“โรคแบคทีเรียกินเนื้อ” โรคที่หลายคนอาจพึ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรก แถมชื่อยังดูน่ากลัวอีกต่างหาก ยิ่งช่วงปลายปี 2566 มีข่าวออกมาว่าโรคแบคทีเรียกินเนื้อ ญี่ปุ่น กำลังระบาดหนักในดินแดนอาทิตย์อุทัย สร้างความหวาดผวาต่อคนไทยและทั่วโลกเป็นอย่างมาก เหนือสิ่งอื่นใดหากไม่รู้จักการระวัง การป้องกันที่ถูกวิธียังอาจส่งผลถึงชีวิตเลยด้วย จึงอยากพาทุกคนมาศึกษาข้อมูลแบบรอบด้านเพื่อความสบายใจและการดูแลตนเองกับคนรอบข้างอย่างถูกต้อง เหมาะสม
เลือกอ่าน:
โรคแบคทีเรียกินเนื้อ คืออะไร
โรคแบคทีเรียกินเนื้อ (Necrotizing Fasciitis) หรือ คนบางคนจะเรียกโรคเนื้อเน่าก็ไม่ต่างกัน คือ ภาวะที่บริเวณเนื้อเยื่ออ่อนตั้งแต่ช่วงผิวหนังระดับชั้นลึกเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดอย่างรุนแรงจนทำให้บริเวณดังกล่าวไล่ตั้งแต่ระดับผิวชั้นตื้นตรงส่วนหนังกำพร้าถึงบริเวณชั้นไขมันส่วนบนและกล้ามเนื้อถูกทำลาย เกิดการอักเสบ มีเนื้อตาย ส่วนใหญ่มักพบกับผู้ที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำหรือภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง โรค SLE โรคเบาหวาน โรคไตวาย โรคหัวใจ โรคตับแข็ง เป็นต้น หากคนกลุ่มนี้เกิดแผลพุพอง หรือแผลบริเวณใดก็ตามแล้วไม่ใส่ใจดูแลรักษาให้ดี โอกาสที่จะเกิดโรคดังกล่าวก็มีเพิ่มสูงขึ้น
โรคแบคทีเรียกินเนื้อ เกิดจากสาเหตุอะไร
โรคแบคทีเรียกินเนื้อ เกิดจากการที่ผู้มีระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียบางชนิดและเกิดการติดเชื้อรุนแรงจนเกิดการลุกลามลักษณะคล้ายไฟลามทุ่ง พบได้บ่อยบริเวณแขนและขา ซึ่งกลุ่มแบคทีเรียที่มักก่อให้เกิดโรคดังกล่าวส่วนมากมักมีดังนี้
1. การติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดร่วมกัน
เช่น คลอสตริเดียม (Clostridium), เคล็บเซลลา (Klebsiella), อีโคไล (E. Coli), แอโรโมแนส (Aeromonas spp) สาเหตุมักมาจากการเดินพื้นสกปรก พื้นดิน ด้วยเท้าเปล่า การลุยโคลน น้ำขัง น้ำคลอง การถูกเปลือกหอย ถูกเศษของมีคม เช่น เศษแก้ว เศษไม้บาดเป็นแผล การถูกแมลงสัตว์กัดต่อย ถูกสุนัข แมว สัตว์กัดหรือข่วน ถูกน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ แม้แต่การใช้เข็มฉีดยาก็อาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดได้เช่นกัน
2. การติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปเอ (Group A Streptococcus)
ขณะที่การติดเชื้ออีกประเภทจะมีความเฉพาะตัวนั่นคือแบคทีเรียกลุ่มสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปเอ มักเกิดจากการติดเชื้อหลังผ่าตัดหรือหลังจากพึ่งประสบอุบัติเหตุและแผลไปสัมผัสกับสิ่งสกปรกหรือสิ่งแวดล้อมโดยรอบซึ่งมีเชื้อดังกล่าวปะปนอยู่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามได้มีงานวิจัยเพิ่มเติมถูกเผยแพร่ลงในวารสารการแพทย์ JAMA ระบุว่า โรคแบคทีเรียกินเนื้อคนที่กำลังระบาดในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อาจมีสาเหตุบางประการเชื่อมโยงกับเชื้อโควิด-19 เนื่องจากช่วงที่ทุกประเทศทั่วโลกประกาศล็อกดาวน์ ร่างกายของมนุษย์เกิดภาวะที่เรียกว่า “หนี้ภูมิคุ้มกัน” หมายถึง การเกิดช่องโหว่ของภูมิคุ้มกันในร่างกายทำให้สุขภาพอ่อนแอได้ง่าย ยิ่งถ้าเป็นเด็กเล็กและผู้สูงอายุก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ก็ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าวต่อไป
โรคแบคทีเรียกินเนื้อ อาการเป็นอย่างไร
สำหรับผู้ป่วยที่เกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อ อาการเด่นชัดที่สังเกตได้ชัดเจนในช่วงแรกมักเกิดการบวม แดง แสบร้อน และเจ็บปวดบริเวณที่เชื้อเริ่มกินเนื้อ ต่อมาไม่นานอาการบวมแดงจะลุกลามแบบไฟลามทุ่งอย่างรวดเร็ว บางรายอาจมีตุ่มน้ำพุพอง เกิดถุงน้ำ จุดดำ และมีของเหลวไหลซึมออกมา บางรายอาจเป็นลักษณะของแผลมีหนองจากโรคแบคทีเรียกินเนื้อระบาด
ผ่านไปอีก 3-4 วัน สีผิวหนังบริเวณนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง ตุ่มแผลมีหนองจากโรคแบคทีเรียกินเนื้อระบาดเริ่มส่งกลิ่นเหม็นตามด้วยภาวะเนื้อตาย รู้สึกชา และเนื้อเยื่อหลุดออกมาในที่สุด
ขณะที่อาการอื่น ๆ ที่มักเกิดขึ้นทางร่างกาย ได้แก่ รู้สึกตึงตรงกล้ามเนื้อที่เป็นแผล เวียนศีรษะ ปวดหัว เป็นไข้ ท้องเสีย คลื่นไส้ รู้สึกกระหายน้ำบ่อย แต่ปัสสาวะน้อย หลังติดเชื้อไม่เกิน 48 ชั่วโมง หากอาการรุนแรงมากขึ้นอาจอยู่ในภาวะระดับความดันโลหิตต่ำ หมดสติ หากโชคร้ายเชื้อเข้าไปสู่กระแสเลือดก็อาจทำให้เกิดภาวะช็อก อวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ไต ทำงานล้มเหลวและมีโอกาสเสียชีวิตได้
โรคแบคทีเรียกินเนื้อ วิธีรักษาต้องทำอย่างไร
สำหรับผู้ที่เกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อ วิธีรักษาทางการแพทย์จะเริ่มต้นจากการวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุและแยกโรคให้ชัดเจน เช่น การตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งเพาะเชื้อให้รู้ว่ามีสาเหตุจากแบคทีเรียตัวไหน จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนของการรักษาซึ่งมีทั้งการให้ยาทานกลุ่มยาปฏิชีวนะ ยาควบคุมความดันโลหิต สำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง การให้ทานสารภูมิคุ้มกันอิมมูโนโกลบูลินเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันช่วยรักษาอาการของโรคให้ดีขึ้น
อีกด้านหนึ่งแพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อจัดการกับเนื้อเยื่อที่เสียหายให้หลุดออกไปจากร่างกาย เป็นวิธีหยุดการกระจายเชื้อ อย่างไรก็ตามหากอาการของผู้ป่วยบางรายรุนแรง มาถึงมือแพทย์ช้า รักษาด้วยยาแล้วไม่ตอบสนอง ก็อาจต้องเข้าสู่ขั้นตอนการตัดอวัยวะบริเวณดังกล่าวทิ้ง ขณะที่บางเคสผู้ป่วยอาจต้องรับการถ่ายเลือด มีการใช้เครื่องช่วยหายใจหากอยู่ในภาวะช็อก
สิ่งที่ควรรู้เพิ่มเติมหากติดเชื้อและเกิดโรคแบคทีเรียกินเนื้อ ต้องรีบไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญ มีเครื่องมือครบถ้วน เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียระดับลึกถึงชั้นเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิต 17-49% ยิ่งใครมีโรคแทรกซ้อนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วอาการมักลุกลามเร็วมากขึ้น จึงอย่าชะล่าใจเป็นอันขาด
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนใดที่สามารถช่วยรักษาโรคแบคทีเรียกินเนื้อได้ แต่ทุกคนสามารถป้องกันตนเองเบื้องต้นด้วยการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบริเวณที่มีความสกปรกหรือเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย
วิธีป้องกันโรคแบคทีเรียกินเนื้อ
จะเห็นว่าโรคแบคทีเรียกินเนื้อไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อและป่วยด้วยโรคดังกล่าวได้ อีกทั้งยังมีอัตราการเสียชีวิตในระดับปานกลางอีกด้วย หากใครไม่อยากเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยก็จำเป็นต้องรู้วิธีป้องกันตนเองอย่างถูกต้อง ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดขึ้นทั้งกับตนเองและคนรอบข้างมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่าบริเวณพื้นที่มีความสกปรก เช่น บริเวณทางเดินหน้าบ้าน สนามหญ้า โรงจอดรถ หรือแม้แต่พื้นบริเวณออฟฟิศที่คนส่วนใหญ่สวมรองเท้า
- ผู้ที่จำเป็นต้องเดินบริเวณพื้นดินเปียกแฉะ เช่น ชาวไร่ ชาวสวน ชาวนา พนักงานทำความสะอาด แนะนำให้สวมรองเท้าบูตขณะทำงานอยู่เสมอ
- หมั่นล้างมือก่อนหยิบจับอาหารเข้าสู่ปาก กินร้อน ช้อนกลางอยู่เสมอแม้เป็นคนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือกับคนรักก็ตาม
- อย่าพยายามให้ขาหรือแขนถูกของมีคมทุกชนิดบาด รวมถึงหลีกเลี่ยงการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย แต่ถ้าเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นต้องรีบทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือ น้ำสบู่ หรือน้ำสะอาดด้วยวิธีให้น้ำไหลผ่านบาดแผล ใช้ยาทาแผลสดแล้วปิดด้วยผ้ากอซ ปลาสเตอร์ หรือพันผ้าพันแผลให้สะอาด หลีกเลี่ยงเชื้อแบคทีเรียสัมผัสและเข้าสู่ผิวหนังชั้นใน
- ดูแลสุขภาพด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอด้วยการนอนหลับอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง / วัน ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8-10 แก้ว หรือประมาณ 2 ลิตร หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 5 วัน / สัปดาห์ ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที
- ในกรณีที่เผลอสัมผัสกับผู้ป่วยโรคแบคทีเรียกินเนื้อ แล้วไม่แน่ใจว่าตนเองอาจติดเชื้อแบคทีเรียหรือไม่แนะนำให้รีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งของส่วนรวมกับผู้อื่นหากบริเวณมือหรือแขนของคุณมีบาดแผลสด บาดแผลที่ยังไม่ได้ทำความสะอาด ไม่ได้มีการปิดแผลให้ดี
- กรณีร่างกายยังมีบาดแผลสด แผลยังไม่แห้งสนิทดี ต้องหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ หรือการลงสัมผัสน้ำทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำส่วนรวม คลอง บึง แม่น้ำ น้ำตก งดการแช่ออนเซ็น แช่น้ำร้อน แช่น้ำตามบ่อน้ำธรรมชาติทุกประเภท
- อย่าบ่งแผลด้วยเข็มหรือใช้มีดกรีดเปิดบาดแผลด้วยตนเอง เพราะอุปกรณ์ที่ใช้อาจไม่สะอาดมากพอส่งผลให้เชื้อโรคต่าง ๆ อาจแฝงตัวอยู่แล้วเข้าสู่บาดแผลได้ง่ายขึ้น
- หากรู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วมีอาการผิดปกติไปจากเดิม ต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจโรคให้เร็วที่สุด
โรคแบคทีเรียกินเนื้อ อันตรายมากแค่ไหน เมืองไทยมีโอกาสระบาดหรือไม่
ในมุมมองของความอันตรายต้องยอมรับว่าโรคแบคทีเรียกินเนื้อก็มีระดับความน่ากังวลใจอยู่ประมาณหนึ่ง เนื่องจากเป็นสาเหตุที่ทำให้อวัยวะบางอย่างภายในร่างกายล้มเหลวและเสียชีวิตได้ หรือบางคนอาจต้องตัดแขน ตัดขา ตัดอวัยวะส่วนที่เกิดการติดเชื้อ โดยเฉพาะใครที่พึ่งเข้าไปอยู่ในพื้นที่เกิดการระบาดควรมีการป้องกันตนเองเบื้องต้นอย่างถูกต้อง เหมาะสม ตามคำแนะนำที่บอกเอาไว้ ยิ่งถ้ามีบาดแผลสดเป็นทุนเดิมอยู่แล้วต้องระวังมากขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้อัตราการแพร่เชื้อของโรคดังกล่าวยังจัดอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แม้โอกาสการระบาดสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่บนโลก แต่ช่วงที่โรคแบคทีเรียกินเนื้อ ญี่ปุ่น ระบาดหนัก ใครที่พึงเดินทางกลับแล้วมีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้นกับร่างกาย แนะนำให้รีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วน และพยายามแยกตัวเองออกจากคนรอบข้างช่วงเวลาหนึ่งเพื่อสังเกตอาการให้ชัดเจน หากเป็นโรคนี้ก็รีบทำการรักษาตามขั้นตอนที่แพทย์กำหนดเอาไว้
ช่วงเวลาที่มักพบโรคแบคทีเรียกินเนื้อบ่อยที่สุดจะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม – เดือนมิถุนายน และระหว่างเดือนกรกฎาคม – เดือนตุลาคม สังเกตว่าเป็นช่วงที่เมืองไทยอยู่ในช่วงฤดูฝนโอกาสเกิดพื้นที่ชื้นแฉะจนเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียมีมากกว่าปกติ และยังมีสถิติระบุว่ามักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
สรุป
โรคแบคทีเรียกินเนื้อ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนหากไม่ระวังตนเองและอวัยวะภายนอกของร่างกายโดยเฉพาะมือและเท้ามักสัมผัสกับสิ่งสกปรกบริเวณแหล่งที่มีการสะสมเชื้อแบคทีเรียเป็นประจำ อาการของโรคจะเริ่มจากปวดแสบปวดร้อน ผิวบริเวณติดเชื้อบวมแดง เริ่มเกิดจุดดำ ถุงน้ำ ตุ่ม ผ่านไปสักพักมักเกิดแผลมีหนองจากโรคแบคทีเรียกินเนื้อ เป็นไข้ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน จากนั้นจะค่อย ๆ รุนแรงมากขึ้น หากรักษาไม่ทันอาจต้องตัดอวัยวะส่วนดังกล่าวทิ้ง หรือบางรายที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคไตวาย โรคตับแข็ง ก็มักมีความเสี่ยงมากกว่าคนร่างกายปกติ หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อรักษาตามขั้นตอนทั้งการทานยา การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ และการผ่าตัด ที่สำคัญอย่าลืมป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าวด้วย
Ref:
- https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=1124
- https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Necrotizing-Fasciitis
- https://www.rajavithi.go.th/rj/?p=4334