อ่านไว้ได้ประโยชน์! แชร์คำแนะนำการดูแลผู้สูงอายุที่ควรรู้

การดูแลผู้สูงอายุ

หลายบ้านต้องอยู่อาศัยกันเป็นครอบครัวใหญ่ หรือแม้แต่คนที่ต้องดูแลพ่อแม่ ปู่ย่าตายายอายุมาก การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด พวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่ภาระเพราะเมื่อครั้งที่คุณยังเด็กเหล่าคนวัยไม้ใกล้ฝังที่เห็นหน้ากันอยู่ทุกวันคือผู้คอยดูแล สั่งสอน และทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นเหมือนกับที่เป็นอยู่ ลองมาอ่านคำแนะนำดี ๆ จากหลายหน่วยงานที่แชร์เอาไว้เป็นแนวทางกันได้เลย

เลือกอ่าน:

แนวทางการดูแลผู้สูงอายุตามหลัก 8 อ.

เริ่มต้นกันด้วยหลักการดูแลผู้สูงอายุตามหลัก 8 อ. ซึ่งเป็นพื้นฐานทั่วไปให้ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ทั้งการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านโดยบุตรหลาน การดูแลผู้สูงอายุในชุมชน หรือผู้สูงอายุดูแลตนเอง ลองปฏิบัติตามหลักที่จะแนะนำเหล่านี้กันได้เลย

1. อ. อาหาร

อ. ตัวแรกคือสิ่งที่ร่างกายต้องได้รับในทุกวันนั่นคือ “อาหาร” พื้นฐานอันแสนง่ายดายของการทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีต้องเน้นกลุ่มอาหารประเภทผัก ผลไม้รสไม่หวาน เนื้อสัตว์บ้าง คาร์โบไฮเดรตกลุ่มแป้งลดลงจากเมื่อครั้งวัยรุ่นหรือวัยทำงาน ไขมันเล็กน้อย หากมององค์รวมก็คล้ายกับการทานครบ 5 หมู่ แต่มีการจำกัดประเภทอาหารที่เหมาะกับผู้สูงอายุแต่ละคน เลี่ยงอาหารให้โทษ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ น้ำอัดลม ของหมักดอง ของทอด ของมัน ของหวาน

2. อ. อากาศ

การได้รับอากาศบริสุทธิ์เป็นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ปัจจัยสำคัญคือบริเวณดังกล่าวต้องมีปริมาณออกซิเจนเหมาะสมกับการสูดแบบเต็มปอด หลีกเลี่ยงการไปอยู่บริเวณที่มีมลพิษทั้งควันรถยนต์ ควันท่อไอเสีย ฝุ่น PM 2.5 กลิ่นน้ำเน่าเหม็นต่าง ๆ หากบริเวณโดยรอบอัดแน่นไปด้วยต้นไม้ พื้นที่สีเขียวจะเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก

3. อ. ออกกำลังกาย

อีกพื้นฐานของการดูแลผู้สูงอายุที่ควรให้ทำอย่างสม่ำเสมอ แม้ความฟิต สภาพร่างกายอาจไม่เหมือนกับคนอายุน้อยกว่า แต่ก็มีท่าทางและวิธีออกกำลังกายที่เหมาะกับคนอายุมากอยู่หลายเทคนิค เช่น การเดินเบา ๆ การปั่นจักรยาน การรำไทเก๊ก การเต้นแอโรบิกแบบช้า ๆ เป็นต้น สิ่งสำคัญคือพยายามให้ปอดและหัวใจได้ทำงานอย่างน้อยครั้งละ 30-45 นาที เฉลี่ยสัปดาห์ละ 3-5 วัน

4. อ. เอนกาย

เอนกายในที่นี้หมายถึง การพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอในแต่ละวัน ปกติแล้วมนุษย์เราควรนอนหลับไม่ต่ำกว่า 6-8 ชั่วโมง แต่ด้วยอายุที่เยอะขึ้นทำให้หลายคนอาจเจอปัญหานอนไม่ค่อยหลับ นอนหลับยาก ขอบสะดุ้งตื่นตอนกลางคืนแล้วไม่หลับอีก วิธีแก้คือ ให้เลือกนอนเก็บชั่วโมงไปเรื่อย ๆ ตลอดวัน เช่น กลางคืนนอน 3 ชั่วโมง กลางวัน บ่าย ๆ นอนรวมกันอีก 3 ชั่วโมง ทั้งนี้ตอนกลางคืนควรนอนไม่เกิน 5 ทุ่ม จะเป็นเวลาที่ฮอร์โมนต่าง ๆ กำลังถูกปล่อยออกมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

5. อ. อารมณ์

คำแนะนำต่อมาของหลักการดูแลผู้สูงอายุตามหลัก 8 อ. นั่นคือเรื่องของอารมณ์ สภาพจิตใจ พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่มักทำให้เกิดความเครียด เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่สภาพร่างกายจะทรุดโทรมเร็วมาก อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากมาย เช่น หัวใจวายเฉียบพลัน เส้นเลือดในสมองตีบ – แตก ลองหากิจกรรมที่ไม่น่าเบื่อ เพื่อปรับแนวคิดและรู้สึกสนุกกับชีวิตมากขึ้น

6. อ. เอาพิษออก

การขับสารพิษออกจากร่างกายของผู้สูงอายุจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ลงได้เยอะมาก เช่น การเอาพิษจากระบบทางเดินอาหารอย่างกระเพาะ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ออกทางอุจจาระ การดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อไตจะได้ขับสารพิษตกค้าง การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอดและพยายามให้ปอดได้รับออกซิเจนอยู่เสมอ เป็นต้น

7. อ. อาชีพ

คนวัยใกล้เกษียณ บางคนอายุเกิน 60 ปี แต่ยังทำงานได้ดี หรือผู้สูงอายุบางคนมีงานอดิเรกเป็นอาชีพหาเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ ปัจจัยสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุด้านนี้นั่นคือ ต้องเลือกอาชีพที่เหมาะกับร่างกายและจิตใจของตนเอง ไม่ฝืนทำสิ่งที่หนักเกินไป งานต้องไม่ทำให้เสียสุขภาพ รู้สึกสนุก มีความสุข ไม่สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่น รวมถึงยังได้พัฒนาตนเองในด้านที่แตกต่างออกไปด้วย

8. อ. อิทธิบาท 4

อ. สุดท้ายเป็นการนำเอาหลักธรรมดาเข้ามาเชื่อมโยง นั่นคือหลัก “อิทธิบาท 4” ประกอบไปด้วย ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หมายถึง พึงพอใจ ตั้งใจ เอาใจใส่ และค้นคว้าอยู่เสมอ สิ่งนี้เป็นพื้นฐานทางด้านจิตใจที่จะช่วยให้มีชีวิตที่ยืนยาว แข็งแรง สุขภาพดี

แนะนำ 10 วิธีดูแลผู้สูงอายุให้สุขภาพดีทั้งกายและใจ

สำหรับการดูแลผู้สูงอายุที่จะพูดถึงทั้ง 10 ข้อนี้ ถือเป็นหลักในการดูแลผู้สูงอายุซึ่งกรมอนามัย โรงพยาบาล หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่างนำเอามาปรับใช้อยู่พอสมควร ไม่ว่าคุณจำเป็นต้องมีการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน การดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ก็ลองนำเอาหลัก 10 วิธีดูแลผู้สูงอายุเพื่อให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจไปปรับใช้ตามความเหมาะสมกันได้เลย

1. ทานอาหารที่ดีและปริมาณเหมาะสม

จะเห็นว่าการดูแลผู้สูงอายุแนวทางแรกก็ยังคงเน้นเรื่องของอาหารเป็นสำคัญ เพราะนี่คือสิ่งที่จะช่วยให้ชีวิตสามารถเดินหน้าต่อได้อย่างแข็งแรง ซึ่งการเลือกทานอาหารของผู้สูงอายุต้องประเมินจากสภาพร่างกาย โรคประจำตัวเป็นหลัก หากไม่มีปัญหาอะไรก็เน้นทานผัก ผลไม้รสไม่หวาน ตามด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน สิ่งสำคัญคือต้องอยู่ในปริมาณเหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารทำลายสุขภาพทุกประเภท

2. ควบคุมน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์

การที่น้ำหนักตัวมากเกินไปโดยเฉพาะในผู้สูงอายุมักเสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไปจนถึงเรื่องของกระดูก ข้อ และรุนแรงกว่านั้น การควบคุมน้ำหนักเป็นไปตามเกณฑ์อย่างเหมาะสมจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี อีกทั้งยังลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการที่ขารับน้ำหนักไม่ไหวอีกด้วย

3. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ

ข้อนี้ลูกหลานอาจต้องเข้ามามีส่วนร่วมสักเล็กน้อยหากผู้สูงอายุที่บ้านไม่ค่อยออกกำลังกายมากนัก อาจชวนกันไปเดินเล่นที่สวนใกล้บ้าน การซื้อจักรยานออกกำลังกายมาให้ปั่น เป็นต้น ซึ่งตามหลักพื้นฐานแล้วควรออกกำลังกายไม่น้อยกว่า 3-5 วัน / สัปดาห์ และแต่ละครั้งต้องทำระยะเวลาประมาณ 30-45 นาที จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีต่อร่างกาย ลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตและไขมันลงได้เยอะมาก เช่น โรคหัวใจ สโตรก

4. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี อากาศบริสุทธิ์

10 วิธีดูแลผู้สูงอายุที่ต้องใส่ใจไม่แพ้ขั้นตอนอื่น ๆ นั่นคือ การพาผู้สูงอายุไปอยู่บริเวณสภาพแวดล้อมที่ดี มีอากาศบริสุทธิ์ สามารถสูดออกซิเจนได้แบบเต็มปอด ปราศจากฝุ่นละออง PM 2.5 ควันบุหรี่ กลิ่นน้ำเน่าเสีย ในทางตรงข้ามควรโอบล้อมด้วยต้นไม้ ร่มรื่น อากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนมากเกินไป นอกจากทำให้ปอดแข็งแรงมากขึ้นแล้ว ยังสร้างความสุขทางด้านจิตใจอันเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ช่วยให้มีชีวิตยืนยาวมากขึ้น

5. การหากิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้สูงอายุได้ทำ

การดูแลผู้สูงอายุที่ดีต้องไม่ทำให้พวกเขารู้สึกเบื่อหน่ายต่อการใช้ชีวิต สิ่งที่ลูกหลานควรทำจึงเป็นเรื่องของการพยายามหากิจกรรมต่าง ๆ ให้กับผู้สูงอายุได้ทำอยู่ตลอด เช่น การพาไปเที่ยวต่างจังหวัด การพาไปไหว้พระที่วัด หางานอดิเรกที่เหมาะกับร่างกาย การชวนทำอาหาร ทำขนม ปลูกต้นไม้ เป็นต้น นอกจากช่วยให้มีความสุข ดีต่อสภาพจิตใจแล้ว ยังลดความเสี่ยงการเกิดโรคทางสมองอื่น ๆ เช่น อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ได้อีกด้วย

6. อย่าให้ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุ

นี่เป็นอีกเรื่องที่ต้องระวังเอาไว้ให้ดีสำหรับการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน การดูแลผู้สูงอายุในชุมชน หรือที่ไหนก็ตาม ด้วยวัยของคนอายุมากบ่อยครั้งเรี่ยวแรงเริ่มลดน้อยถอยลง สติสัมปชัญญะเปลี่ยนไปจากเดิม โอกาสเกิดอุบัติเหตุที่เบื้องต้นอาจดูเล็กน้อยแต่อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่โตได้ เช่น การสะดุดล้มแล้วกระดูกหัก การตกบันไดหัวฟาดพื้น วิธีหลีกเลี่ยงนอกจากหมั่นเอาใจใส่ไม่ให้ผู้สูงอายุคลาดสายตาแล้ว ควรมีการจัดบ้าน จัดพื้นที่อย่างเหมาะสม ไม่มีสิ่งของวางเกะกะ มีการทำราวจับ หรือไม่ทำพื้นต่างระดับมากเกินไป เป็นต้น

7. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ

อีกหลักสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุต้องเปลี่ยน Mindset เกี่ยวกับการทานยาหรือการใช้ยาใหม่ เพราะยาไม่ได้หมายถึงการรักษาโรคให้หายเสมอไป ในทางตรงข้ามยังอาจส่งผลเสียอื่น ๆ ต่อร่างกายอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่ชอบซื้อยาตามร้านขายยาทานเอง การทานยาสมุนไพรแบบไม่ได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้อง ไปจนถึงการทานอาหารเสริม วิตามิน ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบให้ดีก็มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน

8. หมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย

วิธีนี้ไม่ใช่การหวาดระแวงมากเกินไป แต่เป็นเทคนิคที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุรู้ทันถึงความเสี่ยงบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นกับตนเอง เช่น รู้สึกเสียวแปล๊บ ๆ บริเวณหน้าอกข้างซ้ายเป็น ๆ หาย ๆ แบบนี้อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ รู้สึกท้องอืด ท้องเฟ้อเรื้อรัง ท้องผูกถ่ายไม่ค่อยออก เป็นแผลแล้วหายช้า หรือยังไม่หายดีแม้ผ่านไปนาน หายใจได้ไม่เต็มปอด ปวดท้องแบบเป็น ๆ หาย ๆ ฯลฯ ทุกอาการย่อมมีสาเหตุที่ชัดเจน หมั่นเช็กไว้ดีที่สุดป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดความรุนแรงได้

9. ให้ผู้สูงอายุได้มีส่วนร่วมกับการตัดสินใจ

ไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็ตามอย่ามองข้ามผู้สูงอายุ หรือคิดว่าพวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้อง เพราะลึก ๆ แล้วคนเหล่านี้ต้องการความใส่ใจ ความอบอุ่นจากคนรอบข้าง ไม่อยากรู้สึกเหมือนตนเองเป็นตัวปัญหา หรือไม่มีสิทธิ์เสียงใดในการแสดงความคิดเห็น จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเรื่องของสภาพจิตใจและอาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้

10. ควรพาไปตรวจสุขภาพประจำปี

10 วิธีดูแลผู้สูงอายุขั้นตอนสุดท้าย อย่าลืมพาไปตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวต้องไปพบแพทย์ประจำ หรือคนที่ไม่เคยเข้ารับการรักษาใด ๆ เลย เพราะบ่อยครั้งบางโรคอาจกำลังซ่อนอาการของตนเองเอาไว้และมีสิทธิ์เกิดอันตรายขึ้นได้ทุกเมื่อ ลงทุนจ่ายเงินเพียงหลักหมื่นแต่มั่นใจในสุขภาพของตนเองดีกว่าต้องเสียอีกไม่รู้จบเพราะไม่ยอมตรวจสุขภาพให้ชัดเจน

ทั้งหมดนี้คือคำแนะนำดี ๆ ในการดูแลผู้สูงอายุที่ควรรู้เอาไว้ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องอาศัยแบบครอบครัวใหญ่ มีการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน หรือแม้แต่ตัวผู้สูงอายุก็ต้องทำความเข้าใจเพื่อดูแลตนเองให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นภาระของคนรอบข้าง ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในช่วงบั้นปลาย

Ref:

  1. https://www.morkeaw.net/k-nature.html#2
  2. https://phyathai3hospital.com/home/วิธีดูแลผู้สูงอายุ/
  3. https://www.dop.go.th/th/know/13/1860

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *