ลูกปัสสาวะรดที่นอน เรื่องธรรมชาติ หรือปัญหาสุขภาพ?

ลูกปัสสาวะรดที่นอน

ลูกปัสสาวะรดที่นอน อาจส่งสัญญาณเตือนซึ่งคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม เป็นปัญหาที่พบบ่อย ส่งผลกระทบต่อเด็กและครอบครัว ทั้งในด้านสัมพันธภาพภายในครอบครัว และความเชื่อมั่นในตนเองของเด็ก ส่วนใหญ่ปัญหาปัสสาวะรดที่นอนเกิดบ่อยในช่วงเวลากลางคืน

ไม่ใช่สัญญาณที่บ่งชี้ว่าเกิดจากการฝึกเข้าห้องน้ำไม่ดี เป็นเรื่องปกติของพัฒนาการของเด็ก กระเพาะปัสสาวะเติบโตเต็มที่เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างส่วนต่างๆ ของสมองและระบบประสาท การปัสสาวะรดที่นอนสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน แต่จะพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง 

ถ้าลูกอยู่ในวัย 5 ขวบขึ้นไป ปัสสาวะรดที่นอนมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่าง เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โครงสร้างของระบบขับถ่ายปัสสาวะ ผิดปกติ เป็นโรคเบาหวานหรือเบาจืด จึงจำเป็นต้องพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจ

สาเหตุที่ลูกปัสสาวะรดที่นอน

  • การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • ความผิดปกติของระบบการขับถ่ายปัสสาวะ
  • โรคต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวาน หรือเบาจืด
  • โรคระบบประสาทที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการควบคุมการปัสสาวะ
  • ความผิดปกติของการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ 
  • เหตุการณ์ที่ตึงเครียด เช่น การมีสมาชิกใหม่ในครอบครัว การเริ่มเข้าโรงเรียนใหม่ หรือการเปลี่ยนสถานที่นอน อาจทำให้เด็กปัสสาวะรดที่นอนได้

โดยทั่วไปแล้ว การปัสสาวะรดที่นอนก่อนอายุ 7 ปีไม่ใช่เรื่องน่ากังวลในวัยนี้ ลูกอาจยังคงพัฒนาการควบคุม กระเพาะปัสสาวะในเวลากลางคืน เด็กส่วนใหญ่ได้รับการฝึกเข้าห้องน้ำอย่างสมบูรณ์เมื่ออายุ 5 ขวบ สำหรับเด็กบางคน อาจใช้เวลานานกว่านั้นเล็กน้อย แต่แม้กระทั่งหลังจากอายุ 7 ขวบ เด็กประมาณร้อยละ 15 เปอร์เซ็นต์จะประสบภาวะปัสสาวะรดที่นอน พ่อแม่จึงต้องใช้ความอดทนและค่อยๆฝึกลูก

ในบางกรณีการปัสสาวะรดที่นอนอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงสภาวะที่ซ่อนอยู่ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ เช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ท้องผูกเรื้อรังที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือพฤติกรรมการปัสสาวะในเวลากลางวันที่ไม่ดี การติดเชื้ออาจทำให้ลูกควบคุมการปัสสาวะได้ยาก นอกจากนี้ยังใช้กล้ามเนื้อเดียวกันเพื่อ ควบคุมการกำจัดปัสสาวะและอุจจาระ เมื่อท้องผูกเป็นเวลานาน กล้ามเนื้อเหล่านี้จะทำงานได้ไม่ดีเช่นกัน และส่งผลให้ปัสสาวะรดที่นอนตอนกลางคืน

ปัสสาวะรดที่นอนสามารถสร้างปัญหาให้กับลูกได้ เช่น

  • ผื่นที่ก้นเด็กและบริเวณอวัยวะเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากลูกนอนโดยสวมชุดชั้นในที่เปียกฉี่ตลอดคืน
  • ความรู้สึกผิดและความอับอายซึ่งอาจนำไปสู่การเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ
  • การสูญเสียโอกาสในการทำกิจกรรมทางสังคม เช่น การค้างคืนและการเข้าร่วมแคมป์ 
  • หลังจากกำจัดปัจจัยเสี่ยง เช่น อาการท้องผูกแล้ว การรักษาเบื้องต้นที่บ้านได้ เช่น กิจวัตรการเข้า ห้องน้ำก่อนนอน และการให้เข้าห้องน้ำเป็นประจำในระหว่างวัน
  • ปรึกษาแพทย์อาจสั่งจ่ายยาเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อชะลอการผลิตปัสสาวะในเวลากลางคืน 
  • ปรึกษาแพทย์หากลูกยังคงฉี่รดเที่นอนหลังจากอายุ 7 ขวบ หรือหากสังเกตเห็นว่าลูกเจ็บเวลาปัสสาวะ กระหายน้ำผิดปกติ ปัสสาวะสีชมพูหรือสีแดง อุจจาระแข็ง หรือนอนกรน อาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึง ปัญหาที่ซ่อนอยู่

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ที่บ้าน เพื่อช่วยลูกๆ

  • ลดปริมาณการดื่มน้ำน้ำหรือนมในตอนเย็น สิ่งสำคัญคือต้องมั่นใจว่าลูกได้รับน้ำเพียงพอระหว่างวัน ควรส่งเสริมให้ดื่มในตอนเช้าและช่วงบ่าย ซึ่งอาจช่วยลดความกระหายในตอนเย็นได้ 
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มและอาหารที่มีคาเฟอีนหรือมีน้ำตาลสูง เนื่องจากคาเฟอีนกระตุ้นกระเพาะปัสสาวะ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลทำให้ไตผลิตปัสสาวะมากขึ้น
  • เตือนลูกว่าสามารถใช้ห้องน้ำในเวลากลางคืนได้หากจำเป็น เปิดไฟกลางคืนให้ส่องทางเดินระหว่างห้องนอนและห้องน้ำตลอดในช่วงที่ฝึกลูก
  • ป้องกันการเกิดผดผื่นที่เกิดจากชุดชั้นใน ควรช่วยให้ลูกล้างก้นและบริเวณอวัยวะเพศทุกเช้า ทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้นก่อนนอน 
  • ไวต่อความรู้สึกของลูก หากลูกเครียดหรือวิตกกังวล กระตุ้นให้ลูกแสดงความรู้สึกเหล่านั้น ให้การสนับสนุนและส่งเสริมความเป็นผู้ใหญ่ เมื่อลูกรู้สึกสงบและปลอดภัย ปัญหาปัสสาวะรดที่นอนจะลดลง 
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอ้อมในช่วงเวลากลางคืน เพราะสิ่งเหล่านี้อาจกระตุ้น ให้เกิดความรู้สึกว่าสามารถ “ฉี่ใส่ผ้าอ้อม” ได้โดยไม่ต้องไปเข้าห้องน้ำ
  • ปัสสาวะรดที่นอนเป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้นจึงไม่ควรลงโทษ หรือแกล้งลูกที่ฉี่รดที่นอน
  • ให้ชมเชยลูกที่ทำกิจวัตรก่อนนอนและช่วยทำความสะอาดหลังเกิดปัสสาวะรดที่นอน ใช้การให้รางวัลด้วยสติกเกอร์เด็กดี 

การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

เป็นปัญหาที่พบบ่อยในวัยเด็ก ระบบทางเดินปัสสาวะประกอบด้วยไตและท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ เมื่อแบคทีเรียเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะ หรือทางเดินอาหารอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ เรียกว่าการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ 

สาเหตุ

ส่วนใหญ่เกิดจากการคั่งค้างของปัสสาวะร่วมกับการปนเปื้อนจุลินทรีย์ผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะ แบคทีเรีย ที่มักพบในอุจจาระ คิดเป็นประมาณ 80 % ของโรคติดเชื้อในเด็ก สาเหตุที่พบไม่บ่อยของการติดเชื้อทางเดิน ปัสสาวะ ได้แก่ แบคทีเรีย เชื้อรา หรือไวรัสประเภทอื่นๆ แบคทีเรียมีอยู่มากมายในร่างกายทั้งบน ผิวหนัง ในลำไส้ และในอุจจาระ 

ปัจจัยที่ทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะมากขึ้น ได้แก่

  • รอนานเกินไปกว่าจะเข้าห้องน้ำได้ นิสัยการถ่ายปัสสาวะที่ไม่เหมาะสม
  • ถ่ายปัสสาวะไม่หมด
  • ในเด็กผู้หญิง ต้องเช็ดทำความสะอาดจากหน้าไปหลัง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้แบคทีเรียในอุจจาระ เข้าไปในช่องท่อปัสสาวะ
  • อาการท้องผูกที่รบกวนการไหลของปัสสาวะ
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • ประวัติครอบครัวเกี่ยวกับ UTIs

เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไข้ ร้องกวน หรือมีอาการปวดท้องเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น สีแดง หรือขุ่น ปัสสาวะบ่อย ไม่สุด บางคนมาด้วยอาการเบื่ออาหาร อาเจียน ถ่ายเหลว เมื่อตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติที่ชัดเจน จะทำการเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจโดยการดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ นับจำนวนเม็ดเลือดขาว และส่งเพาะเชื้อเพื่อทราบชนิดของการติดเชื้อ

อาการที่แสดง

  • ปัสสาวะแสบขัด
  • รู้สึกเจ็บปวดหรือแสบร้อนเมื่อปัสสาวะ ปัสสาวะมีสีขุ่น สีเข้มปนเลือด หรือมีกลิ่นเหม็น
  • ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
  • ไข้
  • ปวดบริเวณท้องน้อยหรือหลัง

การรักษาให้ถูกวิธี

ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จึงจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาการติดเชื้อทางเดิน ปัสสาวะ ซึ่งแพทย์จะเลือกชนิดและขนาดของยา รวมทั้งวิธีการให้ยาให้เหมาะสมกับสภาวะการติดเชื้อที่เป็นอยู่ ซึ่งอาจเป็นการให้ยาฉีดหรือยารับประทาน

สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ 

  • สิ่งสำคัญคือต้องสอนลูก ฝึกสุขนิสัยในการขับถ่าย
  • สุขอนามัย หลังจากถ่ายอุจจาระแต่ละครั้ง ควรเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง ไม่ใช่จากด้านหลังไปด้านหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายจากทวารหนักไปยังท่อปัสสาวะ 
  • สอนลูกว่า “อย่ากลั้นปัสสาวะ” หากจำเป็นต้องฉี่ เด็กบางคนเพิกเฉยต่อความรู้สึกของกระเพาะปัสสาวะเต็ม เพราะไม่ต้องการหยุดสิ่งที่ทำ เพื่อใช้เวลาไปเข้าห้องน้ำ ปัสสาวะที่ค้างในกระเพาะ ปัสสาวะนานเกินไปจะทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโต
  • ดื่มน้ำสะอาดปริมาณมากในแต่ละวัน การปัสสาวะช่วยชะล้างแบคทีเรียออกจากทางเดินปัสสาวะ 
  • ป้องกันท้องผูก โดยฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานผักผลไม้และอาหารที่มีเส้นใยเป็นประจำ
  • ให้สวมชุดชั้นในผ้าฝ้าย ซึ่งจะช่วยป้องกันการสะสมของความชื้นรอบๆ ท่อปัสสาวะ หลังจากว่ายน้ำให้เปลี่ยนเสื้อผ้าแห้ง แทนการนั่งเล่นในชุดว่ายน้ำ และหลีกเลี่ยงการใส่กางเกงรัดรูป กางเกงขาสั้น หรือเลกกิ้ง
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำแบบนอนแช่ฟองสบู่ สบู่ที่มีกลิ่นหอม และสารอื่นๆ ที่อาจระคายเคืองต่ออวัยวะเพศและท่อปัสสาวะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *