พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ มีอะไรบ้าง ดูแลอย่างไร ? Ep.2

ในเรื่องของพัฒนาการเด็ก 1 ขวบนั้น มีหลากหลายด้านที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจและเรียนรู้ไปพร้อมกับการลูกๆ เมย์ขอบอกเลยว่าสิ่งที่สำคัญในการกระตุ้นพัฒนาลูกที่ดีที่สุดก็คือ ความสัมพันธ์อันดีกับพ่อแม่นั่นเอง เมื่อไหร่ที่คุณเข้าใจลูกน้อยและรู้พัฒนาการของเค้ามีอะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลงไป ก็จะทำให้คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีและสมบูรณ์มากขึ้น เพื่อสะสม

ภาษาและการสื่อสาร ในพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ

ลูกน้อยยังเล็กแม้ว่าลูกจะพูดไม่ได้แต่เค้าสามารถสื่อสารได้ด้วยการส่งเสียง “ร้อง” เช่น เมื่อรู้สึกหิว รู้สึกไม่สบายเนื้อตัว สิ่งที่เมย์อยากแนะนำคือให้คุณแม่ตอบสนองลูกน้อยอย่างถูกต้องและรวดเร็ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ลูกส่งสัญญาณ “ร้อง” ออกมาให้คุณแม่อุ้มด้วยท่าที่มั่นคง จะช่วยให้ลูกรู้สึก สบายใจ อบอุ่นใจ ไม่อารมณ์เกรี้ยวกราด เมื่อทำเช่นนี้บ่อยๆ ก็จะช่วยให้ลูกเป็นเด็กอารมณ์ดีได้ไม่ยากเลยล่ะ

ลูกน้อยสื่อสารผ่านการ “ร้องไห้”

  • การร้องไห้ของทารกเป็นวิธีหลักในการสื่อสารความต้องการและความรู้สึกที่แสดงออกมาชัดเจน เช่น ลูกจะร้องไห้เมื่อพวกเขาหิว เหนื่อย ไม่สบายใจ ป่วยหรือเจ็บปวด บางครั้งพวกเขาร้องไห้เพราะต้องการเปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนท่าทางการนอน และที่สำคัญคือลูกแค่อยากรู้ว่าเมื่อเค้าร้องไห้แม่จะยังอยู่ตรงนี้ใกล้ๆ คอยปลอบโยนและโอบกอด ลูกก็จะสบายใจและรู้สึกปลอดภัย
  • คุณแม่สามารถเรียนรู้พฤติกรรมของลูกได้ตลอดเวลา ว่าเขาต้องการอะไรเมื่อร้องไห้ การปลอบโยนลูกน้อยเป็นสิ่งสำคัญ เมย์ขอแนะนำให้คุณแม่อาจลองกอดหรือโยกตัว พาน้องไปเดินเล่น หรือนวดเบาๆ ให้ลูกรู้สึกอบอุ่นใจมากขึ้น

พฤติกรรมการสื่อสารของลูกน้อยในพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ

  • ลูกๆ พร้อมที่จะสื่อสารตั้งแต่แรกเกิด คุณแม่ต้องเตรียมพร้อมด้านความรู้เรื่องพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ เพื่อส่งเสริมการพูดคุยและการสื่อสารโดยการสนทนา ตอบโต้ ตอบสนองความสนใจของลูกอย่างทันท่วงที และค่อยๆ เรียนรู้พฤติกรรมและปรับตัวให้เข้ากับลูกๆ ในทุกวัน
  • การเรียกร้องความสนใจสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงวัยแรกเกิด การพยามส่งเสียงหรือขยับร่างกายรวดเร็วเป็นวิธีหนึ่งที่ลูกน้อยบอกคุณว่าพวกเขาต้องการความสนใจจากคุณ ลูกน้อยของคุณอาจหันศีรษะ มองคุณ ยื่นมือออกมา เมย์แนะนำให้คุณแม่ตอบโต้พูดคุยกับลูกหรือจับมือลูกเล่นจะช่วยกระตุ้นให้เค้าสื่อสารได้เร็วมากขึ้นค่ะ
  • การแสดงออกที่ชัดเจนเมื่อลูกน้อย อยากให้คุณสนใจ พวกเขาจะยิ้ม ร่าเริง พยายามพูดคุย ส่งเสียงไม่เป็นภาษา อยากให้คุณเล่นกับพวกเขาและสนใจสิ่งที่ลูกแสดงออกมา เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมและเข้าใจอุปนิสัยของลูก
  • เมื่อเด็กๆ ต้องการพักผ่อน พวกเขาอาจเบือนหน้าหนี ในเด็กบางคนอาจงอหลังหรือร้องไห้หากต้องการหยุดพัก ให้คุณหยุดการสื่อสาร สังเกตพฤติกรรมลูกน้อยตอบโต้อย่างไรเมื่อคุณหยุดพูดคุย พวกเขาอาจอยากนอนพักผ่อนหรืออยากเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่นๆ แทน
  • คุณแม่ต้องเรียนรู้ว่าช่วงเวลาไหนเล่นและช่วงเวลาไหนลูกต้องพักผ่อน เมย์แนะนำให้คุณแม่ลองวางลูกน้อยบนพื้นเพื่อเล่นกับพวกเขา และพาลูกน้อยเข้านอนบนเตียงหากเป็นเวลานอน
  • สังเกตสัญญาณความเหนื่อยล้าของลูกน้อยจากการที่เค้าแสดงออกมา เมื่อลูกน้อยของคุณหาว ขยี้ตา หรือกระตุกแขนหรือขา รู้สึกเคลื่อนไหวช้าลง นั่นแปลว่าพวกเขาเหนื่อย อยากพักแล้ว
  • ความเงียบสงบช่วยกระตุ้นการนอนหลับของลูกน้อยได้ดี ลองให้เวลาลูกของคุณอยู่บนเตียงเงียบๆ เพื่อช่วยกระตุ้นในการนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพ

ความคิด อารมณ์และสังคม ในพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ

  • ช่วงเวลากลางวัน ลูกจะมีเวลาตื่นตัวพร้อมเล่น พร้อมสื่อสารไม่นานมากนัก ถือว่าเป็นช่วงสำคัญที่คุณแม่ต้องเข้าหาลูกน้อยพูดคุยและสบตาทักทาย เพื่อสร้างความอบอุ่นคุ้นเคยต่อกันให้มากที่สุด
  • ลูกน้อยในวัยนี้จะชอบมองใบหน้าคนมากกว่าสิ่งของ เค้าจะเรียนรู้และจนจำใบหน้าต่างๆ และยังชอบฟังเสียงการพูดคุย หากรอบข้างส่งเสียงสูง เสียงดัง จะได้รับความสนใจมากกว่า
  • ลูกชอบการสื่อสารเป็นที่สุด อยากให้คุณพ่อคุณแม่สื่อสารกับเขาให้มาก มอบความรัก และรอยยิ้มสดใส ให้ลูกน้อยอยู่เสมอ และสิ่งที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการได้ดีก็คือ การกอด การนวด การร้องเพลง การพูดคุย การอ่าน และการเล่นกับลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นการสร้างความผูกพันอันดีระหว่างครอบครัวด้วยค่ะ
  • วัตถุที่มีลวดลายจะดึงดูดความสนใจของลูกน้อยได้มากกว่า วัตถุที่มีสีเรียบ เพราะว่าวัตถุที่มีลวดลายนั้นยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนไปตามแสงสว่าง แต่หากเป็นสิ่งของหรือวัตถุที่มีสีจะเปลี่ยนไประดับความสว่างภายในห้อง
  • การถ่ายทอดประสบการณ์เชิงบวกให้กับลูกตั้งแต่วัยเด็ก จะช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัย และสามารถสร้างคุณค่าให้ลูกน้อยได้เป็นอย่างดี ส่งผลถึงพัฒนาการเด็กในอนาคต

คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่คะ…ว่ารอยยิ้ม สามารถช่วยให้สมองของลูกน้อยเติบโตได้ดี และการแสดงออกด้วยการยิ้มให้กัน ยังเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ที่อบอุ่นและตอบสนองกับทารกได้ตรงจุดที่สุด ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาในระยะแรกเริ่มนี้ค่ะ  

กิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ

ช่วงวัยแรกเกิดกิจวัตรประจำวันของลูกน้อยส่วนใหญ่คือการกินและนอนเป็นหลักเลยค่ะ แต่ก็ไม่ใช่ว่าลูกจะกินและนอนอย่างเดียว ในช่วงที่ลูกตื่น มีพลังงานเต็มเปี่ยม พร้อมตอบสนองต่อกิจกรรมกับคุณพ่อคุณแม่ เมย์บอกเลยว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ คุณสามารถเล่นหรือทำกิจกรรมกับลูก เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาด้านต่างๆ ของลูกได้ค่ะ

วันนี้เมย์จะมาแนะนำกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ สามารถทำและเล่นกับลูกน้อยวัยนี้ได้เองค่ะ ซึ่งจุดประสงค์หลักของกิจกรรม คือการส่งเสริมให้ลูกน้อยได้ทำความรู้จักกับสิ่งรอบๆ ตัว ทั้งจากการเล่นกับพ่อแม่ หรือ กิจกรรมที่ทำโดยเค้าเอง ทุกอย่างล้วนเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการของลูกในอนาคตได้ดีเลยล่ะ

  1. การพูดคุยกับลูก เป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะการที่ลูกได้ยินเสียง มองหน้า พร้อมกับได้ฝึกโต้ตอบ จะเป็นการสร้างเสริมพัฒนาการทั้งด้านสังคม การได้ยิน การมองเห็น และเป็นการสร้างพื้นฐานอารมณ์ที่ดีให้กับลูกน้อยได้เป็นอย่างดี
  2. การหันตามเสียง การสร้างสถานการณ์ให้ลูกหันตามเสียง เป็นการฝึกการได้ยินให้ลูกน้อย รวมถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ เมื่อลูกหันตามเสียงที่ได้ยิน โดยอาจใช้เสียงต่างๆ ทั้งจากของเล่นที่มีเสียง (Rattle) เสียงเพลง หรือเสียงของคุณพ่อคุณแม่เอง กิจกรรมนี้นอกจากได้ฝึกพัฒนาการของลูกแล้ว ยังสามารถช่วยสังเกตดูความผิดปกติของการได้ยินของลูกได้อีกด้วย เมย์แนะนำให้สังเกตหากลูกไม่หันตามเสียงแม้ว่าเสียงจะดังแค่ไหน ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม เพื่อตรวจการได้ยินค่ะ
  3. ลูกมองเห็นแบบภาพ High Contrast ในช่วงแรกเกิดลูกจะมองเห็นแค่ลางๆ จะเห็นเฉพาะสีที่สดใสและชัดเจน เช่น ขาว ดำ แดง การให้ลูกได้อ่านหนังสือ หรือเล่นของเล่นที่มีสี High Contrast จะทำให้กระตุ้นอารมณ์และความรู้สึก เป็นการสร้างเสริมพัฒนาการด้านการมองเห็นของลูกได้เป็นอย่างดีค่ะ
  4. การให้มองกระจก สิ่งที่ลูกชอบมองมากที่สุดคือใบหน้า ทั้งใบหน้าคุณพ่อคุณแม่หรือใบหน้าของตัวเอง การให้ลูกน้อยมองกระจกที่ออกแบบมาสำหรับเด็ก จะเป็นการส่งเสริมพัฒนาด้านการมองเห็น เรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเองและสิ่งต่างๆ รอบตัวได้เป็นอย่างดี
  5. กิจกรรมให้ลูกเตะ ให้ลูกน้อยได้ออกแรงเตะของเล่นหรือสิ่งของ จะช่วยฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา รวมถึงการพัฒนาเรื่องประสาทการรับรู้ต่างๆ คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมพื้นที่ให้ลูกได้ฝึกแตะ เช่น Play gym แผ่นกระดาน หรือ บนเตียงนอน เมย์คิดว่ากิจกรรมนี้ง่ายและสร้างความสนุกสนานให้ลูกน้อยและครอบครัวได้ดีเลยค่ะ
  6. กระตุ้นด้วยโมบายด์ ลองหาโมบายด์สีสันสดใสมาให้ลูกน้อยได้มองเห็น สามารถส่งเสริมพัฒนาการการมองเห็น หรือจะเป็นโมบายด์ที่มีเสียงเพลงประกอบ ก็จะช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น การได้ยิน รวมถึงสามารถสร้างความบันเทิงให้ลูกน้อยได้เช่นกันค่ะ
  7. กิจกรรมเล่นเวลาอาบน้ำ วัยเด็กจะชอบการเล่นน้ำเป็นที่สุด คุณพ่อคุณแม่ควรเล่นกับลูกตอนอาบน้ำ เป็นช่วงเวลาทำกิจกรรม ที่สามารถเสริมสร้างพัฒนาการของลูกได้ดี การที่ลูกได้สัมผัสน้ำ สัมผัสอุณหภูมิที่แปลกใหม่ การเห็นของเล่นลอยได้ ได้ฝึกคว้า เอาเข้าปาก ได้ฝึกตีน้ำ เป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ และช่วยทำให้ลูกน้อยชอบที่จะอาบน้ำมากขึ้นอีกด้วย
  8. กิจกรรมสัมผัสสิ่งของต่างๆ การให้ลูกได้สัมผัสสิ่งของที่มีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น หนังสือ ลูกบอล ของเล่น จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการการสัมผัสของลูก ลองให้ลูกจับหนังสือภาพที่มีเสียง จับตุ๊กตานุ่มๆ จับของเล่นที่มีรูปร่างหรือผิวสัมผัสที่แตกต่าง จะช่วยให้ลูกได้ฝึกทักษะการรับรู้ทางการสัมผัสได้ดีขึ้น
  9. การจับลูกนอนคว่ำ หรือการทำ Tummy Time กิจกรรมนี้เมย์แนะนำให้ทำในขณะที่ลูกน้อยตื่นตัว จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น กล้ามเนื้อคอ มือ แขน ขา หน้าท้อง หรือระบบประสาท และยังช่วยส่งเสริมทักษะการมองเห็นของลูกจากการที่ลูกได้เห็นวิวหรือสิ่งของต่างๆ รอบตัวอีกด้วย

การดูแลสุขอนามัยช่วงพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ

การดูแลสุขอนามัยของเด็กทารกเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ มีหลายจุดที่ต้องระวังและดูแลรักษาความสะอาดเป็นพิเศษ วันนี้เมย์จะมาบอกถึงวิธีการทำความสะอาดอวัยวะต่างๆ ของลูกๆ กันค่ะ

  1. ทำความสะอาดใบหน้า ศีรษะ ปาก และฟันของลูกน้อย

บริเวณใบหน้า…ใช้สำลีก้อนหรือผ้านุ่มๆ ชุบน้ำอุ่น ค่อยๆ เช็ดจากตาชั้นในสู่ตาชั้นนอก ใช้สำลีชิ้นใหม่หรือผ้าส่วนที่สะอาดในการเช็ดทุกครั้ง

บริเวณใบหู…ใช้สำลีก้อนเช็ดด้านหลังและรอบนอกใบหูของทารกเบาๆ หากสำลีสกปรกให้เปลี่ยนอันใหม่ ห้ามนำสำลียัดเข้าไปในหูทารกเด็ดขาด

บริเวณศีรษะ…การสระผมของทารกให้ฉีดน้ำเบาๆ ลงบนศีรษะ ใช้แชมพูสำหรับเด็กโดยเฉพาะสูตรอ่อนโยน ป้องกันการแพ้หรือระคายเคือง จากนั้นเช็ดผมของลูกน้อยให้แห้งโดยค่อยๆ เลื่อนผ้าขนหนูไปมาบนหนังศีรษะจนผมแห้ง

บริเวณฟัน…ใช้น้ำและผ้าชุบน้ำหมาดๆ หลังป้อนอาหารตอนเช้าและเย็น เช็ดฟันด้านหน้าและด้านหลังให้ลูกน้อย เมื่อลูกมีฟันซี่แรกให้แปรงฟันด้วยน้ำอย่างน้อยวันละสองครั้ง ใช้แปรงสีฟันเด็กขนาดเล็กและอ่อนนุ่มเท่านั้น

  • ดูแลและทำความสะอาดเล็บและสายสะดือของลูกน้อย

บริเวณเล็บ…เลือกใช้กรรไกรตัดเล็บสำหรับเด็กที่มีความคมน้อยหรือแผ่นกากกะรุน จับมือของลูกไว้ให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกขยับเวลาตัดเล็บ หากลูกดิ้นให้ลองตัดแต่งเล็บตอนที่ลูกน้อยของคุณหลับ หรืออารมณ์ดีหลังอาบน้ำ

บริเวณสายสะดือ…ควรล้างมือให้สะอาดก่อนทำความสะอาดสายสะดือของลูกน้อย ใช้สำลีชุบน้ำเปล่าหรือแอลกอฮอล์ 70 % เช็คบริเวณโคนสะดือ เช็ดวนจากด้านในไปด้านนอก และเช็ดให้แห้งสนิทอีกครั้ง

  • การดูแลอวัยวะเพศและสุขอนามัยสำหรับลูกน้อย

บริเวณอวัยวะเพศ…ใช้สำลีก้านเปียกหรือผ้านุ่มๆ เช็ดระหว่างแคม เพื่อขจัดคราบปัสสาวะและอุจจาระ เริ่มที่ด้านหน้าและค่อยๆ เช็ดไปด้านหลัง ขณะอาบน้ำ ให้ล้างบริเวณอวัยวะเพศด้วยน้ำเบาๆ ทำความสะอาดเฉพาะด้านนอกเท่านั้น เมื่ออาบเสร็จ ใช้ผ้าขนหนูเช็ดเบาๆ บริเวณรอบอวัยวะเพศ

บริเวณก้น…ต้องรอให้บริเวณก้นของลูกน้อยแห้งสนิท จึงค่อยใส่ผ้าอ้อม จะช่วยป้องกันผื่นผ้าอ้อมได้

การพักผ่อนนอนหลับของลูกน้อยในช่วงพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ

  • ทำความเข้าใจความต้องการของทารกแรกเกิดว่ามี 3 องค์ประกอบหลัก คือ การนอน การกิน และการเล่น
  • ในช่วง 2-3 เดือนแรก เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่ได้ทำความรู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับความต้องการของลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็น การนอน การกิน การเล่นของลูก
  • ช่วงวัยทารกจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนหลับ โดยทารกจะนอน 14-17 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งกลางวันและกลางคืน
  • เด็กทารกจะตื่นขึ้นมาทุกๆ 2 – 3 ชั่วโมงเมื่อรู้สึกหิว คุณแม่จะต้องให้ลูกน้อยเข้าเต้ากินนมทุกครั้งเมื่อลูกรู้สึกตัว ช่วงนี้คุณแม่อาจจะหลับๆ ตื่นๆ ตลอดในช่วง 3 เดือนแรก
  • ลูกน้อยช่วงที่ตื่นนอนจะยืดตัวออกและเตะผ้าห่ม คุณแม่อาจจะโอบกอดเบาๆ และเล่นกับลูกประมาณ 10-20 นาทีก็เพียงพอค่ะ

ประโยชน์ของนมแม่ในช่วงพัฒนาการเด็ก 1 ขวบ

ประโยชน์สำหรับลูกน้อย

  • สารอาหารครบถ้วนในสัดส่วนที่เหมาะสมกับความต้องการของเด็ก
  • นมแม่มีภูมิต้านทานโรคติดเชื้อ สร้างภูมิคุ้มกันโรคให้ลูกแข็งแรง
  • ลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้ ลดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ปอดบวม และโรคเบาหวานได้
  • ช่วยลดอัตราเสี่ยงเรื่องฟันซ้อน ฟันผุกร่อน
  • ช่วยปรับสมดุลระบบขับถ่ายเป็นปกติ ลดอาการท้องผูก
  • ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านสมองและสติปัญญา
  • ความผูกพันระหว่างแม่ลูกจะช่วยเสริมสร้างพลังงานเชิงบวกให้จิตใจลูกน้อย ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาอุปนิสัยการเรียนรู้ และปรับตัวของลูกน้อยในอนาคต

ประโยชน์สำหรับคุณแม่

  • การให้นมลูกลูกด้วยตัวเอง จะช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินในร่างกายแม่ ทำให้แม่รู้สึกผ่อนคลาย ส่งผลให้รูปร่างกลับคืนสู่สภาพเดิมเร็วขึ้น
  • กระตุ้นมดลูกหดรัดตัวดี เข้าอู่เร็ว ขับน้ำคาวปลา ป้องกันการตกเลือดหลังคลอดได้
  • เสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านจิตใจระหว่างกัน ทำให้เกิดความรักความผูกพันกับลูกน้อยมากขึ้น
  • เพิ่มความสะดวกสบายให้คุณแม่ พร้อมที่จะให้ลูกน้อยเข้าเต้าได้ทุกที่ทุกเวลา
  • การให้นมบุตรช่วยลดภาวะโลหิตจาง ลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่

เมย์ขอแนะนำว่าควรให้นมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด หลังจากนั้นควรให้นมแม่ควบคู่ไปกับอาหารเสริมที่เหมาะสมกับช่วงวัยของลูกน้อย จนถึงอายุ 12 เดือนเป็นอย่างน้อยไปหรือนานกว่านั้นค่ะ

ข้อควรระวัง !! สำหรับทารกที่อายุต่ำกว่า 12 เดือน

  • งดการให้ดื่ม นมโค นมกล่อง เพราะทารกแรกเกิดไม่สามารถย่อยและดูดซึมนมวัวได้ทั้งหมด เนื่องจากระดับโปรตีนในนมวัวสูงเกินไปสำหรับทารก จึงไม่ควรให้นมวัวจนกว่าจะ 12 เดือนขึ้นไป
  • ให้ควรให้ลูกน้อยดื่มนมประเภท พร่องมันเนย นมข้นหวาน ทุกชนิด
  • ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ถั่วเหลือง ข้าว อัลมอนด์ หรือกะทิ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพก่อนให้ลูกดื่ม
  • งดอาหารเสริม ที่ไม่ใช่สำหรับเด็กตามช่วงวัย เพราะสารอาหารและส่วนผสมต่างๆ อาจทำให้ลูกเกิดอาการแพ้ได้
  • ความสะอาดสำคัญ ผิวลูกน้อยบอบบางแพ้ได้ง่าย เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเท่านั้น และต้องล้างอุปกรณ์ของใช้ลูกน้อยให้สะอาดอยู่เสมอ

คุณแม่คุณพ่อคงเห็นแล้วนะคะ…ว่าพัฒนาการของเด็กในช่วง 1 ขวบนั้น มีความสำคัญมากๆ และมีหลายเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ลูกน้อยของคุณเขาก็พร้อมที่จะเรียนรู้ ปรับตัว และพัฒนาศักยภาพอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ขอเพียงเราเข้าใจและเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกอย่างรอบด้าน โดยผ่านการดูแลอย่างเหมาะสม ด้วยการให้ความรัก ความอบอุ่น ความปลอดภัย ความเอาใจใส่แก่ลูกน้อย เพียงเท่านี้เมย์เชื่อว่าลูกน้อยของคุณก็จะเติบโตเป็นเด็กที่มีสุขภาพกายและจิตใจที่ดีในอนาคตอย่างแน่นนอนค่ะ

Reference

  1. The australian parenting website
  2. HARVARD T.H .CHAN | School of Public Health

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *