โพรไบโอติกส์ & พรีไบโอติกส์ แบคทีเรียดีเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

โพรไบโอติกส์

ถ้าพูดถึงชื่อของ “โพรไบโอติกส์” และ “พรีไบโอติกส์” เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงพอคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะนี่คือชื่อที่เหล่าบรรดาสินค้าจำนวนมากโดยเฉพาะเครื่องดื่ม นมเปรี้ยว และโยเกิร์ตมักนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณา อย่างไรก็ตามคงมีคนอีกจำนวนไม่น้อยเกิดข้อสงสัยว่าทั้ง 2 คำนี้จริง ๆ แล้วคืออะไรกันแน่ มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ลองมาค้นหาข้อมูลอย่างละเอียดพร้อมทำความเข้าใจกันเลย

โพรไบโอติกส์กับพรีไบโอติกส์ แตกต่างกันอย่างไร?

โพรไบโอติกส์ คืออะไร?

โพรไบโอติกส์ คือ จุลินทรีย์ดี หรือแบคทีเรียดีขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในร่างกาย พบได้เยอะในระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะบริเวณผนังลำไส้ รวมถึงยังสามารถพบได้กับระบบส่วนอื่น ๆ ของร่างกายอีกด้วย บ่อยครั้งมักถูกเรียกเป็น “จุลินทรีย์มีชีวิต” เนื่องจากมีทนทานต่อความเป็นกรดและด่าง อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อร่างกายในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการช่วยดูดซึมอาหาร การป้องกันโรค การสังเคราะห์วิตามินและแร่ธาตุ เรียกว่าเป็นจุลินทรีย์สำคัญที่ต้องมีในปริมาณที่เพียงพอ ส่วนใหญ่มักพบกับกลุ่มอาหารหมักดอง เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว กิมจิ ผักดอง แหนม มิโซะ ดาร์กช็อกโกแลต ถั่วนัตโตะ ชีสบางประเภท อาทิ มอสซาเรลล่าชีส เชดด้าชีส คอทเทจชีส เกาด้าชีส เทมเป้ ชาหมักคอมบูชา น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิล เป็นต้น

พรีไบโอติกส์ คืออะไร?

ขณะที่พรีไบโอติกส์ คือ อาหารของโพรไบโอติกส์เพื่อให้เจ้าจุลินทรีย์ดีเหล่านี้เกิดการเจริญเติบโต เนื่องจากร่างกายไม่สามารถย่อยพรีไบโอติกส์ได้จึงต้องให้โพรไบโอติกส์ทำหน้าที่ดังกล่าวแทน ในอีกมุมหนึ่งหากแบคทีเรียดีตัวนี้ไม่ได้รับสารอาหารเลยพวกมันก็ไม่สามารถเติบโตและทำภารกิจของตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ควรต้องกินอาหารให้ครบถ้วนอยู่เสมอ มักพบได้ในกลุ่มอาหารประเภทกระเทียม หัวหอม ถั่วแดง ถั่วเหลือง ไฟเบอร์จากผัก เป็นต้น

โพรไบโอติกส์ ช่วยอะไรกับร่างกายบ้าง?

ในเมื่อโพรไบโอติกส์คือจุลินทรีย์ดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย จึงอาจเกิดข้อสงสัยว่าแล้วเจ้าแบคทีเรียชนิดนี้สามารถช่วยอะไรให้กับคนเราบ้าง มาเช็กลิสต์กันทีละข้อได้เลย

1. ปรับสมดุลการทำงานของระบบย่อยอาหาร

อย่างที่อธิบายเอาไว้ว่าส่วนใหญ่แล้วโพรไบโอติกส์มักอาศัยอยู่บริเวณผนังลำไส้มากที่สุด จึงมีส่วนสำคัญในการปรับสมดุลการทำงานและกระตุ้นเอนไซม์หลายชนิดภายในระบบย่อยอาหาร ป้องกันปัญหาท้องเสีย ท้องผูก ช่วยเรื่องการขับถ่ายให้เป็นปกติ รวมถึงจุลินทรีย์ดีประเภทแลคโตบาซิลลัสยังลดปัญหาภาวะลำไส้อักเสบ ช่วยให้การทำงานของลำไส้เป็นปกติ

2. กระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย

“ลำไส้ถือเป็นสมองส่วนที่ 2 ของร่างกาย” คำนี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริง เพราะเมื่อไหร่ที่ลำไส้ทำงานได้ดี สุขภาพร่างกายก็จะแข็งแรงตามไปด้วย ซึ่งแบคทีเรียดีมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างและกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ป้องกันการเกิดโรคภัยไข้เจ็บหลายประเภท อาทิ ไข้หวัด การติดเชื้อบริเวณปอด การติดเชื้อในกระแสเลือด บรรเทาอาการภูมิแพ้ ผื่นคัน น้ำมูก หอบหืด และอีกมากมาย รวมถึงบรรดาเชื้อฉวยโอกาส สุขภาพโดยรวมจึงแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย

3. บรรเทาอาการ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคกระเพาะและกรดไหลย้อน

เมื่อระบบทางเดินอาหารสามารถทำงานได้เป็นปกติก็มีส่วนช่วยบรรเทาอาการของโรคกระเพาะอาหาร และยังลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดโรคดังกล่าวขึ้นอีกด้วย รวมถึงยังช่วยลดการเกิดโรคกรดไหลย้อนอันเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารอิ่มแล้วชอบนอนทันที ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตของคนยุคปัจจุบันที่มีไลฟ์สไตล์ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม

4. ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง

โรคมะเร็งถือเป็นโรคร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตนเอง อีกทั้งเชื้อมะเร็งยังสามารถเติบโตและแพร่กระจายได้หลายจุดในร่างกาย การกินอาหารที่มีจุลินทรีย์ดีจึงมีส่วนอย่างยิ่งในการลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะตามที่อธิบายไปว่าแบคทีเรียดีชนิดนี้จะช่วยจัดการแบคทีเรียตัวร้ายไม่ให้สร้างอันตรายกับร่างกาย ซึ่งมะเร็งระบบทางเดินอาหารมักเกิดจากพฤติกรรมการกินอาหาร เช่น ได้รับสารกลุ่มไนโตรเจนและอะโรมาติคเอมีนจากอาหารกลุ่มไขมันเนื้อสัตว์ สารไนโตรซามีนจากเนื้อสัตว์แปรรูป สารกลุ่มไพโรไลเซตและสารกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน จากอาหารไหม้

5. ลดการเกิดโรคในระบบทางเดินปัสสาวะ

จุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัสมีส่วนลดภาวะด้านการอักเสบติดเชื้อภายในระบบทางเดินปัสสาวะส่วนปลาย ไปจนถึงลดการสะสมของแบคทีเรียอันตรายต่าง ๆ เช่น การนั่งขับถ่ายในสถานที่ไม่ถูกสุขลักษณะที่มีส่วนทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ รวมถึงยังมีผลดีต่อสุขภาพช่องคลอดของผู้หญิงลดปัญหาการติดเชื้อ การรวมตัวของเชื้อโรคบริเวณเยื่อบุผนังช่องคลอด ปากช่องคลอด ไม่เกิดปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ ลดการเติบโตของเชื้อรา ไม่ก่อให้เกิดภาวะอักเสบ

นอกจากมีส่วนช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดโรคตามที่กล่าวมาแล้ว การกินพรีไบโอติกส์ยังช่วยบรรเทาอาการของโรคที่เกิดขึ้นกับร่างกายให้มีสุขภาพดีขึ้นได้อีกด้วยไม่ว่าจะเป็นโรคลำไส้แปรปรวน โรคผิวหนังอักเสบ โรคอ้วน ภาวะไขมันพอกตับ โรคตับ โรคเชื้อราในช่องคลอด ภาวะลองโควิด รวมถึงโรคโคลิคในเด็ก

โพรไบโอติกส์ ควรกินเท่าไหร่? กินมากเกินไปมีผลเสียหรือไม่?

ปกติแล้วร่างกายคนเราควรได้รับปริมาณโพรไบโอติกส์วันละประมาณ 10 – 20 พันล้านตัว หรืออย่างน้อย 10,000 ล้าน CFU (CFU คือ หน่วยในการใช้วัดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ภายในอาหารและอาหารเสริมทุกประเภท อย่างไรก็ตามในกรณีที่กินโพรไบโอติกส์ต่อวันมากเกินไปก็อาจส่งผลกระทบได้เช่นกัน อาทิ มีแก๊สในกระเพาะอาหาร เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง ดื้อยาปฏิชีวนะ และอาการปวดหัวเนื่องจากได้รับสารเอมีนมากเกินพอดี

โพรไบโอติกส์ ควรกินตอนไหน?

ในกรณีที่คุณกินอาหารเสริมประเภทโพรไบโอติกส์เพิ่มเติมเพื่อให้ร่างกายได้รับในปริมาณที่เพียงพอ ช่วงเวลาที่เหมาะกับการกินโพรไบโอติกส์คือ ช่วงก่อนอาหารเล็กน้อย หรือระหว่างมื้ออาหาร และช่วงก่อนนอน เหตุเพราะจุลินทรีย์ดีตัวนี้สามารถถูกทำลายได้จากน้ำย่อยในกระเพาะและแอลกอฮอล์ รวมถึงยาบางประเภท การกินช่วงก่อนอาหาร หรือตอนที่พึ่งกินอาหารเล็กน้อยน้ำย่อยจะยังไม่ถูกหลั่งออกมาเต็มที่ จึงลดโอกาสการถูกทำลายลงได้นั่นเอง

โพรไบโอติกส์ไม่ควรกินกับอะไร?

นอกจากการกินพรีไบโอติกส์ช่วงก่อนมื้ออาหารหรือระหว่างมื้ออาหารแล้ว หากคุณเลือกกินอาหารเสริมที่มีแบคทีเรียดีตัวนี้เพื่อเพิ่มปริมาณให้เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ ก็มีข้อควรระวังเกี่ยวกับการไม่ควรกินพร้อมกับอาหารบางประเภท ได้แก่

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยา หรืออาหารที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น เนื้อหมักเบียร์ เนื้อหมักไวน์ อาหารที่มีส่วนผสมของเหล้าจีน ข้าวหมาก เป็นต้น เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำลายเชื้อให้ตายได้
  • อาหารและเครื่องดื่มร้อน ๆ หรือแม้แต่ยังอุ่นมากอยู่ก็ตาม เช่น ซุป แกง กาแฟร้อน ชาร้อน น้ำอุ่น เพราะความร้อนสามารถทำลายเชื้อให้ตายได้เช่นกัน แนะนำให้กินห่างกัน 2 – 3 ชั่วโมง
  • อาหารแปรรูป ไม่ว่าจะเป็นไส้กรอก ลูกชิ้น กุนเชียง แฮม เบคอน แหนม หมูยอ เพราะในอาหารเหล่านี้จะมีสารบางชนิดที่ไปทำลายความสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ การกินพร้อมกันจึงลดประสิทธิภาพของโพรไบโอติกส์ให้น้อยลง
  • อาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเทียม หรือกลุ่มสารให้ความหวานทั้งแอสปาแตม, ซอร์บิทอล, ซูคราโลส เช่น น้ำอัดลม น้ำชา น้ำตาล 0% เพราะน้ำตาลเทียมหรือสารให้ความหวานเหล่านี้มีส่วนเพิ่มปริมาณแบคทีเรียไม่ดีภายในลำไส้ หากดื่มหรือกินพร้อมกันจะทำให้โพรไบโอติกส์ต้องทำงานหนักจนไม่สามารถสร้างประสิทธิภาพที่ดีออกมาได้
  • กลุ่มยาฆ่าเชื้อ ทั้งยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อรา รวมถึงยากลุ่มโคลไตรมาโซล (Klotrimazol / Clotrimazole), คีโตโคนาโซล (Ketokonazol / Ketoconazole), กริซีโอฟูลวิน (Grisofunvin / Griseofulvin), นิสแตติน (Nistatin / Nystatin) ซึ่งมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เพราะตัวยาจะกำจัดเชื้อแบคทีเรียทั้งดีและไม่ดีออกไปจนหมด นั่นเท่ากับคุณไม่ได้ประโยชน์ใด ๆ จากการกินเลย อย่างไรก็ตามหากจำเป็นต้องกินยาเหล่านี้จริง ๆ แนะนำให้กินห่างกัน 2 – 3 ชั่วโมง จะเลือกกินยาหรือโพรไบโอติกส์ก่อนก็ตามสะดวก

อาหารเสริมโพรไบโอติกส์ในท้องตลาด เลือกซื้ออย่างไร?

เรื่องสุดท้ายที่อยากแนะนำสำหรับคนที่สนใจซื้ออาหารเสริมที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกส์ซึ่งปัจจุบันมีวางขายหลากยี่ห้อในท้องตลาด จำเป็นต้องเลือกซื้อตัวที่มั่นใจในคุณภาพ มีประสิทธิภาพดี ร่างกายได้รับในปริมาณเพียงพอ โดยคำแนะนำเบื้องต้น มีดังนี้

  • ผ่านการรับรองความปลอดภัยจาก อย. และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • ปริมาณโพรไบโอติกส์อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
  • ผลิตภัณฑ์มีความน่าเชื่อถือ ระบุวันผลิตและวันหมดอายุ รวมถึงส่วนประกอบต่าง ๆ เอาไว้ชัดเจน
  • สามารถเลือกซื้อได้ทั้งแบบแคปซูล และแบบชง แต่ต้องมั่นใจว่าปริมาณเชื้อโพรไบโอติกส์ยังคงอยู่ครบถ้วน

สรุป

โพรไบโอติกส์กับพรีไบโอติกส์มีความแตกต่างกันชัดเจน ซึ่งการกินโพรไบโอติกส์ในปริมาณที่เพียงพอต่อวันมีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ แต่ทั้งนี้ก็ต้องกินอย่างถูกหลัก มีช่วงเวลาเหมาะสม ไม่ควรกินร่วมกับอาหารและเครื่องดื่มบางประเภท รวมถึงคนที่ต้องการกินจากอาหารเสริมต้องเลือกยี่ห้อที่น่าเชื่อถือ มีคุณภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายจะได้รับสิ่งดีที่สุดเท่านั้น

Ref:

  1. https://samitivejchinatown.com/th/article/health/probiotics
  2. https://www.phuketinternationalhospital.com/probiotics-prebiotics/
  3. https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/july-2019/probiotics-and-prebiotics
  4. https://health.kapook.com/view281244.html

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *