โรค SLE (แพ้ภูมิตัวเอง) โรคที่ต้องใส่ใจตนเองให้มากกว่าคนปกติ

โรค SLE

โรค SLE (โรคแพ้ภูมิตัวเอง) หรือที่คนไทยส่วนใหญ่มักคุ้นเคยกันในชื่อ “โรคพุ่มพวง” นับเป็นความอันตรายที่เกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมาก ยิ่งใครขาดการดูแลใส่ใจตนเองย่อมมีความเสี่ยงถึงชีวิตมากขึ้นไปอีก ไม่ว่าคุณกำลังเป็นผู้ป่วยโรคดังกล่าว หรือต้องดูแล อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคนี้ก็ตาม การทำความเข้าใจข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วนตั้งแต่สาเหตุ อาการที่เกิดขึ้น การรักษา ไปจนถึงวิธีดูแลตนเอง ย่อมช่วยลดโอกาสการเกิดความรุนแรงได้ดีทีเดียว

โรค SLE คืออะไร

โรค SLE (Systemic Lupus Erythematosus) หรือ โรคแพ้ภูมิตัวเอง คือ อาการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดภาวะผิดปกติจากที่ควรช่วยป้องกันเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามา กลายเป็นการทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายจนมีภาวะอักเสบ กระทั่งเกิดความผิดปกติบริเวณอวัยวะต่าง ๆ ตามมาไม่ว่าจะเป็นอาการผิวหนังอักเสบ การเกิดผื่นแดงคันตามผิวภายนอก ข้ออักเสบ เนื้อเยื่ออักเสบ ไปจนถึงความผิดปกติที่รุนแรงอย่างภาวะไตอักเสบ เส้นประสาทอักเสบ ภาวะเกี่ยวกับเม็ดเลือดแดง ปอด หัวใจ และสมอง ส่วนใหญ่โรคดังกล่าวมักเกิดขึ้นกับเพศหญิงมากกว่าเพศชายเมื่อถึงช่วงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งอาจมีปัจจัยแวดล้อมอันก่อให้เกิดโรคได้

โรค SLE เกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด

ปัจจุบันยังไม่สามารถค้นหาสาเหตุของการเกิดโรค SLE ได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามทางการแพทย์และนักวิจัยเกี่ยวกับโรคก็ยังมีการสรุปปัจจัยร่วมต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรคนี้ขึ้น ประกอบไปด้วย

  • กรรมพันธุ์ หรือ พันธุกรรม ผู้ป่วยอาจมีพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือบรรพบุรุษป่วยด้วยโรคนี้ โดยคาดว่าอาจมีสารพันธุกรรมบางชนิดที่สัมพันธ์กันกับการเกิดโรค
  • ปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่สามารถทำให้เกิดการกระตุ้นความรุนแรงของโรคได้ เช่น การสัมผัสแสงแดดจัดติดต่อกันนาน ๆ การติดเชื้อโรค เชื้อไวรัสบางชนิดในร่างกายของตนเอง มักมีความเครียดบ่อย พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ผลข้างเคียงหรือผลกระทบจากการใช้ยางบางชนิด เช่น Chlorpromazine, Hydralazine, Isoniazid, Methyldopa, Procainamide
  • เชื้อชาติของผู้ป่วย ซึ่งโรคแพ้ภูมิตัวเองมักเกิดขึ้นกับคนที่มีเชื้อชาติอเมริกันเชื้อสายเอเชีย แอฟริกันอเมริกัน และฮิสแปนิก มากที่สุด

โรค SLE อาการเริ่มต้น เป็นอย่างไร

อย่างที่อธิบายไปว่าโรคแพ้ภูมิตัวเองสามารถเกิดขึ้นได้กับหลายอวัยวะ ดังนั้นจะบอกว่าโรค SLE อาการเริ่มต้นต้องสังเกตยังไงบ้างจึงมีหลายภาวะที่ต้องคอยเช็กตนเองหากรู้ว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าว หรืออยู่ ๆ ก็มีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นแบบไม่มีสาเหตุอื่นใดมาก่อน ได้แก่

  • ปวดข้อ / ข้อบวม โดยเฉพาะบริเวณข้อนิ้วมือทั้ง 2 ข้าง
  • มีไข้ บางคนอาจมีไข้ต่ำ ๆ บ่อยครั้ง หรือมีไข้สูงมาก
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่ค่อยอยากทำอะไร เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย
  • เกิดผื่นขึ้นบริเวณต่าง ๆ ของผิว โดยเฉพาะผื่นรูปคล้ายปีกผีเสื้อบนใบหน้าช่วงเหนือแก้ม 2 ข้าง หรือบางรายมีผื่นคันบริเวณแขน ขา จมูก และส่วนอื่นที่อยู่นอกร่มผ้า เนื่องจากถูกแสงแดดเป็นประจำ
  • ผมร่วง ตาแห้ง ปากแห้ง เกิดแผลในปาก
  • ความดันโลหิตสูง
  • ปวดศีรษะ รู้สึกสับสน เกิดอาการลมชัก บางรายอาจถึงขั้นเกิดภาวะบกพร่องทางสมอง พูดเพ้อเจ้อสับสน พูดไม่รู้เรื่อง
  • ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้ออักเสบ
  • เกิดภาวะเลือดจาง จำนวนเม็ดเลือดขาวต่ำ ปริมาณเกล็ดเลือดต่ำ บางรายหากอาการรุนแรงมากขึ้นอาจก่อให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก
  • ไตอักเสบ ปัสสาวะแล้วมีฟองมากกว่าปกติหรือมีปัสสาวะปนเลือด
  • หายใจลำบาก รู้สึกแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก เจ็บบริเวณชายโครงขณะหายใจเข้า
  • หัวใจอักเสบ เยื่อบุโดยรอบปอดอักเสบ
  • การติดเชื้อไวรัสอื่น ๆ จนทำให้เกิดการเจ็บป่วยง่ายกว่าคนปกติ
  • เนื้อเยื่อกระดูกเกิดการสลายตัวเพราะเลือดไปเลี้ยงกระดูกไม่เพียงพอ มีรอยยุบ รอยแตกเล็ก ๆ บางบริเวณของกระดูก

ทั้งนี้อาการของโรค SLE ที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน บางรายอาจเกิดความผิดปกติแค่อวัยวะบางส่วน ไม่ได้สร้างความรุนแรงใด ๆ มากนัก เช่น เกิดผื่นตามผิวหนัง แต่บางรายก็สามารถเกิดอาการหนักกับอวัยวะหลายจุด มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามแม้อาการของโรคแพ้ภูมิตัวเองมักทำให้เจ็บป่วยแบบเรื้อรัง แต่บ่อยครั้งก็ไม่ได้มีอาการตลอดเวลาและอาจกำเริบขึ้นมาได้หากมีปัจจัยแวดล้อมอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น พักผ่อนน้อย ความเครียด หรือการสะสมของเชื้อโรคภายในร่างกาย เป็นต้น

โรค SLE รักษาหายไหม มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

ต้องขออธิบายว่าปัจจุบันในทางการแพทย์ยังไม่สามารถหาวิธีรักษาโรค SLE ได้แบบหายขาด เมื่อแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยคนดังกล่าวอาจเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองมักยืนยันด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การตรวจเลือดที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน (Antinuclear antibody หรือ ANA) แล้วค่อยทำการรักษาให้เหมาะสม อย่างไรก็ตามต้องขึ้นอยู่กับการดูแลตนเองของผู้ป่วยกับความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นเป็นหลัก ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้วิธีรักษา การให้ยาตามความเหมาะสมของอาการที่เกิดขึ้นเพื่อควบคุมไม่ให้ระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น หรือโรคไม่กำเริบมากเกินไป

หลักการเบื้องต้นของการรักษาหากอาการที่แสดงไม่ได้รุนแรงมากเกินไป เช่น แค่เป็นผื่นขึ้นตามร่างกาย ตาแห้ง ปากแห้ง ปวดข้อ แพทย์ก็มักให้ยาตามอาการดังกล่าวและมักบอกให้ผู้ป่วยหมั่นเช็กความผิดปกติของตนเองอยู่เสมอ หากมีสิ่งใดเปลี่ยนไปจากเดิม หรือมีอาการอื่นเพิ่มต้องรีบพบแพทย์และแจ้งความผิดปกตินั้น ๆ ทันที

แต่สำหรับผู้ป่วยโรค SLE บางรายที่มีระดับความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น กำเริบบ่อย อาการเกิดกับอวัยวะสำคัญ เช่น ไต ปอด หัวใจ สุ่มเสี่ยงต่อการทำงานผิดปกติของอวัยวะจนถึงขั้นเสียชีวิต นอกจากจะเริ่มต้นรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นแล้วแพทย์ยังมักให้ทานยากดภูมิเพื่อควบคุมโรคให้สงบลง และต้องมักพบแพทย์เป็นประจำแม้ในช่วงที่ไม่แสดงอาการใด ๆ ก็ตาม

คนเป็นโรคเอสแอลอี อายุยืนไหม อยู่ได้นานแค่ไหน

ด้วยปัจจุบันแม้จะมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สาเหตุของการเกิดโรค วิธีรักษา แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันถึงข้อมูลแบบชัดเจนได้ 100% การรักษาจึงมักดูแลตามอาการที่เกิดขึ้น หรือการให้ทานยากดภูมิ ซึ่งเมื่อถามว่าผู้ป่วยโรค SLE จะมีอายุยืนยาวแค่ไหนจึงยังไม่สามารถให้คำตอบได้เช่นกัน ตราบใดที่ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองอย่างดี ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงภาวะต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดการกระตุ้นโรคก็สามารถมีชีวิตได้ยืนยาว

ทั้งนี้จากข้อมูลส่วนใหญ่เกี่ยวกับผู้ป่วยที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองแล้วเสียชีวิตมักมีสาเหตุโดยสรุปแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ๆ ประกอบไปด้วย

