ลูกชักจากไข้สูง ต้องดูแลอย่างไร ?

ลูกชักจากไข้สูง

ช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่โรคต่างๆมากมาย ทำให้เกิดการเจ็บป่วยในเด็ก ทั้งไข้ ไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก เราจะมีวิธีดูแลและป้องกันอาการลูกชักจากไข้สูง ที่เกิดจากโรคที่ระบาดในช่วงฤดูฝนอย่างไร

ภาวะที่เด็กมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ ตั้งแต่ 37.5 C ขึ้นไป เป็นสัญญาณว่าร่างกายกำลังทำงานเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค การติดเชื้อที่คอและหูเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเป็นไข้ในเด็ก

วิธีการวัดไข้ (วัดอุณหภูมิ)

  • ทางปาก ให้ลูกอมเทอร์โมมิเตอร์ ไว้ใต้ลิ้นนาน 3-5 นาที  ข้อควรระวัง ไม่ควรวัดหลังจากดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น ภายใน 15 นาที
  • การใช้ปรอทดิจิตอล ให้วัดที่รักแร้นาน 1-2 นาที หรือจนกว่าจะมีเสียงเตือน 
  • American Academy of Pediatrics แนะนำให้วัดทางทวารหนักจนถึงอายุ 4 ปี ไม่จำเป็นต้องบวกหรือลบดีกรี

แม้ว่าเด็กๆ จะทนต่อไข้ได้ค่อนข้างดี แต่อุณหภูมิสูงมักกระตุ้นให้ผู้ปกครองวิตกกังวลอย่างมาก

การปฐมพยาบาล

ประเมินภาวะไข้ โดยวัดอุณหภูมิร่างกายทุก 4 ชั่วโมง และสังเกตอาการอื่นๆร่วมด้วย เข่นตัวร้อนโดยใช้มือจับหน้าผาก รักแร้ ลำตัว หน้าแดงหรือมีอาการกระสับกระส่ายไม่สุขสบายตัว

กรณีไข้ต่ำ (37.5 – 38.4 C)

  • เช็ดดัวลดไข้ด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง นาน 15-20 นาที เช็ดทุกส่วนของร่างกาย เช็ดเข้าหาหัวใจ เปิดรูขุมขน  ใช้ผ้าชุดน้ำ บิดหมาดวางไว้ที่หน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ข้อพับต่างๆ
  • ปิดแอร์ ปิดพัดลมระกว่างเช็ดตัว หากลูกหนาวสั่นให้หยุดเช็ดตัวทันที 
  • สวมเสื้อผ้าบางๆ 
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ ทดแทนน้ำที่สุญเสียไประหว่างมีไข้ เหงือออก
  • ให้ลูกนอนพักในที่โปร่ง ไม่เปิดแอร์/พัดลม 
  • ติดตามวัดไข้หลังเช็ดตัวลดไข้ 30  นาที
  •  กรณีไข้สูง (ตั้งแต่ 38.5 C ขึ้นไป) 
  • ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลปฐมพยาบาลเหมือนกับกรณีไข้ต่ำ ร่วมกับให้ยาลดไข้ 
  • ติดตามวัดไข้หลังให้ยา และเช็ดตัวลดไข้ทุก 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง สามารถเช็ดตัวลดไข้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง หรือจนกว่าไข้จะลง

สิ่งสำคัญกว่าคือต้องสังเกตว่าลูกยังตอบสนอง เล่น ไม่ซึมลงก็ไม่มีอะไรต้องกังวล โดยปกติอุณหภูมิของลูก จะกลับสู่ภาวะปกติภายในหนึ่งถึงสามวัน หากยังมีไข้สูง ซึมลง กินไม่ได้ อาเจียน ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก ปัสสาวะน้อยลงและสีเข้ม ให้พาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป

อาการ เมื่อลูกชักจากไข้สูง

เป็นอาการชักที่เกิดร่วมกับการมีไข้สูง มักพบในเด็กอายุ 3 เดือน – 6 ปี แต่จะพบมากที่สุดในช่วงอายุ 1-3 ปีแรก 

อาการแสดง จะมีหลายลักษณะ ตาค้าง ไม่รู้สึกตัว ชักทั้งตัว หรือชักกระตุกเกร็งทั้งตัว ชักระยะสั้นๆ ไม่เกิน 5 นาที และไม่ควรมีอาการชักเฉพาะซีกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

ในเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน การมีไข้และอาการชักอาจบ่งบอกถึงปัญหาที่ร้ายแรงกว่า เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือสมองอักเสบ อาการชักจากไข้มักเกิดในเด็กเล็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 3 ปี ไข้มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่หู จมูก ลำคอ กระเพาะอาหาร และลำไส้

อาการชักจากไข้มี 2 ประเภท

  1. แบบไม่ซับซ้อน  เกิดขึ้นที่ลำตัวทั้งสองข้าง และมักเกิดขึ้นไม่เกิน 15 นาที  ส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต และมักจะหยุดเองภายใน 5 นาที
  2. แบบซับซ้อน อาจกินเวลานานกว่า 15 นาที โดยเกิดอาการข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย หรือเกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้งภายใน 24 ชั่วโมง หากอาการชักดำเนินต่อไปนานกว่า 15 นาที อาจมีอาการอาเจียนหรือหายใจ ลำบาก บริเวณรอบริมฝีปากของเด็กเปลี่ยนเป็นสีเข้มหรือสีน้ำเงิน ในระหว่างการชักให้โทรเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน หรือ โทร 1669

พ่อแม่ควรรับมืออย่างไรหากลูกมีอาการชัก

สิ่งแรกที่ควรปฏิบัติเมื่อลูกมีอาการชักจากไข้สูง คือ จับเด็กให้นอนตะแคงบนพื้นราบที่นุ่ม ไม่มีของแข็ง ถ้ามีเศษอาหารติดในช่องปากให้ล้วงออก เพื่อป้องกันทางเดินหายใจอุดกั้นขณะชัก และรีบนำส่งแพทย์

สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติเด็ดขาด คือ อย่าใส่อะไรเข้าปากลูก และหลีกเลี่ยงการบังคับลูก ไม่ควรพยายามทำให้อาเจียนโดยใช้ช้อนหรือของแข็งใส่เข้าไปในปาก เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อช่องปากและฟัน หรือทำให้ฟันหลุดไปอุดหลอดลมได้ ถ้าเด็กกัดลิ้นให้หาผ้านุ่มๆใส่ปากแทน 

หลีกเลี่ยงการให้ทั้งยาลดไข้และยาแก้ไอแก้หวัด เนื่องจากยาเหล่านี้มักมียาลดไข้ด้วย และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการใช้ยาเกินขนาดได้ ยาลดไข้มักจะลดอุณหภูมิแกนกลางร่างกายลง 1 ถึง 3 องศา ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่อย่าใช้ยาแอสไพรินเพื่อลดไข้ในเด็ก การใช้แอสไพรินอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ในเด็กที่มีไข้สูงและอายุต่ำกว่า 6 ปี ควรได้รับการดูแลเรื่องการเช็ดตัวลดไข้ให้ดี เพราะเด็กอาจเกิดอาการชักจากไข้สูงได้ และถ้าหากมีอาการชักแล้ว โอกาสที่จะชักซ้ำจากไข้สูง จะมีมากกว่าเด็กที่ไม่เคยชักเลย

โรคไข้หวัดใหญ่

เกิดจากเชื้อไวรัส Influenza ในไทยพบได้ทุกฤดูกาล มักระบาดช่วงฤดูฝน เด็กมีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่โดยเฉพาะเด็กเล็ก ไวรัสหลายประเภทสามารถทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ได้ (ชนิด A และ B มักพบมากที่สุด) โดยแต่ละชนิดมีหลายสายพันธุ์ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดเกือบทุกปี วัคซีนจะมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ที่เป็นองค์ประกอบในแต่ละปี ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้สายพันธุ์ 3 หรือ 4 สายพันธุ์ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดในปีนั้น  ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) จึงแนะนำว่าต้องฉีดทุกปี

อาการของไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

  • ไข้สูง น้ำมูกใส คัดจมูก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร มีไข้นานประมาณ 3-7 วัน
  • อาจมีอาเจียน ท้องเสีย ร่วมด้วย
  • ไอและมีน้ำมูก นาน 1-2 สัปดาห์
  • อาการอาจรุนแรงถึงขั้นต้องนอนโรงพยาบาล อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ ได้

การตรวจวินิจฉัย

ตรวจหาเชื้อไวรัสโดยการป้ายบริเวณคอหรือจมูก ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลจะแม่นยำ

การดูแลเมื่อลูกป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่

  • เช็ดตัว ให้ยาลดไข้ สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม
  • ดื่มน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
  • สวมผ้าปิดปาก (หน้ากากอนามัย) ล้างมือบ่อยๆ แยกสิ่งของเครื่องใช้กับผู้อื่น
  • รับประทานอาหารอ่อนๆ
  • แนะนำให้หยุดเรียนเป็นระยะเวลา 5-7 วัน แล้วแต่อาการ

การรักษา

  • ใช้ยาต้านไวรัส Oseltamivir ได้ผลดี เมื่อให้ในช่วง 3 วันแรก หลังมีอาการ 
  • ให้ยารักษาตามอาการ

มาตรการป้องกันง่ายๆ จากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในเด็ก

  • ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หลังจากออกนอกบ้านและก่อนรับประทานอาหาร
  • ไม่ควรให้เด็กเข้าใกล้คนป่วย และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด สวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงผู้อื่นที่เป็นไข้หวัดใหญ่
  • ไอหรือจามใส่ทิชชู่ หรือจามใส่ข้อพับข้อศอก (ทิ้งทิชชู่ที่ใช้แล้วทันที)
  • ทำความสะอาดพื้นผิวที่ใช้งาน แยกของเล่น ของใช้ให้เป็นส่วนตัว
  • ไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำโดยใช้ภาชนะหรือแปรงสีฟันร่วมกับผู้อื่น
  • หากลูกเป็นไข้หวัดใหญ่ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ 
  • หากลูกดูไม่สบายตัว อะเซตามิโนเฟน (ไทลินอล) ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ รวมถึงลดไข้

** อย่าให้แอสไพรินแก่เด็ก ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงในเด็กที่ติดเชื้อไวรัสได้ 

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ คือ 

  • การได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถฉีดได้ตั้งแต่ อายุ 6 เดือน โดยฉีดปีละ 1 ครั้ง วัคซีนจะมี ประสิทธิภาพประมาณ 40-60% หากทั้งครอบครัวได้รับวัคซีนจะมีโอกาสน้อย ที่จะเป็นไข้หวัดใหญ่ หรือลดความรุนแรงของโรคได้
  • คนที่มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด และเด็กเล็กอายุที่น้อยกว่า 2 ปี หากเป็นไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงได้ จึงควรได้รับวัคซีนทุกคน
  • ในเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี กรณีเริ่มให้วัคซีนเป็นปีแรก จะฉีด 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เข็มห่างกัน 1 เดือน
  • เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดเกือบทุกปี วัคซีนจะมีการเปลี่ยนสายพันธุ์ที่เป็นองค์ประกอบ จึงต้องฉีดทุกปี แนะนำให้ฉีดในช่วงก่อนที่มีการระบาด เช่น ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม
  • ครอบครัวที่มีเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน เด็กเองยังรับวัคซีนไม่ได้  ในครอบครัวควรรับวัคซีนทุกคน

โรคมือ-เท้า-ปาก

คือการติดเชื้อไวรัสที่ไม่รุนแรง ซึ่งพบได้ทั่วไปในเด็กเล็ก ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่มักระบาดในช่วงหน้าฝน

อาการที่แสดง

มีลักษณะเป็นแผลในปาก และมีผื่นที่มือและเท้า ไข้ เจ็บปาก น้ำลายไหล กินอาหารได้น้อย เนื่องจากมีแผลที่กระพุ้งแก้มและเพดานปาก มีผื่นเป็นจุดแดง หรือตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รอบก้น และอวัยวะเพศ อาจมีผื่นตามลำตัวแขน และขาได้ มักมีอาการประมาณ 2-3 วัน และดีขึ้นจนหายใน 1 สัปดาห์

การติดต่อ

สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสน้ำลาย หรืออุจจาระ ของผู้ที่ติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก โดยจะพบมากใน เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี

การแพร่กระจายเชื้อ

  • ผ่านการสัมผัสทางน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระ ของเด็กที่ติดเชื้อ โรคมือเท้าปากมักพบเห็นได้ในสถานดูแลเด็ก เนื่องจากมีการเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยครั้ง และการฝึกเข้าห้องน้ำ และเนื่องจากเด็กเล็กมักจะเอามือเข้าปาก ซึ่งระยะแพร่เชื้อมากที่สุดคือภายใน 7 วันหลังเริ่มมีอาการ
  • สำคัญคือต้องให้ลูกล้างมือบ่อยๆ ก่อนและหลังรับประทานอาการ และหลังจากเข้าห้องน้ำ

การรักษา

  • เป็นการรักษาตามอาการ ซึ่งหากอาการไม่รุนแรง เช่น มีไข้ สามารถกินยาลดไข้ หรือเช็ดตัวเพื่อลดไข้ หากมีผื่นเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มน้ำใส ๆ สามารถกินยาแก้แพ้ แต่หากมีอาการที่รุนแรง เช่น ซึม ไม่รู้สึกตัว กินอาหารไม่ได้ อ่อนเพลียมาก ปากแห้ง มีอาการขาดน้ำรุนแรง ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
  • ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดของโรคมือเท้าปากคือ ภาวะขาดน้ำ แผลในปากและลำคอ อาจทำให้การกลืนเจ็บปวดและยากลำบาก ให้ลูกดื่มน้ำให้เพียงพอ 
  • ล้างมือบ่อยๆ และการหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
  • สามารถกินไอศกรีมหรือดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ ได้
  • หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นกรด เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว เครื่องดื่มผลไม้ และน้ำอัดลม
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มหรือเผ็ด
  • กินอาหารอ่อนที่ไม่ต้องเคี้ยวมาก
  • บ้วนปากด้วยน้ำอุ่นหลังรับประทานอาหาร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *