วิตามิน B1 (ไทอะมีน)

วิตามิน B1 (ไทอะมีน)

เลือกอ่านตามหัวข้อ Add a header to begin generating the table of contents วิตามิน B1  หรือไทอะมีน เป็นวิตามินที่มีคุณสมบัติละลายได้ในน้ำ ซึ่งสามารถพบในอาหารและมีขายเป็นแบบอาหารเสริม โดยวิตามิน B1 มีหน้าที่ช่วยเปลี่ยนสารอาหารให้เป็นพลังงานต่อร่างกาย และมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตและการทำงานของเซลล์ต่างๆ ดังนั้นการทานวิตามิน B1 ทุกวันจึงมีความจำเป็นต่อร่างกายเป็นอย่างมาก อาการของการขาดวิตามิน B1 ถูกบันทึกครั้งแรกในตำรายาจีนโบราณ แต่อาการดังกล่าวไม่ได้ถูกระบุถึงความเกี่ยวข้องทางโภชนาการอาหารจนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2427 ซึ่งแพทย์ชาวญี่ปุ่นได้สังเกตเห็นถึงอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในหมู่ลูกเรือที่ได้รับโภชนาการอย่างจำกัดเป็นเวลาหลายเดือนขณะออกเดินทางทางทะเล โดยอาหารที่พวกเขาได้รับมีเพียงข้าวเท่านั้น หลังจากพบอาการผิดปกติมากขึ้นจึงมีการให้อาหารที่มีความหลากหลายทางโภชนาการที่ดีกับลูกเรือ เช่น เนื้อสัตว์ ถั่ว และผัก ส่งผลให้อัตราการป่วยและเสียชีวิตแทบจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย ในช่วงเวลาเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ชาวดัตช์สองคนก็ได้ค้นพบวิตามิน B1 ที่อยู่ในชั้นนอกของเมล็ดข้าว ซึ่งเมล็ดข้าวที่ยังมีเยื้อหุ้มเปลือกนอก เช่น ข้าวกล้อง และข้าวไรซ์เบอรรี่ นจะอุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารมากกว่าข้าวขาวที่ขัดสีและนำเยื่อหุ้มออก  โดยจากการทดลองของชาวดัตช์ต่อไก่ 2 กลุ่มให้ผลลัพธ์ว่า ไก่ที่เลี้ยงด้วยเมล็ดข้าวขาวที่เป็นข้าวขัดสีมีอาการเป็นอัมพาตที่ขา ในขณะที่ไก่อีกกลุ่มหนึ่งที่เลี้ยงด้วยข้าวกล้องที่เป็นข้าวไม่ขัดสีไม่มีอาการดังกล่าว

ปริมาณสารอาหารที่แนะนำ

ปริมาณสารอาหารตามคำแนะนำของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสารอาหารแมคโคร หรือไมโคร จะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของประชากร จุดประสงค์ เทคโนโลยี และงานวิจัยที่เลือดใช้ โดยจะมีการอัพเดทในทุกๆ 5 ปีตามการค้นพบทางการแพทย์ใหม่ๆ (ปัจจุบันเป็นรอบ 2020-2023) โดยชื่อเรียกตามมาตรฐานจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น Recommeded Dietary Allowances (RDA), Dietary Standard, Safe Inteake of Nutrients, Recommended Nutrient Intakes หรือ Recommended Dietary Intakes โดยคุณสามารถดู RDA ของแต่ละสารอาหารได้ตามนี้ [RDA เปรียบเทียบตามแต่ละช่วงอายุ]

วิตามิน B1 มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร?

เนื่องจากวิตามิน B1 มีหน้าที่ช่วยการทำงานของเซลล์ รวมถึงการสลายสารอาหารและเปลี่ยนเป็นพลังงานต่อร่างกาย การขาดวิตามิน B1 จึงอาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสมองและหัวใจ ซึ่งเป็นอวัยวะที่ต้องการพลังงานตลอดเวลา

ภาวะหัวใจล้มเหลว

การขาดวิตามิน B1 อาจทำให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวส่งผลให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปตามส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ตามปกติ ทั้งนี้ความเสี่ยงของผู้ที่เป็นภาวะหัวใจล้มเหลวจากการขาดวิตามิน B1 มีอัตราสูงถึง 21%-98% โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโภชนาการที่ไม่ดี หรือมีการใช้ยาขับปัสสาวะในปริมาณมาก ข้อมูลจากการทดลองบางชิ้นมีการค้นพบว่าการเสริมวิตามิน B1 สามารถพัฒนาการทำงานของหัวใจในผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

การทำงานขั้นสูงของสมอง (Cognitive function)

การวิจัยพบว่าการขาดวิตามิน B1 สามารถนำไปสู่ปัญหาทางระบบประสาทต่างๆ เช่น ความรู้ความเข้าใจที่ลดลง ภาวะบกพร่องวิตามิน B1 รูปแบบหนึ่งที่เรียกว่ากลุ่มภาวะวอร์นิเก คอซาคอฟ แสดงการเปลี่ยนแปลงทางจิตคล้ายกับโรคอัลไซเมอร์ การศึกษาในสัตว์แนะนำว่าการขาดวิตามิน B1 อาจทำให้เกิด Oxidative stress การสูญเสียเซลล์ ประสาท การสูญเสียความทรงจำ การก่อตัวของคราบพลัค และลดการเผาผลาญกลูโคส ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ อย่างไรก็ตามการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ในมนุษย์ยังมีจำนวนไม่มากนัก ดังนั้นจึงยังไม่สามารถตัดสินได้ว่าการเสริมวิตามิน B1 จะช่วยรักษาภาวะนี้ได้จริงหรือไม่

วิตามิน B1 สามารถพบในอาหารชนิดไหนบ้าง?

วิตามิน B1 สามารถพบได้ในเนื้อสัตว์ ปลา และธัญพืชไม่ขัดสี นอกจากนี้ในอาหารบางชนิดยังมีการเพิ่มส่วนผสมของวิตามิน B1 ลงไป เช่น ขนมปัง ซีเรียล และอาหารบางสูตรสำหรับทารก โดยอาหารเหล่านี้ล้วนมีส่วนผสมของวิตามิน B1 เช่น

  • ซีเรียลเสริมอาหารเช้า
  • เนื้อหมู
  • ปลา
  • พืชตระกูลถั่ว (เช่น ถั่วดำและถั่วเหลือง) เมล็ดพืช ถั่วเลนทิล และถั่วเปลือกแข็ง
  • ถั่วเขียว
  • เมล็ดทานตะวัน
  • โยเกิร์ต

สัญญาณเตือนของการขาดวิตามิน B1

การขาดวิตามิน B1 นั้นพบได้ไม่บ่อยนัก เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักได้รับวิตามิน B1 ตามปริมาณที่แนะนำต่อวันอยู่แล้วจากการรับประทานอาหารในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม การขาดวิตามิน B1 ยังคงสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่บริโภคอาหารที่มีวิตามิน B1 ต่ำ ผู้ที่มีการดูดซึมของอาหารลดลง และมีการปัสสาวะในปริมาณมาก เช่น จากการดื่มสุราหรือการใช้ยาบางชนิดอย่างยาขับปัสสาวะ

การขาดวิตามิน B1 เป็นเวลานานอาจมีความรุนแรงต่อร่างกายมากขึ้นและสามารถนำไปสู่โรคเหน็บชา ซึ่งทำให้ความรู้สึกของกล้ามเนื้อที่มือและเท้าลดลง เนื่องจากโรคเหน็บชาทำให้ปฏิกิริยาตอบสนองและการทำงานของกล้ามเนื้อลดลง ท้ายที่สุดก็สามารถนำไปสู่การสะสมของเหลวที่เป็นอันตรายต่อหัวใจและแขนขาส่วนล่างได้ ทั้งนี้การขาดวิตามิน B1 ยังพบได้มากในกลุ่มภาวะวอร์นิเก คอซาคอฟ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักมีการดื่มสุราในปริมาณมากร่วมด้วย จนส่งผลให้เกิดอาการสับสน สูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อ และปลายประสาทอักเสบ การขาดวิตามิน B1 ยังพบในผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคเซลิแอค การผ่าตัดลดความอ้วน หรือผู้ที่ติดเชื้อ HIV/AIDs หนึ่งในวิธีการรักษาอาการเหล่านี้คือการเสริมวิตามินเข้าไปในปริมาณมากหรือการฉีดยาเข้าเส้นเลือดควบคู่กับการรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ กลุ่มคนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาในการได้รับวิตามิน B1 มากกว่าคนทั่วไป:

  • ผู้ที่ติดสุรา
  • ผู้ที่มีอายุมาก
  • ผู้ติดเชื้อ HIV/AIDs
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่เคยผ่าตัดลดความอ้วน

อาการที่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อขาดวิตามิน B1 ในปริมาณน้อยถึงปานกลาง:

  • น้ำหนักลด
  • สับสน ความจำเสื่อม
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ปลายประสาทอักเสบ
  • ภูมิคุ้มกันลดลง

ยาชนิดไหนที่มีผลกระทบต่อวิตามิน B1 ในร่างกาย?

ยาบางชนิดสามารถลดระดับวิตามิน B1 ในร่างกายได้ ตัวอย่างเช่น

  • Furosemide (Lasix®) ซึ่งใช้รักษาความดันโลหิตสูงและอาการบวมที่เกิดจากของเหลวในร่างกายมากเกินไป
  • Fluorouracil (5-fluorouracil และ Adrucil®) ซึ่งใช้ในการรักษามะเร็งบางชนิดด้วยเคมีบำบัด

เมื่อมีอาการขาดวิตามิน B1 และต้องพบแพทย์ คุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือยาที่คุณใช้อยู่เป็นประจำ เพื่อที่แพทย์จะสามารถบอกคุณได้ว่าผลิตภัณฑ์และยาเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อยาที่ใช้ในการรักษา หรืออาจรบกวนการทำงานของระบบในร่างกายอย่างไร

รู้หรือไม่?

วิตามิน B1 ถูกทำลายได้จากการปรุงอาหารด้วยความร้อนสูงหรือการปรุงอาหารเป็นเวลานาน นอกจากนี้มันยังถูกนำออกได้ในระหว่างกระบวนการแปรรูปอาหารต่างๆ เช่น ขนมปังขาวและข้าวที่ผ่านการขัดสีแล้ว นี่คือเหตุผลว่าทำไมวิตามิน B1 จึงถูกเสริมคุณค่าหรือเพิ่มกลับเข้าไปในขนมปัง ซีเรียล และเมล็ดพืชหลายชนิดโดยเฉพาะที่ผ่านกระบวนการแปรรูปแล้ว

Reference

  1. National Institutes of Health; Office of Dietary Supplements. Thiamine: Fact Sheet for Health Professionals. https://ods.od.nih.gov/factsheets/Thiamin-HealthProfessional Accessed 5/20/2019. Accessed 5/27/19
  2. Carpenter KJ. The discovery of thiamin. Annals of Nutrition and Metabolism. 2012;61(3):219-23.
  3. DiNicolantonio JJ, Lavie CJ, Niazi AK, O’Keefe JH, Hu T. Effects of thiamine on cardiac function in patients with systolic heart failure: systematic review and meta-analysis of randomized, double-blind, placebo-controlled trials. Ochsner Journal. 2013 Dec 21;13(4):495-9.
  4. Gibson GE, Hirsch JA, Fonzetti P, Jordon BD, Cirio RT, Elder J. Vitamin B1 (thiamine) and dementia. Annals of the New York Academy of Sciences. 2016 Mar;1367(1):21.
  5. Gibson GE, Hirsch JA, Cirio RT, Jordan BD, Fonzetti P, Elder J. Abnormal thiamine-dependent processes in Alzheimer’s Disease. Lessons from diabetes. Molecular and Cellular Neuroscience. 2013 Jul 1;55:17-25.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *