พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย สร้างสัมพันธ์ครอบครัว

พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย

พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย สร้างสัมพันธ์ครอบครัว

พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่พ่อแม่ควรดูแลและให้ ความสำคัญ เพราะแต่ละช่วงของการเจริญเติบโตนั้น สามารถส่งผลไปถึงพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ และกำหนดอนาคตของลูกได้ ถึงจะเป็นเรื่องที่ท้าทายแต่หากคุณเข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย จะทำให้คุณพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ได้ง่ายมากขึ้น

ทำไมวัยเด็กจึงสำคัญ

ในช่วงแรกเกิดจนถึง 8 ปี เป็นช่วงสำคัญที่คุณพ่อ คุณแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิด เพราะช่วงปีแรก ๆ จะเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการทางสมองอย่างรวดเร็ว ประสบการณ์ในวัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 8 ปีส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างของสมอง ซึ่งเป็นรากฐานสำหรับการเรียนรู้ พฤติกรรม และสุขภาพในอนาคตของลูกทั้งหมด ทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม

ประสบการณ์และสภาพแวดล้อมในเชิงบวกสามารถหล่อหลอมให้เด็กเล็กมีเส้นทางชีวิตที่แข็งแกร่งขึ้นได้ ในขณะที่ประสบการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่กระทบกระเทือนจิตใจก็สามารถส่งผลกระทบระยะยาวที่เป็นอันตรายได้เช่นกัน

เด็ก ๆ ที่ได้รับการดูแลที่ดีจะมีรากฐานที่แข็งแกร่ง ช่วยให้เด็ก ๆ พัฒนาทักษะที่จำเป็นในการเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงแรกเกิดจนถึงอายุ 3 ขวบ เป็นช่วงเวลาที่สมองพัฒนาอย่างรวดเร็ว สมองจะมีการสร้างการเชื่อมต่อเซลล์ประสาทนับพันล้านเซลล์ในแต่ละเซลล์ จากในภาพ เซลล์ประสาทของเด็กวัย 3 ปี มีปริมาณถึง 80% ของเซลล์ประสาทของผู้ใหญ่ที่โตเต็มวัย

(ภาพเซลล์ประสาทที่มีอยู่ในสมองตามแต่ละช่วงวัย)

ดังนั้น การทำให้เด็กได้รับประสบการณ์เชิงบวก ทั้งในรูปแบบของความสัมพันธ์ที่มั่นคงจากพ่อแม่และผู้ใหญ่ การที่เด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับการสนับสนุนและปลอดภัย จะช่วยเกื้อหนุนส่งเสริมพัฒนาการเชิงบวกของเด็กได้เป็นอย่างดี

เมื่อการพัฒนาสมองในทารกและเด็กเล็กได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ลูกมีแนวโน้มที่จะผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะพบเจอได้เป็นอย่างดีและประสบความสำเร็จในอนาคต

ตามที่กล่าวมา พ่อแม่จึงควรเรียนรู้พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย และดูแลลูกให้เติบโตและสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง เพื่อการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการเป็นผู้ใหญ่ที่ดี ซึ่งจะส่งผลต่ออนาคตลูกในด้านต่าง ๆ เช่น การมีทักษะการอ่านในระดับมาตรฐาน การสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและสูงกว่า การประสบความสำเร็จในการทำงาน การมีสุขภาพร่างกายและจิตใจและความเป็นอยู่ที่ดีตลอดชีวิต รวมถึงสามารถหลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดและอาชญากรรมได้ เป็นต้น

ช่วงวัยก่อนคลอด

การตั้งครรภ์อาจเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับคุณแม่ โดยเฉพาะท้องแรก ในช่วงนี้การดูแลตัวเองและลูกในท้องเป็นสิ่งสำคัญ ควรเตรียมตัวให้พร้อมทั้งพ่อและแม่ โดยการดูแลเรื่องของอาหารที่ทานให้มีประโยชน์ต่อลูกในครรภ์ ให้กำลังใจกันเพื่อลดความกลัว ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีความสุข ช่วยกันดูแลเรื่องสุขภาพ ออกกำลังกายเบา ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ

วัคซีนสำหรับคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ ช่วยให้คุณและลูกน้อยแข็งแรง

นอกเหนือจากโภชนาการและการออกกำลังกายที่ดี การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและอาหารเสริมที่เหมาะสมแล้ว การฉีดวัคซีนก็ควรเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพเช่นกัน เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพสำหรับคุณแม่และลูกในครรภ์

การฉีดวัคซีนขณะตั้งครรภ์ ปลอดภัยหรือไม่?

มีผลวิจัยมากมายที่รองรับวัคซีนที่คิดค้นขึ้นมาสำหรับสตรีมีครรภ์ ซึ่งวัคซีนเหล่านี้ผลิตขึ้นมาโดยคำนึงถึงแม่และเด็กเป็นสำคัญ ดังนั้น วัคซีนที่คุณแม่ได้รับจะปกป้องคุณและลูกในครรภ์จากโรคร้ายแรง รวมถึงประสิทธิภาพการป้องกันโรคจะคงอยู่กับเด็กแรกเกิดไปอีก 2-3 เดือน

แต่ก็ยังมีวัคซีนบางชนิดที่ไม่ควรได้รับขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากมีภาวะความเสี่ยงกับลูกในท้องได้ เช่น วัคซีนเชื้ออ่อนแรง (Live-attenuated Vaccine) จำพวกวัคซีนหัดเยอรมัน วัคซีนคางทูม ซึ่งอาจมีอันตรายต่อทารกในครรภ์

ดังนั้น คุณควรปรึกษาแพทย์ในการวางแผนการฉีดวัคซีน ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม

วัคซีนที่ควรฉีดก่อนตั้งครรภ์ เช่น

  • วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส (Varicella vaccine)
  • วัคซีนป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (Measles-Mumps-Rubella, MMR)

วัคซีนที่ควรฉีดระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น

  • วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (Diphtheria and Tetanus toxoids combine (DT/dT) vaccine)
  • วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Inactivated influenza vaccine) เป็นต้น

การดูแลโภชนาการและการออกกำลังกายระหว่างตั้งครรภ์

วางแผนโภชนาการ

เมื่อพูดถึงเรื่องอาหาร คุณแม่ควรมีการวางแผนมื้ออาหารให้สมดุล ควรมีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุที่สำคัญให้ครบ และพึงระลึกอยู่เสมอว่าร่างกายต้องการสารอาหารสำหรับคนสองคน ซึ่งตามกฎทั่วไป คุณแม่ต้องได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 350-450 แคลอรี่ต่อวัน เพื่อให้ลูกน้อยของคุณสามารถเติบโตได้ตามปกติในครรภ์

คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถตรวจเช็ครายการวิตามินจำเป็นตามข้อมูลนี้ เพื่อดูแลให้มั่นใจว่าได้รับวิตามินเสริมที่จำเป็นครบถ้วน

  • กรดโฟลิก ในปริมาณ 400 ไมโครกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นวิตามินบีที่สามารถลดความเสี่ยงของความพิการแต่กำเนิด เช่น โรคกระดูกสันหลังคด
  • ธาตุเหล็ก แคลเซียม และแร่ธาตุอื่นๆ
  • กรดไขมัน (Fatty Acids) ทั้ง docosahexaenoic acid (DHA) และ arachidonic acid (ARA) ซึ่งเป็นกรดไขมัน “ดี” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง DHA จะสะสมในสมองและดวงตาของทารกในครรภ์

นอกจากนี้ DHA และ ARA ยังพบในน้ำนมแม่อีกด้วย

การออกกำลังกาย

หากคุณแม่ไม่ได้เป็นคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ แนะนำให้เริ่มต้นจากการเดินหรือว่ายน้ำในระดับปานกลาง การเล่นโยคะก่อนคลอด หรือคลาสพิลาทิส ในช่วงแรกของการปรับตัว 2-3 สัปดาห์แรกของการออกกำลังกาย คุณแม่สามารถเริ่มออกกำลังกายเพียงแค่ 5 – 10 นาที ก็นับว่ามีประโยชน์และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ดื่มน้ำมาก ๆ ขณะออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการกระโดดหรือการเคลื่อนไหวที่สั่นสะเทือน หากคุณออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว ให้รักษาระดับของกิจกรรมที่คุณรู้สึกสบายใจไว้ แต่ควรฟังร่างกายของคุณและเต็มใจลดความเข้มข้นลงเมื่อจำเป็น

ทารก : แรกเกิด – 1 ปี

เมื่อลูกลืมตาครั้งแรก มักเป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นของคนเป็นพ่อแม่ และเป็นช่วงที่อาจเหนื่อยล้าบ้าง แต่สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากที่สุดในช่วงแรกเกิด คือ การดูแลทารกให้เขาได้สัมผัสถึงความอบอุ่น คอยพูดคุย โอบกอด ปลอบโยน เพราะเขาเพิ่งได้สัมผัสโลกครั้งแรก จึงควรใช้ความเข้าใจ อดทน และใจเย็น เพื่อเฝ้าดูพัฒนาการของลูกในช่วงนี้ เช่น คลาน ยืน เดิน ตามลำดับ

พัฒนาการของทารกแรกเกิด – 1 ปี

ในช่วง 0 – 3 เดือนของทารก ลูกเกิดมาพร้อมกับพัฒนาการของสมองที่มีมาตั้งแต่ในครรภ์ ทารกจะรู้จักเสียงของแม่และอาจจำเสียงของนิทานที่แม่อ่านให้ฟังขณะที่ยังอยู่ในครรภ์ได้ และช่วงนี้เขาจะเริ่มมองเห็นแบบมัว ๆ และจำกัด จากการที่เยื่อมหุ้มสมองส่วนการมองเห็นเริ่มโตขึ้น และจะพัฒนาเป็นการมองเห็นที่ชัดเจนทั้งหมดในภายหลัง เด็กจะเริ่มแยกแยะภาษาได้จากการที่สมองฮิบโปแคมปัส ซึ่งเป็นโครงสร้างลิมบิกที่เกี่ยวข้องกับหน่วยความจำการจดจำได้พัฒนาขึ้น

สมองของเด็กในช่วงปีแรกจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่า โดยการเติบโตทางด้านสมองของลูกน้อยนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากการพัฒนาของสมองส่วน cerebellum หรือ สมองน้อย เป็นสมองที่ทำหน้าที่สำคัญในการประมวลการรับรู้และการควบคุมการสั่งการ ส่งผลถึงการพัฒนา ควบคุมร่างกายและทักษะการเคลื่อนไหว

พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็ก 1 ปี

ด้านการเคลื่อนไหว

  • นั่งโดยไม่ต้องมีคนช่วย
  • รู้จักตำแหน่งมือและเข่า
  • คลานโดยใช้มือและเข่า
  • เปลี่ยนจากท่านั่งเป็นท่าคลานหรือนอนคว่ำ
  • ลุกขึ้นยืนเองได้
  • เดินได้ โดยการจับเฟอร์นิเจอร์เพื่อประคองตัว
  • ยืนได้ชั่วขณะด้วยตัวเอง โดยไม่มีการประคองหรือพยุง
  • เดินได้เอง 2-3 ก้าว

ด้านมือและนิ้ว

  • สามารถหยิบของเองได้
  • ประกบสิ่งของสองชิ้นเข้าด้วยกัน
  • หยิบสิ่งของเข้า-ออก จากที่เก็บได้
  • การสะกิดด้วยนิ้วชี้
  • การพยายามเขียน ขี้เส้นต่าง ๆ

ด้านภาษา

  • เรียกพ่อ แม่ หรือใช้คำที่สื่อถึงพ่อแม่ได้
  • รู้จักตอบสนองต่อคำพูดแบบง่ายๆ และ คำว่า “ไม่”
  • ใช้ภาษาท่าทางเป็น เช่น ส่ายหัวแทนคำว่า “ไม่”
  • อุทาน ตกใจ ตื่นเต้น เช่น โอ้!
  • พยายามเลียนแบบคำพูด

ด้านความคิด

  • สำรวจวัตถุด้วยวิธีต่างๆ (เขย่า ทุบ ขว้าง ปล่อย)
  • หาวัตถุ สิ่งของที่ซ่อนอยู่ได้
  • สามารถจับคู่ภาพกับคำที่ถูกต้องได้
  • เลียนแบบท่าทาง
  • เริ่มใช้สิ่งของได้อย่างถูกต้อง เช่น ดื่มน้ำด้วยแก้ ใช้หวีแปรงผม การกดโทรออก

ด้านสังคมและอารมณ์

  • รู้จักอายหรือวิตกกังวลกับคนแปลกหน้า
  • ร้องไห้เมื่อพ่อแม่ไม่อยู่
  • สนุกกับการเล่น Role-play
  • เริ่มทดสอบการตอบสนองของพ่อแม่ในการทำพฤติกรรมต่างๆ เช่น หากไม่ยอมดื่มนม พ่อแม่จะทำอย่างไร? หรือ ร้องไห้หลังจากที่คุณออกจากห้องแล้วรอดูการตอบสนองของคุณ
  • อาจมีความกลัวในบางสถานการณ์
  • ชอบแม่ และ หรือผู้ดูแลปกติมากกว่าคนอื่นทั้งหมด

เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการในแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน จึงไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่าลูกของคุณจะสามารถพัฒนาตามทักษะที่กำหนด ดังนั้นจึงไม่ต้องตื่นตระหนกเมื่อลูกของคุณมีพัฒนาการต่างจากที่บทความระบุเล็กน้อย

แต่หากลูกน้อยของคุณแสดงสัญญาณใด ๆ ต่อไปนี้ ในช่วงอายุ 8 เดือน ถึง 1 ปี อาจแสดงถึงพัฒนาการล่าช้า ที่ควรปรึกษากุมารแพทย์

สัญญาณที่อาจแสดงถึงพัฒนาการล่าช้า ที่ควรปรึกษากุมารแพทย์

  • ไม่คลาน
  • คลานไม่สมดุล เช่น ต้องพยุงหรือดึงตัวเองข้างใดข้างหนึ่งขณะคลาน นานกว่า 1 เดือน
  • ไม่สามารถยืนได้ แม้จะได้รับการพยุง
  • ไม่พยายามค้นหาสิ่งของที่หายไป ขณะที่เล่นหรือมองสิ่งของนั้นอยู่
  • ไม่พูดสักคำ เช่น การเรียกพ่อ หรือ แม่
  • ไม่เรียนรู้การใช้ท่าทางต่างๆ เช่น โบกมือ หรือ ส่ายหัว
  • ไม่ชี้ไปที่วัตถุหรือรูปภาพ

เด็กเล็ก : ช่วง 1 – 3 ปี

วัยนี้เป็นวัยที่กำลังอยากเรียนรู้ ถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับคุณพ่อคุณแม่และลูก เด็กวัยนี้จะเริ่มมีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น เช่น สติปัญญา สังคม และอารมณ์อย่างมาก ลูกของคุณจะเริ่มเคลื่อนไหว เริ่มพูด เริ่มจับ เริ่มอยากสำรวจโลกรอบตัวด้วยความอยากรู้อยากเห็น คุณควรดูแลเขาด้วยการจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย พูดคุยเพื่อสื่อสาร และพาไปพบเจอสิ่งใหม่เพื่อให้เกิดการทำกิจกรรมร่วมกัน

ในช่วงเวลาตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 3 ปี

เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการพัฒนาสมองอย่างรวดเร็ว จากการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทแต่ละเซลล์ที่ถูกสร้างขึ้นเป็นจำนวนหนึ่งพันล้านเซลล์ ซึ่งเซลล์ประสาทของเด็กวัย 3 ปี มีปริมาณถึง 80% ของเซลล์ประสาทของผู้ใหญ่ที่โตเต็มวัย

ในช่วงปีแรกถึงปีที่สอง

พัฒนาการทางสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษา จะมีการพัฒนาเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้เด็กพัฒนาความสามารถทางภาษาได้อย่างฉับพลัน โดยเด็กจะเรียนรู้คำศัพท์เพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่าระหว่างวันเกิดปีแรกและปีที่สอง

ในช่วงปีที่สอง

อัตราการสร้างไมอีลินเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งช่วยให้สมองทำงานซับซ้อนมากขึ้น ช่วยพัฒนาการคิดขั้นสูง เช่น การตระหนักรู้ในตนเอง เด็กจะตระหนักถึงอารมณ์และความตั้งใจของตนเองมากขึ้น เมื่อเขาเห็นภาพสะท้อนของตัวเองในกระจก เขาตระหนักดีว่านั่นคือเงาของตัวเอง ในไม่ช้า เขาจะเริ่มใช้ชื่อของตัวเองและเข้าใจสรรพนามในการเรียกตัวเอง

ในปีที่สาม

ความหนาแน่นของซินแนปติกในเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้า (preconfrontal cortex) อาจถึงจุดสูงสุดในช่วงปีที่สาม ซึ่งสูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์ของระดับผู้ใหญ่ ในช่วงนี้ เด็กสามารถใช้อดีตเพื่อตีความเหตุการณ์ปัจจุบันได้ดีขึ้น พวกเขายังมีความยืดหยุ่นทางความคิดมากขึ้นและเข้าใจเหตุและผลได้ดีขึ้น

ด้านการเคลื่อนไหว

  • การเดินด้วยตัวเอง
  • การเดินถือ/จูงของเล่นขณะเดิน
  • การอุ้มของเล่นชิ้นใหญ่หรือหลายชิ้นขณะเดิน
  • เริ่มวิ่ง
  • ยืนเขย่งปลายเท้า
  • เตะบอล
  • ปีนขึ้นและลงจากเฟอร์นิเจอร์โดยไม่มีใครช่วยเหลือ
  • การเดินขึ้นลงบันไดโดยการจับราวหรือมีคนช่วยพยุง

ด้านมือและนิ้ว

  • ขีดเขียนอย่างเป็นธรรมชาติ
  • เทสิ่งของออกจากภาชนะได้ พลิกภาชนะได้
  • ต่อบล็อคของเล่นได้ 4 ชั้นหรือมากกว่า
  • อาจใช้มือข้างเดียวที่ถนัดบ่อยกว่าอีกข้าง

ด้านภาษา

  • ชี้ไปที่วัตถุเมื่อมีการเรียกชื่อวัตถุนั้น ๆ
  • จำชื่อบุคคล สิ่งของ และส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่คุ้นเคย
  • พูดคำศัพท์ได้หลายคำ (ภายในช่วง 15-18 เดือน)
  • เริ่มพูดประโยคหรือวลีง่ายๆ (ภายในช่วง 18-24 เดือน)
  • ใช้ประโยคสองถึงสี่คำ
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำง่ายๆ
  • พูดซ้ำคำที่ได้ยินในการสนทนา

ด้านความคิด

  • ค้นหาวัตถุที่ถูกซ่อนแบบซับซ้อนขึ้น 2-3 ชั้น
  • สามารถแยกแยะ จัดเรียงตามรูปร่างและสีได้
  • สามารถเล่นบทบาทสมมุติได้

ด้านสังคมและอารมณ์

  • เลียนแบบพฤติกรรมของผู้อื่นโดยเฉพาะผู้ใหญ่และเด็กโต
  • มีความกระตือรือร้นมากขึ้นในการอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ
  • เริ่มแสดงพฤติกรรมท้าทาย
  • มีอิสระมากขึ้น

สัญญาณที่อาจแสดงถึงพัฒนาการล่าช้า ที่ควรปรึกษากุมารแพทย์

  • ไม่สามารถเดินได้ภายใน 18 เดือน
  • ไม่สามารถใช้ปลายเท้าเขย่งเดินได้ หรือ ใช้ปลายเท้าเดินรูปแบบเดียว
  • พูดน้อยกว่า 15 คำในช่วง 18 เดือน
  • ไม่สามารถพูดเป็นประโยคสั้นๆในช่วงสองขวบ
  • ดูเหมือนจะไม่รู้จักการทำงานของสิ่งของประจำในบ้าน เช่น การใช้หวี การจิ้มโปรศัพท์ การใช้ช้อนส้อม ในช่วง 15 เดือน
  • ไม่เข้าใจคำสั่งง่ายๆ ในช่วงสองขวบ
  • ไม่สามารถเล่นหรือผลักรถของเล่นที่มีล้อในช่วงสองขวบ

เด็กก่อนวัยเรียน : 3 – 5 ปี

ช่วงอายุ 5 ขวบ สมองของเด็กจะโตถึง 90% ของพัฒนาการทางสมองมนุษย์ เมื่อแรกเกิด สมองของทารกโดยเฉลี่ยจะมีขนาดประมาณหนึ่งในสี่ของขนาดสมองของผู้ใหญ่และเพิ่มขนาดเป็นสองเท่าในปีแรก และเติบโตเป็นประมาณ 80% ของขนาดตัวเต็มวัยเมื่ออายุ 3 ขวบ และ 90% หรือเกือบโตเต็มวัยเมื่ออายุ 5 ขวบ

ทารกจะเกิดมาพร้อมกับเซลล์สมอง แต่สิ่งที่ช่วยทำให้สมองสั่งการได้จริง มาจากการเชื่อมต่อกันของเซลล์ประสาท ที่ทำให้เราสามารถเคลื่อนไหว คิด สื่อสาร และทำทุกสิ่งได้ ซึ่งในวัยเด็กเซลล์ประสาทจะมีการเชื่อมต่อกันได้เร็วที่สุดและซับซ้อนมากขึ้น หรือหมายถึงพัฒนาการและการเรียนรู้เร็วกว่าทุกช่วงวัย ทำให้เด็กสามารถเคลื่อนไหว พูด และคิดในรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้นได้

ในช่วงนี้ เขาจะสามารถเรียนรู้ทักษะหลายอย่าง และกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้เรื่องตัวเลข ตัวอักษร การอ่าน การคำนวณเบื้องต้น รวมถึงเสียงดนตรี และเป็นช่วงที่ได้ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และเล็ก ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้ดีมากขึ้น ส่งผลให้เขาสนใจศิลปะ งานฝีมือ ของเล่นที่ขับขี่ และกีฬา เด็กในช่วงวัยนี้จะมีการพัฒนาทักษะด้านภาษา การเข้าสังคม และใช้ความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่คุณพ่อคุณแม่จะช่วยลูกเรียนรู้ผ่านการเล่นและการสำรวจ

ด้านการเคลื่อนไหว

  • การยืนขาเดียวได้นาน 10 วินาทีหรือนานกว่า
  • ขึ้น-ลง บันไดด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีการช่วยเหลือ
  • กระโดด ตีลังกา
  • ปีนป่าย หรือ แกว่งชิงช้า
  • อาจจะสามารถกระโดดกระต่ายขาเดียวได้

ด้านมือและนิ้ว

  • สามารถวาดสามเหลี่ยม และ รูปทรงเลขาคณิตอื่นๆได้
  • วาดคนที่ประกอบไปด้วยร่างกาย อย่างน้อย 3 ส่วน
  • เขียนหนังสือได้บ้าง
  • แต่งตัว ติดกระดุม ปลดกระดุมเองได้
  • ใช้ช้อน ส้อม ได้
  • สามารถเข้าห้องน้ำเองได้

ด้านภาษา

  • สามารถจดจำเรื่องราวบางส่วนได้
  • ใช้ประโยคที่ยาวขึ้น โดยประกอบด้วยคำ 4 คำ
  • สามารถสื่อสารกับคนแปลกหน้าด้วยคำศัพท์ที่เข้าใจได้ 100%
  • สามารถเล่าเรื่องราวที่ยาวขึ้นได้
  • สามารถบอกชื่อและที่อยู่ได้

ด้านความคิด

  • สามารถนับสิ่งของ 10 ชิ้นขึ้นไปได้
  • บอกชื่อสีที่ถูกต้องได้อย่างน้อย 4 สี
  • เข้าใจช่วงเวลามากขึ้น
  • รู้จักของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เงิน อาหาร เครื่องใช้ต่างๆ

ด้านสังคมและอารมณ์

  • ต้องการเอาใจเพื่อน ๆ
  • อยากเป็นแบบเพื่อน
  • มีแนวโน้มในการเข้าใจกฎระเบียบและยอมรับกฎมากขึ้น
  • แปรงฟันเองได้
  • แสดงความเป็นอิสระมากขึ้นและอาจไปเยี่ยมเพื่อนบ้านข้างบ้านด้วยตัวเอง

สัญญาณที่อาจแสดงถึงพัฒนาการล่าช้า ที่ควรปรึกษากุมารแพทย์

  • แสดงพฤติกรรมที่น่ากลัวหรือขี้อายอย่างมาก
  • แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมาก
  • ไม่สามารถแยกจากผู้ปกครองได้ หรือ ต้องมีการประท้วง ดื้อดึงก่อนแยกจากพ่อแม่
  • วอกแวกง่ายและไม่มีสมาธิกับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งนานกว่า 5 นาที
  • ไม่ค่อยสนใจในการเล่นกับเด็กคนอื่น
  • ไม่ตอบสนองต่อคนทั่วไปหรือตอบสนองเพียงผิวเผิน
  • ไม่ค่อยใช้จินตนาการในการเล่น
  • ดูไม่มีความสุข หรือ เศร้าเป็นส่วนใหญ่
  • ไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ หลีกเลี่ยงหรือทำตัวห่างเหินกับเด็กและผู้ใหญ่คนอื่นๆ
  • ไม่แสดงอารมณ์ที่หลากหลาย ดูเฉยเมยผิดปกติ
  • มีปัญหาในการกิน การนอน หรือการใช้ห้องน้ำ
  • แยกไม่ออกระหว่างจินตนาการกับความเป็นจริง
  • ไม่สามารถเข้าใจคำสั่งที่มีคำบุพบท เช่น วางถ้วยบนโต๊ะ เอาลูกบอลไว้ใต้โซฟา
  • ไม่สามารถบอกชื่อ นามสกุล ตัวเองได้
  • ไม่สามารถพูดหรือเล่าเรื่องในอดีตได้
  • ไม่สามารถต่อของเล่นให้สูง 6-8 บล็อคได้
  • จับ ถือดินสอไม่ถนัด
  • ไม่สามารถถอดเสื้อผ้าเองได้
  • ไม่สามารถล้างมือและเช็ดมือให้แห้งได้
เด็กวัยประถม : 5 – 12 ปี

ในช่วงเวลานี้ ลูกของคุณควรรู้สึกมั่นใจในความสามารถของตน เพื่อช่วยเผชิญกับความท้าทายในชีวิตของเขา พวกเขาจะเริ่มพัฒนาทักษะในการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง มีความคิดเชิงสร้างสรรค์ และมีความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งการพัฒนาตรงส่วนนี้จะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเขามีประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง ที่สามารถแก้ปัญหาด้วยตนเอง จากความพยายามของพวกเขา

ด้านร่างกาย

  • สามารถใช้เครื่องมือผู้ใหญ่ได้ดี เช่น มีด ค้อน โทรศัพท์
  • มักจะมีความแปรปรวนในด้านความเหนื่อย พลังงาน และความหิว เมื่อร่างกายเริ่มเปลี่ยนแปลง
  • ไม่ใช่เรื่องแปลกที่วัยรุ่นจะเริ่มกินและนอนมากกว่าที่เคยเป็น

ด้านภาษา

  • สามารถอ่านได้คล่องแคล่ว
  • สามารถเขียนเล่าเรื่องราวที่ยาวขึ้น สื่อสารหลายภาษา หรือใส่รายละเอียดเพื่อให้คนอ่านสนใจ
  • พวกเขาอาจเข้าใจเรื่องราวที่ซับซ้อนและมีนัยสำคัญของเรื่องราวได้มากขึ้น

ด้านความคิด

  • มีพัฒนาการอย่างรวดเร็วในทักษะด้านจิตใจ
  • เรียนรู้วิธีการอธิบายประสบการณ์และพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกได้ดีขึ้น
  • โฟกัสที่ตัวเองน้อยลง และใส่ใจคนรอบข้างมากขึ้น
  • เผชิญกับความท้าทายเชิงวิชาการมากขึ้น
  • เริ่มรู้จักเห็นมุมมองของผู้อื่น (สร้างความเห็นอกเห็นใจ)
  • ความสามารถในการคิดที่ซับซ้อน
  • พัฒนาความรู้สึกผิดชอบชั่วดี (นำไปสู่แนวคิดเรื่องความยุติธรรมและความอยุติธรรม)

ด้านสังคมและอารมณ์

  • แสดงความเป็นอิสระจากพ่อแม่และครอบครัวมากขึ้น
  • เริ่มคิดถึงอนาคต
  • เข้าใจจุดยืนของตัวเองในโลกและระหว่างบุคคลมากขึ้น
  • ให้ความสำคัญกับมิตรภาพและทีมมากขึ้น
  • ต้องการเป็นที่รักและยอมรับของเพื่อนฝูง
  • เริ่มสร้างมิตรภาพระหว่างเพื่อนฝูงที่แข็งแกร่งและซับซ้อนมากขึ้น
  • ตระหนักถึงร่างกายของพวกเขาเมื่อเข้าสู่วัยแรกรุ่น
  • อาจมีอารมณ์แปรปรวน

สัญญาณที่อาจแสดงถึงพัฒนาการที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ

  • ขาดความเข้าใจในแนวคิดพื้นฐาน เช่น สี รูปร่าง ตัวอักษร และตัวเลข
  • มีความรู้สึกไม่พอใจจากงานที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนและการมอบหมายงาน
  • ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎของเกมหรืองานที่ได้รับมอบหมาย
  • ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานได้

วัยรุ่น : 12 – 18 ปี

วัยนี้เป็นวัยที่ท้าทายสำหรับพ่อแม่ เนื่องจากวัยรุ่นมักจะมีความเป็นอิสระ ต่อต้าน และมีอารมณ์อ่อนไหวมากขึ้น แต่ไม่ต้องกังวลไป เพียงแค่พ่อแม่เคารพความเป็นส่วนตัว สร้างสภาพแวดล้อมในบ้านที่ดี เป็นพื้นที่ปลอดภัย ให้อิสระ และเข้าใจลูก ก็จะสามารถสร้างความใกล้ชิด มีความสุข มีเสียงหัวเราะร่วมกันได้

ผู้ใหญ่ตอนต้น : 18 – 21 ปี

ช่วงนี้จะเป็นเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นไปสู่วัยหนุ่มสาว พวกเขาอาจจะออกจากบ้านไปเรียนที่มหาลัยหรือทำงานที่ไกลจากบ้าน ซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น ท้าทายทั้งกับพ่อแม่และลูก ในขณะเดียวกัน ลูกของคุณอาจต้องปรับตัวให้ชินกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างมาก

ในฐานะพ่อแม่ คุณควรให้การสนับสนุนพวกเขา ให้กำลังใจที่ดี ไว้ใจ ให้ความเป็นอิสระ  สนับสนุนให้ลูกมีพฤติกรรมเชิงบวก และคอยช่วยเหลือให้พวกเขาพัฒนาทักษะชีวิตไปในทางที่ดีขึ้น

โดยสรุป การเรียนรู้และเข้าใจพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย จะทำให้การพัฒนาสมองตั้งแต่ทารกและเด็กเล็กได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ ส่งผลให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะสามารถโตมาเป็นคนที่น่ารัก มีทักษะในการใช้ชีวิตเพิ่มมากขึ้น สามารถบรรลุเป้าหมาย และประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเองReference

  1. On Feb. 27, North Carolina welcomed Dr. Jack Shonkoff as the keynote speaker for the NC Early Childhood Summit. Shonkoff is a leading scholar on early child health and development and the director of the Harvard Center on the Developing Child.
  2. By Edith Bracho-Sanchez, MD, FAAP
  3. Paolohospital 
  4. dmh.go.th  
  5. Caring for Your Baby and Young Child: Birth to Age Five 7th edition (Copyright © 2019 American Academy of Pediatrics
  6. The Urban Child Institute.
  7. KIWI FAMILY MEDIA LTD.
  8. https://www.wcsap.org/sites/default/files/uploads/resources_publications/special_editions/Appendix_Activity_Guide_2016.pdf
  9. Virtual Lab School

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ กด "MORE INFO" เพื่ออ่านเพิ่มเติม หรือกด "ACCEPT" เพื่อยอมรับข้อตกลงในการเก็บข้อมูล