สนับสนุนให้ลูกมีพฤติกรรมเชิงบวก

การสนับสนุนให้ลูกมีพฤติกรรมเชิงบวก

เลือกอ่านตามหัวข้อ

    Add a header to begin generating the table of contents

    เมื่อคุณได้ยินคำว่าระเบียบวินัย คุณอาจนึกถึงการแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดี หรือการลงโทษอย่างที่พ่อแม่หลายคนทำ แต่จริงๆ แล้วคำว่าระเบียบวินัยนั้นเป็นแนวคิดที่กว้างกว่านั้นมาก

    ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กมองว่าการฝึกฝนระเบียบวินัยเป็นวิธีการส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกและช่วยให้เกิดทักษะในการตัดสินใจที่ดีขึ้น โดยผู้ปกครองควรมุ่งเน้นไปที่การกำหนดวิธีการฝึกให้เด็กรู้สึกอยากทำพฤติกรรมเชิงบวกด้วยตนเองมากที่สุด และรู้สึกอยากทำพฤติกรรมเชิงลบให้น้อยที่สุด

    เมื่อคุณเริ่มคิดแบบนี้ จะเห็นได้ว่าการใช้ระเบียบวินัยเป็นเครื่องมือในการปรับพฤติกรรมของเด็กให้ถูกต้องเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่ช่วยให้เด็กบรรลุวุฒิภาวะทางอารมณ์และพฤติกรรมเท่านั้น

    อย่างไรก็ตามการฝึกให้เด็กมีพฤติกรรมเชิงบวกอย่างต่อเนื่องนั้นต้องใช้ทั้งความอดทนและความทุ่มเทอย่างหนัก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพฤติกรรมเชิงบวกของเด็กถูกพัฒนาจากการแลกเปลี่ยนความคิดเล็กๆ น้อยๆ หลายร้อยครั้งกับพ่อแม่ การได้มีปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันเหล่านี้จะสอนให้เขารู้จักวิธีควบคุมอารมณ์ของตนเอง  เลือกสิ่งที่ดีและประพฤติตนอย่างเหมาะสม แม้ในเวลาที่คุณไม่ได้อยู่ใกล้ๆ 

    ถึงแม้จะต้องใช้เวลาในการฝึกฝนพฤติกรรมเชิงบวกให้เด็กอยู่มาก แต่แนวคิดพื้นฐานต่อการสร้างพฤติกรรมเชิงบวกนั้นค่อนข้างทำตามและเข้าใจได้ง่าย เมื่อคุณเริ่มจับทางมันได้ถูก คุณจะเห็นถึงความเป็นไปได้มากมายที่จะช่วยคุณสอนให้ลูกเติบโต ในช่วงเวลาที่เขากำลังเติบโต หากคุณรู้จักตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้คำแนะนำ และให้เขาเห็นถึงผลลัพธ์ของการกระทำที่ตามมาอย่างสม่ำเสมอ สิ่งเหล่านี้จะสอนลูกให้รู้จักรับมือกับปัญหาอันใกล้ที่กำลังจะเข้ามา

    ทำไมเด็กถึงแสดงพฤติกรรมอย่างที่เขาเป็น?

    เป็นเรื่องปกติที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะต้องการให้ลูกของตัวเองมีความสุภาพนอบน้อย รู้จักเคารพผู้อื่น มีความเห็นอกเห็นใจ และอยู่ในศีลธรรม ดังนั้นเมื่อเด็กแสดงท่าทางที่ไม่เป็นตามที่หวัง ผู้ปกครอบหลายคนจึงมีความรู้สึกไม่สบายใจได้

    แต่ต้องจำไว้เสมอว่าพฤติกรรมของเด็กที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผลและเด็กไม่ได้เกิดมาโดยรู้กฎทางสังคม พวกเขาจึงต้องลองผิดลองถูกและเรียนรู้ข้อจำกัดในสิ่งรอบๆ ตัวด้วยตนเอง เพราะเหตุนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองจะต้องสร้าง “เส้นทาง” ที่ถูกต้องเพื่อกำหนดแนวทางการเติบโตของพวกเขา 

    เพื่อสร้างแนวทางและข้อกำหนดที่เหมาะสมให้กับเด็ก คุณควรทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมมีการทำงานอย่างไรก่อนเป็นอย่างแรก ในเชิงวิชาการสิ่งนี้เรียกว่า การวิเคราะห์พฤติกรรมเชิงหน้าที่ (Functional behavioral analysis) หรือมักถูกเรียกว่าทฤษฎีพฤติกรรม ABC ประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ

    • A = Antecedent หมายถึงสิ่งที่มาก่อนพฤติกรรมซึ่งอาจรวมถึงรูปแบบการเรียนรู้จากอดีตของลูก เหตุการณ์ที่กระตุ้นหรือชุดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนพฤติกรรมดังกล่าว หลายๆครั้ง เราอาจจะรู้สึกว่าการกระทำของลูกเกิดขึ้นมาอย่างทันทีและไม่มีเหตุผล แต่หากลองสังเกตุดูให้ดีแล้วในหลายกรณี คุณจะเห็นได้ถึงสิ่งเร้าจากเหตุการณ์ในอดีต
    • B = Behavior หมายถึงการแสดงออก พฤติกรรมที่สืบต่อมาจาก Antecedent ซึ่งอาจเป็นพฤติกรรมที่ดีหรือไม่ดีก็ได้  สิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้มักจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อพฤติกรรมที่แสดงออกมา
    • C = Consequence หมายถึงผลที่ตามมาจากพฤติกรรมนั้น โดยทั่วไป พฤติกรรมจะทำให้เกิดการตอบสนองโดยเฉพาะจากพ่อแม่หรือผู้ดูแล การตอบสนองเหล่านี้อาจเป็นเชิงลบหรือบวกก็ได้ สิ่งสำคัญคือคุณต้องให้ความสนใจแก่การตอบสนองไม่ว่าจะเชิงลบหรือบวก เพราะมันสามารถมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมในอนาคตของพวกเขาได้

    การทำความเข้าใจทฤษฎีพฤติกรรมทั้งสามด้านนี้จะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมเชิงบวกของลูกคุณได้ง่ายขึ้น เพื่อช่วยให้ลูกประพฤติตัวดีและประสบความสำเร็จ คุณจะต้องกำหนดเส้นทางให้เหมาะสมกับเขา ระบุความคาดหวังจากพฤติกรรมที่คุณยอมรับได้ และมอบผลลัพธ์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกัน

    คุณอาจพบว่าตัวเองทำตามขั้นตอนเหล่านี้ในบางครั้งพร้อมๆ กัน บางครั้งทำตามลำดับ แต่ที่สำคัญที่สุด คุณจะต้องเปลี่ยนความสนใจและให้พลังงานไปกับแนวทางเชิงบวก และออกห่างจากแนวทางเชิงลบ

    การกำหนดทิศทางเพื่อความสำเร็จ

    พฤติกรรมของคนๆ หนึ่งค่อยๆ พัฒนาไปตามกาลเวลา ในความเป็นจริงแล้วการเลี้ยงดูเด็กให้มีพฤติกรรมที่ดีนั้นเกี่ยวข้องกับการวางรากฐานากมายที่จะไม่ได้เห็นผลตอบแทนในทันที แต่จะเป็นรางวัลที่ได้มาในรูปแบบของความสัมพันธ์ที่ดีและการใช้เวลาอย่างสนุกสนานระหว่างกัน ซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนในที่สุด

    เพื่อวางรากฐานสำหรับพฤติกรรมเชิงบวก ให้ทำตามขั้นตอนเหล่านี้:

    ใช้เวลาร่วมกัน พฤติกรรมเชิงบวกมีรากฐานมาจากความสัมพันธ์ที่อบอุ่นและปลอดภัยระหว่างผู้ปกครองและเด็ก พ่อแม่ฟังลูก หมั่นพูดคุยกับและเล่นกับพวกเขา สังเกตลูก ๆ อย่างใกล้ชิดเพื่อให้รู้ว่าอะไรเป็นแรงคือจูงใจและอะไรทำให้เกิดความผิดหวัง ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมและเอาใจใส่ดูแลลูก สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีในทุกๆวันให้เป็นกิจวัตร และเมื่อนั้นคุณจะค่อยๆสังเกตุเห็นการเริ่มต้นของพฤติกรรมที่ดีของลูกได้เองโดยธรรมชาติ

    นอกจากนี้ เด็กทุกคนมีความต้องการที่จะใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่ให้ได้มากที่สุด แต่อย่างที่คุณพ่อคุณแม่ทราบกันดีว่า งานและหน้าที่ต่างๆมักจะชอบโผล่ขึ้นมาตลอดเวลาทำให้เวลาที่จะได้อยู่กับลูกก็มีน้อยลงไป หากขาดการสังเกตุ เด็กอาจพยายามเรียกร้องความสนใจจากผู้ปกครองด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสำหรับเด็กแล้วความสนใจในเชิงลบก็ดูเหมือนจะดีกว่าการไม่ได้รับความสนใจเลย

    สิ่งสำคัญคือคุณต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีอย่างสม่ำเสมอกับลูก เพราะมันแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและทุ่มเทให้กับพวกเขา และมันจะช่วยให้ลูกของคุณพัฒนาพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้นเอง 

    เพื่อเพิ่มเวลาอยู่กับลูกให้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คุณสามารถทำได้:

    • จัดตารางปฏิทิน เวลาคือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด และคุณควรปฏิบัติกับมันอย่างเห็นคุณค่าของมันเช่นกัน พ่อแม่ยุคใหม่มักรู้สึกว่าตัวเองถูกดึงเวลาเพื่อทุ่มเทเวลาให้กับสิ่งต่างๆ มากเกินไป ไม่ว่าจะเรื่องงาน การเรียน การทำอาสาสมัคร หรือแม้แต่กิจกรรมยามว่าง คุณควรจัดสรรและบริหารเวลาอันมีค่าของคุณให้ดี ไม่ว่าจะเป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมง หรือแค่ไม่กี่นาที จัดตารางให้ความสำคัญกับลูกของคุณอย่างสม่ำเสมอ
    • ทำให้มันสนุก เมื่อมีเวลาใช้ร่วมกับลูก จงทำให้มันสนุกและน่าจดจำ วางสิ่งรบกวนต่างๆรอบตัวให้หมด ไม่ว่าจะเป็น สายเรียกเข้า อีเมล ข้อความ และ social media จากมือถือ  ใช้เวลาในการสังเกตและคิดว่าลูกของคุณน่าทึ่งเพียงใด ปล่อยให้ลูกของคุณเป็นผู้นำในกิจกรรมต่างๆและพยายามหลีกเลี่ยงการออกคำสั่ง แก้ไข หรือบอกใบ้คำตอบ แต่ให้ชื่นชมลูกของคุณจากความคิดที่สร้างสรรค์ ความเห็นอกเห็นใจ และงานที่ทำได้ดีด้วยตัวของเขาเอง
         อาจจะมีหลาย ๆ ครั้งที่การใช้เวลาร่วมกับลูกนั้นทำให้เกิดความไม่น่าพอใจสักเท่าไหร่ เพื่อให้ผ่านพ้นความยากลำบากนี้ไปให้ได้ สิ่งสำคัญคือต้องสร้างช่วงเวลาและความสัมพันธ์ดีๆ ให้สมดุล 
    • รู้จักแสดงออกมาโดยไม่ต้องเตรียมมาก่อน (Improvise) ครอบครัวส่วนใหญ่มีตารางงานที่ยุ่งมาก และการหาเวลาว่างเพื่อทำเรื่องสนุกๆ ก็ใช่ว่าจะเป็นไปได้เสมอไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณไม่สามารถใช้เวลากับลูกสองต่อสองได้
         ลองนึกถึงใช้ร่วมกันในรถ เช่น เมื่อไปกลับจากโรงเรียน การฝึกซ้อมกีฬา หรือเมื่อต้องนัดหมายแพทย์ บางทีคุณอาจจะแค่ทำธุระด้วยกัน ใช้เวลานั้นเล่าเรื่องตลกเกี่ยวกับวันของคุณให้กันและกันฟัง ผลัดกันเป็นดีเจและแบ่งปันหรือร้องเพลงโปรดด้วยกัน หรือแค่อยู่เงียบๆ ด้วยกัน เด็กที่มีความเครียดมักจะเปิดใจและพูดถึงสิ่งที่กวนใจได้ง่ายกว่า เมื่ออยู่กับพ่อแม่ตามลำพัง
    • รักษาความมั่นคงที่บ้าน ความสัมพันธ์ที่มั่นคงระหว่างพ่อแม่และลูกเกี่ยวเนื่องกับสภาพแวดล้อมในบ้านที่มั่นคง กิจวัตรปกติที่คาดเดาได้สามารถช่วยให้ครอบครัวของคุณมีระเบียบและให้ความมั่นใจกับลูกได้ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลดสิ่งกระตุ้นของพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น ความเหนื่อยล้า ความหิว และความเครียด
         เด็กบางคนอาจต้องการความเป็นระเบียบมากกว่าคนอื่น แต่เด็กทุกคนได้รับประโยชน์จากตารางเวลาครอบครัวไม่ว่าแบบไหนก็ตาม ตามหลักการแล้ว กิจวัตรประจำวันในครอบครัวถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ชีวิตครอบครัวถูกจัดระเบียบให้เข้าที่เข้าทางมากขึ้น แต่อย่าบีบบังคับหรือเคร่งครัดเกินไปจนทำให้คนในครอบครัวรู้สึกอึดอัดพยายามรักษาตารางเวลาประจำวันให้
         สามารถคาดการณ์ได้ในช่วงเวลาสำคัญของแต่ละวัน เช่น เวลาตื่นนอน รับประทานอาหาร หรือเข้านอน

    5 ขั้นตอนเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีให้กับลูกของคุณ

    1. หมั่นใช้เวลาร่วมกันโดยไม่ให้มีสิ่งใดๆ มารบกวน
    2. หาโอกาสชื่นชมลูกบ้างในเวลาที่เขาทำสิ่งที่ดี
    3. หาโอกาสในการให้รางวัลกับสิ่งที่เขาได้ทำ
    4. ให้คำแนะนำที่ชัดเจนและเป็นคำพูดเชิงบวก
    5. ให้เขารู้จักกับผลที่ตามมาของการกระทำนั้

    วิธีให้คำแนะนำที่ดี

    เด็กจำเป็นต้องรู้ว่าคุณคาดหวังอะไรจากการกระทำของเขา เมื่อคุณอธิบายความคาดหวังของคุณในแบบที่ลูกของคุณสามารถเข้าใจได้ และความคาดหวังนั้นเหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของลูก จะทำให้เด็กให้ความร่วมมือได้ง่ายขึ้นและนี่คือวิธีการให้คำแนะนำที่ดี

    • หมั่นรู้จักใช้ภาษากายที่ดี พยายามอยู่ใกลกับลูกให้ได้มากที่สุดและใช้น้ำเสียงการพูดคุยด้วยน้ำเสียงปกติ (อย่าตะโกนจากห้องอื่น) ก้มลงหรือคุกเข่า ถ้าจำเป็นเพื่อให้ใบหน้าของคุณอยู่ในระดับสายตาเดียวกันกับใบหน้าของเด็ก ใช้การสบตา แสดงใบหน้าที่ดูสบายตาและทำร่างกายให้ผ่อนคลายเข้าไว้
    • ดึงความสนใจของลูก ดูให้แน่ใจว่าลูกของคุณกำลังฟังคุณอยู่ ปิดโทรศัพท์ ทีวี และอุปกรณ์ต่างๆ ใช้ชื่อลูกของคุณหรือคำที่แสดงถึงความรัก และรวมถึงการใช้วิธีกระตุ้นทางกายภาพอย่างอ่อนโยน 
    • ค่อยๆสอนลูกโดยใช้คำแนะนำที่เรียบง่ายและแสดงท่าทีเชิงบวก ทำตัวให้สุภาพและพูดเสียงดังแค่ในระดับที่พอได้ยิน หากหงุดหงิดก็อย่าแสงออกเป็นอันขาด พยายามใช้คำพูดเชิงบวกเพื่อบอกลูกว่าต้องทำอะไร โดยทั่วไปแล้ว ยิ่งเด็กอายุน้อย คำสอนก็ควรจะสั้นลงไปด้วย เช่น แทนที่จะพูดว่า
         “หยุดเล่นแรงๆได้แล้ว May!” ให้เปลี่ยนเป็น “May เล่นกับน้องเบาๆหน่อยสิ” และเมื่อ May ทำตามคำแนะนำ ให้พูดว่า “ขอบคุณ เธอน่ารักกับน้องสาวมาก”
    • เมื่อลูกทำการกระทำใดๆ อย่าเพิ่งพูดถึงผลที่ตามมาตั้งแต่ครั้งแรกที่ให้คำแนะนำ แต่ให้มุ่งเน้นคำขอเชิงบวกและการบอกถึงพฤติกรรมที่คุณต้องการ ให้พูดกับลูกว่า “Victor ช่วยทำความสะอาดห้องให้เรียบร้อยด้วยนะ” 
         หากลูกไม่ฟังและจำเป็นต้องทวนซ้ำคำพูด คุณถึงจะพูดถึงผลที่ตามา แต่พยายามพูดให้เป็นเชิงบวก เช่น “Victor ถ้าลูกอยากจะออกไปเล่นข้างนอก ลูกต้องทำความสะอาดห้องให้เรียบร้อยก่อนนะ” และหลีกเลี่ยงการพูดว่า “Victor ลูกจะออกไปเล่นข้างนอกไม่ได้จนกว่าลูกจะทำความสะอาดห้องเสร็จ”
    • อย่าพยายามโต้เถียงหรืออธิบาย หากคุณต้องพูดสอนสิ่งนั้นซ้ำไปซ้ำมาหรือต้องโต้เถียงกับลูกว่าทำไมลูกควรฟัง จะมีโอกาสน้อยมากที่ลูกของคุณจะให้ความร่วมมือ หากคุณต้องอธิบายให้เสนอข้อมูลนั้นหรือผลที่ตามมาก่อน เพราะคำชี้แนะจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ลูกของคุณอยากได้ยิน
         หากคุณสอนโดยมีเหตุและผลและคุณคาดหวังว่าลูกจะต้องปฏิบัติตาม อย่าปล่อยให้ลูกมีโอกาสที่จะปฏิเสธ การมอบทางเลือกอาจช่วยได้ ตัวอย่างเช่น อย่าพูดว่า “Christ ลูกอยากนั่ง Car Seat ไหม?” หากลูกของคุณปฏิเสธหรือคุณต้องพูดซ้ำ ทั้งคุณและลูกจะเกิดอาการหงุดหงิดได้ คุณควรจะพูดว่า “Christ อยากจะขึ้นไปนั่ง Car Seat ด้วยตัวเองไหม หรืออยากให้แม่ช่วย”
    • กิจกรรมรายสัปดาห์ หากลูกของคุณต้องรับผิดชอบงานบ้านบางอย่าง ให้สร้างตารางเวลารายสัปดาห์เพื่อความชัดเจนว่าต้องทำงานบ้านต่างๆ เมื่อใด ตัวอย่างเช่น ลูกของคุณอาจถูกคาดหวังให้ช่วยทิ้งขยะในคืนวันอังคารและทำความสะอาดห้องของเขาหรือเธอทุกวันเสาร์
    • ประเพณีของครอบครัว กิจวัตรบางอย่างไม่จำเป็นต้องนำไปใช้ได้จริง รวมกิจกรรมที่สนุกสนานให้เข้ากับชีวิตครอบครัว เดินเล่นรอบตึกทุกคืน ดูหนังทุกคืน หรือไปสนามเด็กเล่นทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ กิจวัตรอื่นๆ ของครอบครัวอาจเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นปีละครั้ง เช่น เก็บแอปเปิ้ลในฤดูใบไม้ร่วงหรือไปทะเลสาปในฤดูร้อน
    • การเปลี่ยนแปลง หากจำเป็นต้องเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน ลองเตือนลูกของคุณล่วงหน้าเพื่อให้มีเวลาปรับตัว
    • ใส่ใจกับความสนใจของเด็ก เด็กๆ ตอบสนองต่อความสนใจของผู้ปกครองไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี การวิจัยแสดงให้เห็นว่าการเน้นย้ำพฤติกรรมใด ๆ จะมีผลเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมนั้น บ่อยครั้ง เมื่อคุณให้ความสนใจกับการประพฤติตัวไม่ดีของลูกเป็นพิเศษมักจะส่งผลต่อการส่งเสริมพฤติกรรมนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ
         ในทางกลับกัน เด็กๆยังสามารถแสดงพฤติกรรมที่ดีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขารู้ว่าคุณคาดหวังอะไรจากเขาและเขามีความสามารถมากพอที่จะตอบสนองสิ่งที่คุณต้องการได้ แต่บ่อยครั้งที่เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ดีขึ้น พ่อแม่กลับให้ความสนใจไปกับอย่างอื่นเสียมากกว่า อย่างไรก็ตามการสร้างแนวโน้มพฤติกรรมเชิงบวกให้กับเด็กนั้นก็ต้องการการส่งเสริมเชิงบวกจากพ่อแม่เช่นกั
         ดังนั้นเมื่อคุณเห็นลูกของคุณแสดงพฤติกรรมที่น่าชื่นชม จงตั้งใจสังเกตเขาและต้องแน่ใจว่าเขาก็สังเกตเห็นว่าคุณสนใจเขาเช่นกัน พยายามมองหาพฤติกรรมที่ควรค่าแก่คำชมอยู่เสมอ เรียนรู้ว่าคุณต้องการอะไรในตัวลูกและพยายามส่งเสริมสิ่งนั้น

    กฎของครอบครัว

    คุณต้องแสดงความคาดหวังที่คุณมีต่อลูกอย่างชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสันและความขัดแย้ง กฎในครอบครัวจะช่วยให้คุณกำหนดขีดจำกัดและความคาดหวัง ทำให้ลูกสามารถเข้าใจและตอบสนองความคาดหวังนั้นได้ดีขึ้น

    การมีกฎเกณฑ์ในครอบครัวเป็นการชี้แนะลูกว่าอะไรที่คุณยอมรับได้และอะไรที่ยอมรับไม่ได้ สิ่งนี้จะช่วยสอนให้เด็กเห็นคุณค่าในสิ่งที่คุณต้องการจะส่งผ่านและเป็นแนวทางในฐานะผู้ปกครองเช่นกัน

    กฎเกณฑ์ที่เหมาะสมกับวัย บังคับใช้อย่างสม่ำเสมอ และมีความสมดุลไปด้วยความอบอุ่นและความรักใคร่จะเป็นตัวช่วยลูกของคุณนำทางชีวิตทั้งภายในบ้านและนอกบ้าน กฎของแต่ละบ้านจะมีความแตกต่างกันออกไป แต่นี่คือแนวคิดพื้นฐานที่คุณควรคำนึงถึง

    เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ หากลูกของคุณเป็นเด็กก่อนวัยเรียน ให้เริ่มด้วยการมีกฎเพียง 2-4 ข้อ การเริ่มต้นด้วยกฎเพียงไม่กี่ข้อแทนที่จะเป็นกฎยาวๆ จะทำให้ลูกของคุณเข้าใจความคาดหวังได้ง่ายขึ้น และช่วยสร้างโอกาสให้คุณสามารถทำมันได้อย่างสม่ำเสมอ

    กฎเหล่านี้สามารถสะท้อนถึงลำดับความสำคัญของครอบครัว เข่น การแสดงความเคารพต่อกัน หรือหมายถึงความปลอดภัย กฎทั่วไปที่มักจะมีทุกครอบครัว เช่น ห้ามตีหรือดุ และห้ามกระโดดบนเฟอร์นิเจอร์ เมื่อลูกของคุณโตขึ้นและคุ้นเคยกับกฎที่คุณตั้งไว้ ให้ค่อยๆเพิ่มกฎที่เหมาะสมกับวัยเข้าไป

    • สื่อสารให้ชัดเจน ลูกของคุณมีแนวโน้มที่จะทำตามกฎที่คุณตั้งเอาไว้หากคุณระบุและอธิบายได้ชัดเจนมากพอ พยายามแบ่งกฎออกเป็นข้อๆ ให้สามารถสังเกตและวัดผลได้ ตัวอย่างเช่น กฎการเข้านอนอาจประกอบด้วยมาตรที่เฉพาะเจาะจง เช่น การแปรงฟัน ใส่ชุดนอน และการเข้านอนตรงเวลา สิ่งนี้จะช่วยให้คุณสร้างแนวทางที่ชัดเจน หากลูกคุณไม่ทำตามเช่นอาจจะตื่นในเวลาที่ควรเข้านอน แทนที่จะตอบสนองกันด้วยการต่อต้านและการระเบิดอารมณ์ กฎเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนว่าพวกเขาควรจะทำอะไร และช่วยให้ลูกจัดระเบียบพฤติกรรมของตัวเองได้
    • เตรียมความพร้อมที่จะย้ำทำซ้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ลูกสามารถจดจำและปฎิบัติตามกฎเหล่านั้นได้อย่างคุ้นชิน บางครอบครัวอาจพบกว่าการติดกฎเอาไว้ในที่ที่ทุกคนมองเห็นนั้นได้ผลมากที่สุด คุณอาจขอให้ลูกช่วยตกแต่งโปสเตอร์กฎหรือแผนภูมิโดยการวาดภาพออกมา
    • อธิบายรางวัลและผลที่จะตามมา ควบคู่ไปกับการอธิบายกฎของครอบครัวแต่ละข้อ เอาให้แน่ใจว่าลูกของคุณเข้าใจถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเมื่อทำตามกฎหรือฝ่าฝืนกฑ การปฏิบัติตามกฎอาจทำให้ลูกได้รับรางวัลพิเศษ ในขณะที่การฝ่าฝืนกฎจะถูกทำโทษ
         ตัวอย่างเช่น การทำงานบ้านตามเวลาที่กำหนดอย่างเต็มใจอาจให้รางวัลเขาโดยการเล่นมือถือ เล่นเกมส์ครึ่งชั่วโมง ในขณะที่การไม่ทำงานบ้านอาจทำให้ไม่ได้เล่นมือถือเลย การกำหนดแนวทางปฏิบัติเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นลูกของคุณให้มีพฤติกรรมเชิงบวกมากขึ้น และช่วยให้คุณรู้ว่าควรตอบสนองอย่างไรเมื่อเกิดการทำผิดกฎ
    • ปฏิบัตีตามกฎ กฎในครอบครัวจะได้ผลดีที่สุดเมื่อมีการกำหนดความคาดหวังกับทุก ๆ คนในครอบครัง ถ้าคุณมีการตั้งกฎเกี่ยวกับการตะโกนเสียงดังหรือการจำเวลาบนหน้าจอ คุณควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกโดยการทำตามกฎที่ตัวเองตั้งไว้ให้ได้ เด็ก ๆ เรียนรู้หลาย ๆ สิ่งจากการเฝ้ามองพฤติกรรมของพ่อแม่ในแต่ละสถานการณ์
    • บังคับการใช้กฎอย่างสม่ำเสมอ เด็กทุกคนมักจะชอบทดสอบขีดจำกัดของตัวเองด้วยการฝ่าฝืนในบางครั้ง อย่างไรก็ตาม บางครั้งอาจเพราะพวกเขาลืมหรือไม่เข้าใจสิ่งที่เราต้องการในตัวพวกเขา ในกรณีนี้ อาจจำเป็นต้องมีการพูดถึงกดซ้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจได้ชัดเจ
         ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด สิ่งสำคัญคือการที่คุณต้องตอบสนองต่อการฝ่าฝืนกฎของลูกในทิศทางเดียวกันทุกครั้ง แน่นอนไม่มีผู้ปกครองสมบูรณ์แบบและทำตามกฎได้อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา แต่พยายามทำทุกให้สม่ำเสมอมากเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะยิ่งคุณมีความสม่ำเสมอต่อการกระทำบางอย่างมากเท่าไหร่ ลูกของคุณก็จะเรียนรู้พฤติกรรมเชิงบวกใหม่ๆ ได้เร็วขึ้นเท่านั้น

    มุ่งเน้นที่การกระทำเชิงบวก

    การให้รางวัลต่อพฤติกรรมเชิงบวกของลูกเป็นวิธีการสอนที่ได้ผลดีมากกว่าการทำโทษต่อพฤติกรรมเชิงลบเสมอ เพื่อพัฒนาพฤติกรรมที่ดีของลูก คุณควรใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการให้รางวัลกับพฤติกรรมเชิงบวกมากกว่าการจับผิดพฤติกรรมเชิงลบของลูก

    การให้รางวัลนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือรางวัลทางสังคมและครอบครัว และรางวัลที่มีโครงสร้างเป็นระบบ รางวัลทั้งสองแบบนั้นเป็นวิธีที่ดีในการเสริมสร้างพฤติกรรมเชิงบวกเช่นกัน โดยทั่วไปแล้วคุณควรจะแบ่งอัตราส่วนของพฤติกรรมเชิงบวกต่อพฤติกรรมเชิงลบอยู่ที่ 4:1

    รางวัลทางสังคมและครอบครัว เหล่านี้หมายถึงเวลาและความสนใจจากพ่อแม่ ตัวอย่างเช่น 

    • การกอดและจูบ การแสดงออกทั้งทางกายภาพและอารมณ์ด้วยความอบอุ่นผ่านการกอด จูบ และลูบหลัง เป็นวิธีทีดีในการแสดงออกว่าคุณมีความสุขมากขนาดไหนต่อพฤติกรรมการกระทำของลูก ซึ่งมันเป็นการสื่อสารที่เข้าใจได้ง่ายสำหรับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กที่มักจะตอบสนองได้เร็วต่อท่าทางการแสดงถึงความรัก ส่วนเด็กโตอาจมีความเขินอายจากการแสดงออกทางความรักที่โจ่งแจ้ง แต่ยังคงรู้สึกดีต่อรอยยิ้มเล็กน้อย การชนกำปั้น หรือการ high five
    • คำชื่นชมและการให้กำลังใจ นั้นเป็นการให้รางวัลที่มีประโยชน์มาก และยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาความมั่นใจและความนับถือตัวเองของลูกอีกด้วย คอยสังเกตพฤติกรรมเชิงบวก หรือรูปแบบการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่คุณสามารถชื่นชมเขาได้ การชื่มชมอย่างจริงใจเป็นสิ่งที่แสดงให้ลูกได้เห็นว่าคุณได้สังเกตเห็นพฤติกรรมที่ดีของเขา
    • การใช้เวลาร่วมกันให้มากขึ้น เด็กส่วนมากตอบสนองต่อเวลาพิเศษที่พ่อแม่มอบให้ในเชิงบวกซึ่งเป็นเหมือนรางวัลาำหรับพฤติกรรมที่ดี ถ้าหากคุณสังเกตเห็นว่าลูกได้ทำสิ่งที่ดี ลองให้โอกาสให้เขาได้ใช้เวลากับคุณมากขึ้น อาจจะเป็นการออกไปเดินสวนหรือกินข้าวเที่ยงด้วยกัน ช่วงเวลาเหล่านี้ควรเป็นเวลาที่คุณมอบให้กับลูกเป็นพิเศษเพิ่มเติมจากเวลาที่อยู่ร่วมกับลูกเป็นปกติ หากคุณมีลูกหลายคน อย่าลืมที่จะแบ่งเวลาให้ลูกทุกคนเท่า ๆ กัน
    • รางวัลที่มีโครงสร้างเป็นระบบ ระบบเหล่านี้ใช้การให้รางวัลเป็น คะแนน สติกเกอร์หรือโทเค็นแก่พฤติกรรมที่ดี เมื่อลูกได้รับโทเค็นที่เพียงพอ เขาสามารถแลกเปลี่ยนเป็นกิจกรรม สิทธิพิเศษ ขนม หรือรางวัลได้ สำหรับเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กในระดับประถม การสร้างแผนภูมิสติกเกอร์ถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมาก เด็กอายุระหว่าง 4 ถึง 8 ขวบมักตอบสนองได้ดีต่อระบบ poker chip และเด็กโตอาจตอบสนองได้ดีกว่าต่อระบบคะแนน

    แผนภูมิสติกเกอร์ (Sticker chart)

    การใช้แผนภูมิสติกเกอร์:

    • ปรึกษาร่วมกันกับลูกของคุณเพื่อค้นหาพฤติกรรม 2 หรือ 3 อย่างในการให้รางวัล
    • สร้างแผนภูมิร่วมกันโดยใช้คำพูดหรือรูปภาพเพื่ออธิบายสิ่งที่คาดหวัง
    • ให้คะแนนเป็นดาวสำหรับพฤติกรรมที่ดีและให้คำชื่นชม
    • ชี้ให้เห็นความคืบหน้าในเชิงบวกเมื่อสิ้นสุดแต่ละวัน พูดกับลูกของคุณ เช่น “จูเลีย ดูสิ่งที่ลูกทำทั้งหมดในวันนี้สิ! ทั้งจัดที่นอน แต่งตัวด้วยตัวเอง และทำความสะอาดโต๊ะอาหารเย็น ลูกได้ถึงสามดาวเลยนะวันนี้ แม่อยากจะให้รางวัลเพิ่มเติมเป็นกอดใหญ่ๆกับลูกสักหนึ่งที”
    • ตั้งเป้าหมาย เช่น สติกเกอร์ 10 ชิ้น และคุยกับลูกของคุณร่วมกันเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับรางวัลที่เขาควรจะได้รับหลังจากบรรลุเป้าหมายนั้น
    • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณมีพร้อมทั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวผสมกันไป เพื่อเกิดการได้รับรางวัลอย่างเป็นประจำในทุกๆวัน และค่อยสร้างให้รางวัลที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ

    พยายามสร้างระบบรางวัล ให้เกิดประโยชน์สูงสุด:

    • ตัดสินใจเรื่องการให้รางวัลร่วมกัน พูดคุยกับลูกของคุณอย่างเป็นประจำเพื่อตัดสินใจว่าควรได้รับรางวัลเป็นอะไร เป็นการตอบแทนหรือกิจกรรมใดที่ลูกชอบ การที่ลูกมีส่วนช่วยในการตัดสินใจนี้สามารถเพิ่มแรงจูงใจให้มีความร่วมมือมากขึ้น เตรียมตัวให้พร้อมที่จะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ เมื่ออายุของลูกและความสนใจของเขาเปลี่ยนไป
    • แบ่งการให้รางวัลกับลูกให้ดี ให้คำชื่นชมและรางวัลเล็กๆ บ่อยๆ แทนที่จะให้รางวัลก้อนใหญ่แต่ไม่บ่อยนัก เพราะเด็กมักจะรู้สึกหมดกำลังใจกับการได้รางวัลใหญ่แต่กลับใช้เวลานานเกินไปกว่าจะได้มันมา
    • ให้รางวัลและชื่มชมเขาในทันที ตามหลักแล้วคุณควรจะให้รางวัลกับลูกให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เมื่อพวกเขามีพฤติกรรมเชิงบวก การทำเช่นนี้จะช่วยให้สมองของเด็กสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมที่ดีและการให้รางวัลได้ดีขึ้น หากคุณจำเป็นต้องชะลอการให้รางวัลเล็กน้อย เมื่อคุณให้ให้รางวันนั้น ให้ย้ำเตือนลูกอีกครั้งว่าทำไมเขาสมควรได้รางวัลนั้น
    • ให้รางวัลที่เหมาะสมและมีความหมาย วิธีการให้รางวัลนั้นมีให้เลือกมากมาย คุณควรเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็กแต่ละคนและเตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาเพื่อให้รางวัลยังคงมีความหมายสำหรับเขา คุณอาจต้องพิจารณาถึงการจำกัดการเข้าถึงของเล่นหรือกิจกรรมบางอย่างชั่วคราวเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการได้รางวัลนั้น ตัวอย่างเช่น หากคุณใช้รายการทีวีช่องโปรดเป็นรางวัล อย่าปล่อยให้ลูกดูทีวีอย่างตามใจ อธิบายอย่างเจาะจงว่าทำไมลูกถึงได้รับรางวัลนี้ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมที่ดีและการได้รางวัล

    ให้พื้นที่สำหรับความผิดพลาด

    เมื่อเวลาผ่านไป การให้รางวัลกับพฤติกรรมที่ดีมักนำไปสู่การทำพฤติกรรมที่ไม่ดีน้อยลง อย่างไรก็ตามยังคงมีความเป็นไปได้ว่าพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจะเกิดขึ้น นี้ีเป็นพฤติกรรมโดยธรรมชาติของเด็กเพื่อทดสอบขีดจำกัดบางอย่างในตัวเอง แต่ยังไงเด็กก็ควรจะเรียนรู้ถึงผลที่ตามมาของพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอยู่ดี

    ระบบชิปโป๊กเกอร์หรือระบบแต้ม

    ทั้งสองระบบทำงานเหมือนกัน เพียงใช้คะแนนแทนชิปตามที่กล่าวไว้ที่นี่:

    • ใช้ชุดชิปโป๊กเกอร์ โดยชิปทั้งหมดมีค่าเท่ากัน หากคุณมีลูกมากกว่าหนึ่งคน ให้ใช้สีที่แตกต่างกันสำหรับเด็กแต่ละคน
    • อธิบายกับความคิดของคุณกับลูกว่า คุณรู้สึกว่าลูกแสดงพฤติกรรมที่ดีอย่างต่อเนื่องและยังไม่ได้รับรางวัลที่คู่ควรแก่พฤติกรรมที่ดีเหล่านั้น และคุณต้องการที่จะทำให้มันดีขึ้น ร่วมกันตั้งระบบการให้รางวัลกับลูกคุณเพื่อให้เขาได้รับสิทธิพิเศษมากขึ้นเมื่อเขามีความประพฤติที่ดี
    • สร้างสิ่งที่เสมือนธนาคารเพื่อเก็บชิป โดยให้ลูกของคุณช่วยตกแต่งกล่องหรือโหลพลาสติกเหล่านั้น
    • ทำงานร่วมกับลูกเพื่อสร้างรายการสิทธิพิเศษที่พวกเขาควรจะได้รับ ซึ่งควรรวมถึงสิทธิพิเศษ เช่น การทำกิจกรรมนอกบ้านหรือพาไปซื้อของเล่น นอกจากนี้ยังควรรวมถึงสิทธิพิเศษทั่วไป เช่น การใช้ทีวี โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ การไปบ้านเพื่อน หรือการปั่นจักรยาน ทำรายการอย่างน้อย 5 ถึง 10 รายการ ตัดสินใจว่าแต่ละสิทธิ์มีค่าใช้จ่ายกี่ชิป
    • สร้างอีกลิสต์รายการหนึ่งสำหรับพฤติกรรมที่ดี 3 ถึง 4 อย่างที่คุณอยากให้จากลูกบ่อยๆ เลือกสิ่งที่เป็นความท้าทายและทำได้ยากสำหรับลูกคุณ โดยลูกแต่ละคนก็จะต้องทำบางสิ่งที่แตกต่างกันออกไป
    • แจ้งให้ลูกของคุณทราบอย่างชัดเจนว่าเขาจะได้รับชิปสำหรับพฤติกรรมหรือการทำานบ้านที่ทำด้วยตัวเองโดยคุณไม่ต้องขอ และชิปจะไม่ถูกริปคืนเมื่อแสดงพฤติกรรมไม่ดี
    • ตัดสินใจว่าแต่ละพฤติกรรมหรืองานบ้านแต่ละครั้งมีค่าเท่าไรและบันทึกไว้ในรายการ คุณอาจจะกำหนดการให้ 1 ถึง 3 ชิปสำหรับรายการเล็กๆ และกำหนดการให้ 5 ชิปสำหรับรายการที่ใหญ่ขึ้น
    • เพิ่มจำนวนชิปที่ลูกสามารถรับได้ในหนึ่งวัน เช่น 10 หรือ 15 ชิป ซึ่งเด็กส่วนใหญ่จะไม่ได้รับชิปทั้งหมดทุกวัน
    • พยายามให้ลูกใช้ชิปประมาณ 2 ใน 3 ต่อวันเพื่อสิทธิพิเศษประจำวัน เช่น ดูทีวี วิธีนี้จะช่วยให้ลูกประหยัดชิปได้ประมาณ 1 ใน 3 เพื่อรับรางวัลใหญ่ขึ้น
    • เสนอชิปพิเศษสำหรับพฤติกรรมหรืองานบ้านที่ทำได้อย่างรวดเร็วหรือน่าพอใจเป็นพิเศษ
    • ให้ชิปกับลูกของคุณบ่อยๆ สำหรับพฤติกรรมดีเล็ก ๆ น้อย ๆ ในสัปดาห์แรก รวมถึงพฤติกรรมที่ดีที่ไม่อยู่ในรายการก็คุณค่าแก่การให้รางวัลเช่นกัน

    การมีแผนสำหรับการทำโทษ หรือเมื่อทำพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้นมีประโยชน์มากพอ ๆ กับการให้รางวัล โดยเป้าหมายของการทำโทษคือต้องไม่ทำให้ลูกไม่รู้สึกอับอายหรือขายหน้า และไม่ใช่การทำโทษทางร่างกาย เช่นการตี

    เพื่อให้การลงโทษได้ผล คุณและลูกต้องมีความสัมพันธ์จากความรักและอบอุ่นก่อน เมื่อการลงโทษเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมเชิงบวกที่ตระหนักถึงพฤติกรรมที่ดี และอธิบายกฎให้ลูกเข้าใจอย่างชัดเจนถึงผลที่ตามมาและคุณให้การลงโทษที่ยอมรับได้และเหมาะสม ลูกของคุณจะเรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าในความรับผิดชอบและประโยชน์ของการประพฤติตัวดี ประโยชน์ที่ได้รับอาจรวมถึงความเครียดในบ้านและโรงเรียนน้อยลง และความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ซึ่งการให้บทลงโทษที่เหมาะต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี

    • การเมินเฉย ในบางครั้งเด็กอาจจะมีอาการดื้อขึ้นมาเมื่อต้องการความสนใจจากพ่อแม่ เช่น การบ่น ทำเสียงดังอย่างไม่เหมาะสม หรือการขอบางอย่างซ้ำไปซ้ำมา พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณควรเมินมันไป และให้ความสนใจเขาเมื่อเขามีพฤติกรรมที่ดีจะดีกว่า
         หากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะของลูกนั้นไม่ได้เป็นอันตรายหรือรบกวนผู้คนรอบข้าง ให้พูดบางอย่างเพื่อเป็นการเตือนลูกให้เปลี่ยนทิศทางไปในทางที่ดีขึ้น แต่หากไม่ได้ผลและลูกยังคงแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม คุณก็ควรเมินมัน อย่าให้ความสนใจหรือคุยกับลูกของคุณ อย่างไรก็ตามหากคุณอยู่ในพื้นที่สาธารณะ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ทำการเมินลูกได้ยากเพราะรบกวนคนอื่นรอบข้าง ทางออกที่ดีที่สุดคือการอุ้มพาเขาออกมาจากตรงนั้นทันที
         เมื่อคุณเลือกที่จะเมินเฉยกับพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูก มันอาจดูเหมือนว่าคุณไม่ได้พยายามที่จะหยุดการกระทำนั้น แต่จริงๆแล้วไม่ใช่เลย เพราะคุณกำลังปฎิเสธที่จะให้รางวัลกับลูกโดยการให้ความสนใจ ซึ่งจะช่วยสร้างพฤติกรรมเชิงบวกให้กับลูกมากขึ้น
         เมื่อคุณพยายามที่จะหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดีของลูก อย่างเช่น การโวยวาย เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กมีการแสดงพฤติกรรมที่แย่ลงอย่างต่อเนื่อง เพราะเขาอยากจะรู้ถึงการตอบสนองของคุณ เตรียตัวได้เลยกับเสียงร้องที่จะค่อยๆดังขึ้จนเราทนไม่ไหว แต่อย่ายอมแพ้คุณต้องเมินและไม่ให้ความสนใจต่อพฤติกรรมเชิงลบเหล่านี้ต่อไป ในขณะที่มองหาโอกาสชื่มชมลูกเมื่อเขาแสดงพฤติกรรมที่ดีขึ้น เมื่อลูกเริ่มเข้าใจว่าการทำพฤติกรรมเชิงลบต่างๆ ไม่มีประโยชน์อะไร เขาจะเริ่มมองหาวิธีอื่นๆ เพื่อให้ได้รับความสนใจจากคุณ โดยส่วนใหญ่เด็กจะมีท่าทางยอมแพ้และเลิกทำพฤติกรรมเหล่านั้นไปเอง อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเชิงลบจะยังไม่หายไปอย่างถาวร มันอาจจะเกิดขึ้นมาอีกได้ทุกเมื่อ ดังนั้นคุณต้องคอยอดทน และเมินเขาหากจำเป็น
    • การลงโทษและบทเรียนที่มีเหตุผล การลงโทษประเภทนี้นั้นเชื่อมโยงระว่างพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับผลลัพธ์ที่ตามมา เมื่อเด็กๆเข้าโรงเรียน พวกเขาจะมีความพร้อมกับประสบการณ์ใหม่ๆ และเข้าใจถึงผลที่ตามมาจากการกระทำของตัวเองอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น การใช้การลงโทษอย่างมีเหตุผล เข่น
    • บทเรียนโดยธรรมชาติ หากลูกของคุณปฏิเสธที่จะใส่เสื้อกันหนาวเมื่ออากาศหนาว หากความหนาวไม่เป็นอันตรายจนทำให้ผิวหนังโดนกัด (Frostbite) ให้เขาได้เรียนรู้ถึงผลลัพธ์ที่ตามมาโดยธรรมชาติ เช่นการเป็นไข้หวัด บางทีการพบกับประสบการณ์ต่างๆ ด้วยตัวเองจะเป็นบทเรียนสอนเขาได้ดีที่สุด
    • การสูญเสียสิทธิพิเศษ เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พยายามลดทอนสิทธิพิเศษอย่างการไม่ได้ทำกิจกรรมหรือไม่ได้ของที่เขาอยากได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อลูกของคุณไม่ทำความสะอาดของเล่นของตัวเอง ให้เก็บของเล่นเหล่านั้นไว้จนกว่าลูกของคุณแสดงพฤติกรรมที่สมควรได้ของเล่นกลับมา
    • ทำให้ถูกต้อง ให้ลูกของคุณแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตัวเอง ตัวอย่างเช่น หากลูกของคุณอาจจะพูดจาทำร้าน้อง ให้เขาแก้ไขด้วยการชมน้องอย่างน้อย 5 ครั้ง หรือทำงานบ้านส่วนหนึ่งของน้องแทนในวันนั้น การลงโทษนี้บ่งบอกถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่น้องได้

    การเรียนรู้และบทเรียนที่ตามมา

    เป็นเรื่องธรรมชาติของพ่อแม่ที่ต้องการจะช่วยลูกจากสิ่งร้ายๆที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขา แต่เด็กจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อพวกเขาเรียนรู้ทุกอย่างจากสิ่งที่เขาเลือกเอง ส่วนหน้าที่ของผู้ปกครองคือการสร้างแนวทาที่ถูกต้องให้กับลูก และสร้างทักษะที่จำเป็นในชีวิตเพื่อให้เขาบรรลุเป้าหมายตามที่คุณคาดหวัง รวมถึงสอนให้เขารู้ถึงผลลัพธ์ที่ตามมาเมื่อลูกสามารถทำได้หรือไม่ได้ตามที่คุณคาดหวัง และสุดท้ายสิ่งที่ยากที่สุดคือการคอยดูอยู่ห่างๆ มองดูลูกคุณเลือกเส้นทางของตัวเอง ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีก็ตามและให้เขาได้เปิดประสบการณ์ เรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง

    การเปลี่ยนแปลงความคาดหวัง หรือให้ท้ายเมื่อลูกทำผิดบ่อยๆ อาจสร้างความสับสน และทำให้การเรียนรู้ของเด็กช้าลงได้ ผู้ปกครองที่สนับสนุนกฎบางอย่างเพียงบางครั้งอาจกลายเป็นเหมือน slot machine ซึ่งจะทำให้เด็กลองทำหลายอย่างลองใจคุณที่อาจทำให้ได้รางวัลแจ็คพ็อตโดยที่ไม่ต้องทำตามกฎเสมอไป

    การปล่อยให้เด็กมีประสบการณ์กับผลลัพธ์ที่เขาไม่ได้เป็นไปตามที่เขาคาดหวัง ไม่ได้เพียงช่วยให้เด็กคอยระมัดระวังกับการกระทำของตัวเองและหาทางเลือกที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังปลูกฝังให้เด็กฝึกสัญชาตยานในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเขาเองได้เสมอ นอกจากนี้การปล่อยให้ลูกค้าเจอกับประสบการณ์ไม่ดี และเรียนรู้ว่าทุกอย่างจะดีขึ้นหลังจากนั้น จะช่วยเพิ่มทักษะความฮึดสู้และการบริหารความเครียดได้

    เมื่อคุณคิดถึงวิธีที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมของลูก ให้ลองคิดว่าคุณพร้อมจะทำหน้าที่นั้นในฐานะพ่อแม่หรือไม่ สิ่งนี้จะช่วยให้คุณรู้ว่าเวลาไหนที่ควรจะสนับสนุกลูก หรือหักห้ามตัวเองให้เข้าไปช่วยในบางกรณี

    เมื่อคุณตัดสินใจได้แล้วว่าจะลงโทษลูกอย่างไรกับพฤติกรรมแบบไหน ให้บอกลูกของคุณให้เข้าใจผลที่ตามมาเมื่อทำพฤติกรรมที่ไม่ดีอย่างชัดเจน และบอกให้รู้ล่วงหน้าว่าหากแสดงพฤติกรรมแบบนี้บ่อยๆ จะเกิดอะไรขึ้น

    ถ้าเด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีเรื่อยๆ ให้คุณใจเย็นและยึดบทลงโทษที่ตกลงกันไว้เป็นหลัก ถ้าหากลูกเริ่มโวยวาย อย่าพยายามเถียง และอย่าใจอ่อนโดยการลดโทษ ในกรณีที่เด็กยังคงปฏิเสธการลงโทษนั้น อาจถึงเวลาที่ต้องใช้เทคนิค Timeout

    การใช้ Timeout จะมีประสิทธิภาพที่สุดเมื่อคุณใช้มันเป็นบางครั้งบางคราว โดยทั่วไปแล้วจะได้ผลดีมากกับเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี

    เทคนิค Timeout หรือการให้ลูกสงบสติในมุมของตัวเอง ช่วยให้ผู้ปกครอบสามารถพาเด็กออกจากสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ และยังเปิดโอกาสให้เด็ก (และผู้ปกครอง) ได้ใจเย็นลงอีกด้วย

    พฤติกรรมที่เหมาะสมแก่การใช้ Timeout กับลูกได้แก่ การทำสิ่งที่เป็นอันตรายหรือฝ่าฝืนกฎที่ตกลงกันไว้แล้ว และยังใช้ได้เมื่อไม่ฟังแนวทางคำสอนของคุณ เพื่อให้ใช้ Timeout อย่างมีประสิทธิภาพลองทำตามคำแนะนำนี้:

    • เสนอคำเตือนหลังจากลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ให้โอกาสลูกได้แก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีของตัวเอง คุณอาจรอเป็นเวลา 5-10 วินาทีเพื่อดูท่าทีก่อนที่จะทำอะไรต่อไป อย่างไรก็ตามพฤติกรรมบางอย่างที่มองว่ารับไม่ได้ เช่น การใช้กำลังกับพี่น้อง หรือตั้งใจทำลายสิ่งของ อาจต้องมีการ Timeout โดยทันที
         พูดกับลูกอย่างตรงไปตรงมา หากลูกเพิกเฉยกับคำเตือนของคุณ ให้พูดอย่างใจเย็นเพียงครั้งเดียวว่า “เพราะลูกทำแบบนี้ (พฤติกรรมไม่ดี) ลูกต้องได้รับการ Timeout” อย่าพูดซ้ำเป็นครั้งที่สองหรืออธิบายมากไปกว่านี้ ไม่ต้องสนใจเสียงโวยวาย ร้องไห้ หรือท่อยคำที่บอกว่าจะไม่ทำแบบนี้อีกแล้วในอนาคต
    • อย่าแสดงท่าทีสีหน้าหากลูกปฏิเสธการ Timeout ค่อยๆ จูงมือลูกไปพื้นที่ Timeout ระมัดระวังอย่างแสดงอาการผิดหวัง หรือโกรธ จำเอาไว้ว่าการไม่ให้ความสนใจแบบผิดๆ ลูกเมื่อทำผิดสามารถช่วยสนับสนุนพฤติกรรมที่ดีได้ แต่การโต้เถียงกับลูกก็จะสนับสนุนพฤติกรรมต่อต้านของลูกเช่นกัน
    • หาพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกนั่ง บอกลูกให้ลดเสียง สงบสติลงและอย่าสนใจสิ่งของหรือผู้คนที่อยู่รอบๆ หลังจากที่ลูกนั่งลงในพื้นที่นั้นแล้ว ให้หันหลังกลับเดินออกไปโดยที่ไม่ต้องพูดอะไร หากคุณอยู่ในที่สาธารณะให้งดการ Timeout จนกว่าจะกลับถึงบ้านและอย่าลืมที่จะทำมันจริงๆ
    • ขึ้นอยู่กับอายุของลูกกำหนดระยะเวลา Timeout 1 นาทีต่ออายุของลูก 1 ปี หากลูกร้องไห้ ตะโกน หรือแสดงท่าทางดื้อดึงในเวลา Timeout ให้หยุดการจับเวลาทันที และจับเวลาต่อเมื่อลูกเริ่มสงบลงอย่างน้อย 20 วินาที หลังจากการ Timeout หากลูกของคุณเลือกที่จะอยู่ในพื้นที่นั้นด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จงปล่อยให้เขาอยู่แบบนั้น เพราะเขาอาจจะกำลังคิดทบทวนถึงพฤติกรรมที่เขาได้ทำลงไปและจะกลับมาเป็นปกติเอง
         กำหนดเงื่อนไขก่อนสิ้นสุดการ Timeout ลูกของคุณต้องตกลงที่จะปฎิบัติตามคำแนะนำที่พวกเขาไม่สนใจก่อนหน้านี้ ซึ่งก่อให้เกิดการ Timeout เมื่อการ Timeout สิ้นสุดลง เขาต้องแสดงการแก้ไขพฤติกรรมไม่ดีที่ส่งผลให้เกิด Timeout ตัวอย่างเช่น เมื่อทำของเล่นหล่นจะต้องเก็บโดยทันที หากไม่ทำต้องโดน Timeout ต่อไป 
    • ให้การรับรู้แต่ไม่ชื่นชมเมื่อลูกให้ท่าทีร่วมมือในการแก้ไขพฤติกรรมนั้น ตัวอย่างเช่น แม่ดีใจนะที่ลูกทำตามสิ่งที่แม่ขอ
    • มีแผนสำรองเสมอ เมื่อคุณให้ลูกอยู่ในห้องๆหนึ่งสำหรับการ Timeout คอยเตือนพวกเขาว่าการไม่ให้ความร่วมมือจะส่งผลให้ถูกส่งไปยังพื้นที่สำรองเพื่อทำให้ใจเย็นลง พื้นที่สำรองควรเป็นห้องที่ลูกรู้สึกปลอดภัยและเบื่อหน่ายในเวลาเดียวกัน หลังจากลูกสงบได้ลงสัก 30 วินาที ให้กลับมายังห้องเดิมจนกว่าเวลา Timeout จะสิ้นสุดลง
    • ลองหาทางอื่นหากการใช้ Timeout ไม่ได้ผล ลองนัดหมายกับแพทย์เพื่อปรึกษาหาทางอื่นที่ดีกว่า

    สำคัญคืออย่ายอมแพ้!

    ในบางครั้งมันอาจจะดูเหมือนว่าลูกของคุณจะไม่มีท่าทางที่จะประพฤติตัวดีขึ้น หรือไม่ปฎิบัติตามคำแนะนำของคุณเลย แต่อย่ายอมแพ้ การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีคนหนึ่งนั้นต้องใช้ทั้งความอดทนและความสม่ำเสมอ ถึงแม้จะมีความท้าทายอยู่มากแต่ก็เป็นหน้าที่ที่สำคัญของคนเป็นพ่อแม่ และบทเรียนต่างๆที่ลูกคุณได้เรียนรู้ตั้งแต่ยังเล็ก จะสั่งสมและเป็นประโยชน์กับตัวเขาเองในอนาคตอย่างแน่นอน

    ใส่ความเห็น

    อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *