อะไรทำให้เด็กมีน้ำหนักเกิน จากการกินมากเกินไป ออกกำลังกายไม่เพียงพอ หรือมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน เช่น พันธุกรรม องค์ประกอบทางชีวภาพของแต่ละบุคคล การเผาผลาญ การควบคุมอาหาร และการไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น
โรคอ้วนในวัยเด็ก เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเรื้อรังไม่ติดต่อในเด็ก เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัว
โรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมเกินปกติจนทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในอนาคต อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง กระดูกและข้อ ปัญหาข้อต่อ ปัญหาการนอนหลับ
เลือกอ่าน :
โรคอ้วนในวัยเด็ก…ปัญหาปวดหัวกับพ่อแม่
เด็กมีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน เป้าหมายเร่งด่วนไม่ใช่การลดน้ำหนัก เป้าหมายคือการพัฒนานิสัยที่ดี ต่อสุขภาพ โดยรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น และใช้เวลาออกกำลังกายให้มากขึ้น
การสร้างและส่งเสริมนิสัยที่ดีต่อสุขภาพจะช่วยให้ลูกก้าวเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ได้ แนวคิดเหล่านี้จะค่อยๆ กลายเป็นนิสัยที่ฝังแน่นและอัตโนมัติ ลูกจะหยิบแอปเปิ้ลแทนคุกกี้โดยไม่ต้องคิดแม้แต่น้อย ความสนใจมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ไม่ใช่แค่ตัวเลขน้ำหนักเท่านั้น
รู้ได้อย่างไรว่าน้ำหนักของลูกเป็นปัญหาหรือไม่?
โรคอ้วนในเด็กและผู้ใหญ่ คือการวัดดัชนีมวลกาย (BMI) โดยจะวัดน้ำหนักเทียบกับส่วนสูง มีค่าสูงมากกว่า 2 เท่าของค่าเบี่ยงมาตรฐาน และกุมารแพทย์จะประเมินโรคอ้วนเพิ่มด้วยการวัดน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง แบ่งตามอายุ และเพศ ที่มีค่าสูงมากกว่า 3 เท่าของค่าเบี่ยงมาตรฐาน
โรคอ้วนในวัยเด็กมักถูกเรียกว่าเป็นโรคระบาดสมัยใหม่ และเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา (ในประเทศไทย จากผลการสำรวจข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธาณสุข ปี พ.ศ.2564 พบเด็กวัยเรียน (อายุ6-14ปี) มีน้ำหนักเกินและอ้วนร้อยละ 11.09)
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วนในวัยเด็ก
- ปริมาณแคลอรี่ที่เพิ่มขึ้น ผ่านการรับประทานอาหารปริมาณ ที่มากขึ้น ของว่างและเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่ สูงมากมาย
- รูปแบบการใช้ชีวิตที่กระฉับกระเฉงน้อยลง
- การออกกำลังกายและพฤติกรรมไม่เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เด็กที่ไม่ออกกำลังกาย ดูโทรทัศน์ เล่นวิดีโอเกมส์ เกิดความไม่สมดุลกันระหว่างพลังงานที่ได้จากอาหาร และพลังงานที่ใช้ของร่างกาย
- ปัจจัยด้านพันธุกรรม เช่น บิดามารดาอ้วน มารดาเป็นเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์ โรคต่อมไร้ท่อ โรคทางพันธุกรรม
- พฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่เหมาะสม เช่น การบริโภคอาหารไขมันสัตว์ อาหารแป้งและน้ำตาลสูง อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนโรคอ้วนในเด็ก
โรคอ้วนในเด็ก ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบต่างๆ ในร่างกายอย่างไร
- ระบบหายใจ เช่น ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น นอนกรน โรคภูมิแพ้
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง
- ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น ขาโก่ง กระดูกหักง่าย
- ระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคเบาหวาน
- ระบบทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน ไขมันสะสมในตับ โรคนิ่วในถุงน้ำดี
- ความผิดปกติของผิวหนัง เช่น ผิวหนังมีผื่นสีน้ำตาลดำหนาบริเวณคอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ รอยแตกที่หน้าท้อง และผื่นแดงบริเวณข้อพับเกิดจากการเสียดสี
- สภาพจิตใจ เช่น ถูกล้อเลียน ขาดความเชื่อมั่น แยกตัวจากสังคม และภาวะซึมเศร้า
แม้ทางการแพทย์ให้ความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา แต่สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่า เด็กแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในโครงสร้างทางพันธุกรรม และสภาพแวดล้อมของตนเอง การรักษาจึงไม่ได้มุ่งเน้นไป ที่การลดน้ำหนักในระยะสั้น แต่ในการช่วยเหลือเด็กๆ และครอบครัว พัฒนานิสัยที่ดีต่อสุขภาพในระยะยาว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขาไปตลอดชีวิต
รับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัว
วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับโรคอ้วนในวัยเด็ก คือการสร้างนิสัยที่ดีต่อสุขภาพให้เป็นเรื่องของครอบครัว
โรคอ้วนในวัยเด็กพบได้บ่อยในครอบครัวที่ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านบ่อยกว่า สาเหตุหลักมาจากไขมัน และน้ำตาลส่วนเกินในอาหารปรุงสำเร็จและการบริโภคน้ำอัดลม
การอดอาหาร ไม่เหมาะสำหรับเด็ก
โดยเฉพาะเด็กๆ การอดอาหารอาจเป็นอันตรายได้เพราะจะทำให้เด็กๆ ขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญ เติบโตและพัฒนาการ ตลอดวัยเด็กจำเป็นอย่างยิ่งที่ลูกจะได้รับวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารที่สมดุล แม้ว่าการควบคุมอาหารอย่างเข้มงวดอาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใหญ่บางคน แต่ก็ไม่เหมาะสำหรับเด็ก การจำกัดอาหาร หรือลดปริมาณแคลอรี่ในแต่ละวัน ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืน และท้ายที่สุดอาจส่งผลเสีย มากกว่าผลดี
ทำให้ทุกคนเคลื่อนไหว
ส่วนสำคัญของการมีสุขภาพที่ดีคือการคงความกระฉับกระเฉงทางร่างกาย การออกกำลังกายจะให้พลังงาน เสริมสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ ช่วยให้เด็กๆ นอนหลับสบายในเวลากลางคืนและตื่นตัวในระหว่างวัน จำกัดเวลาอยู่หน้าจอ
การจัดการกับการต่อต้าน
บางครั้งอาจรู้สึกเหมือนเป็นการต่อสู้ที่ยากลำบาก เพื่อให้ลูกและครอบครัวเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เป็นเรื่องปกติที่จะเผชิญกับการต่อต้าน การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องใช้เวลา เพราะการบรรลุเป้าหมายใหญ่แทบไม่เคยเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน
แนะนำวิธีการ 5-2-1-0
คุณพ่อคุณแม่สามารถแชร์กับลูกๆ ได้อย่างง่ายๆ ดังนี้
- ผักและผลไม้ 5 มื้อต่อวัน เตรียมผักและผลไม้สด ที่ลูกสามารถรับประทานเป็นของว่างหรือระหว่างมื้ออาหารได้
- ใช้เวลาอยู่หน้าจอไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน สลับงานอดิเรก สำหรับกิจกรรมอื่นๆ เช่น การเล่นนอกบ้าน หรือช่วยเตรียมอาหาร
- ออกกำลังกายอย่างหนักอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน เด็กจำเป็นต้องเผาผลาญพลังงานเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างสารอาหารและแคลอรี่ที่บริโภค กระตุ้นให้ลูกลุกขึ้นและเคลื่อนไหว
- ดื่มน้ำตาล 0 แก้วต่อวัน ดื่มนมและน้ำที่มีไขมันต่ำ หรือไม่มีไขมันสำหรับเครื่องดื่ม หากเป็นน้ำผลไม้ ให้เสิร์ฟเฉพาะน้ำผลไม้ 100% และในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น
เคล็ดลับด้านโภชนาการ พฤติกรรม และจิตใจ
เพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตที่ดีและลดภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วน ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในครอบครัว
- ปรับลดอาหารพลังงานสูง เช่น แป้ง อาหารรสหวาน ไขมันอิ่มตัว และอาหารรสเค็ม
- เพิ่มอาหารชนิดกากใยสูง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ผักผลไม้ไม่หวาน
- บริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่เป็นอาหารหลากหลาย และบริโภคครบ 3 มื้อ เป็นเวลา ไม่งดอาหารมื้อเช้า ไม่กินอาหารมื้อดึก
- หลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด ผัดน้ำมัน เปลี่ยนเป็นอาหารชนิดต้ม นึ่ง ตุ๋น หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน และอาหารจานด่วน
- ควรดื่มนมจืดพร่องมันเนยหรือไขมันต่ำ งดน้ำหวาน น้ำอัดลม รวมทั้งขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นประจำ วันละ 30-60 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง โดยกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย
- เด็กอายุ 2-6 ปี เช่น วิ่ง กระโดดเชือก เตะลูกบอล ปีนป่ายเครื่องเล่น ว่ายน้ำ เป็นต้น
- อายุ 7-10 ปี เช่น โยนรับลูกบอล เตะลูกบอล ปั่นจักรยาน แบดมินตัน ปิงปอง เทนนิส เป็นต้น
- อายุ 10 ปีขึ้นไป เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก เป็นต้น
- ลดกิจกรรมที่ไม่เคลื่อนไหว เช่น กำหนดเวลาดูโทรทัศน์และเล่มเกมส์ รวมกันวันละไม่เกิน 2 ชั่วโมง ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป
- สร้างแรงจูงใจและฝึกวินัย ในการบริโภคอาหารและออกกำลังกาย ให้คำชมเชยเมื่อทำได้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการตำหนิลงโทษ
- จัดเตรียมทางเลือกต่างๆ แทนที่จะถามเด็กว่าเขาหรือเธออยากออกกำลังกายหรือไม่ ให้เสนอทางเลือก เช่น เดินเล่นด้วยกัน เล่นแท็ก หรือจัดปาร์ตี้เต้นรำพร้อมๆ กัน
- การให้ทางเลือกต่างๆ จะช่วยให้ฝึกฝนทักษะการตัดสินใจ การควบคุมสถานการณ์ของตนเองได้มากขึ้น สร้างเป้าหมายที่วัดผลได้ เด็กในวัยนี้ชอบที่จะใช้เวลากับพ่อแม่มากขึ้น ดังนั้นจงใช้ประโยชน์จากมัน ตั้งเป้าหมายที่พ่อแม่จะได้ทำอะไรสนุกๆ กับลูก
- พ่อแม่และครอบครัวเป็นแบบอย่างของการมีสุขนิสัยที่ดี ในการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- การแสดงออกส่วนบุคคลและเสริมความมั่นใจ หากลูกของคุณรู้สึกเป็นเจ้าของและภูมิใจในความสำเร็จ ของตนเอง มันจะกระตุ้นให้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีต่อสุขภาพต่อไป
- อย่าละเลยปัญหา หากลูกมีน้ำหนักเกินมากและความพยายามบางครั้งเหมือนจะไม่ช่วยอะไร พ่อแม่อย่าเพิ่งยอมแพ้
ไม่ว่าโรคอ้วนจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม สิ่งสำคัญเป็นลำดับแรกคือการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย พ่อแม่ต้องคอยให้กำลังใจเด็ก เพราะการลดน้ำหนักต้องใช้พลังใจ ความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับตัวเอง รวมถึง ส่งเสริมให้ลูกใส่ใจสุขภาพ และเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำหนักเกิน
Ref.