ตอนที่ 1 : สาเหตุจาก : อันตรายใกล้ตัว
สวัสดีค่ะทุกคน วันนี้เมย์ขอแชร์แนวทางดูแลลูกน้อยอย่างไรให้ปลอดภัย พร้อมบอกเคล็ดลับการเลี้ยงลูก ที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถปกป้องลูกน้อยให้ปลอดภัย จากสถานการณ์อันตราย ที่สามารถเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเด็กๆ ด้วยตัวเองได้ค่ะ
เมย์ต้องบอกก่อนว่าสำหรับช่วงวัยเด็กนั้น เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดในการเรียนรู้ทักษะชีวิต สมองของเด็กๆ จะพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทักษะการใช้กล้ามเนื้อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คุณพ่อคุณแม่จึงควรหากิจกรรมให้ลูกได้ขยับร่างกายและพัฒนาการอย่างเต็มที่ เพื่อให้ลูกได้สัมผัสกับประสบการณ์รูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอค่ะ แต่ในบางครั้งพ่อแม่ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กๆ ด้วย เพราะว่าอุบัติเหตุมักจะเกิดขึ้นได้เสมอเมื่อเด็กๆ ทำกิจกรรมต่างๆ อีกอย่างนะคะ เมย์มองว่าสภาพแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญที่เป็นเหตุทำให้เกิดความเสี่ยงที่เด็กๆ อาจได้รับบาดเจ็บ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่จะต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเด็ก และหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงหรือปัจจัยที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้ค่ะ
ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจถึงสาเหตุที่จะก่อให้เกิดภัยอันตรายต่อลูกน้อย และมีวิธีรับมือป้องกันได้ดี เมย์มองว่าถ้าเตรียมพร้อมก็ช่วยลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่จะเกิดต่อเด็กๆ ได้ แม้จะไม่สามารถป้องกันอุบัติเหตุทุกครั้งก็ตาม แต่ก็สามารถช่วยให้ลูกหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและการบาดเจ็บในชีวิตประจําวันได้ค่ะ
สาเหตุจาก : อันตรายใกล้ตัว
เพิ่มความปลอดภัยของเด็ก: ป้องกันอันตรายใกล้ตัวเด็ก
เรื่องแรกที่เมย์อยากยกขึ้นมาแชร์ คงเป็นสิ่งใกล้ตัวหรือสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กๆ ค่ะ ถือว่าเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้สำคัญมากๆ เพราะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทุกวันหรือเด็กๆ ต้องสัมผัส หยิบจับ ทำกิจกรรมต่างๆ อยู่ในสภาวะแวดล้อมนั้นอยู่ตลอดเวลา ลูกเราอาจจะหยิบสิ่งของภายในบ้านแล้วใส่เข้าปาก ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากๆ อย่างการเลี้ยงลูกที่ปล่อยปะละเลย ทิ้งลูกขณะนอนหลับจนเสียชีวิต ปล่อยลูกไว้ลำพังจนเกิดอุบัติเหตุกับเด็กรุนแรง ซึ่งสาเหตุก็มาจากดูแลของพ่อแม่นั่นเองค่ะ เมย์จะบอกว่ามีอีกหลากหลายปัจจัยที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวัง และหาแนวทางป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อลูกเด็กๆ ในอนาคต
วันนี้เมย์จึงขอรวบรวมแนวทางประเมินความปลอดภัยภายในบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด เด็กจะใช้เวลาอยู่ภายในบ้านและทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเล่น พักผ่อน หรือเรียนรู้ประสบการณ์ จนเจริญเติบโตเป็นวัยผู้ใหญ่ มาดูกันสิว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภัยอันตรายต่อเด็กจริงหรือไม่ ??
- ผลิตภัณฑ์ทําความสะอาดสีสันน่าจับต้องที่เด็กๆ เห็นแล้วต้องขอหยิบสักหน่อย
นักสำรวจตัวน้อยที่พร้อมจะเรียนรู้ หยิบจับทุกสิ่งอย่าง พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก ลูกน้องของเราสามารถหยิบจับสิ่งของหลายๆ ชิ้นได้ในมือเดียว และก็นำเข้าปากทันทีก็เป็นได้ เมย์แอบสังเกตเห็นว่าน้ำยาทำความสะอาด หรือน้ำยาซักผ้าในครัวเรือนบางยี่ห้อมีบรรจุภัณฑ์ที่สีสันสดใส ซึ่งเมื่อเด็กๆ เห็นก็อาจเกิดการดึงดูดสายตา ให้เล่นหรือลิ้มรส นั่นแหละเป็นจุดที่อันตรายต่อเด็กมาก หากเด็กๆ เผลอกินหรือกลืนเข้าไปน้ำยาบางประเภทอาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้ทันที หรือสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนอาจทําให้ผิวหนัง ดวงตา และระบบย่อยอาหารเสียหาย เป็นอันตรายต่อเด็กได้ เพราฉะนั้นเมย์แนะนำว่าควรเก็บน้ำยาทุกประเภทให้พ้นมือเด็ก หรือจัดระเบียบใส่ตู้ หรือชั้นวาง ปิดให้มิดชิดค่ะ
2. ยาสามัญประจำบ้านที่ต้องศึกษาให้ดีนะคะ ใช้อย่างไร เก็บอย่างไร
การจัดเก็บยาสามัญประจำบ้านหรือยาเฉพาะโรคต่างๆ เมย์มองว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจถึงสรรพคุณยาและวิธีการจัดการยาแต่ละชนิด ควรจัดเก็บให้เป็นระเบียบ ใส่ตู้ปิดให้มิดชิดห่างไกลจากการหยิบของเด็กๆ หรือบางทีอาจติดตู้ยากับผนังหรือชั้นวางที่สูงกว่าปกติก็ได้ค่ะ เพื่อหลีกเหลี่ยงเด็กๆ เอื้อมหยิบได้เอง และควรแบ่งแยกหมวดหมู่ของยาเด็กและยาผู้ใหญ่ให้ชัดเจน อย่าลืมตรวจสอบฉลากทุกครั้ง ดูวันหมดอายุ สี ขนาดยา และรับประทานยาตามแพทย์สั่งเท่านั้นนะคะ ยาลดไข้สำหรับเด็กให้ทานตามน้ำหนักของลูก เพื่อป้องกันกันไม่ให้ได้รับยาเกินขนาดส่งผลอันตรายต่อเด็ก หากพบยาหมดอายุ ควรกําจัดยาที่เหลือหรือหมดอายุอย่างเหมาะสม ปิดผนึกไว้ในถุงพลาสติกหรือภาชนะแล้วนําไปทิ้งในถังขยะที่เหมาะสม และขูดข้อมูลส่วนบุคคลบนฉลากสั่งจ่ายยาก่อนทิ้งทุกครั้งด้วยนะคะ
3. สำลักอาหารหรือสิ่งแปลกปลอม
จากประสบการณ์ของเมย์ เด็กๆ ในวัยนี้ต้องระมัดระวังอุบัติเหตุที่เกิดจาก “การสำลัก” เด็กๆ สามารถกลืนหรือสำลักสิ่งของต่างๆ ได้ เช่น กระดุม เหรียญ น็อต ลูกอมติดคอ เด็กอาจเผลอหยิบจับสิ่งแปลกปลอมเข้าปาก ทำให้เกิดอาหารติดคอได้ค่ะ สิ่งแปลกปลอมที่หยิบเข้าปากอาจไปอุดกั้นทางเดินหายใจ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมากในสังคมไทย มีข่าวหลายครั้งที่เด็กๆ สำลักข้าว หรือลูกอมติดคอ บางรายถึงขั้นเสียชีวิตเลยค่ะ เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ เมย์คิดว่าสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยๆ หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของลูกน้อยค่ะ
เมย์ขอแยกประเภทและแนวทางป้องกันการสำลักอาหารหรือสิ่งแปลกปลอมในเด็กดังนี้ค่ะ
- ประเภทอาหาร
ส่วนใหญ่อุบัติเหตุที่เกิดกับเด็กอายุตํ่ากว่า 4 ปี บ่อยๆ ครั้งที่เป็นข่าวก็คือ ก้างปลาติดคอลูก มากกว่า 60% จะติดที่ในลำคอ คอหอย เมย์อยากให้คุณแม่เข้าใจเรื่องการเตรียมอาหารที่เหมาะกับช่วงวัยของลูกก่อนค่ะ หั่นชิ้นเล็กพอดีคำ เพื่อให้ลูกน้อยเคี้ยวและกลืนได้ง่าย หรือนำอาหารไปปรุงสุกในรูปแบบต่างๆ ให้เนื้อสัมผัสนิ่ม โดยการต้มหรือนึ่ง เช่น ฟักทองนึ่ง มันต้มที่หันเป็นชิ้นยาว แต่ไม่ควรให้ลูกกินอาหารที่มีลักษณะเนื้อแข็งและเป็นเม็ดเล็ก คุณแม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการให้ลูกอมเม็ดแข็ง ลูกกวาด เมล็ดผลไม้ หรือถั่วลิสงที่มีลักษณะเรียบและลื่นลงคอได้ง่ายกับลูกน้อยในช่วงที่ยังเล็กอยู่นะคะ
- ประเภทสิ่งของ
อย่ามองข้ามของเล่นกันนะคะ…ของเล่นหรือสิ่งของก็ทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้เช่นกัน ที่พบเจอว่าเกิดการติดคอเด็กมากที่สุดก็คือ กระดุม เหรียญ หรือของเล่นชิ้นเล็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่มักพบเจอและมักทำหล่นที่พื้นเป็นประจำ เมย์แนะนำว่าให้คุณพ่อคุณแม่ใส่ใจเรื่องการจัดเก็บสิ่งต่างๆ ใส่กล่องหรือชั้นที่ปิดมิดชิด ให้พ้นมือลูกน้อย เพราะหากเด็กๆ สามารถหยิบจับสิ่งของเล่น เอื้อมหยิบได้ตลอดเวลา ก็อาจจะนำเข้าปากกลืนลงคอโดยไม่ได้ตั้งใจจนเกิดอันตรายต่อลูกน้อยได้ค่ะ
4. ระวังเรื่องไฟ ไฟไหม้/ไฟฟ้า
รู้ไหมคะว่า…ของใช้ภายในบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายชนิด สามารถทำอันตรายต่อลูกน้อยได้ตลอดเวลา อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลไหม้หรือไฟฟ้าลัดวงจร เช่น เตาอบ หม้อน้ำร้อน ปลั๊กไฟ ทั้งเครื่องครัวและเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภท เพียงแค่ลูกของเราสัมผัสหรือเข้าใกล้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก็อาจทําให้เด็กๆ ได้รับบาดเจ็บได้ทันทีเลยค่ะ
มีปัจจัยหลายอย่างที่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องไฟไหม้หรือไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งทำให้ส่งผลอันตรายต่อลูกน้อย หากร้ายแรงที่สุด อาจทำให้ลูกน้อยได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยล่ะ เมย์มองว่าคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เมย์จะบอกต่อไปนี้กันด้วยนะคะ
- เรื่องห้องครัว ลูกน้อยต้องเข้าใจ
เริ่มจากการสอนลูกน้อยให้เข้าใจถึงความปลอดภัยในห้องครัวที่บ้านก่อนเลยค่ะ หาวิธีป้องกันไม่ให้ลูกอยู่ใกล้หรือสัมผัสกับเตาแก๊ส ทั้งในระหว่างทําอาหารและไม่ได้ทำอาหาร สอนให้เด็กเข้าใจว่าหากสัมผัสหรือหยิบจับอาหารที่ร้อนหรือเตาแก๊สที่กำลังเปิดอยู่ น้ำมันที่ร้อนอาจทําให้เกิดแผลไฟไหม้อย่างรุนแรงได้ และเมย์จะบอกว่าถ้ามีเด็กๆ อยู่ในบ้านห้ามทิ้งอาหารไว้บนเตาโดยเด็ดขาดเลยนะคะ
- วางอาหารหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าบริเวณที่ปลอดภัย ห่างไกลจากมือเด็กๆ
คุณแม่ต้องหลีกเลี่ยงการทิ้งอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีความร้อนไว้ในบริเวณที่เด็กๆ สามารถเอื้อมถึงได้ง่าย เช่น ตามขอบเคาน์เตอร์ หรือบนโต๊ะในครัว ต้องระวังดูแลไม่ให้ลูกอยู่ใกล้หม้อน้ำ กาน้ำร้อน เตาย่าง และอุปกรณ์ที่มีความร้อนขณะทำงาน เช่น เตารีดรีดผ้า และที่ม้วนผม หากเด็กๆ พลาดไปจับล่ะก็ไม่อยากจะคิดเลยว่าจะอันตรายแค่ไหน ที่สำคัญ..ต้องถอดปลั๊กทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งานด้วยนะคะ
- ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าอยู่เสมอ ห้ามละเลยนะ…
อุปกรณ์ไฟฟ้าแทบจะทุกชนิดมีระยะเวลาการใช้งานของตัวเองอยู่แล้วค่ะ เมย์แนะนำให้ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่เสมอ เปลี่ยนสายไฟที่ชํารุด เปราะหรือหลุดลุ่ย และอย่าเดินสายไฟไว้ ใต้พรม ใต้ผ้า ให้เดินสายไฟให้ห่างจากเด็กๆ เพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้หรือไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเป็นอันตรายต่อลูกน้อยร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ
- เก็บวัตถุไวไฟให้พ้นมือและสายตาคู่นั้นของเด็กๆ
เมย์ขอแนะนำแบบนี้ค่ะ ควรจัดเก็บไม้ขีดไฟ ไฟแช็ก เทียนไข วัตถุไวไฟทุกชนิดไว้ในที่ปลอดภัย หรือมีตู้เก็บปิดมิดชิด ลูกของเราไม่สามารถหยิบมาเล่นได้เอง เก็บให้พ้นสายตาลูกน้อย และสอนให้เค้าเข้าใจว่าไม้ขีดไฟและไฟแช็ค ไม่ใช่สิ่งของที่สามารถนำมาเล่นได้เองค่ะ
**เมย์ขอเน้นเรื่องที่ต้องระวังเกี่ยวกับไฟไหม้/ไฟฟ้า
เป็นเรื่องใกล้ตัวและเกิดขึ้นกับครอบครัวไทยในหลายเหตุการณ์ดังนี้ค่ะ
- เรื่องแรกที่เมย์ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อต่อเด็กและสุขภาพของทุกคนภายในบ้าน ทั้งควันพิษจากบุหรี่และกรองบุหรี่ที่เป็นสะเก็ดไฟ ถือว่าเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้ในบ้านที่พบบ่อยมากในประเทศไทย เพราะฉะนั้นไม่ควรสูบบุหรี่ภายในบ้านหรือบริเวณบ้านโดยเด็ดขาดเลยค่ะ
- อีกอย่างนึงควรติดตั้งเครื่องตรวจจับควันภายในบ้านหรือห้องครัว เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะมีสัญญาณแจ้งเตือนภัยกังขึ้น แจ้งเตือนถึงอันตรายต่อเด็กและทุกคนในครอบครัวได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งควรมีถังดับเพลิงเก็บไว้ในห้องครัว แต่ต้องพ้นมือเด็กนะคะ และทุกคนภายในบ้านควรจะเรียนรู้วิธีใช้งานเมื่อถึงเวลาต้องใช้งานจะได้ทำอย่างอย่างถูกวิธีคร่า
5. คาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซพิษที่ไม่ควรมองข้าม
คาร์บอนมอนอกไซด์ถือว่าเป็นก๊าซที่มีทั่วไปในอากาศ ความหนาแน่นขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ เป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรสอะไรเลยค่ะ เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงในรถยนต์และรถบรรทุก เครื่องยนต์ขนาดเล็ก เตาไฟ โคมไฟ เตาย่าง เตาผิง เป็นอันตรายต่อเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อลูกน้อยได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไปในปริมาณมาก จะทำให้เกิดอาการ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หอบเหนื่อย หมดสติ ชัก และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยค่ะ
เมย์คิดว่าคุณพ่อคุณแม่ควรป้องกันไม่ให้ลูกน้อยได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ในปริมาณที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็ก พร้อมทั้งจัดระเบียบสภาพแวดล้อมและอุปกรณ์ที่ใช้ภายในครัวเรือนด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้ค่ะ
- จัดให้มีระบบอุปกรณ์ทำความร้อนทุกชนิดอย่างถูกวิธี เช่น เครื่องทําน้ำอุ่น และอุปกรณ์ที่ใช้ถ่านหิน ไม้ หรือน้ำมันก๊าด
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่า อุปกรณ์แก๊สทั้งหมดที่ใช้ภายในบ้าน มีระบบระบายอากาศที่ถูกต้องและระบายอากาศได้ดีอย่างเหมาะสม
- ห้ามใช้เครื่องกําเนิดไฟฟ้าภายในบ้านหรือกลางแจ้งภายในระยะ 6 เมตรจากหน้าต่าง ประตู หรือช่องระบายอากาศ
6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารตะกั่ว สารพิษตัวร้ายใกล้ตัว !!
ในช่วงวัยเด็กถือว่าเป็นวัยซุกซนที่ชอบสัมผัสหยิบจับสิ่งแปลกใหม่และมีแนวโน้มที่จะเอามือเข้าปากมากเลยล่ะค่ะ เด็กๆ ที่อายุตํ่ากว่า 6 ปี เป็นกลุ่มที่เมย์มองว่ามีความเสี่ยงสูงสุดที่จะได้รับพิษจากสารตะกั่ว โดยส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากการสัมผัสกับพื้นดินหรือฝุ่นที่ปนเปื้อนสารตะกั่ว ซึ่งสารตะกั่วนั้นเมื่อสัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกายเด็ก ก็สามารถเป็นอันตรายต่อเด็กได้ทันที แม้เพียงในระดับปริมาณตํ่าก็ตาม ก็สามารถส่งผลเสียต่อการพัฒนาด้านไอคิว ความสามารถในเรื่องของสมาธิและสติปัญญาของเด็กๆ ได้
7. อุบัติเหตุที่มาจากเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
เด็กๆ ทุกคนชอบเล่นสนุกอาจจะพยายามวิ่งเล่นปีนป่ายตู้เสื้อผ้าหรือชั้นวางทีวี ทำให้เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอาจล้มทับตัวเด็กได้ค่ะ อุบัติเหตุกับเด็กสามารถเกิดได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง บางทีถึงขั้นได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตได้เลยล่ะ
คุณแม่ทุกคนจึงต้องมีวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายต่อเด็ก จากเฟอร์นิเจอร์ประเภทต่างๆ ที่อยู่ใกล้ตัว โดยการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์สำหรับบ้านที่มีเด็กโดยเฉพาะค่ะ หาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป มีหลายเกรดและราคาเลยค่ะ การป้องกันมุมตู้หรือชั้นวางทีวีด้วยยางปิดมุมกันกระแทก ใช้สำหรับติดตามมุมโต๊ะ มุมตู้ มุมเตียง เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยป้องกันการเจ็บตัว และป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดกับลูกน้อย เผื่อเด็กเค้าวิ่งเล่นและหกล้มไปโดนมุมตู้ ขอบเตียง ก็จะช่วยลดแรงกระแทกได้ค่ะ หรือใช้ขายึดทีวีกับผนัง หรือตู้บิ้วอิน เพื่อหลีกเลี่ยงการปีนป่ายขึ้นบนเฟอร์นิเจอร์ ชั้นทีวี จนเกิดอันตรายต่อเด็กค่ะ
