แมงกานีส

แมงกานีส

เลือกอ่านตามหัวข้อ

    Add a header to begin generating the table of contents

    แมงกานีสเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายเพราะร่างกายของเราไม่สามารถผลิตเองได้จึงต้องได้รับจากอาหารหรืออาหารเสริม แมงกานีสเป็นโคเอ็นไซม์ที่ช่วยเอ็นไซม์หลายชนิดในการย่อยสลายคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และคอเลสเตอรอล นอกจากนี้ยังช่วยเอนไซม์ในการสร้างกระดูกและรักษาระบบภูมิคุ้มกัน และระบบสืบพันธุ์ให้เป็นปกติ แมงกานีสทำงานร่วมกับวิตามิน K ในการสมานแผลโดยการทำให้เลือดแข็งตัว

    แมงกานีสจะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็ก แร่ธาตุส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้ในกระดูก โดยมีปริมาณน้อยกว่าในตับ สมอง ไต และตับอ่อน ระดับแมงกานีสในร่างกายวัดได้ยาก เนื่องจากการบริโภคอาหารไม่สัมพันธ์กับระดับเลือดเสมอไป

    ปริมาณสารอาหารที่แนะนำ

    ปริมาณสารอาหารตามคำแนะนำของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสารอาหารแมคโคร หรือไมโคร จะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของประชากร จุดประสงค์ เทคโนโลยี และงานวิจัยที่เลือดใช้ โดยจะมีการอัพเดทในทุกๆ 5 ปีตามการค้นพบทางการแพทย์ใหม่ๆ (ปัจจุบันเป็นรอบ 2020-2023) โดยชื่อเรียกตามมาตรฐานจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น Recommeded Dietary Allowances (RDA), Dietary Standard, Safe Inteake of Nutrients, Recommended Nutrient Intakes หรือ Recommended Dietary Intakes โดยคุณสามารถดู RDA ของแต่ละสารอาหารได้ตามนี้ [RDA เปรียบเทียบตามแต่ละช่วงอายุ] 

    แมงกานีสมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร?

    โรคเบาหวาน

    แมงกานีสมีบทบาทในการเผาผลาญของคาร์โบไฮเดรตและกลูโคส จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าการขาดธาตุแมงกานีสอาจทำให้การทำงานของอินซูลินลดลงและรบกวนระดับกลูโคสในเลือดที่ปกติได้  อย่างไรก็ตามการศึกษาในมนุษย์พบความเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานที่หลากหลายออกไป ระดับแมงกานีสในเลือดที่สูงมากหรือต่ำมากอาจจะเพิ่มความเสี่ยงของเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ในขณะที่การศึกษาอื่นๆ ไม่พบความเกี่ยวข้องเลย ดังนั้นจึงยังไม่ชัดเจนว่าการบริโภคแมงกานีสที่สูงขึ้นหรือการเสริมแมงกานีสอาจป้องกันโรคเบาหวานประเภท 2 ได้หรือไม่

    สุขภาพกระดูก

    แมงกานีสช่วยส่งเสริมเอนไซม์ที่สร้างกระดูก การศึกษาในสัตว์พบว่าการขาดแร่ธาตุสามารถลดความหนาแน่นของกระดูกและการสร้างกระดูกได้ แต่การศึกษาในมนุษย์นั้นยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน บางการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่เป็นโรคกระดูกพรุนมีระดับแมงกานีสในเลือดต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีโรคกระดูกพรุน แต่การศึกษาอื่นไม่พบความแตกต่างของระดับแมงกานีสในเลือดกับโรคกระดูกและยังไม่มีการทดลองที่ศึกษาผลของการเสริมแมงกานีสต่อสุขภาพกระดูก

    แมงกานีสพบได้ในอาหารชนิดไหนบ้าง?

    แมงกานีสพบได้ในอาหารหลากหลายประเภท ตั้งแต่หอย ธัญพืช พืชตระกูลถั่ว และเครื่องเทศ เรายังสามารถได้รับแมงกานีสจากการดื่มน้ำ แม้ว่าในน้ำดื่มจะมีแมงกานีสในปริมาณเล็กน้อย

    • หอยแมลงภู่ หอยนางรม หอยกาบ
    • ถั่วเฮเซลนัทและถั่วพีแคน
    • ข้าวกล้อง
    • ข้าวโอ๊ต
    • พืชตระกูลถั่วเช่น ถั่วเหลือง ถั่วไต ถั่วลูกไก่ ถั่วเลนทิล ถั่วลิสง
    • ชาดำ
    • พริกไทยดำ
    • ผักโขม
    • สัปปะรด

    สัญญาณเตือนของการขาดแมงกานีส

    การขาดแมงกานีสนั้นเป็นไปได้ยากมาก และไม่มีกลุ่มเสี่ยงต่อการขาดแมงกานีส จึงยังไม่มีอาการที่แสดงอาการขาดแมงกานีสได้อย่างชัดเจน การดูดซึมแมงกานีสอาจลดลงหากรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เนื่องจากธาตุเหล็กจะแย่งชิงโปรตีนชนิดเดียวกันที่ช่วยในการดูดซึมในลำไส้

    ความเป็นพิษ

    ยังไม่มีการรายงานความเป็นพิษของแมงกานีสจากการบริโภคอาหาร อย่างไรก็ตามมีรายงานพบความเป็นพิษในผู้ที่ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนแมงกานีสในระดับสูงผิดปกติ และในคนงานเหมืองแร่และช่างเชื่อมอุตสาหกรรมที่สูดดมแมงกานีสในปริมาณที่มากเกินไปในฝุ่น เพราะเหล็กและแมงกานีสอาศัยโปรตีนชนิดเดียวกันที่ช่วยในการดูดซึม การมีธาตุเหล็กสะสมต่ำหรือผู้ที่เป็นโรคโลหิตจาง สามารถเพิ่มการดูดซึมแมงกานีสและเพิ่มความเป็นพิษได้หากมีแมงกานีสมากเกินไป

    ความเป็นพิษของแมงกานีสมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีอาการดังนี้

    • อาการสั่น
    • กล้ามเนื้อกระตุก
    • การประสานงานระหว่างมือและตาลดลง
    • การเสียความสมดุล
    • การสูญเสียการได้ยิน
    • ปวดหัว
    • ภาวะซึมเศร้า อารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย

    รู้หรือไม่?

    • แหล่งอาหารหลักของแมงกานีสในอาหารคือชา ผัก และธัญพืช
    • แมงกานีสเป็นส่วนประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า superoxide dismutase (SOD) ซึ่งสามารถป้องกันความเสียหายของเซลล์จากสารอนุมูลอิสระ โดย SOD เป็นเอ็นไซม์ที่สลายสารอนุมูลอิสระให้เป็นโมเลกุลที่เล็กลงและเป็นอันตรายน้อยลง

    Reference

    1. Institute of Medicine. Food and Nutrition Board. Dietary Reference Intakes for Vitamin A, Vitamin K, Arsenic, Boron, Chromium, Copper, Iodine, Iron, Manganese, Molybdenum, Nickel, Silicon, Vanadium, and Zinc Washington, DC: National Academy Press; 2001.
    2. National Institutes of Health Office of Dietary Supplements: Manganese Fact Sheet for Health Professionals. https://ods.od.nih.gov/factsheets/Manganese-HealthProfessional/ Accessed 12/17/2021.
    3. Forte G, Bocca B, Peruzzu A, Tolu F, Asara Y, Farace C, Oggiano R, Madeddu R. Blood metals concentration in type 1 and type 2 diabetics. Biological trace element research. 2013 Dec;156(1):79-90.
    4. Shan Z, Chen S, Sun T, Luo C, Guo Y, Yu X, Yang W, Hu FB, Liu L. U-shaped association between plasma manganese levels and type 2 diabetes. Environmental health perspectives. 2016 Dec;124(12):1876-81.
    5. Simić A, Hansen AF, Åsvold BO, Romundstad PR, Midthjell K, Syversen T, Flaten TP. Trace element status in patients with type 2 diabetes in Norway: The HUNT3 Survey. Journal of Trace Elements in Medicine and Biology. 2017 May 1;41:91-8.

    ใส่ความเห็น

    อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *