ด้วยปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ส่งผลให้คนในยุคปัจจุบันจำนวนไม่น้อยป่วยด้วยโรคทางใจ หรือในภาษาแพทย์สามารถใช้คำว่า “จิตเวช” คงไม่ผิดเท่าใดนัก ซึ่งหนึ่งในโรคที่พบเจอมากนั่นคือ “โรคอารมณ์สองขั้ว” หรือที่คุ้นชินกันในชื่อ “โรคไบโพลาร์” การทำความเข้าใจกับตัวโรค สาเหตุ อาการ รวมถึงแบบทดสอบเพื่อเช็กตนเองจึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยนำไปสู่การรักษาอย่างถูกต้องและสามารถหายจากโรคดังกล่าวได้จริง
เลือกอ่าน:
โรคอารมณ์สองขั้ว หรือ โรคไบโพลาร์ คืออะไร?
โรคอารมณ์สองขั้ว หรือ โรคไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) คือ อาการทางจิตเวชชนิดหนึ่งอันถือเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ ลักษณะเด่นที่สังเกตได้ชัดเจนมาก ผู้ป่วยมักมีอารมณ์เปลี่ยนไปมาสลับกันระหว่างอารมณ์ความรู้สึกซึมเศร้า (Major Depressive Episode) กับช่วงอารมณ์ดีมากกว่าปกติ (Mania หรือ Hypomania) บางครั้งก่อนจะสับไปอีกขั้วหนึ่งอาจเกิดอารมณ์ปกติคั่นกลางได้ สามารถเป็นตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงแบบสุดขั้ว ขณะที่ระยะเวลาก็ไม่มีความแน่นอน บางครั้งอาจเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือต่อเนื่องติดกันหลายเดือนก็ได้เช่นกัน
สิ่งสำคัญคืออาการดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาขึ้นเมื่อต้องใช้ชีวิตในแต่ละวันไม่ว่าจะเป็นการมีปัญหากับคนรอบข้าง ครอบครัว คนรัก เพื่อนฝูง ปัญหาด้านการทำงาน การประกอบอาชีพ เมื่ออารมณ์ไม่นิ่งงานบางอย่างจึงไม่สามารถทำได้ หรือทำออกมาไม่ดีพอ บางคนอาจรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถบังคับร่างกายและจิตใจของตนเองได้จนทำในสิ่งไม่สมควร ใครที่กำลังมีปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องรีบพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้การแบ่งกลุ่มของโรคอารมณ์สองขั้ว สามารถแยกออกแบบกว้าง ๆ ได้เป็น 2 ประเภท ประกอบไปด้วย
- Bipolar I Disorder มักแสดงอาการระยะ Mania หรือคึกคักไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ สลับกับภาวะซึมเศร้า
- Bipolar II disorder มักแสดงอาการระยะ Hypomania หรือคึกคักไม่เกิน 1 สัปดาห์ สลับกับภาวะซึมเศร้า
โรคอารมณ์สองขั้ว สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง?
สำหรับการเกิดโรคอารมณ์สองขั้ว สาเหตุมีขึ้นได้จากหลายปัจจัยซึ่งขอสรุปให้ชัดเจน เพื่อการประเมินอย่างถูกต้องของแต่ละบุคคล ดังนี้
1. สาเหตุจากการทำงานของร่างกาย
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้วมักมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมองหรือโครงสร้างสมองผิดปกติไปจากเดิม บางรายอาจเกิดจากระบบฮอร์โมนบางชนิดในร่างกายเกิดความผิดปกติ ไปจนถึงการทำงานของสมองบางส่วนโดยเฉพาะบริเวณที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการควบคุมอารมณ์ทำงานไม่เหมือนเดิม
2. สาเหตุจากพฤติกรรม สังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัว
เป็นอีกสาเหตุหลักที่ทำให้คนจำนวนมากในยุคปัจจุบันมีอาการป่วยโรคไบโพลาร์ เช่น มีระดับความเครียด ความวิตกกังวลสูงติดต่อกันเป็นเวลานานจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญ อาทิ เรื่องงาน ครอบครัว ความรัก และไม่สามารถปรับตนเองให้อยู่ในสภาพจิตใจที่ปกติได้ แม้แพทย์อาจระบุว่านี่ไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบข้างเป็นตัวกระตุ้นให้อาการของโรคแสดงออกอย่างเด่นชัด การพักผ่อนน้อย อดนอน การใช้สารเสพติดเป็นระยะเวลานาน ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ การทานยาบางประเภทติดต่อกันนานเกินไป อาการป่วยด้วยโรคทางระบบประสาท โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง
3. สาเหตุจากพันธุศาสตร์ร่างกาย
สาเหตุสุดท้ายแม้ในเชิงการแพทย์ยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจน แต่ภาพรวมก็มีความเป็นไปได้ถึงการป่วยด้วยโรคนี้อาจมาจากพันธุกรรม การถ่ายทอดยีน เพราะมักพบได้บ่อยกับครอบครัวที่บุคคลเครือญาติเคยมีประวัติป่วยโรคอารมณ์สองขั้ว
โรคอารมณ์สองขั้ว อาการเป็นอย่างไร?
อย่างที่อธิบายไปว่าโรคอารมณ์สองขั้ว อาการของผู้ป่วยจะแสดงออกเกี่ยวกับลักษณะทางอารมณ์ที่มีความสุดขั้วใน 2 ด้าน นั่นคือ อาการช่วงซึมเศร้าและช่วงคึกคัก ถ้าลองประเมินแล้วอาการไบโพลาร์เบื้องต้นสามารถสรุปได้ ดังนี้
1. Major Depressive Episode
ช่วงระยะที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า มักมีอาการนานกว่า 2 สัปดาห์ ซึ่งตนเองหรือคนรอบข้างสามารถสังเกตเห็นอาการต่อไปนี้ได้ชัดเจนอันเป็นภาพรวมของคนที่รู้สึกเบื่อหน่ายชีวิต ไม่มีความสุข ได้แก่
- ตื่นเช้ามาไม่สดใส มีอาการซึมเศร้า ไม่รู้สึกสนุกยินดีกับสิ่งต่าง ๆ จิตใจว่างเปล่า ชอบร้องไห้บ่อย บางรายมีอารมณ์หงุดหงิดง่ายมาก
- ขาดความสุขในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ตนเองเคยชอบ จนแทบไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้น ไม่มีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในชีวิตแทบทุกอย่าง
- น้ำหนักลดแม้ไม่ได้มีการควบคุมอาหาร เบื่ออาหาร แต่ในบางรายกลับน้ำหนักขึ้น และเจริญอาหารมากผิดปกติ
- นอนหลับยาก นอนไม่ค่อยหลับ ในสมองรู้สึกเหมือนมีอะไรกังวลอยู่ตลอดเวลา หรือบางรายอาจหลับมากกว่าปกติ
- เซื่องซึม เชื่องช้า ไม่สดชื่นแจ่มใส สีหน้าหม่นหมองจนคนรอบข้างสังเกตเห็น บางรายอาจรู้สึกกระสับกระส่าย จิตใจไม่นิ่ง
- ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง อ่อนเพลีย รู้สึกอยากนอนตลอดเวลาแต่นอนไม่หลับ
- เริ่มมีความคิดว่าตนเองไม่มีค่า ไม่น่าอยู่บนโลกใบนี้ รู้สึกผิดซ้ำ ๆ กับสิ่งที่เคยกระทำผิดพลาด
- ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งที่เคยคุ้นชินหรือทำประจำ เช่น การขับรถ
- รู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ บางรายอาจถึงขั้นลงมือทำร้ายตัวเอง
2. Manic Episode หรือ Hypomanic Episode
ช่วงระยะที่อยู่ในภาวะคึกคักมากผิดปกติ แสดงออกชัดเจนจนคนรอบข้างสังเกตเห็น หรือบางรายอาจหงุดหงิดง่ายยิ่งกว่าเดิม มักเป็นไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรืออาจมากกว่านั้น อาการเบื้องต้น ได้แก่
- รู้สึกมั่นใจในตนเองมากเกินไป คิดว่าตนเองเก่งและดีที่สุด ยิ่งใหญ่มากกว่าคนอื่น
- ไม่ค่อยอยากนอน เมื่อรู้สึกตัวแล้วจะพร้อมทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่ต้องนอนต่อ ซึ่งแต่ละคืนอาจน้อยเพียงแค่ 3-4 ชั่วโมง
- พูดไม่หยุด พูดคุยได้ทุกเรื่องมากกว่านิสัยเดิมของตนเอง
- ชอบคิดหลาย ๆ เรื่องพร้อมกัน และความคิดเหล่านั้นมักออกมาอย่างลื่นไหล
- มีอาการรน วอกแวกบ้าง สมาธิสั้น มักถูกดึงความสนใจได้ง่าย ทั้งที่สิ่งเร้ารอบตัวอาจไม่ได้เกี่ยวพันกับเรื่องที่ตนเองกำลังคิดหรือทำอยู่
- อยากทำกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น มีเป้าหมายในตนเอง เช่น การทำงาน การเรียน หรือแม้แต่เรื่องเพศ การช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว เล่นเกม จนบ่อยครั้งอาจล้ำหน้าหรือรุนแรงมากเกินเหตุจนส่งผลเสียตามมา เช่น ใช้เงินในอนาคต การขาดความยับยั้งเรื่องเพศ การตัดสินใจลงทุนโดยไม่คิดให้ถี่ถ้วน การใช้สารเสพติด ติดเหล้า
โรคอารมณ์สองขั้ว สังเกตได้ง่าย ๆ เริ่มจากการลองทำแบบทดสอบ
คนส่วนใหญ่เมื่อป่วยเป็นโรคอารมณ์สองขั้วแต่มักไปพบแพทย์โดยเข้าใจผิดคิดว่าตนเองป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ใครที่รู้สึกเหมือนตนเองมีอาการบางอย่างที่แต่ยังไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแถมยังดีด้วยซ้ำ แต่ในปัจจุบันก็มีโรงพยาบาล หรือหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้พยายามให้ทุกคนประเมินตนเองเกี่ยวกับโรคอารมณ์สองขั้วผ่านแบบทดสอบต่าง ๆ โดยสามารถลองไปทำแล้วเช็กคะแนนของตนเองได้ เพื่อจะได้เข้าใจและรีบเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ดีกว่าปล่อยเอาไว้
คลิกเพื่อลองประเมินโรคอารมณ์สองขั้วผ่านแบบทดสอบ
โรคอารมณ์สองขั้ว การรักษาเป็นอย่างไรบ้าง?
เมื่อรู้สึกว่าตนเองมีอารมณ์แปลกไปจากเดิม หรือมีข้อสงสัยว่าอาจป่วยด้วยโรคไบโพลาร์ คำแนะนำแรกต้องรีบพบจิตแพทย์เพื่อให้ประเมินอาการ และเมื่อแพทย์วินิจฉัยเรียบร้อยว่าป่วยด้วยโรคอารมณ์สองขั้ว การรักษาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและความเหมาะสมที่แพทย์เจ้าของไข้เห็นตามสมควร ซึ่งแบ่งออกได้ ดังนี้
1. การรักษาด้วยวิธีทานยา
ถือเป็นวิธีเบื้องต้นที่แพทย์มักเลือกใช้สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านจิตเวช รวมถึงผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้ว ยาที่ต้องทานมักอยู่ในกลุ่มยาต้านโรคจิต ยาต้านเศร้า (มักให้ในช่วงระยะซึมเศร้า และยากลุ่มควบคุมอารมณ์ ซึ่งกลไกสำคัญของตัวยาจะเข้าไปปรับสารเคมีในสมองเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีอารมณ์เป็นกลาง ไม่สุดเหวี่ยงไปในทิศทางใดมากเกินไป สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกวิตกกังวลไปก่อนเกี่ยวกับผลข้างเคียงเมื่อทานยา จึงต้องปรึกษาแพทย์ให้ละเอียดเพื่อสร้างความมั่นใจและเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาด
2. การรักษาด้วยวิธีจิตบำบัด
การรักษารูปแบบต่อมาเมื่อป่วยทางจิตใจจิตแพทย์ก็จะใช้เทคนิครักษาด้วย “จิตบำบัด” เป็นลักษณะของการพูดคุยเพื่อให้ผู้ป่วยได้แสดงความรู้สึก อารมณ์ต่าง ๆ ออกมา จากนั้นนักจิตบำบัดจะค่อย ๆ หาวิธีเพื่อบำบัดจิตใจของผู้ป่วยเพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้อง เสริมแนวคิดสำหรับการแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับตนเอง มักทำควบคู่ไปกับการทานยา หรือใครที่ทานยามาพักใหญ่จนอาการดีขึ้นชัดเจนก็อาจยังคงเลือกวิธีนี้เพื่อดูแลสภาพจิตใจอย่างต่อเนื่อง นอกจากการพูดคุย การให้คำแนะนำของแพทย์แล้ว กลุ่มการใช้ดนตรีบำบัด โยคะบำบัด หรือศิลปะบำบัด ก็ถูกจัดอยู่ในวิธีรักษานี้ด้วยเช่นกัน
3. การรักษาด้วยวิธีไฟฟ้า
วิธีสุดท้ายในการรักษาผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้วที่มีอาการรุนแรงมาก ๆ ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาหรือจิตบำบัด การใช้วิธี ECT หรือกระแสไฟฟ้าก็เป็นเทคนิคที่ถูกนำมาใช้ หลักการคือเมื่อเกิดการช็อตไฟฟ้าแล้วตัวกระแสไฟจะเข้าไปกระตุ้นสมองให้เกิดการปรับสารเคมีบางชนิด อย่างไรก็ตามแพทย์ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดส่วนใหญ่ผู้ป่วยจึงต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสักระยะใหญ่ ซึ่งผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้บ้างจะเป็นเรื่องของปัญหาด้านความจำเพียงช่วงสั้น ๆ ไม่นานก็กลับมาเป็นปกติ และปัจจุบันยังไม่มีผลการวิจัยใดที่ระบุว่าวิธีช็อตไฟฟ้ากระตุ้นสมองนี้ส่งผลกระทบต่อสมองในระยะยาว
ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สงสัยว่าโรคไบโพลาร์ระยะสุดท้ายเป็นอย่างไร อันตรายมากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันหากเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงทีโอกาสหายขาดจากโรคก็มีอยู่จริง แต่โดยทั่วไปแล้วสิ่งสำคัญมากของผู้ที่ป่วยโรคนี้ต้องยอมรับตนเองและเข้ารับการรักษา ไม่ควรปล่อยเอาไว้เป็นอันขาด เพราะถ้าเข้าสู่ช่วงซึมเศร้าจนดาวน์แบบขั้นสุดก็อาจอันตรายถึงขั้นทำร้ายตัวเองได้เลย
มากไปกว่านั้นการรู้จักปรับอารมณ์ของตนเองให้ครองสติได้ดี หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การใช้สารเสพติด ความเครียดสะสม การทานยาบางประเภท เช่น ยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน ยาลดน้ำหนัก พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ หาสิ่งที่สร้างความสุขของชีวิตทำ ย่อมช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตเวชทุกประเภทได้ ส่วนใครที่มีคนรอบข้างป่วยด้วยโรคนี้ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
Ref:
- https://www.bangkokhospital.com/content/bipolar-disorder
- https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1105
- https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/bipolar-disorder
- https://www.mhc2.go.th/bipolar/