8. สนามหน้าบ้านก็เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุได้นะคะ
หากบ้านใครที่มีสนามหญ้าหรือสนามเด็กเล่นส่วนตัว แน่นอนว่าต้องมีอุปกรณ์ที่ใช้ทำสวนต่างๆ ซึ่งอุปกรณ์ทำสวนหรือสายยางแรงดันสูงบางชนิด เมย์มองว่าสามารถทำอันตรายต่อเด็กได้เลยค่ะ เมื่อเด็กๆ ฉีดน้ำแรงดันสูงใส่กันหรือหยิบจับอุปกรณ์ทำสวนบางอย่างมาเล่น และที่คุณแม่ต้องระวังเป็นที่สุดคือ “เครื่องตัดหญ้า” ซึ่งมีความเสี่ยงร้ายแรงต่อการบาดเจ็บจนถึงขั้นเสียชีวิตเลยทีเดียว เครื่องตัดหญ้านั้นมีพื้นผิวที่ร้อน มีใบมีดหมุนที่คมมาก สามารถตัดหญ้าหรือวัชพืชที่มีลำต้นแข็งได้ นั่นหมายความว่าหากเด็กๆ เผลอไปโดนใบมีดของเครื่องตัดหญ้าเข้า นั่นหมายถึงการบาดเจ็บที่เข้าขั้นรุนแรงมากๆ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องพึงระวังเครื่องตัดหญ้าที่สนามหน้าบ้านให้มากๆ นะคะ เก็บให้ถูกที่และห่างไกลจากมือเด็กๆ
เมย์ขอแนะนำแนวทางเพื่อป้องกันการบาดเจ็บและเกิดอันตรายต่อลูกน้อยในสนามหน้าบ้านคุณแบบนี้ค่ะ
- อย่าปล่อยให้ลูกน้อยอยู่ในสนามเมื่อ มีคนกําลังตัดหญ้าที่สนาม
- อย่าปล่อยให้ลูกเล่นหรือสัมผัสกับเครื่องตัดหญ้าที่ใช้งานอยู่
- สอนลูกน้อยให้เข้าใจถึงอุปกรณ์ในสนามประเภทต่างๆ โดยการฝึกจากของเล่นเสมือนจริงที่ทำจากพลาสติกหรือยางสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เด็กๆ จะได้เข้าใจถึงอันตรายของเครื่องตัดหญ้าและอุปกรณ์ทำสวนที่ต้องระวัง
9. อาวุธปืน !! สิ่งต้องห้ามสำหรับเด็ก
อันที่จริงแล้วเมย์มองว่าอาวุธทุกประเภทไม่ควรจะมีอยู่ภายในบ้าน หากคุณมีเด็กอาศัยอยู่ด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเด็กในช่วงวัยไหนก็ตาม การไม่มีอาวุธปืนในบ้านเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการป้องกันอันตรายต่อเด็กและการบาดเจ็บจากอาวุธปืนในเด็ก หากคุณพ่อคุณแม่มีเหตุจำเป็นต้องมีอาวุธปืนให้เก็บอาวุธปืนไว้ในตู้ที่ล็อค ตู้นิรภัย ห้องนิรภัย หรือกล่องจัดเก็บที่มิดชิด และควรเก็บกระสุนปืนไว้ในตําแหน่งล็อคแยกต่างหาก เก็บซ่อนกุญแจให้ห่างจากเด็กมากที่สุดด้วยค่ะ
10. การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก เรื่องใกล้ตัวที่ผู้ปกครองต้องสังเกตการณ์
ในยุคปัจจุบันเมย์คิดว่าเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กมีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทุกช่วงวัยของเด็กๆ ซึ่งมีผลต่อสภาพจิตใจและความเป็นอยู่ในอนาคตของเด็กเป็นอย่างมากค่ะ เหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศนั้น โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากคนใกล้ชิด สภาพแวดล้อมหรือสิ่งเร้ารอบตัวเด็ก เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้ามเลยค่ะ การล่วงละเมิดทางเพศนั้นเป็นพฤติกรรมที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคำพูด สายตา และการใช้ท่าที การถ่ายภาพลามกอนาจาร รวมไปถึงการบังคับให้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สมยอม เป็นเรื่องที่เมย์อยากให้ผู้ปกครองต้องระวังและช่วยหาแนวทางป้องกันความปลอดภัยในเด็กทุกคนเลยค่ะ
เมย์อยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจในเรื่องของเพศศึกษา สอนลูกให้รู้จักชื่ออวัยวะเพศที่ถูกต้อง ให้คําปรึกษา คำตอบเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา สอนลูกของเราให้รู้ถึงความเป็นส่วนตัวและวิธีการป้องกันตนเองไม่ให้ใครมีสิทธิ์สัมผัสอวัยวะส่วนตัวของร่างกายโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อให้ลูกเข้าใจว่ามีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธอย่างแข็งขัน หากมีใครก็ตามที่ข่มขู่หรือบังคับจิตใจ ให้รีบแจ้งครูและผู้ปกครองให้ทราบทันที จะช่วยปกป้องลูกน้อยจากการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศได้ไม่มากก็น้อยค่ะ
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ให้ความรักและความเอาใจใส่แก่ลูกน้อยมากพอ สร้างความสัมพันธ์ที่เปิดกว้างและสร้างความไว้วางใจเรื่องเพศระหว่างกันได้ดี เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ลูกน้อยไม่ไปเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น เมย์อยากให้ผู้ปกครองทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมของลูกในช่วงจังหวะและโอกาสที่พอเหมาะพอดี เข้าใจและสังเกตการณ์ว่าลูกใช้เวลากับใครบ้าง ไปที่ไหน และกําลังทําอะไรอยู่ในแต่ละวันด้วยนะคะ
11. เด็กไม่ควรเข้าใกล้ สารเสพติดทุกประเภท
เมย์อยากให้เข้าใจก่อนว่าสารเสพติดทุกประเภท มีผลเสียต่อเด็กและเป็นอันตรายต่อเด็กไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจก็ตาม หากเป็นลูกน้อยในช่วงวัยที่ยังเล็ก คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังให้ลูกตะหนักถึงโทษของสารเสพติดที่จะได้รับ พูดคุยกับลูกเกี่ยวกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ถึงอันตรายและผลเสียต่อร่างกายและพัฒนาการด้านสมอง ในช่วงวัยเด็กนั้นหากได้รับการปลูกฝังและเข้าใจถึงผลกระทบของสารเสพติดแล้ว ก็อาจส่งผลต่อการเติบโตของเด็กในอนาคตได้ค่ะ เค้าจะคิดตาม คำนึงถึงเหตุผล ว่าหากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติดแล้วจะส่งผลเสียงอย่างไรต่อตัวเค้าเอง เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่จะมีอิทธิพลต่อลูกเป็นอย่างมาก ควรเปิดกว้างและรับฟังคําตอบของลูกอย่างแท้จริงนะคะ ให้ลูกของเรารู้สึกและสัมผัสได้ว่าพ่อแม่จะอยู่เคียงข้าง ให้อภัยและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ หากเค้าทำผิดพลาดค่ะ
12. สร้างความปลอดภัยในการใช้ยานพาหนะและการเดินทาง
ถ้าเมย์พูดถึงความปลอดภัยในเด็กนั้น อุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะก็เป็นเรื่องที่พบเจอได้ตลอดเวลา เช่น ผู้โดยสารหรือคนเดินถนน มีหลายเหตุการณ์ที่ยานพาหนะและการเดินทางเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในวัยเด็ก เมย์ขอยกตัวอย่างอุบัติเหตุการเดินทางของเด็กในประเทศไทย ใกล้ตัวเรามากที่สุดเลย ก็คงจะเป็นเหตุการณ์ลืมลูกไว้ในรถ เมื่อถึงจุดหมาย หรือทิ้งลูกไว้ขณะลงไปทานข้าว ซื้อของ คุณแม่หลายท่านอาจคิดว่าการทิ้งลูกไว้ลำพังเพียงชั่วคราวไม่เกิดอันตรายต่อลูกน้อยหรอก แต่ในความเป็นจริงแล้วแม้จะทิ้งลูกไว้เพียง 1 นาที ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ หลายครั้งที่มีข่าวเด็กเสียชีวิตในรถ ลืมเด็กจนขาดอากาศหายใจและเสียชีวิตลง มีให้เห็นเป็นบทเรียนมากมายเลยค่ะ เพราฉะนั้นเมย์อยากให้ผู้ปกครองทุกท่านระวังในง่ายๆ ใกล้ตัวกันด้วยนะคะ
เมย์ขอแนะนำวิธีการป้องกันที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้และเริ่มทำได้อย่างรวดเร็วแบบนี้ค่ะ เด็กในช่วงวัยแรกเกิดถึง 12 ปี ควรใช้เบาะรถยนต์หรือที่นั่งนิรภัยในสำหรับเด็กที่เรียกว่า “คาร์ซีท” (Car Seat) เป็นสิ่งสำคัญมาก จำเป็นต้องมีเลยค่ะ !!ย้ำนะคะ!! จำเป็นมากค่ะ หากมีเด็กร่วมเดินทางไปด้วยเพื่อความปลอดภัยของเด็ก เพราะคาร์ซีทสามารถรองรับสรีระของเด็กได้ และจะป้องกันไม่ให้เด็กได้รับอันตราย ลดการบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินบนรถยนต์ได้ค่ะ
เมย์ขอเสริมเรื่องการ “ข้ามถนน” อีกนิดนะคะ เพื่อความปลอดภัยของเด็กควรให้เด็กๆ ปฏิบัติตามนี้ค่ะ
- ก่อนข้ามถนนทุกครั้งเด็กๆ ควรสบตากับคนขับรถบนท้องถนนก่อน เพื่อเป็นสัญญาณว่ากำลังจะข้ามถนน ในระหว่างข้ามถนนให้มองทั้งสองทางฝั่งซ้ายและขวา จนกว่าจะข้ามได้อย่างปลอดภัย
- หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ หูฟัง หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่รบกวนสมาธิ จนกว่าจะข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย
- ส่งเสริมให้เด็กๆ เดินออกกำลังกายโดยการใช้สะพานลอย
- ปลูกฝังให้เด็กๆ ข้ามถนนบริเวณมุมถนน ที่มีสัญญาณไฟจราจรและทางม้าลาย
- สอนลูกน้อยให้ระมัดระวังการข้ามถนนบริเวณที่มีรถจอดขวางหรือทางกลับรถ
- หลีกเลี่ยงและระมัดระวังยานพาหนะประเภทพิเศษ รถยนต์ขนาดใหญ่ รถพ่วง รถสิบล้อ
- ระวังบนฟุตบาท ทางเท้า ที่ไม่เรียบสม่ำเสมอ หรือปัญหาพื้นผิวทางเดิน
พอมาถึงจุดนี้เมย์อยากให้คุณพ่อคุณแม่ใส่ใจเรื่องของภัยอันตรายใกล้ตัวของเด็กๆ ให้มากขึ้นกันด้วยนะคะ เพื่อไม่ให้ลูกของเราต้องเจอกับอันตรายรอบตัว และอย่าลืมหลักการปกป้องลูกน้อย ที่เมย์แชร์ไว้ข้างบนด้วยน้า เมย์ขอให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคน มีรอยยิ้มที่สดใส สุขภาพแข็งแรงดี มีความสุขกับการเลี้ยงลูกและการใช้ชีวิตกันทั้งครอบครัวเลยนะคะ ^^