1. การกำเริบหรือความรุนแรงจากตัวโรค

ถือเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วย SLE เสียชีวิต หากมีอาการกำเริบหรือรุนแรงมากขึ้นอย่างการอักเสบของอวัยวะสำคัญในร่างกายจนไม่สามารถควบคุมโรคได้ เช่น ไตอักเสบ หลอดเลือดสมองอักเสบ ปอดอักเสบ สมองอักเสบ ฯลฯ และไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ก็มีสิทธิ์เสียชีวิตได้

2. การติดเชื้อโรคชนิดอื่น

ด้วยภาวะของการแพ้ภูมิตัวเอง แพทย์จึงมักให้ทานยากดภูมิเพื่อลดความรุนแรงที่ภูมิจะไปสร้างภาวะอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ แต่ในอีกมุมหนึ่งเมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง โอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายย่อมง่ายขึ้น ยังไม่นับกับการต้องทานยากลุ่มสเตียรอยด์บ่อย ๆ เพื่อรักษาโรค นั่นทำให้เชื้อโรคบางชนิดอาจทำลายอวัยวะแบบไม่ทันตั้งตัวและเสียชีวิตได้เช่นกัน

3. ปัจจัยอื่น ๆ

นอกจาก 2 ปัจจัยหลักที่มักทำให้ผู้ป่วย SLE เสียชีวิตแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มเติมด้วย เช่น การไม่พบแพทย์ตามกำหนด เข้ารับการรักษาแบบไม่ถูกวิธี การได้รับขนาดยาไม่เหมาะสม รับยาไม่ตรงกับอาการของโรค

โรค SLE ดูแลตัวเองยังไง

แม้ตัวโรคจะเป็นโรคเรื้อรัง ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ อาการอาจดีในช่วงที่โรคสงบ แต่สามารถสร้างความรุนแรงได้เมื่อโรคกำเริบขึ้น ดังนั้นเมื่อรู้ว่าเมื่อป่วยโรค SLE ก็จำเป็นต้องดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดี หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเป็นต้นเหตุของการกำเริบ ดังนี้

  • การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง โดยไม่ควรเข้านอนเกิน 5 ทุ่ม เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูและดูแลตนเอง
  • พยายามหลีกเลี่ยงการออกไปสัมผัสกับแสงแดดในช่วงเวลาตั้งแต่ 10.00 น. – 16.00 น. หรือถ้าจำเป็นควรแต่งกายให้มิดชิดมีอุปกรณ์ป้องกันแสงแดดเพื่อไม่ให้ส่องเข้ามาถึงผิว ทาครีมกันแดดที่มีค่ากันรังสี UV อย่างเหมาะสม
  • ทานอาหารสะอาด ไม่ทานของสุก ๆ ดิบ ๆ เน้นอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
  • ออกกำลังกายเท่าที่สามารถทำได้แต่ไม่ต้องหักโหมมากเกินไปและได้รับการอนุญาตโดยแพทย์
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมหรือกิจกรรมบางอย่างที่อาจทำให้เกิดการรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย และถ้าหากติดเชื้อใด ๆ ก็ตามต้องรีบทำการรักษาทันทีเพื่อไม่ให้เชื้อสร้างความรุนแรง
  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่
  • พยายามไม่เครียดกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว หรือเมื่อรู้ว่าเริ่มมีภาวะเครียดต้องรีบหาวิธีแก้ไขหรือผ่อนคลายทันที
  • หากรู้สึกผิดปกติหรือรู้สึกถึงอาการที่จะกำเริบหรือกำลังกำเริบต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาให้เร็วที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน รวมถึงไม่แนะนำให้ทานยาคุมกำเนิด เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มักทำให้อาการของโรคกำเริบ
  • ทานยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ครบถ้วนทุกมื้อ ทุกวัน ไม่เพิ่มหรือลดขนาดยาด้วยตนเอง
  • เข้ารับการตรวจรักษาตามนัดของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ อย่าให้ขาดตกบกพร่อง

สรุป

แม้โรค SLE หรือโรคแพ้ภูมิตัวเองอาจถูกมองว่าน่ากลัว อันตราย แต่ก็มีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากโรคดังกล่าวได้ อาการที่เกิดจะขึ้นอยู่กับบุคคลมีทั้งเล็กน้อยจนถึงภาวะรุนแรง การทำความเข้าใจแนวทางต่าง ๆ เพื่อสร้างความรู้ให้กับตนเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เลือกปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม แล้วชีวิตของผู้ป่วยก็จะสามารถยืนยาวได้ไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป

Ref:

  1. https://www.bumrungrad.com/th/conditions/systemic-lupus-erythematosus-sle
  2. https://www.bangkokhospital.com/content/sle-systemic-lupus-erythematosus
  3. https://www.medparkhospital.com/disease-and-treatment/lupus
  4. https://www.phyathai-sriracha.com/article/medicine/sle-โรคแพ้ภูมิตัวเอง/
  5. https://www.doctor.or.th/article/detail/3608

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *