออาหารที่อุดมด้วยไลโคปีนมักมีสารประกอบป้องกันมะเร็งอื่นๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะแยกผลลัพธ์ของไลโคปีนว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ

โรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ

โรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุ (Age – Related Macular Degeneration) เป็นอาการทางสายตาที่ไม่แสดงความเจ็บปวดแต่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปสูญเสียการมองเห็นได้ ซึ่งโรคนี้จะทำให้ความคมชัดของการมองเห็น และการมองตรงกลางถูกบิดเบือน ซึ่งมีความสำคัญต่อการมองเห็นแบบที่ต้องใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น การอ่าน และการขับรถ 

สาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ยังไม่ชัดเจน แต่มีความเชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ซึ่งในผู้สูบบุหรี่และผู้ที่รับประทานอาหารโดยขาดผักและผลไม้จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมตามอายุสูง

ลูทีนและซีแซนทีนเป็นแคโรทีนอยด์ 2 ชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระซึ่งพบในจอประสาทตา (เป็นเนื้อเยื่อตาที่ถูกทำลายเมื่อมีอาการประสาทตาเสื่อม) มีการศึกษาเกี่ยวกับอาหารเสริมที่มีลูทีนและซีแซนทีน รวมทั้งเบต้าแคโรทีน ที่ให้ผลลัพธ์ว่าสารเหล่านี้อาจมีประโยชน์ในการป้องกันหรือรักษาภาวะนี้

การศึกษาโรคตาที่เกี่ยวข้องกับอายุ (AREDS, AREDS2) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก National Institutes of Health ของสหรัฐอเมริกาพบว่าการรับประทานวิตามินในปริมาณสูงทุกวัน รวมทั้งวิตามิน C  E ลูทีนและซีแซนทีนสามารถชะลอการพัฒนาของจอประสาทตาเสื่อมได้ในระยะกลางและระยะสุดท้าย โดยเฉพาะในกลุ่มที่ทานแคโรทีนอยด์ในปริมาณต่ำที่สุด

อาหารที่มีวิตามินเอ (Vitamin A Foods)

วิตามิน A สามารถพบได้ในอาหารเช้าซีเรียล น้ำผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากนม และอาหารอื่นๆ หลากหลายชนิดที่มีเรตินอล (พรีฟอร์มวิตามิน A) รวมถึงผัก ผลไม้และอาหารเสริมบางชนิดที่มีส่วนผสมของเบต้าแคโรทีน ไลโคปีน ลูทีน หรือซีแซนทีน 

รวมถึงในอาหาร เช่น

  • ปลาบางชนิด เช่น ปลาแฮร์ริ่งและปลาแซลมอน
  • ตับวัวและเครื่องในสัตว์อื่นๆ (ซึ่งมีคอเลสเตอรอลสูงเช่นกัน ดังนั้นควรจำกัดปริมาณการรับประทาน)
  • ผักใบเขียวและผักสีเขียว ส้ม และเหลืองอื่นๆ เช่น ผักโขม มันเทศ แครอท บรอกโคลี และฟักทองเทศ
  • ผลไม้ ได้แก่ แคนตาลูป มะม่วง และแอปริคอต
  • ผลิตภัณฑ์นม เช่น นมและชีส
  • ซีเรียลอาหารเช้า
  • ไข่

ผลจากการขาดวิตามินเอ (Vitamin A Deficiency)

ภาวะการขาดวิตามิน A นั้นพบได้น้อยมากแต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยภาวะต่างๆ ที่รบกวนการย่อยอาหารสามารถนำไปสู่การดูดซึมวิตามิน A ที่แย่ลง เช่น โรคเซลิแอค โรคโครห์น โรคตับแข็ง โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคซิสติกไฟโบรซิส รวมถึงผู้ใหญ่และเด็กที่รับประทานอาหารอย่างจำกัดเนื่องจากมีความยากจนหรือการพยายามในการจำกัดปริมาณอาหารสามารถมีความเสี่ยงเช่นกัน การขาดวิตามิน A ในระดับไม่รุนแรงอาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้า ไวต่อการติดเชื้อ และเกิดภาวะมีบุตรยาก 

ส่วนอาการดังต่อไปนี้เป็นสัญญาณของความบกพร่องที่อยู่ในระดับร้ายแรง

  • มีอาการตาแห้งรุนแรงที่หากไม่รักษาอาจทำให้ตาบอดได้
  • อาการตาบอดกลางคืน
  • ความผิดปกติของตาขาว
  • ผิวหรือผมแห้ง

คนกลุ่มเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาในการได้รับวิตามิน A มากกว่าคนอื่นๆ:

  • ทารกที่เกิดก่อนกำหนด
  • ทารก เด็กเล็ก คนท้อง และคนให้นมบุตรในประเทศที่กำลังพัฒนา*
  • ผู้ที่เป็นโรคซิสติกไฟโบรซิส
  • ผู้ที่เป็นโรคโครห์น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล หรือโรคเซลิแอค

*มีผลสำรวจจาก WHO ระบุว่าวิตามิน A เป็นวิตามินที่มักจะขาดในเด็กและคุณแม่ตั้งครรภ์ในประเทศที่กำลังพัฒนา (Developing country) โดยเฉพาะกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อาการเป็นพิษ

ในขณะที่การขาดวิตามิน A สามารถพบได้บ่อยในประเทศที่กำลังพัฒนา ความเป็นพิษจากวิตามิน A มักพบได้บ่อยในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการได้รับพรีฟอร์มวิตามิน A ในปริมาณมากจากอาหารเสริมบางชนิดที่มากเกินไป

วิตามิน A ยังมีคุณสมบัติละลายได้ในไขมัน หมายความว่าเป็นปริมาณวิตามิน A ที่ร่างกายไม่ได้นำไปใช้ในทันที ซึ่งจะถูกดูดซึมและกักเก็บไว้ในเนื้อเยื่อไขมัน และหากถูกกักเก็บมากเกินไปอาจก่อความเป็นพิษ และมีความอันตรายต่อร่างกายได้

การบริโภคพรีฟอร์มวิตามิน A จากอาหารเสริมในปริมาณ 3 เท่า (ประมาณ 3,000 ไมโคกรัม) ของปริมาณที่แนะนำต่อวันยังถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม มีบางการศึกษาที่แสดงให้ว่าการกักเก็บวิตามิน A ในปริมาณมากขนาดนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญเสียมวลกระดูก กระดูกสะโพกหัก หรือทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิด อีกเหตุผลหนึ่งที่ควรหลีกเลี่ยงการทานวิตามิน A ในปริมาณมากเพราะสามารถรบกวนการทำงานของวิตามิน D ได้ 

โดยสัญญาณของความเป็นพิษจากวิตามิน A มีดังนี้

  • การมองเห็นเปลี่ยนไป เช่น มองเห็นไม่ชัด
  • ปวดกระดูก
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ผิวแห้ง
  • ความอ่อนไหวต่อแสงจ้าและ แสงแดด

ในทางตรงกันข้าม เบต้าแคโรทีนเป็นสารที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกายแม้ได้รับการบริโภคในปริมาณสูง ร่างกายสามารถสร้างวิตามิน A จากเบต้าแคโรทีนได้ตามต้องการ และไม่จำเป็นต้องควบคุมปริมาณที่ได้รับเหมือนพรีฟอร์มวิตามิน A ดังนั้นคุณจึงควรเลือกอาหารเสริมวิตามินรวมที่มีวิตามิน A ในรูปแบบของเบต้าแคโรทีนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผู้ผลิตวิตามินรวมหลายรายเริ่มมีการลดปริมาณพรีฟอร์มวิตามิน A ในผลิตภัณฑ์แล้ว อย่างไรก็ตามหากคุณคือผู้ที่สูบบุหรี่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารเสริม เนื่องจากการทดลองสุ่มตัวอย่างในผู้สูบบุหรี่ได้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางอาหารเสริมปริมาณสูงกับความเสี่ยงมะเร็งปอดที่เพิ่มขึ้น

อาหารเสริมวิตามินเอ ไม่ควรทานร่วมกับยาชนิดใด?

อาหารเสริมวิตามิน A ไม่ควรทานกับยาบางชนิด เช่น

  • Orlistat (Alli®, Xenical®) ซึ่งเป็นยาลดน้ำหนักสามารถลดการดูดซึมวิตามิน A ได้ ซึ่งอาจทำให้ระดับวิตามิน A ในเลือดต่ำในบางราย
  • Acitretin (Soriatane®) ที่ใช้ในการรักษาโรคสะเก็ดเงิน และ bexarotene (Targretin®) ใช้ในการรักษาผลกระทบทางผิวหนังของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทีเซลล์ ที่ทำมาจากวิตามิน A การใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับอาหารเสริมวิตามิน A อาจทำให้ระดับวิตามิน A ในเลือดสูงจนเป็นอันตรายได้

คุณควรแจ้งให้แพทย์ เภสัชกร และผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพ ทราบถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยาที่คุณรับประทานอยู่เป็นประจำทุกครั้ง เพื่อที่พวกเขาจะสามารถแนะนำคุณได้ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านั้นจะมีผลดีหรือร้ายเมื่อใช้ร่วมกันอย่างไรบ้าง

รู้หรือไม่?

มีการกล่าวอ้างว่าวิตามิน A (ในรูปของเรตินอลหรือเรตินอล พัลมิเทต) ที่มักใช้ในครีมกันแดด มอยส์เจอไรเซอร์ และลิปมันบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการเป็นพิษหรือ เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งได้หากใช้มากเกินไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนเรื่องนี้ รวมถึงวิตามิน A ในครีมทั่วไปนั้นจะไม่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้นจึงไม่ทำให้เป็นพิษต่อร่างกาย

ความกังวลเกี่ยวกับโรคมะเร็งเกิดจากการศึกษาในหนูที่จัดทำโดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลการวิจัยพบว่า Oxidation stress ที่เพิ่มขึ้น (สารตั้งต้นของการเกิดมะเร็ง) ในเซลล์มะเร็งที่สัมผัสกับเรตินอล พัลมิเทตและแสงอัลตราไวโอเลต 

หลังจากมีการทบทวนการศึกษาเหล่านี้และการศึกษาอื่นๆ แถลงการณ์จาก American Academy of Dermatology ยืนยันว่า “ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันจากการศึกษา ไม่พบหลักฐานน่าเชื่อถือที่สนับสนุนแนวคิดที่ว่าเรตินิลปาล์มิเทตในครีมกันแดดจะทำให้เกิดมะเร็งได้ ” พวกเขาใช้การอ้างถึงปฎิกิริยาการตอบสนองที่ไวของหนูต่อมะเร็งผิวหนังหลังจากได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต แม้ในกรณีที่ไม่มีเรตินอล พัลมิเทต ดังนั้นผลการศึกษาในสัตว์ทดลองเหล่านี้จึงไม่ควรนำไปใช้กับมนุษย์

ทั้งนี้เรตินอยด์ในครีมบำรุงผิวอาจส่งผลให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น ดังนั้นควรทาครีมที่มีส่วนผสมของวิตามิน A ในตอนกลางคืนและหลีกเลี่ยงแสงแดดหลังจากการใช้

คำแนะนำ

ควรรับประทานผักผลไม้ที่มีสีเหลือง แดง ส้ม เพื่อให้ได้ประโยชน์ที่ไม่ใช่เพียงแค่วิตามิน A แต่ยังรวมถึงแคโรทีนอยด์อื่นๆ ด้วย และอาหารเหล่านี้ยังมีความปลอดถัยต่อร่างกายมากกว่าเพราะร่างกายของคุณสามารถดึงออกมาใช้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการReference

  1. National Institutes of Health Office of Dietary Supplements: Vitamin A Fact Sheet for Health Professionals https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminA-HealthProfessional/#en24. Accessed 6/18/2018.
  2. U.S. Preventive Services Task Force. Vitamin Supplementation to Prevent Cancer and CVD: Preventive Medication https://www.uspreventiveservicestaskforce.org/Page/Document/UpdateSummaryFinal/vitamin-supplementation-to-prevent-cancer-and-cvd-counseling. Accessed 6/18/2018.
  3. National Cancer Institute. Prostate Cancer, Nutrition, and Dietary Supplements (PDQ®)–Health Professional Version: Lycopene. https://cancer.gov/about-cancer/treatment/cam/hp/prostate-supplements-pdq#section/_16. Accessed 6/18/2018.
  4. Giovannucci, E., et al. Risk factors for prostate cancer incidence and progression in the health professionals follow-up study. Int J Cancer, 2007. 121(7): p. 1571-8.
  5. Chen P, Zhang W, Wang X, Zhao K, Negi DS, Zhuo L, Qi M, Wang X, Zhang X. Lycopene and Risk of Prostate Cancer: A Systematic Review and Meta-Analysis. Medicine. 2015 Aug;94(33):e1260.
  6. Kavanaugh CJ1, Trumbo PR, Ellwood KC. The U.S. Food and Drug Administration’s evidence-based review for qualified health claims: tomatoes, lycopene, and cancer. J Natl Cancer Inst. 2007 Jul 18;99(14):1074-85. Epub 2007 Jul 10.
  7. Age-Related Eye Disease Study Research Group. A randomized, placebo-controlled, clinical trial of high-dose supplementation with vitamins C and E, beta carotene, and zinc for age-related macular degeneration and vision loss: AREDS report no. 8.  Arch Ophthalmol. 2001;119(10):1417-1436.
  8. Age-Related Eye Disease Study 2 Research Group. Lutein + zeaxanthin and omega-3 fatty acids for age-related macular degeneration: the Age-Related Eye Disease Study 2 (AREDS2) randomized clinical trial. JAMA. 2013 May 15;309(19):2005-15.
  9. Feskanich D, Singh V, Willett WC, Colditz GA. Vitamin A intake and hip fractures among postmenopausal women. JAMA. 2002; 287:47-54.
  10. Michaelsson K, Lithell H, Vessby B, Melhus H. Serum retinol levels and the risk of fracture. N Engl J Med. 2003; 348:287-94.
  11. Penniston KL, Tanumihardjo SA. The acute and chronic toxic effects of vitamin A. Am J Clin Nutr. 2006; 83:191-201.
  12. Azais-Braesco V, Pascal G. Vitamin A in pregnancy: requirements and safety limits. Am J Clin Nutr. 2000; 71:1325S-33S.
  13. Omenn GS, Goodman GE, Thornquist MD, et al. Effects of a combination of beta carotene and vitamin A on lung cancer and cardiovascular disease. N Engl J Med. 1996; 334:1150-5.
  14. Albanes D, Heinonen OP, Taylor PR, et al. Alpha-tocopherol and beta-carotene supplements and lung cancer incidence in the alpha-tocopherol, beta-carotene cancer prevention study: effects of base-line characteristics and study compliance. J Natl Cancer Inst. 1996; 88:1560-70.
  15. Virtamo J, Pietinen P, Huttunen JK, et al. Incidence of cancer and mortality following alpha-tocopherol and beta-carotene supplementation: a postintervention follow-up. JAMA. 2003; 290:476-85.
  16. Xia Q1, Yin JJ, Wamer WG, Cherng SH, Boudreau MD, Howard PC, Yu H, Fu PP. Photoirradiation of retinyl palmitate in ethanol with ultraviolet light–formation of photodecomposition products, reactive oxygen species, and lipid peroxides. Int J Environ Res Public Health. 2006 Jun;3(2):185-90.
  17. American Academy of Dermatology press release. Analysis finds sunscreens containing retinyl palmitate do not cause skin cancer. August 10, 2010. https://aad.org/media/news-releases/analysis-finds-sunscreens-containing-retinyl-palmitate-do-not-cause-skin-cancer. Accessed 6/25/2018.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *