“อินทผาลัม” ผลไม้แสนอร่อย สรรพคุณดี กินให้ถูกวิธี ดีต่อสุขภาพ

อินทผาลัม

“อินทผาลัม” ผลไม้ที่หลายคนคุ้นเคยและชื่นชอบกันเป็นอย่างดี ด้วยรสชาติหวานนำอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว บวกกับการมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพหลายด้านจึงไม่แปลกที่จะได้รับความนิยมในฐานะผลไม้ขายดีเสมอ อย่างไรก็ตามการกินอะไรที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียได้เสมอแม้แต่ผักผลไม้ จึงอยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกับผลไม้ชนิดนี้มากขึ้น สรรพคุณดี ๆ และข้อควรรู้ทั้งหมดเพื่อให้กินอย่างถูกวิธี ดีต่อสุขภาพแน่นอน

รู้จักกับ “อินทผาลัม” และการได้รับความนิยมในเมืองไทย

“อินทผาลัม” (Date Palm) จัดอยู่ในกลุ่มพืชตระกูลปาล์มซึ่งมีด้วยกันหลากสายพันธุ์ ต้นกำเนิดของผลไม้ชนิดนี้มาจากแถบตะวันออกกลางเนื่องจากสามารถเติบโตได้ดีบริเวณพื้นที่อากาศร้อนและแห้งแล้งของแถบทะเลทราย นั่นเป็นเหตุผลให้กลุ่มประเทศแถบอาหรับจึงเป็นผู้ส่งออกอันดับต้น ๆ ของโลก เช่น ซาอุดิอาระเบียบ แอลจีเรีย ฯลฯ

ลักษณะของผลอินผาลัมจะเป็นผลรีขนาดเล็ก สีออกเหลือง ส้ม แดง กระทั่งผลแก่จัดจะได้เป็นสีน้ำตาลเข้ม ใช้เวลาในการปลูกประมาณ 5-7 ปี จึงจะได้ผลแรกของต้น ซึ่งต้นอินทผาลัมสามารถยืนอายุได้ยาวนานกว่า 100 ปี ให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อปีราว 7,000 – 8,000 ลูก หรือประมาณ 100 – 150 กิโลกรัม สามารถกินได้ทั้งแบบผลดิบและผลสุก โดยผลสุกมักนิยมนำไปตากแห้งเพื่อยืดอายุให้เก็บไว้ยาวนานหลายปี รสชาติเด่นมากคือความหวานซึ่งไม่ได้มีการใส่น้ำตาลหรือผ่านการแปรรูปใด ๆ ทั้งสิ้น

สำหรับการปลูกอินทผาลัมในประเทศไทยแม้จะมีบางแต่ก็ยังไม่ถือว่าเยอะมากนักเหตุเพราะสภาพอากาศบ้านเรามีลักษณะร้อนชื้นจึงไม่ค่อยเหมาะกับการเติบโตของต้นไม้ชนิดดังกล่าวมากเท่าใด เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้มีราคาสูง โดยผลอินทผาลัมที่นำเข้ามีทั้งแบบเป็นผลสดผ่านการตากแห้งและจัดเก็บอย่างดี กับผลที่ผ่านการแปรรูปมาแล้วขึ้นอยู่กับความชอบหรือการเลือกกินของแต่ละคน นอกจากนี้อินทผาลัมยังมีหลากสายพันธุ์ เช่น

  • พันธุ์ Barhee หรือ Barhi (บาร์ฮี หรือ บัรฮี) นิยมกินแบบสด ๆ ต้นกำเนิดมาจากประเทศอิรัก ปัจจุบันนิยมปลูกในหลายประเทศ
  • พันธุ์ Medjool หรือ Medjhol หรือ Medjull (เมดจูล) หรือบางคนอาจเรียก Ambatt (อัมบาต) ซึ่งคนไทยจะคุ้นชินในชื่อ “พันธุ์เม็ด 7 ศอก” เพราะมีขนาดผลใหญ่ที่สุด ต้นกำเนิดมาจากโมร็อกโก และยังได้รับฉายา “ราชาแห่งอินทผาลัม”
  • พันธุ์ Deglet Nour (เดกเล็ท นัวร์) นิยมกินแบบอบแห้ง ต้นกำเนิดจากแอลจีเรียและตูนิเซีย เนื้อนุ่ม เจ้าของฉายา “ราชินีแห่งอินทผาลัม”
  • พันธุ์ Ajwa หรือ Ajwah (อัจวะ หรือ อัจวะห์) นิยมกินแบบแห้ง ต้นกำเนิดจากซาอุดิอาระเบีย หวานนุ่มกำลังดี
  • พันธุ์ Mabroom (อ่านว่า มับรูม) ต้นกำเนิดจากซาอุดิอาระเบีย
  • พันธุ์ Zahidi – Zehdi – Zahdi (อ่านว่า ซาฮิดิ) ต้นกำเนิดจากอิรักและอิหร่าน

อินทผาลัม สรรพคุณเหลือล้น กินได้ไม่มีเบื่อ

อินทผาลัม อัดแน่นไปด้วยสรรพคุณเหลือล้นสำหรับการกินในปริมาณที่เหมาะสม คอเลสเตอรอลและไขมันต่ำ รวมถึงยังอัดแน่นด้วยวิตามิน A, B1, B2, B6, K ซัลเฟอร์ แคลเซียม โพแทสเซียม เหล็ก แมงกานีส ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม ไฟเบอร์ รวมถึงน้ำมันโวลาไทล์ มากไปกว่านั้นยังมีทั้งเบต้าแคโรทีน ลูทีน ซีแซนทีน นั่นจึงทำให้ผลไม้ชนิดนี้ดีต่อสุขภาพในหลายด้านไม่ว่าจะเป็น

  • ลดอาการท้องผูก ช่วยเรื่องระบบการขับถ่ายและการย่อยอาหาร การดูดซึมอาหารให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งในช่องท้อง
  • ลดความเมื่อยล้า เพิ่มพละกำลัง บำรุงความแข็งแรง
  • ลดการเกิดเสมหะภายในร่างกาย
  • ลดอาการวิงเวียนศีรษะ ควบคุมและดูแลระบบประสาทให้ทำงานเป็นปกติ
  • บำรุงกระดูกและฟัน ลดความเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุน
  • ลดความดันโลหิต ปรับสมดุลโลหิตของร่างกาย
  • บำรุงสายตา
  • เพิ่มสมรรถภาพทางเพศชาย มีส่วนบำรุงเชื้ออสุจิและความแข็งแกร่งในการหลั่งเชื้อ
  • มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่าการกินอินทผาลัมมีส่วนช่วยบำรุงมดลูกให้เกิดความแข็งแรง มีระดับการบีบตัวที่ดี และยังเพิ่มระดับน้ำนมในร่างกายของแม่ตั้งครรภ์และแม่ลูกอ่อนได้ดี

อินทผาลัมกินตอนไหนดี ควรกินวันละกี่ลูก

การกินอินทผาลัมจริง ๆ แล้วสามารถกินได้ทุกเวลาขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคน อย่างไรก็ตามการกินอินทผาลัมตอนท้องว่างจะมีส่วนช่วยฆ่าเชื้อโรค ลดการเกิดสารพิษตกค้าง กำจัดพยาธิภายในร่างกายโดยเฉพาะบริเวณลำไส้ เหตุเพราะภายในผลไม้ชนิดนี้จะมีฤทธิ์บางประการที่ยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรคได้ดี กระเพาะอาหารและลำไส้แข็งแรง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง อีกทั้งการกินอินทผาลัมตอนท้องว่างยังมีส่วนช่วยลดแผลอักเสบในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย

ทั้งนี้เมื่อถามว่าอินทผาลัมกินวันละกี่ลูกจึงจะดีก็ยังไม่ได้มีการยืนยันทางการแพทย์ใด ๆ แต่ก็มีผลการทดลองบางแห่งระบุให้กินวันละ 5-10 เม็ด แทนการดื่มน้ำอัดลม การกินขนมขบเคี้ยวที่มีแต่แป้ง ไขมัน และน้ำตาล น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าต่อสุขภาพ แต่ถ้าเป็นคนทั่วไปที่ยังกินอาหารอื่น ๆ ตามปกติแนะนำให้กินวันละ 4 เม็ดถือว่าเพียงพอ อย่างไรก็ตามด้วยการมีปริมาณโพแทสเซียมสูงจึงต้องคอยระวังไม่ให้กินมากเกินไป และคนที่มีโรคประจำตัวอาจต้องปรึกษาแพทย์ก่อนจะดีที่สุดเพื่อความปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของตนเอง

อินทผาลัม คนเป็นเบาหวานกินได้ไหม

คงมีคนจำนวนไม่น้อยเคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับการกินอินผาลัมเพื่อแก้อาการของโรคเบาหวาน ซึ่งในความเป็นจริงต้องเข้าใจก่อนว่าอินทผาลัมจัดเป็นผลไม้ที่มีดัชนีน้ำตาลสูงจากรสชาติหวานที่เกิดขึ้น โดยอินทผาลัม 100 กรัม ให้น้ำตาลต่อร่างกายสูงถึง 63.35 กรัม หรือถ้าลองเทียบเป็นผล อินทผาลัม 1 ผล ให้ปริมาณน้ำตาลฟรุกโตส 2.21 กรัม น้ำตาลกลูโคส 1.93 กรัม รวมแล้วประมาณ 4.14 กรัม ซึ่งปริมาณขนาดนี้เทียบได้กับน้ำตาลทราย 1.04 ช้อนชา ขณะที่ในแต่ละวันองค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรกินน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา ยิ่งถ้าผู้ป่วยเบาหวานด้วยแล้วหากหลีกเลี่ยงน้ำตาลได้จะเป็นเรื่องดีที่สุด ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรกินอินทผาลัมมากเกินไป แนะนำให้วันละ 1-2 ลูก และพยายามควบคุมอาหารชนิดอื่นแทนจึงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

ผู้ป่วยโรคใดบ้างที่ไม่ควรกินอินทผาลัม

1. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

อย่างที่กล่าวไปว่าดัชนีน้ำตาลของอินทผาลัมจัดอยู่ในเกณฑ์สูงมาก 1 ลูก เทียบเท่ากับน้ำตาลประมาณ 1 ช้อนชา การกินปริมาณมากเกินไปย่อมเสี่ยงทำให้ร่างกายเกิดน้ำตาลในเลือดสูง จึงไม่ใช่ผลดีต่อสุขภาพเท่าใดนัก แนะนำให้กินวันละ 1-2 ผล และหลีกเลี่ยงการกินน้ำตาลแฝงจากอาหารประเภทอื่น ลดการกินอาหารกลุ่มแป้ง ข้าว ก็ยังไม่น่ากังวลใจเท่าใดนัก

2. โรคไต

ด้วยปริมาณโพแทสเซียมที่สูงในอินทผาลัม ผู้ป่วยโรคไตจึงควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยโรคไตระยะ 4-5 เนื่องจากอาจทำให้เข้าสู่ภาวะไตเสื่อมสภาพได้เร็ว และสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการไตวายได้

3. โรคหัวใจ

ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เช่น ภาวะลิ้นหัวใจรั่ว การเต้นของหัวใจผิดปกติ ไม่แนะนำให้กินอินทผาลัมปริมาณมาก เหตุเพราะปริมาณโพแทสเซียมที่สูงจะกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจให้ทำงานหนักขึ้น สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลันได้ง่าย

4. โรคอ้วน

ผู้ที่มีปัญหาโรคอ้วน หรือกำลังอยู่ในช่วงควบคุมน้ำหนัก ลดความอ้วน ก็ไม่แนะนำให้กินอินทผาลัมปริมาณมากเช่นกัน อาจเลือกกินวันละ 1-2 เม็ด ควบคู่กับการลดปริมาณน้ำตาลในอาหารชนิดอื่น ลดการกินแป้ง ข้าว เส้นต่าง ๆ

ข้อควรรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการกินอินทผาลัม

อินทผาลัม กินแล้วอ้วนไหม?

ตามข้อมูลที่ได้บอกเอาไว้เกี่ยวกับดัชนีน้ำตาลของอินทผาลัมเฉลี่ยแล้วเทียบได้กับน้ำตาลทรายประมาณ 1.04 ช้อนลา บวกกับยังเป็นผลไม้ที่มีปริมาณแคลอรีสูง การกินปริมาณมากเกินไปย่อมเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งถ้าร่างกายใช้ไม่หมดก็จะถูกเก็บสะสมเอาไว้ในรูปของไขมัน ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้

สามารถดัดแปลงเมนูต่าง ๆ ด้วยอินทผาลัมได้หรือไม่?

ด้วยการเป็นผลไม้รสหวานจึงสามารถนำเอาอินทผาลัมไปใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารได้หลากประเภทโดยเฉพาะของหวาน เช่น เค้กอินทผาลัม ไอศกรีมอินทผาลัม คุกกี้อินทผาลัม เบคอนโรลอินทผาลัม และอื่น ๆ ตามความเหมาะสมและความชอบของแต่ละคน

ทั้งหมดนี้คือข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลไม้ชื่อดังอย่าง “อินทผาลัม” ที่หลายคนชื่นชอบอย่างมาก ย้ำอีกครั้งว่าในแต่ละวันควรกินไม่เกินวันละ 4 ผล ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวและเลือกกินปริมาณที่เหมาะสม เพราะอาหารทุกชนิดบนโลกหากกินแบบพอดีย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพได้อย่างแน่นอน

Ref:

  1. https://health.kapook.com/view94071.html
  2. https://hdmall.co.th/c/the-benefits-of-date-palm
  3. https://www.sanook.com/women/82013/
  4. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/320/อินทผาลัม/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *