วิตามินรวม (Multi-Vitamin) ช่วยเรื่องอะไร จำเป็นหรือไม่?
คุณอาจจะแปลกใจที่ต้องรู้ว่าประชากรผู้ใหญ่กว่าครึ่งของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯและญี่ปุ่นทั้งหมดทานวิตามินเสริม โดยอัตราส่วนยิ่งมากขึ้นตามอายุโดยค่าเฉลี่ยของผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 71 ปี บริโภควิตามินคิดเป็น 70% เลยทีเดียว! โดยในจำนวนนี้ประมาณ 1 ใน 3 มีการใช้อาหารเสริมวิตามินรวม (Multi-Vitamin) เป็นหลัก แต่คำถามคือการบริโภควิตามินรวมช่วยเรื่องอะไร มีความจำเป็นต่อร่างกายจริงหรือไม่? จริงอยู่ที่การขาดวิตามินบางชนิดเป็นต้นเหตุของโรคที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรคลักปิดลักเปิด (ขาดวิตามิน C) โรคเหน็บชา (ขาดวิตามิน B1) โรคเพลลากรา (ขาดวิตามิน B3) และโรคเกาต์ (ขาดวิตามิน D) แต่โรคเหล่านี้ก็มักจะเกิดในประเทศด้อยพัฒนา-ขาดแคลนอาหารและความรู้ แต่ในสมัยนี้ที่ความรู้เปิดกว้างและอาหารอุดมสมบูรณ์การกินวิตามินเสริมยังจำเป็นรึเปล่า หลายกรณีที่ร่างกายไม่ปกติ หรือ อยู่ในสภาวะพิเศษการขาดวิตามินและแร่ธาตุถ้าขาดแล้วไม่เสริมก็มีความเสี่ยงที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้เลย เช่น กำลังตั้งครรภ์, มีปัญหาเรื่องระบบการย่อยแต่กำเนิด เช่น ผู้ที่มีอาการดูดซึมอาหารพิการ จากความผิดปกติของระบบดูดซึมอาหาร, ผู้ที่เป็นโรคขาดสารอาหารซึ่งเกิดจากการได้รับโภชนาการที่ไม่เหมาะสมเป็นระยะเวลานาน ในบทความนี้เราจะมาอธิบายถึงความสำคัญของการทานวิตามินรวม ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากถึง 26 ชนิด และอธิบายถึงสถานการณ์ที่การบริโภควิตามินรวมนั้นจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมถึงข้อดี ข้อเสียของการได้รับสารอาหารเพิ่มเติมเข้ามาทั้งในกรณีที่ร่างกายขาด หรือ มีเพียงพอยู่แล้วให้เข้าใจและเลือกตัดใจได้มากขึ้นกันครับ
วิตามินรวม เหมาะกับคนกลุ่มไหนบ้าง?
สำหรับผู้ที่รับประทานอาหารที่ถูกโภชนาการและมีความหลากหลายทางวิตามินในอาหารแต่ละมื้ออยู่แล้ว เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด โปรตีนดีและไขมันดี กลุ่มเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องทานวิตามินรวมเพิ่มในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงมีคนจำนวนไม่มากนักที่เข้าข่ายกลุ่มที่กล่าวมาข้างต้น และสามารถรับสารอาหารได้อย่างครบถ้วนในหนึ่งวัน แม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา สถาบันการแพทย์ในสหรัฐระบุว่ามากกว่า 90% ของประชากรสหรัฐอเมริกาได้รับสารอาหารชนิดวิตามิน D และวิตามิน E ไม่เพียงพอจากการทานอาหาร โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการขาดสารอาหารมีดังนี้:
- กลุ่มผู้สูงอายุ: ผู้สูงอายุมักจะพบกับ
- ความยากลำบากในการบริโภคอาหารจากหลายเหตุผล เช่น ความลำบากในการเคี้ยวและกลืนอาหาร, การสูญเสียการรับรสชาติอาหารที่เกิดจากยาที่ทานเป็นประจำ, หรือความรู้สึกโดดเดี่ยวและความเหงาที่สามารถลดความอยากอาหารลงได้
- นอกจากนี้ด้วยอายุที่มากขึ้นโดยมากก็จะมีปัญหาในการดูดซึมวิตามิน B12 จากอาหารด้วย, โดยสถาบันการแพทย์แห่งชาติในสหรัฐอเมริกา แนะนำว่าคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรได้รับอาหารที่เสริมวิตามิน B12 (fortify with B12) หรือทานวิตามินเสริมโดยตรงซึ่งสามารถดูดซึมได้ง่ายกว่าการย่อยและดูดซึมจากอาหาร
- กลุ่มผู้ที่ตั้งครรภ์: การได้รับกรดโฟลิกที่เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในผู้ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หรือกำลังจะตั้งครรภ์
- เนื่องจากกรดโฟลิกสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการให้กำเนิดเด็กที่มีความบกพร่องทางกระดูกไขสันหลัง (spina bifida) หรือความบกพร่องทางสมอง (anencephaly) ได้
- โดยการบริโภคกรดโฟลิกให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ควรเลือกรับประทานในช่วงสัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ หรือช่วงก่อนที่จะทราบว่าจะมีการตั้งครรภ์ (conception period- ประมาณ 2 สัปดาห์หลังประจำเดือนหมดในเดือนนั้น) อย่างไรก็ตามการตั้งครรภ์ในคนส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นโดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า
- จึงแนะนำให้ผู้หญิงในช่วงอายุ 15-45 ปี บริโภคกรดโฟลิกในปริมาณ 600 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งกรดโฟลิกและสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นในช่วงตั้งครรภ์ เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามิน D และ DHA สามารถหาได้จากวิตามินรวมประเภทเตรียมตัวสำหรับการตั้งครรภ์ (Prenatal Vitamins)
- กลุ่มสภาวะดูดซึมอาหารผิดปกติ: โรคหรือสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการลดประสิทธิภาพในการดูดซึมสารอาหารเช่น
- โรคเซลิแอ็ก (Celiac) โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative colitis) หรือโรคไซสติกฟิโบรสิส (Cystic fibrosis)
- การผ่าตัดทางเดินอาหาร เช่นการผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนัก (gastric bypass) หรือการผ่าตัดตับอ่อน (Whipple procedure) ที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะทางเดินอาหารหลายส่วน
- โรคที่เกี่ยวข้องกับอาการอาเจียนหรือถ่ายเหลวที่อาจส่งผลทำให้การดูดซึมสารอาหารเสื่อมสภาพ
- การติดสุราที่สามารถทำให้การดูดซึมสารอาหารแย่ลง โดยเฉพาะรวมทั้งวิตามิน B หลายชนิดและวิตามิน C
- กลุ่มผู้ที่ใช้ยาบางชนิด: กลุ่มยาบางชนิดอาจมีผลป้องกันประสิทธิภาพการดูดซึมสารอาหารของร่างกายได้ เช่น
- ยาลดแรงดันโลหิต (Diuretics) สามารถทำให้ร่างกายสูญเสียสารอาหารจากการขับน้ำออกจากร่างกาย เช่น แมกนีเซียม โพแทสเซียม และแคลเซียม ที่สะสมอยู่ในร่างกาย
- ยารักษาอาการแสบร้อนในกระเพาะ (Proton pump inhibitors) อาจป้องกันการดูดซึมวิตาบิน B12, แคลเซียม, และแมกนีเซียม
- ยารักษาโรคพาร์กินสัน (Levodopa และ carbidopa) อาจลดการดูดซึมของวิตามิน B เช่น โฟเลต, วิตามิน B6, และวิตามิน B1
- กลุ่ม Special Diet: กลุ่มที่มีรูปแบบการทานอาหาร (Dietary Pattern) พิเศษก็ต้องได้รับวิตามิน-แร่ธาตุเสริม เช่น
- Vegetarian Diet มักต้องการวิตามิน B12, ธาตุเหล็ก, วิตามิน D เป็นพิเศษ
- Keto Diet มักต้องการ Calcium, Magnesium, ธาตุเหล็ก เสริม แต่อาจจะจำเพาะบางรายการ, ถ้าเป็นวิตามินรวมต้องเป็น Multi-Vitamin เฉพาะกลุ่ม
ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับวิตามิน D
สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว ทางที่ดีที่สุดในการรับวิตามิน D อย่างเพียงพอ คือการได้รับทางอาหารเสริม เนื่องจากวิตามิน D สามารถหาได้ยากจากแหล่งอาหาร ถึงแม้ว่าอาหารบางชนิดจะระบุว่าอุดมไปด้วยวิตามิน D ก็ตามแต่มีจำนวนน้อยมากที่มี วิตามิน D จากอาหารเสริมมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่ วิตามิน D2 (Pre-Vitamin D) และ วิตามิน D3 (Cholecalciferol) โดยทั้งคู่สามารถเกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติจากรังสีอัลตราไวโอเลตบี (UVB) ในแสงอาทิตย์ วิตามิน D2 จะถูกผลิตในพืชและและตระกูลเชื้อรา ส่วนวิตามิน D3 ถูกผลิตในสัตว์ (รวมถึงมนุษย์เราด้วย) โดยวิตามิน D ที่ได้รับจากแสงแดดและถูกผลิตในผิวหนังนั้นถือเป็นแหล่งวิตามิน D ที่สำคัญที่สุดต่อร่างกาย แต่เนื่องจากพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ที่มักอยู่ในที่ร่มมากกว่ากลางแจ้ง จึงทำให้เราได้รับวิตามินเหล่านี้ไม่เพียงพอ รวมไปถึงในคนที่มีสีผิวเข้มมักจะมีระดับวิตามิน D ในเลือดต่ำกว่าปกติ เนื่องจากสารสี (เมลานิน) มีบทบาทเหมือนกับร่มเงาและลดการผลิตวิตามิน D *จากวิจัยใช้ Sunscreen ออกแดดก็ยังได้รับวิตามินดีอยู่ (แม้จะเขียนข้างขวดว่าป้องกัน UVB ได้ก็ตาม), ถ้ากลัวผิวคล้ำคุณอาจจะลองทากันแดดแล้วเดินเล่นกลางแดดวันละ 15-30 นาทีให้หน้า คอ แขน มือ โดนแดด โดยค่าเฉลี่ยคนส่วนใหญ่ ร่างกายคุณก็น่าจะได้รับปริมาณวิตามินดีเพียงพอแล้วล่ะครับ
เราควรเลือกวิตามินรวม (Multi-Vitamin) รูปแบบไหน?
วิตามินรวมนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ (เม็ดยา, แคปซูล, น้ำ, ผง, และตอนนี้ยังมีในรูปแบบขนมกัมมี่ด้วย!) และยังบรรจุมาในรูปแบบวิตามินที่ผสมกันได้ตามความต้องการ (เช่น B-complex, แคลเซียมพร้อมวิตามิน D) หรือเป็นแบบรวมวิตามินครบถ้วน ในปัจจุบันมีแบรนด์อาหารเสริมให้เลือกมากมายในตลาด แต่คุณไม่จำเป็นต้องเลือกแบรนด์ที่มีชื่อเสียงราคาแพงเสมอไปเพราะแม้แต่แบรนด์ทั่วไปที่ไม่มีชื่อเสียงก็สามารถให้ผลลัพธ์ที่ดีได้เช่นกัน เราควรมองหาวิตามินที่ให้ปริมาณตามคำแนะนำสารอาหารที่ต้องบริโภคต่อวัน (Recommended Daily Allowance) และมีการรับรองจากองค์การอาหารและยาบนฉลาก (อย.) ซึ่งจะทำให้คุณมั่นใจได้ว่าส่วนผสมและปริมาณสารที่ระบุในฉลากได้รับการผลิตในเงื่อนไขที่เป็นไปตามมาตรฐานสุขอนามัยและได้รับการควบคุมอย่างถูกต้อง
ปัจจัยที่คุณควรพิจารณาก่อนตัดสินใจบริโภควิตามินรวม
เหตุผลในการรับประทานวิตามินรวม
- ฉันได้รับสารอาหารในปริมาณน้อยหรือรู้สึกไม่เจริญอาหาร
- ฉันอยู่ในช่วงที่ต้องจำกัดปริมาณอาการมากกว่า 1 สัปดาห์ เช่น การทานอาหารเหลวหลังจากการผ่าตัด, หรือการทานอาหารแบบพิเศษอื่นๆเพื่อลดน้ำหนัก เช่น Keto, Intermitted fasting เป็นต้น
- ฉันมีอาการผิดปกติที่ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารของร่างกายลดลง (เช่น โรคเซลิแอค, โรคลำไส้เอ็กซ์ตรีซิส) หรือได้รับการผ่าตัดที่มีผลต่อการดูดซึมสารอาหาร (เช่น การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก, การผ่าตัดตับอ่อน)
- ฉันอยู่ในช่วงที่ต้องได้รับสารอาหารมากกว่าปกติ เช่น กำลังตั้งครรภ์
- ฉันยุ่งมาก ๆ จนไม่สามารถรับประทานสารอาหารได้ตามที่ร่างกายต้องการต่อวัน
เหตุผลที่ไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินรวม
- ฉันรับประทานอาหารอย่างครบถ้วน แต่มีรู้สึกเหนื่อยล้าตลอดเวลา (อาการเหนื่อยแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อค้นหาสาเหตุที่แน่ชัด)
- ฉันกินอาหารครบและมีคุณภาพมาก แต่ต้องการให้สุขภาพดียิ่งขึ้นไปมากเท่าที่จะเป็นไปได้ (อาจจะดูเป็นประเด็นเจาะจงที่คิดว่าขาดแทน)
- เมื่อมีโรคกระดูกพรุนจากการขาดแคลเซียม หรือโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (ในทั้งสองกรณีนี้ คุณควรรับประทานเฉพาะสารอาหารที่ขาดไป แทนที่จะรับประทานวิตามินรวม)
หากคุณไม่แน่ใจว่าควรรับประทานวิตามินรวมหรือไม่ คุณควรต้องปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการก่อนเพื่อประเมินระดับโภชนาการของคุณ โดยผู้เชี่ยวชาญจะให้คำแนะนำในการปรับปรุงการบริโภคอาหารของคุณให้มีสารอาหารเหล่านั้นหรืออาจจะให้อาหารเสริมวิตามินชนิดเดี่ยว หรือชนิดรวมตามอาการ *ที่สำคัญอย่าลืมแจ้งแพทย์ถึงวิตามินเสริมทั้งหมดที่คุณกำลังรับประทานอยู่ เพื่อป้องกันการเกิดความผิดปกติระหว่างยาที่ใช้ร่วมกัน ทั้งนี้เราไม่แนะนำให้รับประทานวิตามินในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น หรือมากกว่าปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการดูดซึมสารอาหาร รวมถึงอาจส่งผลให้เป็นพิษต่อร่างกายเมื่อรับประทานเป็นระยะเวลานาน ท้ายที่สุด ควรระวังฉลากวิตามินอาหารเสริมที่มีคำบรรยายเกินจริง หรือเชิงโฆษณาเกี่ยวกับ “สมองดีใส, กระปรี้กระเปร่าสดชื่น หรือ ผิวสวยใส” ซึ่งเป็นคำอธิบายที่ทำเพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงการตลาดเท่านั้น (อาจจะไม่ผลขนาดตามที่กล่าวอ้าง) นอกจากนี้ควรระวังวิตามินที่มีส่วนเสริมอื่น ๆ เช่นสมุนไพรและสารจากพืชที่อาจขาดข้อมูลด้านการวิจัยในผลกระทบระยะยาวและผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายในอนาคต
วิตามินและสุขภาพ
การศึกษาเกี่ยวกับปริมาณที่เหมาะสมของวิตามินและแร่ธาตุเพื่อป้องกันโรคเรื้อรังยังไม่มีผลสรุปที่แน่นอนและต้องใช้เวลาในการศึกษาอีกมากเพื่อค้นหาความสัมพันธ์เหล่านี้
ถึงแม้ในปัจจุบันความเห็นเป็นที่ชัดเจนว่าการบริโภควิตามินรวมเมื่อได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอจากอาหารในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องสำคัญเและจำเป็น แต่สำหรับคนที่ได้รับสารอาหารเพียงพออยู่แล้วการทานเพิ่มแล้วส่งผลดียังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน, บางงานวิจัยนั้นแสดงให้เห็นว่าการบริโภควิตามินและแร่ธาตุเพิ่มเติมนั้นไม่ได้ให้ทั้งประโยชน์และเป็นอันตรายต่อร่างกายเลยด้วยซ้ำ
Sapiens Health แนะนำ หากคุณสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องวิตามิน แนะนำให้อ่านบทความ “วิตามินและแร่ธาตุ มีอะไรบ้าง มีผลต่อร่างกายอย่างไร?” ครับ
วิตามินรวมปะทะโรคต่างๆ
Muti-Vitamin ปะทะ โรคมะเร็ง การทดลองแบบสุ่มด้วยการให้ วิตามินรวม (Multi-Vitamin) กับ ยาหลอก (Placebo) ต่อกลุ่มบุคคลากรทางการแพทย์ชายจำนวนมากกว่า 14,000 คน โดยบางคนมีประวัติโรคมะเร็งและบางคนสุขภาพสมบูรณ์ดี หลังจากผ่านไป 11 ปี พบว่าผู้ชายที่รับวิตามินรวม มีโอกาสลดการเกิดโรคมะเร็งลงไปถึง 8% เทียบกับคนที่ทานยาหลอก *ผลลัพธ์นี้ไม่แตกต่างกันระหว่างผู้ทดสอบที่มีประวัติโรคมะเร็งมาก่อนและคนที่มีสุขภาพสมบูรณ์ดีตั้งแต่ช่วงเริ่มการศึกษา Muti-Vitamin ปะทะ โรคหลอดเลือดหัวใจ ในการศึกษาเดียวกัน Physicians’ Health Study II ที่เป็นการทดลองแบบสุ่มด้วยการให้ วิตามินรวม (Multi-Vitamin) กับ ยาหลอก (Placebo) ต่อกลุ่มบุคคลากรทางการแพทย์ชายจำนวนมากกว่า 14,000 คน โดยบางคนมีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจ หลังจากผ่านเวลาไป 11 ปี ไม่พบผลที่มีนัยยะสำคัญที่บ่งชี้ว่าวิตามินรวมมีผลกระทบในทางที่ดีต่อระบบหลอดเลือดหัวใจ Muti-Vitamin ปะทะ อัตราการเสียชีวิต มีงานวิจัยหนึ่งบอกว่าคนเราเสียชีวิตมากขึ้นเพราะทานวิตามินรวม! แต่ว่าข้อมูลในงานวิจัยชุดนั้นมีจุดโหว่ใหญ่อยู่นั่นก็คือทุกคนที่ทานมีภาวะอาการป่วยรุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้ว และเริ่มใช้วิตามินรวมหลังจากที่สุขภาพเริ่มทรุดลงหวังว่าจะให้สุขภาพดีขึ้นมา ซึ่งอาจจะสายเกินไป *งานวิจัยนี้เกิดขึ้นที่รัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา เฝ้าดูผู้หญิงที่ทานวิตามินรวมกว่า 20 ชนิดเข้าไป และพบว่าอัตราการเสึยชีวิตไม่ต่างกัน
- งานวิจัยนี้ไม่ได้ระบุระยะเวลาที่รับประทาน
- ไม่ได้ระบุว่าผู้เข้าร่วมทดลองป่วยก่อนทานวิตามินรวม หรือ ทานวิตามินรวมก่อนแล้วถึงป่วย
- อย่างไรก็ตามงานวิจัยอาจแสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่าการทานวิตามินรวม ไม่ได้ลดอัตราการเสียชีวิตโดยตรง
สรุป ผลลัพธ์ของการทานวิตามินรวม (Multi-Vitamin)
สิ่งสำคัญที่เราต้องจำเอาไว้เสมอก็คือวิตามินรวมไม่สามารถแทนที่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ จุดประสงค์หลักของการบริโภควิตามินรวมคือการเติมเต็มช่องว่างจากสารอาหารบางส่วนที่ขาดหายไปจากการทานอาหารเท่านั้น วิตามินรวมไม่ได้มี Fiber และเติมเต็มความอิ่มได้เหมือนอาหาร ควรทานในสถานการณ์ที่ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบเท่านั้น โดยการเลือกซื้อวิตามินรวมนั้นไม่จำเป็นต้องเลือกแบรนด์ที่มีชื่อเสียง เพราะแบรนด์ทั่วไปก็สามารถให้ผลลัพธ์ที่ดีได้เช่นกัน แต่ควรมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณตามระดับแนะนำ (RDA) ที่ควรบริโภคต่อวันในแต่ละช่วงเพศ-วัย และมีการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาบนฉลากจะดีกว่า Reference
- Bailey RL, Gahche JJ, Lentino CV, Dwyer JT, Engel JS, Thomas PR, Betz JM, Sempos CT, Picciano MF. Dietary supplement use in the United States, 2003–2006. The Journal of nutrition. 2011 Feb 1;141(2):261-6.
- Fulgoni III VL, Keast DR, Bailey RL, Dwyer J. Foods, fortificants, and supplements: where do Americans get their nutrients?. The Journal of nutrition. 2011 Oct 1;141(10):1847-54.
- Institute of Medicine. Food and Nutrition Board. Dietary Reference Intakes: Thiamin, Riboflavin, Niacin, Vitamin B6, Folate, Vitamin B12, Pantothenic Acid, Biotin, and Choline. Washington, DC: National Academy Press, 1998.
- Rautiainen S, Manson JE, Lichtenstein AH, Sesso HD. Dietary supplements and disease prevention—a global overview. Nature Reviews Endocrinology. 2016 Jul;12(7):407-20.
- Fortmann SP, Burda BU, Senger CA, Lin JS, Whitlock EP. Vitamin and mineral supplements in the primary prevention of cardiovascular disease and cancer: an updated systematic evidence review for the US Preventive Services Task Force. Annals of internal medicine. 2013 Dec 17;159(12):824-34.
- Gaziano JM, Sesso HD, Christen WG, Bubes V, Smith JP, MacFadyen J, Schvartz M, Manson JE, Glynn RJ, Buring JE. Multivitamins in the prevention of cancer in men: the Physicians’ Health Study II randomized controlled trial. JAMA. 2012 Nov 14;308(18):1871-80.
- Sesso HD, Christen WG, Bubes V, Smith JP, MacFadyen J, Schvartz M, Manson JE, Glynn RJ, Buring JE, Gaziano JM. Multivitamins in the prevention of cardiovascular disease in men: the Physicians’ Health Study II randomized controlled trial. JAMA. 2012 Nov 7;308(17):1751-60.
- Mursu J, Robien K, Harnack LJ, Park K, Jacobs DR. Dietary supplements and mortality rate in older women: the Iowa Women’s Health Study. Archives of internal medicine. 2011 Oct 10;171(18):1625-33.
- Havard T.H. CHAN, SCHOOL OF PUBLIC HEALTH
- Ask the Doctors – How much sunshine do I need for enough vitamin D?, UCLA Health Org