ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในโรคใกล้ตัวของทุกคนและสร้างความรุนแรงต่อสุขภาพมากถึงขั้นเสียชีวิตได้ต้องยกให้กับ “โรคไต” (Kidney Disease) ซึ่งเป็นภาวะที่ไตทำงานลดลง หรือไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ นั่นหมายถึงร่างกายของผู้ป่วยจะเจอกับปัญหาของการขจัดสารพิษ สารตกค้าง และของเสียในร่างกายที่ด้อยประสิทธิภาพลง การควบคุมน้ำ และแร่ธาตุต่าง ๆ การหลั่งฮอร์โมน ผิดปกติ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิต จนอาจถึงขั้นต้องฟอกไตเพื่อช่วยให้ร่างกายขับของเสียออกมาได้ ไม่เกิดการคั่งค้าง อย่างไรก็ตามนอกจากการรักษาของแพทย์แล้วก็อยากแนะนำเมนูอาหารโรคไต 7 วัน ที่ผู้ป่วยสามารถกินได้ พร้อมคำแนะนำเพิ่มเติมว่าอาหารชนิดใดควรกินและไม่ควรกินบ้าง
เลือกอ่าน:
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไต พร้อมวิธีสังเกตอาการ
สาเหตุหลักของการเกิดโรคไตเนื่องจากพฤติกรรมกินอาหารรสเค็มจัด หรือชอบปรุงรสด้วยเครื่องปรุงรสเค็ม การกินอาหารแปรรูป ซอส น้ำจิ้มรสจัด อาหารกระป๋อง ของหมักดอง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารที่มีส่วนผสมของสารกันบูด ผงฟู เนื่องจากการกินอาหารเหล่านี้ร่างกายจะได้รับโซเดียมในปริมาณมากเกินไป (ทางการแพทย์แนะนำว่าไม่ควรได้รับโซเดียมเกินวันละ 2,300 มิลลิกรัม / วัน) อย่างไรก็ตามนอกจากการกินเค็มแล้วก็ยังมีสาเหตุจากปัจจัยอื่นร่วมด้วยไม่ว่าจะเป็น
- ภาวะที่ไตทำงานผิดปกติ หรือไตไม่สมบูรณ์ตั้งแต่กำเนิด เช่น การมีไตข้างเดียว ไตฝ่อ ทำให้มวลเนื้อไตลดลง ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
- ผลกระทบจากการมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง โรคเก๊าท์ โรค SLE (โรคแพ้ภูมิตัวเอง)
- การสูบบุหรี่จัดเป็นเวลานานติดต่อกันหลายปี ทำให้หลอดเลือดบริเวณที่ส่งผ่านเลือดไปยังไตเสื่อมสภาพลง
- เกิดภาวะหลอดเลือดฝอยในไตอักเสบ
- การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบนบ่อย ๆ
- การมีนิ่วในไตหรือนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
- มีถุงน้ำในไตมากกว่า 3 ตำแหน่ง จากการตรวจของแพทย์
- การได้รับยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ติดต่อกันนาน ๆ
- การดื่มน้ำน้อยเกินไปในแต่ละวัน ส่งผลให้เกิดภาวะไตขาดน้ำ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
- บางครั้งอาจมีปัญหาสารเคมีสะสมในระบบทางเดินปัสสาวะและตกตะกอนเป็นนิ่วในไต หรือสิ่งทางเดินปัสสาวะ
ขณะที่อาการโรคไตปกติแล้วคนที่ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอหากแพทย์พบความผิดปกติจะแจ้งให้ทราบเร็วที่สุดเพื่อการดูแลรักษาตนเองได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตามอาการที่พอสังเกตได้ เช่น ปวดเอว ปวดหลังมากกว่าปกติทั้งที่ไม่ได้ยกของหนัก ไม่ได้ทำท่าทางใด ๆ ผิดปกติ หน้าบวม ตาบวม ขาบวม ตัวบวม ปัสสาวะมีฟอง เป็นเลือด หรือปัสสาวะกลางคืนบ่อย ความดันโลหิตสูง หรือบางรายคลื่นไส้อาเจียน
หลักการสำคัญของการควบคุมอาหารของผู้ป่วยโรคไต
ไม่ว่าใครก็ตามหากป่วยเป็นโรคไตแล้ว การควบคุมอาหารถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยบรรเทาความรุนแรง ลดความเสี่ยงที่จะทำให้ตัวโรคกำเริบหรือเพิ่มระยะจนเข้าสู่ภาวะวิกฤต หากคุณคือผู้ป่วยหรือต้องคอยดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับอาหารนั่นคือ การเลือกกินอาหารที่เหมาะสมกับตัวโรคและร่างกายยังคงได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งประเภทของสารอาหารที่ต้องได้รับการควบคุมมากเป็นพิเศษ ประกอบไปด้วย กลุ่มอาหารที่มีโปรตีนสูง โพแทสเซียม โซเดียม และฟอสฟอรัส เพื่อไม่ให้ไตรับภาระทำงานหนักมากเกินไป ซึ่งกลุ่มอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไต สามารถกินได้ในปริมาณเหมาะสม ได้แก่
- ไข่ขาว
- ข้าว วุ้นเส้นถั่วเขียว เส้นเซี่ยงไฮ้
- เนื้อปลาไม่มีมัน สันในไก่ น่องไก่ (ลอกหนังออกทั้งหมด) สันในหมู สันนอกหมู (ตัดส่วนมันหรือหนังออกทั้งหมด)
- น้ำเปล่า
- น้ำมันรำข้าว (กรณีต้องกินของผัดหรือทอด) รวมถึง น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วลิสง หรือน้ำมันงาก็ปรุงอาหารได้ แต่ต้องใช้ปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
แนะนำเมนูอาหารโรคไต 7 วัน กินอะไรดีไม่ให้รู้สึกเบื่อ
เข้าใจดีว่าผู้ป่วยโรคไตหลายคนรู้สึกเบื่อที่ต้องกินอาหารรสจืดชืด หรือกินแต่เมนูเดิมซ้ำ ๆ เพื่อไม่ทำให้อาการของโรครุนแรง หรือพัฒนาระยะไปจนถึงขั้นอันตราย อย่างไรก็ตามเพื่อบอกลาความน่าเบื่อดังกล่าวจึงอยากแนะนำเมนูอาหารโรคไต 7 วัน ให้ตัวผู้ป่วยหรือผู้ดูแลลองนำไปปรุงสลับกินแต่ละมื้อ นอกจากลดความน่าเบื่อของการกินอาหารแล้วยังดีต่อสุขภาพไตอีกด้วย
1. ผัดบวบใส่ไข่ เมนูโปรดของหลายคนกินกันมาตั้งแต่เด็ก ด้วยบวกมีโพแทสเซียมต่ำ ขณะที่ไข่ไก่ให้โปรตีนไม่สูงจนเกินไปนัก อย่าลืมใช้น้ำมันและเครื่องปรุงรสเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
2. มะระจีนผัดไข่ ผัดผักอีกชนิดที่ผู้ป่วยโรคไตกินได้แบบไม่ต้องกังวลใจ ขอแค่ปรุงรสนิดหน่อยและยังได้รับโปรตีนจากไข่ไก่อีกต่างหาก
3. แกงส้มเนื้อปลา อยากได้ความอร่อยขึ้นมาบ้างก็ยังสามารถเลือกเมนูแกงส้มเป็นเมนูอาหารโรคไต 7 วันได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องใช้เนื้อปลาลอกหนัง หรือส่วนที่ไม่มัน ขณะที่เครืองแกงส้มห้ามใส่กะปิกับผงชูรสเด็ดขาด ส่วนเครื่องปรุงอื่นก็เบามือให้พอมีรสชาติไม่ต้องจัดจ้านเหมือนคนปกติกิน ขณะที่ผักรวมเน้นผักสีขาวหรือสีอ่อนเพราะมีโพแทสเซียมต่ำ เช่น ฟัก ผักกาดขาว ข้าวโพดอ่อน กะหล่ำปลี แตงโมอ่อน
4. ผัดเปรี้ยวหวานหมูหรือไก่ อีกเมนูที่พอจะมีรสชาติและไม่ทำให้รู้สึกเบื่อ แต่ต้องใช้เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปรุงรสด้วยน้ำตาลและซอสสูตรโซเดียมต่ำเพียงเล็กน้อย ผักเลือกเป็นกลุ่มผักสีขาวหรือสีอ่อน เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี แตงกวา
5. ต้มฟักใส่น่องไก่ ฟักถือเป็นผักสีขาวที่ผู้ป่วยโรคไตกินได้แบบไม่มีปัญหา แต่อย่าปรุงรสเค็ม ขณะที่น่องไก่เป็นส่วนที่มีปริมาณพิวรีนน้อยมาก กินได้เช่นกัน
6. ต้มจืดตำลึงหมูสับหรือไก่สับ วันไหนอยากซดน้ำซุปร้อน ๆ ก็สามารถทำเมนูนี้ให้กับผู้ป่วยโรคไตกินได้ อาจเพิ่มวุ้นเส้นเพื่อให้อิ่มมากขึ้น แต่ห้ามใส่ผักชีเพราะมีโพแทสเซียมสูง อย่าปรุงรสเค็ม และห้ามใส่ผงชูรสเด็ดขาด
7. ผัดวุ้นเส้นใส่ไข่ เมนูอาหารโรคไต 7 วัน ที่ได้ทั้งความอร่อยและอิ่มท้อง ไม่เน้นรสเค็ม เน้นความกลมกล่อมแบบพอดี ๆ ส่วนไข่ก็มีโปรตีนปริมาณเหมาะสมไม่มากเกินไป หรือใครจะเพิ่มเนื้อสัตว์เป็นไก่ หมู ก็ไม่ว่ากัน เน้นส่วนที่ไม่ติดมันก็เพียงพอ
8. ผัดถั่วงอกใส่เต้าหู้ขาวและเห็ดหูหนู ถั่วงอกถือเป็นผักที่มีโพแทสเซียมต่ำอีกชนิด ส่วนเต้าหู้ขาวแนะนำใช้แบบแข็งประมาณครึ่งก้อนเพื่อร่างกายจะได้ไม่รับฟอสฟอรัสมากเกินไป ปิดท้ายด้วยการใส่เห็ดหูหนูที่โพแทสเซียมต่ำสุดจากบรรดาเห็ดที่กิน ปรุงรสไม่ต้องเค็ม ใช้น้ำมันเพียงเล็กน้อยในการผัด
9. โจ๊กไข่ขาว หรือ ข้าวต้มใส่ไข่ขาว ไข่ขาวเป็นวัตถุดิบที่ผู้ป่วยโรคไตกินได้แบบไม่ต้องกังวลใจ ได้โปรตีนเพียงพอและยังมีกรดอะมิโนจำเป็นครบ โพแทสเซียมกับฟอสฟอรัสต่ำ จะเพิ่มความอร่อยด้วยเนื้อปลา เนื้อไก่ หรือเนื้อหมู ก็ไม่ว่ากัน เหมาะกับวันที่รู้สึกเพลีย อยากกินอะไรง่าย ๆ ซดน้ำคล่องคอ
10. กะหล่ำผัดไข่ใส่ไก่ เมนูยอดฮิตติดลมบนของคนไทยที่ผู้ป่วยโรคไตก็ยังกินได้ ผัดด้วยน้ำมันเพียงเล็กน้อย ใส่ไข่และไก่ส่วนไม่ติดมันลงไป ปรุงรสธรรมดาไม่ต้องเค็มจัดก็ทานกับข้าวสวยร้อน ๆ ได้เลย
โรคไตห้ามกินผลไม้อะไรบ้าง พร้อมผลไม้ที่คนเป็นโรคไตกินได้
อย่างที่อธิบายเอาไว้ว่าผู้ป่วยโรคไตจะต้องกินอาหารให้ถูกหลัก ลดปริมาณของโปรตีน โพแทสเซียม โซเดียม และฟอสฟอรัสให้เหมาะสม ดังนั้นผลไม้บางประเภทที่มีสารอาหารเหล่านี้สูงจึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตสักเท่าไหร่นัก ซึ่งคนเป็นโรคไตห้ามกินผลไม้อะไรบ้าง ก็พอจะแนะนำได้ ดังนี้
ทุเรียน ลำไย กล้วย ถั่ว เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ ฝรั่ง มะปราง ลูกพีช กีวี่ กะท้อน ส้ม แก้วมังกร มะละกอ น้อยหน่า มะม่วงสุก มะพร้าว มะขามหวาน อินทผลัม ขนุน มะเฟือง ผลไม้แปรรูทุกประเภท เป็นต้น
แล้วแบบนี้จะมีผลไม้ที่คนเป็นโรคไตกินได้อะไรให้เลือกบ้าง ตัวอย่างที่แนะนำ เช่น แตงโม องุ่นเขียว ชมพู่ ฟักทอง แอปเปิล มังคุด เงาะ ลองกอง พุทรา มะม่วงดิบ สับปะรด ลูกแพร์ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ต้องกินในปริมาณเหมาะสม ไม่เยอะจนเกินไป เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารบางชนิดในผลไม้ดังกล่าวสูงเกินไป
โรคไตห้ามกินผักอะไรบ้าง
ในส่วนของผักก็ใช้หลักการเดียวกับการทานผลไม้สำหรับผู้ป่วยโรคไตนั่นคือต้องหลีกเลี่ยงผักที่มีโพแทสเซียม และฟอสฟอรัสสูง เช่น ชะอม กวางตุ้ง คะน้า มันเทศ โหระพา ขี้เหล็ก แครอท หัวปลี มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือพวง มะเขือเทศ ใบแมงลัก บล็อกโคลี่ เห็ดนางฟ้า หอมแดง ขึ้นฉ่าย กะเพรา เป็นต้น
ซึ่งผักที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตควรเน้นผักสีขาวหรือสีอ่อน เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี ข้าวโพดอ่อน ไปจนถึงใบตำลึง เห็ดหูหนู ถั่วงอก แตงโมอ่อน
โรคไตกินข้าวเหนียวได้ไหม
ผู้ป่วยโรคไตยังสามารถกินข้าวเหนียวได้ไม่ต่างจากข้าวขาวทั่วไป เพียงแต่ควรกินในปริมาณที่เหมาะสม เฉลี่ยมื้อละไม่เกินครึ่งทัพพี และควรลดปริมาณข้าวขาวของมื้อนั้นลงเพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป และต้องเลือกทานกับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดีต่อโรคเท่านั้น
ทั้งหมดนี้คือเมนูอาหารโรคไต 7 วัน รวมถึงข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ของโรคไตทั้งเรื่องของผัก ผลไม้ ชนิดไหนควร – ไม่ควรทาน ซึ่งผู้ป่วยโรคไตแม้การรักษาให้หายขาดยังเป็นเรื่องยาก แต่ทุกคนก็ยังสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และกินอาหารที่ยังได้รสชาติความอร่อยในระดับที่เหมาะสมกับตนเองอยู่เช่นกัน
Ref:
- https://www.bangkokhospitalrayong.com/kidney-disease/
- https://www.si.mahidol.ac.th/th/division/diabetes/admin/knowledges_files/5_44_1.pdf
- https://www.nakornthon.com/article/detail/สาเหตุโรคไตไม่ใช่แค่กินเค็ม
- https://www.praram9.com/food-for-ckd-patients/
- https://www.vimut.com/article/food-for-kidney-disease-patients
- https://rph.co.th/8494/