วิตามิน B6 (ไพริด็อกซิน)

วิตามิน B6 (ไพริด็อกซิน)

เลือกอ่านตามหัวข้อ

    Add a header to begin generating the table of contents

    วิตามิน B6 หรือไพริด็อกซินเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำได้ซึ่งพบในอาหารหลากหลายชนิด และในผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

    Pyridoxal 5’ phosphate (PLP) เป็นรูปแบบหนึ่งของวิตามิน B6 ที่ออกฤทธิ์ภายในร่างกาย และถูกใช้เป็นตัววัดระดับวิตามิน B6 ในเลือด โดย PLP มีหน้าที่ช่วยให้เอนไซม์มากกว่า 100 ชนิดสามารถทำหน้าที่สำคัญต่างๆ เช่น การสลายโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และรักษาระดับโฮโมซิสเทอีนให้เป็นปกติ (ซึ่งหากมีระดับสูงอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจได้) รวมถึงช่วยเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกันและสุขภาพสมอง

    ปริมาณสารอาหารที่แนะนำ

    ปริมาณสารอาหารตามคำแนะนำของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสารอาหารแมคโคร หรือไมโคร จะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของประชากร จุดประสงค์ เทคโนโลยี และงานวิจัยที่เลือดใช้ โดยจะมีการอัพเดทในทุกๆ 5 ปีตามการค้นพบทางการแพทย์ใหม่ๆ (ปัจจุบันเป็นรอบ 2020-2023) โดยชื่อเรียกตามมาตรฐานจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น Recommeded Dietary Allowances (RDA), Dietary Standard, Safe Inteake of Nutrients, Recommended Nutrient Intakes หรือ Recommended Dietary Intakes โดยคุณสามารถดู RDA ของแต่ละสารอาหารได้ตามนี้ [RDA เปรียบเทียบตามแต่ละช่วงอายุ] 

    วิตามิน B6 มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร?

    วิตามิน B6 ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางถึงบทบาทในการป้องกันโรค ซึ่งวิตามิน B6 ในรูปแบบอาหารเสริมแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีที่สุดในการรักษาอาการคลื่นไส้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์ แต่การใช้ดังกล่าวควรเกิดขึ้นภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้การมีระดับปริมาณวิตามิน B6 ในเลือดที่เหมาะสมยังสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งอีกด้วย

    โรคหลอดเลือดและหัวใจ

    การขาดวิตามิน B6 ร่วมกับวิตามิน B12 และกรดโฟลิก สามารถเพิ่มระดับโฮโมซิสเตอีนได้ แม้ว่าการศึกษาทางระบาดวิทยาจะพบว่าการเสริมวิตามิน B สามารถลดระดับโฮโมซิสเตอีน แต่ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ลดลงของโรคหัวใจและหลอดเลือดจากการรับประทานวิตามินอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น American Heart Association จึงไม่สนับสนุนการใช้อาหารเสริมวิตามิน B เพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ

    • การศึกษาจากประเทศนอร์เวย์ ได้มีการรวบรวมผลจากการทดลองแบบสุ่ม 2 ครั้งที่มีการควบคุมแบบปกปิดสองทาง ซึ่งประกอบด้วยผู้เข้าร่วม 6,261 คน ติดตามผลนานกว่า 3 ปี โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับวิตามิน B รวมที่แตกต่างกันใน 3 กลุ่ม กลุ่มแรกได้กรดโฟลิก B12 และ B6  กลุ่มที่สองได้รับกรดโฟลิกและบี 12 และกลุ่มที่สามได้รับวิตามิน B6 40 มิลลิกรัม เพียงอย่างเดียว การศึกษาให้ข้อสรุปว่าไม่มีความแตกต่างของความเสี่ยงโรคหัวใจและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจในกลุ่มที่ได้รับวิตามิน B6 เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ
    • ผลงานวิจัยเชิงสังเคราะห์จาก Cochrane ดำเนินการโดยใช้การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการลดผลแทรกแซงของโฮโมซิสเทอีน เพื่อป้องกันภาวะที่เกี่ยวกับหลอดเลือดและหัวใจ (เช่น โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจวาย) โดยมีระยะเวลาติดตามผลที่หนึ่งปีหรือมากกว่านั้น ผลการวิจัยไม่พบข้อแตกต่างในความเสี่ยงหัวใจวายหรือการเสียชีวิตจากโรคดังกล่างเมื่อมีการเสริมวิตามิน B แต่มีการพบความสัมพันธ์เกี่ยวกับการลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เล็กน้อย

    การทำงานขั้นสูงของสมอง (Cognitive function)

    วิตามิน B6 อาจมีบทบาทช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองโดยการลดการลดระดับสารโฮโมซิสเทอีน เนื่องจากระดับโฮโมซิสเทอีนในร่างกายที่สูงนั้นมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ และการลดลงของความรู้ความเข้าใจของสมอง อย่างไรก็ตาม ไม่มีการทดลองใดๆ ที่แสดงว่าอาหารเสริมเหล่านี้สามารถชะลอการเสื่อมของสมองได้

    การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมจากผลวิจัยเชิงสังเคราะห์ของ Cochrane 14 เรื่อง ประเมินผลทางความคิดต่อผู้ที่ใช้อาหารเสริมวิตามิน B เป็นเวลาอย่างน้อยสามเดือน ไม่พบผลลัพธ์ของอาหารเสริม (B6 อย่างเดียวหรือร่วมกับ B12 และกรดโฟลิก) ต่อความรู้ความเข้าใจในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 

    มะเร็ง

    การวิจัยประเภท systematic review ทั้งการศึกษาทางระบาดวิทยาและทางคลินิกได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการบริโภคอาหาร รวมถึงระดับวิตามิน B6 ในเลือดที่สูงต่อการลดลงของความเสี่ยงในมะเร็งทุกประเภท การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าการบริโภคอาหารที่มีวิตามิน B6 สูงและเมื่อระดับวิตามิน B6 ในเลือดสูงขึ้นมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยยะสำคัญกับความเสี่ยงที่ลดลงของมะเร็งทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมะเร็งทางเดินอาหาร อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับวิตามิน B6 จากอาหารและอาหารเสริมร่วมกัน ผลการป้องกันกลับอ่อนลง

    การศึกษาทางคลินิกไม่พบผลการป้องกันของอาหารเสริมวิตามิน B6  อย่างไรก็ตาม คุณภาพของการศึกษาเหล่านี้จัดอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากไม่ได้ให้วิตามิน B6 เพียงอย่างเดียวแต่ยังมีสารอาหารอย่างอื่นร่วมด้วย และเนื่องจากมะเร็งไม่ใช่ผลลัพธ์หลักของศึกษา อีกทั้งผู้เขียนยังสรุปบทบาทของวิตามิน B6 ในการป้องกันมะเร็งอย่างไม่ชัดเจน 

    มีความเชื่อว่าวิตามิน B6 มีบทบาทสำคัญต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ผ่านกระบวนการทำงานของเอนไซม์ที่อาจลด Oxidation stress และการแพร่กระจายของเซลล์เนื้องอกได้ รวมถึงการขาดวิตามิน B6 ยังมีความสัมพันธ์กับการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

    • การวิเคราะห์อภิมานของการศึกษาทางระบาดวิทยาไม่พบว่าอาหารเสริมวิตามิน B6 จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการวัดระดับ pyridoxal 5’ phosphate (PLP) ในเลือด ผู้เข้าร่วมที่มี PLP สูงกว่ามีโอกาสลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ถึง 30-50% ผู้เขียนได้มีการกล่าวถึงประเด็นปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความสับสนของผลลัพธ์ในการศึกษาเหล่านี้ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพของผู้ทดลอง (การออกกำลังกายบ่อยๆ การไม่สูบบุหรี่ การบริโภควิตามินอื่นๆ ในปริมาณที่มากขึ้น) ที่สามารถป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเสริมวิตามิน B6
    • การศึกษาระยะยาว 2 ชิ้นที่มีชายหญิงจากกลุ่มการศึกษาด้านสุขภาพของแพทย์ (Physicians’ Health Study ) และกลุ่มการศึกษาด้านสุขภาพของพยาบาล (Nurses’ Health Study) พบผลเชิงป้องกันต่อความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อระดับ PLP ในเลือดและมีการบริโภควิตามิน B6 มากขึ้น (จากอาหารและอาหารเสริม) ซึ่งผลลัพธ์นี้ยังคงให้ผลลัพธ์เหมือนเดิมแม้มีการปรับระดับการบริโภคโฟเลต วิตามินรวม และเมไธโอนีน (สารอาหารที่อาจป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก) 

    การแพ้ท้อง

    วิตามิน B6 ได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานว่าสามารถใช้เป็นยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้เมื่อตั้งครรภ์ได้

    • การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมกับหญิงตั้งครรภ์ 77 คนได้รับวิตามิน  B6 ในปริมาณ 40 มิลลิกรัม วันละสองครั้ง พบว่าสามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการคลื่นไส้ได้ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง
    • การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมพบว่าอาหารเสริมวิตามิน B6 (10 มิลลิกรัม ต่อวัน) มีความสัมพันธ์ของอาการคลื่นไส้จากการตั้งครรภ์ที่ดีขึ้นเล็กน้อย สำหรับอาการคลื่นไส้ในระดับปานกลางถึงรุนแรง การให้วิตามิน B6 และยาแก้แพ้ (doxylamine) ร่วมกันป้องกันไว้ก่อนที่อาการจะเริ่มนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าการรับประทานหลังจากเริ่มมีอาการคลื่นไส้แล้ว
    • การบริโภควิตามิน B6 เพียงอย่างเดียวหรือ วิตามิน B6 ร่วมกับยาแก้แพ้ (doxylamine) ได้รับการยืนยันจากวิทยาลัยสูตินรีแพทย์และนรีแพทย์อเมริกันว่าเป็นยาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ในการรักษาอาการของผู้ป่วยที่อาการคลื่นไส้จากการตั้งครรภ์เป็นการลำดับแรก (first-line treatment) ได้

    วิตามิน B6 สามารถพบในอาหารชนิดไหนบ้าง?

    วิตามิน B6 พบได้ในอาหารสัตว์และพืชหลากหลายชนิด เช่น

    • ตับเนื้อ
    • ทูน่า
    • แซลมอน
    • ซีเรียลธัญพืช
    • ถั่วลูกไก่
    • สัตว์ปีก
    • ผักและผลไม้บางชนิด โดยเฉพาะผักใบเขียวเข้ม กล้วย มะละกอ ส้ม และแคนตาลูป

    สัญญาณเตือนของการขาดวิตามิน B6

    การขาดวิตามิน B6 มักเกิดเมื่อวิตามิน B อื่นๆ ในร่างกายต่ำ โดยเฉพาะวิตามิน B12 และกรดโฟลิก ซึ่งการขาดวิตามิน B6 เล็กน้อยอาจไม่มีผลกระทบอะไรต่อร่างกาย แต่การขาดอย่างรุนแรงหรือเป็นเวลานานสามารถส่งผลให้เกิดอาการเหล่านี้ เช่น

    • โรคโลหิตจาง
    • ปัญหาสภาพผิว
    • ภาวะซึมเศร้า
    • ความสับสน
    • ภูมิคุ้มกันลดลง

    สภาวะบางอย่างสามารถรบกวนการดูดซึมวิตามิน B6 ในร่างกายและเพิ่มความเสี่ยงต่อการขาดวิตามิน B6 ได้ เช่น 

    • โรคไต
    • ความผิดปกติของระบบในลำไส้ เช่น โรคเซลิแอค โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผล และโรคโครห์น
    • โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
    • พิษสุราเรื้อรัง

    ความเป็นพิษต่อร่างกาย

    อาการเป็นพิษจากวิตามิน B6 ที่ได้รับจากอาหารเพียงอย่างเดียวนั้นพบได้ไม่บ่อยนัก เพราะวิตามิน B6 เป็นวิตามินที่ละลายน้ำได้ ซึ่งจะถูกขับออกทางปัสสาวะหากได้รับในปริมาณมากเกิดไป ดังนั้น อาการที่เป็นพิษจากวิตามิน B6 มักจะเกิดขึ้นจากการบริโภคอาหารเสริมในปริมาณมาก (มากกว่า 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน) เป็นระยะเวลานาน โดยอาการที่พบได้ เช่น

    • อาการเส้นประสาทกดทับที่เท้าและมือ
    • ภาวะกล้ามเนื้อสูญเสียการประสานสัมพันธ์กัน (Ataxia)
    • คลื่นไส้

    Reference

    1. Institute of Medicine. Dietary reference intakes for thiamin, riboflavin, niacin, vitamin B6, folate, vitamin B12, pantothenic acid, biotin, and choline. Washington, DC: National Academy Press, 1999.
    2. U.S. Department of Health and Human Services. Vitamin B6 Fact Sheet for Health Professionals. Accessed 5/6/19.
    3. Lichtenstein AH, Appel LJ, Brands M, Carnethon M, Daniels S, Franch HA, Franklin B, Kris-Etherton P, Harris WS, Howard B, Karanja N. Diet and lifestyle recommendations revision 2006: a scientific statement from the American Heart Association Nutrition Committee. Circulation. 2006 Jul 4;114(1):82-96.
    4. Ebbing M, Bønaa KH, Arnesen E, Ueland PM, Nordrehaug JE, Rasmussen K, Njølstad I, Nilsen DW, Refsum H, Tverdal A, Vollset SE. Combined analyses and extended follow‐up of two randomized controlled homocysteine‐lowering B‐vitamin trials. Journal of internal medicine. 2010 Oct 1;268(4):367-82.
    5. Martí‐Carvajal AJ, Sola I, Lathyris D, Dayer M. Homocysteine‐lowering interventions for preventing cardiovascular events. Cochrane Database of Systematic Reviews. 2017(8).
    6. Rutjes  AWS, Denton  DA, Di Nisio  M, Chong  LY, Abraham  RP, Al‐Assaf  AS, Anderson  JL, Malik  MA, Vernooij  RWM, Martínez  G, Tabet  N, McCleery  J. Vitamin and mineral supplementation for maintaining cognitive function in cognitively healthy people in mid and late life. Cochrane Database of Systematic Reviews. 2018(12).
    7. Mocellin S, Briarava M, Pilati P. Vitamin B6 and cancer risk: a field synopsis and meta-analysis. JNCI: Journal of the National Cancer Institute. 2017 Mar 1;109(3).
    8. Zhang XH, Ma J, Smith-Warner SA, Lee JE, Giovannucci E. Vitamin B6 and colorectal cancer: current evidence and future directions. World journal of gastroenterology: WJG. 2013 Feb 21;19(7):1005.
    9. Wei EK, Giovannucci E, Selhub J, Fuchs CS, Hankinson SE, Ma J. Plasma vitamin B6 and the risk of colorectal cancer and adenoma in women. J Natl Cancer Inst. 2005; 97:684–692.
    10. Lee JE, Li H, Giovannucci E, et al. Prospective study of plasma vitamin B6 and risk of colorectal cancer in men. Cancer Epidemiol Biomarkers Prev. 2009; 18:1197–1202.
    11. Sharifzadeh F, Kashanian M, Koohpayehzadeh J, Rezaian F, Sheikhansari N, Eshraghi N. A comparison between the effects of ginger, pyridoxine (vitamin B6) and placebo for the treatment of the first trimester nausea and vomiting of pregnancy (NVP). The Journal of Maternal-Fetal & Neonatal Medicine. 2018 Oct 2;31(19):2509-14.
    12. McParlin C, O’Donnell A, Robson SC, Beyer F, Moloney E, Bryant A, Bradley J, Muirhead CR, Nelson-Piercy C, Newbury-Birch D, Norman J. Treatments for hyperemesis gravidarum and nausea and vomiting in pregnancy: a systematic review. JAMA. 2016 Oct 4;316(13):1392-401.
    13. Erick M, Cox JT, Mogensen KM. ACOG Practice Bulletin 189: Nausea and Vomiting of Pregnancy. Obstetrics & Gynecology. 2018 May 1;131(5):935.

    ใส่ความเห็น

    อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *