อาหารแสลง คืออะไร มีประเภทไหนไม่ควรทานเมื่อร่างกายไม่ปกติ

อาหารแสลง

หลายคนเวลาเจ็บป่วย ไม่ค่อยสบาย หรือพึ่งเข้ารับการรักษาในรูปแบบต่าง ๆ สิ่งที่มักคุ้นชินทั้งคนเฒ่าคนแก่ พ่อแม่ ไปจนถึงแพทย์ พยาบาล มักบอกอยู่ตลอดนั่นคืออย่าพยายามทาน “อาหารแสลง” เพราะอาจทำให้ร่างกายแย่ลงทั้งที่ควรต้องได้รับการซ่อมแซม หรือการบำรุงมากกว่าปกติ จนสร้างความสงสัยอยู่พอสมควรว่าอาหารแสลง คืออะไร แล้วการที่ร่างกายไม่ปกติแบบไหนบ้างไม่ควรทานเป็นอันขาด ลองมาไล่เรียงกันแบบครบถ้วนได้เลย

อาหารแสลง คืออะไร

อาหารแสลง คือ อาหารที่ทานเข้าสู่ร่างกายแล้วมีโอกาสเกิดผลเสียในระหว่างที่ร่างกายกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูซ่อมแซมจากการเจ็บป่วย ได้รับบาดเจ็บ หรือพึ่งผ่านการผ่าตัด โดยปกติแล้วอาหารทุกชนิดหากทานในปริมาณที่เหมาะสมจะมีส่วนสำคัญในการบำรุงสุขภาพ ช่วยให้เกิดความแข็งแรง อย่างไรก็ตามหากช่วงดังกล่าวร่างกายมีความผิดปกติอาหารที่ทานเข้าไปบางประเภทอาจส่งผลทำให้อาการแย่ลง เกิดผลข้างเคียง หรือเกิดสิ่งไม่พึงประสงค์ขึ้นได้

ทั้งนี้ในเชิงแพทย์แผนจีนอาหารแสลงยังมีความหมายรวมถึงอาหารที่กำลังมีอุณหภูมิเหมาะสม ไม่เย็น (หยิน) หรือไม่ร้อน (หยาง) จนเกินไป รวมถึงต้องเป็นอาหารผ่านกระบวนการทำจนสุกแล้วภายใต้ระดับความร้อนที่กำลังพอดีเท่านั้นเพื่อให้ร่างกายได้รับสิ่งดีที่สุดเข้าไป ไม่สร้างอันตรายหรือผลข้างเคียงจนอาจเกิดความเจ็บป่วยขึ้นได้

ปัจจุบันด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่มากขึ้น บวกกับคำว่า “อาหารแสลง” เป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเล็กจากคนรุ่นก่อน ทำให้บางคนอาจมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความเชื่อผิด ๆ แต่ในความเป็นจริงทางการแพทย์สมัยใหม่ก็มีการศึกษาวิจัยจนสร้างข้อมูลยืนยันได้ชัดเจนว่าอาหารบางชนิดก็ “แสลง” ต่อร่างกายได้เช่นกัน

อะไรบ้างที่เป็นของแสลงสำหรับร่างกาย

เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นจึงเกิดข้อสรุปด้วยการนำเอาข้อมูลของการแพทย์ทุกศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์สมัยใหม่ การแพทย์จีน การแพทย์ไทยมาผสานเข้าด้วยกัน และมีการระบุเอาไว้ชัดเจนถึงอาหารแสลงสำหรับร่างกาย ดังนี้

  • อาหารปรุงไม่สุก หรือ อาหารดิบ มีผลโดยตรงต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบย่อยอาหาร ร่างกายอาจเกิดภาวะปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียนได้
  • อาหารที่มีความร้อนมากเกินไป ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนักกว่าปกติ เกิดความร้อนและความชื้นสะสม อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นสร้างผลกระทบต่ออวัยวะหลายชนิด เช่น ปอด ลำไส้ ไต ดวงตา ปาก อาการที่พบเจอได้ อาทิ ท้องผูก เกิดแผลในช่องปาก แผลในหลอดอาหาร เจ็บคอ ระดับความดันโลหิตสูง ตาแฉะ ผมร่วง รู้สึกปวดเมื่อยบริเวณเอว เป็นต้น
  • อาหารที่ผ่านขั้นตอนหรือกระบวนการมากเกินไป มีการปรุงแต่งเกินพอดี ทำให้คุณค่าทางสารอาหารที่ควรได้รับตามธรรมชาติหายตามไปด้วย ไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ เช่น การทอดในความร้อนสูง น้ำมันท่วม การย่างจากไฟแรงหรือสัมผัสกับไฟโดยตรง เป็นต้น
  • การทานอาหารที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายในช่วงที่ร่างกายเกิดการเจ็บป่วย มีโรค กำลังอยู่ในช่วงการฟื้นฟู หรือพึ่งผ่านการผ่าตัด

อาหารแสลง แผลอักเสบ มีอะไรบ้าง

หนึ่งในสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีมาตั้งแต่เด็กเกี่ยวกับการทานอาหารแสลงแล้วส่งผลเสียต่อร่างกายนั่นคือ การทานอาหารแสลงขณะที่เกิดแผลอักเสบ ซึ่งอาจกำลังมีข้อสงสัยว่ามักเป็นอาหารกลุ่มไหนบ้าง แล้วเกิดผลเสียอย่างไร ลองมาเช็กกันเลย

1. กลุ่มอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ

นอกจากทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะท้องเสีย ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ ซึ่งทำให้ร่างกายอ่อนเพลียมากขึ้นแล้ว ในอาหารดังกล่าวยังอาจมีเชื้อโรคแอบเข้าไปยังกระแสเลือดส่งผลให้เกิดภาวะติดเชื้อ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการซ่อมแซมฟื้นฟูร่างกาย แผลหายช้า และอาจติดเชื้อลุกลามได้ง่ายขึ้น

2. กลุ่มอาหารหมักดอง

อย่างที่รู้กันว่าแม้อาหารหมักดองบางชนิดจะมีรสชาติอร่อย แต่ด้วยขั้นตอนการทำบวกกับกระบวนการภายในอาหารที่เกิดขึ้นมักไม่ค่อยตรงตามหลักโภชนาการเท่าใดนัก เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคโดยตรงไม่ต่างกับอาหารดิบ หากคุณกำลังมีแผลอักเสบทั้งจากอุบัติเหตุหรือพึ่งผ่านการผ่าตัดไม่แนะนำให้ทานในทันที และควรทานหลังจากแผลหายดีแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้แผลสามารถฟื้นตัวได้เร็วและกลับเป็นปกติมากที่สุด

3. กลุ่มอาหารไขมันสูง

ไม่ว่าจะเป็นของมัน ของทอด และทุกประเภทที่มีปริมาณไขมันสูงมากเกินไปมักส่งผลโดยตรงทำให้แผลหายช้ากว่าปกติ สาเหตุสำคัญเกิดจากปริมาณไขมันดังกล่าวจะเข้าไปอุดตันในเส้นเลือด เลือดจึงไหลเวียนได้ไม่สะดวก สารแอนตี้ออกซิแดนท์ (สารต้านอนุมูลอิสระ) ถูกทำลายนั่นเอง

4. กลุ่มอาหารรสจัด

อาหารรสจัดก็ถือเป็นกลุ่มอาหารแสลงที่ไม่ควรทานในระหว่างที่กำลังรักษาตัวทั้งจากบาดแผลทั่วไปรวมถึงพึ่งผ่านการผ่าตัด ซึ่งคำว่าอาหารรสจัดหมายถึงอาหารที่มีปริมาณรสชาติหรือสารอาหารบางประเภทสูงเกินไป เช่น โซเดียมสูง เผ็ดจัด เค็มจัด หวานจัด อย่างอาหารรสหวานหรือโซเดียมสูงจะทำให้เลือดข้นเหนียวจับตัวมากกว่าปกติ ส่งผลต่อระดับความดันโลหิตสูงขึ้น ร่างกายดึงน้ำออกจากกระแสเลือดนั่นทำให้สารอาหารบางชนิดที่จำเป็นต้องการซ่อมแซมฟื้นฟูบาดแผลก็ถูกดึงออกตามไปด้วย เนื้อเยื่อในร่างกายไม่สามารถเติบโตได้ตามปกติ แผลจึงหายช้า

5. กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ปกติแล้วการดื่มแอลกอฮอล์มักทำให้เลือดในร่างกายเกิดการสูบฉีด ระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น ระดับการแข็งตัวของเลือดลดลง จึงมีผลโดยตรงต่อกระบวนการซ่อมแซมของร่างกาย มากไปกว่านั้นเครื่องดื่มดังกล่าวยังมักทำให้บาดแผลเกิดภาวะเลือดซึมออกสู่ภายนอกนานกว่าปกติ ร่างกายจึงมีการขับธาตุสังกะสีมากเกินพอดี จึงเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้แผลหายช้า อีกเรื่องคือประสิทธิภาพของยาที่ได้รับจะถูกลดทอนลงเมื่อเจอกับแอลกอฮอล์และอาจส่งผลให้แผลเกิดการติดเชื้อง่ายกว่าเดิมด้วย

6. กลุ่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

คาเฟอีนส่งผลกระทบโดยตรงต่อการนอนหลับเพราะจะเข้าไปกระตุ้นระบบประสาทให้ยังคงทำงาน ผู้ป่วยบางคนจึงไม่รู้สึกง่วง นอนหลับยาก นอนไม่เพียงพอ เมื่อร่างกายไม่ได้พักผ่อนการซ่อมแซมฟื้นฟูย่อมทำให้น้อยตามไปด้วย ส่วนมากแพทย์จึงมักไม่แนะนำให้ดื่มชา กาแฟ เมื่อคุณได้รับบาดเจ็บหรือพึ่งผ่านการผ่าตัด

จะเห็นว่าอาหารเหล่านี้นอกจากส่งผลเสียต่อบาดแผลทำให้หายช้าแล้ว ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มของแสลงหลังศัลยกรรมที่ไม่แนะนำให้ทานหากพึ่งผ่านการผ่าตัดไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม

ไข่เป็นของแสลงไหม

นี่เป็นอีกคำพูดที่ได้ยินกันบ่อย ๆ เกี่ยวกับอาหารแสลงกับคำถามที่ว่า “ไข่เป็นของแสลงไหม?” ซึ่งในความเป็นจริงไข่จัดเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อัดแน่นด้วยสารอาหารมากมายโดยเฉพาะโปรตีนที่มีส่วนช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ แต่เหตุผลที่แพทย์มักบอกว่าหากกำลังเป็นแผลหรือพึ่งผ่านการผ่าตัดอย่าพึ่งทานเมนูไข่เพราะ ในไข่จะมีเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ “ซาลโมเนลลา” (Salmonella) เชื้อโรคที่มักปนเปื้อนอยู่ในอาหารดิบ ดังนั้นหากทานไข่ดิบหรือไข่ที่ไม่ผ่านการปรุงสุกในอุณหภูมิเหมาะสมก็อาจก่อให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง อาหารเป็นพิษ จนร่างกายอ่อนแอลงได้นั่นเอง

อาหารแสลงริดสีดวงมีอะไรบ้าง มาเช็กกันเลย

อีกโรคที่คนส่วนใหญ่มักเป็นกังวลว่าการทานอาหารบางชนิดเข้าไปอาจเป็นอาหารแสลงทำให้ตัวโรคหายช้านั่นคือ “โรคริดสีดวง” ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง เพราะมีบางเมนู บางวัตถุดิบที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอาหารแสลงริดสีดวงด้วยเช่นกัน ได้แก่

  • อาหารที่มีส่วนผสมของนม เนย ชีส และอื่น ๆ อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง ไม่เป็นผลดีต่อตัวโรค
  • เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง แฮม เบคอน โบโลน่า มักทำให้อุจจาระแข็ง
  • อาหารกลุ่มแป้งผ่านการขัดสี เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว บะหมี่ พาสต้า เส้นก๋วยเตี๋ยว
  • อาหารที่ผ่านการทอดด้วยน้ำมันท่วม เพราะมีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ยากขึ้น
  • อาหารรสเผ็ดจัด เมื่อถึงตอนที่ต้องขับถ่ายอาจส่งผลกระทบต่อภาวะแสบร้อนบริเวณริดสีดวง
  • กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ส่งผลให้การขับถ่ายยากขึ้น อุจจาระมีก้อนแข็ง

อาหารแสลงโรคผิวหนัง คัน มีอะไรบ้าง

ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคผิวหนัง เกิดอาการคันตามร่างกาย ก็มีกลุ่มอาหารแสลงที่ไม่ควรทานอยู่ด้วย เพราะอาจยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้อาการดังกล่าวรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาหารแสลงโรคผิวหนัง คัน ได้แก่ กลุ่มอาหารหมักดอง อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารแปรรูปทุกชนิด หน่อไม้ เห็ดทุกประเภท อาหารทะเล เนื้อวัว เนื้อแพะ และอาหารที่มีรสจัด ควรรอให้อาการที่เป็นหายสนิทแล้วจึงสามารถกลับมาทานได้ตามปกติ

โดยสรุปแล้วกลุ่มอาหารแสลงมักเป็นอาหารที่ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพมากสักเท่าไหร่นัก แม้ในช่วงที่ร่างกายปกติไม่ได้เกิดบาดแผลหรือเจ็บป่วยใด ๆ การทานอาหารบางประเภทก็ควรหลีกเลี่ยง หรืออาจทานบ้างในปริมาณที่เหมาะสม และสิ่งสำคัญมากสุดที่ควรทำระหว่างกำลังพักฟื้นรักษาตัวนั่นคือ การเลือกทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัดจ้าน มีสารอาหารครบถ้วนในปริมาณถูกต้อง เน้นการทานผัก ผลไม้รสไม่หวานจัดซึ่งอัดแน่นไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด ทานเนื้อสัตว์เพื่อให้โปรตีนซ่อมแซมร่างกายเร็วขึ้น ทานคาร์โบไฮเดรตและไขมันปริมาณเหมาะสมเพื่อให้ยังคงมีกำลังมากพอต่อการใช้ชีวิต รวมถึงควรดูแลสุขภาพอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดจนเกินไป เท่านี้ก็ช่วยให้อาการเจ็บป่วยหายเร็วขึ้นแล้ว

Ref:

  1. https://www.paolohospital.com/th-TH/rangsit/Article/Details/บทความไลฟ์สไตล์/เขาบอกว่า—เป็นของแสลง-
  2. https://www.thaihealth.or.th/อาหารแสลงคืออะไร-2/
  3. https://www.rattinan.com/wounds-do-not-eat/
  4. https://www.somchaiclinic.com/หลังผ่าตัดกิน-ไข่-ได้หรื/
  5. https://www.ratchasima-hospital.com/th/knowledges/what-kind-of-food-should-eat-should-avoid-for-hemorrhoid-patients
  6. https://www.huachiewtcm.com/content/8626/5-ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคผิวหนัง-the-caution-for-dermatologic-patients-

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *