ประโยชน์ของการให้ลูกออกกำลังกาย

ลูกออกกำลังกาย

ให้ลูกออกกำลังกายอย่างไรจึงจะเหมาะสม การออกกำลังกายช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย ส่งเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้มีประสิทธิภาพ ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทสัมผัส ช่วยให้สมองเรียนรู้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และด้วยธรรมชาติของวัยเด็กเป็นวัยที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง ชอบเคลื่อนไหวร่างกาย และมีความอยากรู้อยากเห็น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆรอบตัว

เด็กๆ ออกกำลังกายแบบไหนดี ?

หลักสำคัญสำหรับการออกกำลังกายในเด็กเล็ก คือ ต้องให้เด็กๆ รู้สึกสนุกกับกิจกรรมทางกายเหมือนเป็นการเล่น จึงควรจัดกิจกรรมให้เด็กรู้สึกชอบ สนุกสนาน และเลือกกิจกรรมหรือการเล่น ตามความเหมาะสมกับวัย และพัฒนาการของเด็ก การสร้างความทรงจำที่ดี เป็นวิธีที่ดีในการช่วยให้ลูกสุขภาพดีจากการออกกำลังกาย เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เด็กๆจำเป็นต้องออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง การสร้างนิสัยที่ดีในตอนนี้อาจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพไม่ให้เกิดขึ้นในภายหลังได้ กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนให้เด็กๆ ออกกำลังกายอย่างน้อย 1 ชั่วโมงในแต่ละวัน

การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เป็นการขยับกลุ่มกล้ามเนื้อมัดใหญ่ของร่างกายเป็นจังหวะ หัวใจทำงานเพิ่มขึ้นและสูบฉีดมากขึ้น ออกซิเจนในเลือดไปเลี้ยงยังกล้ามเนื้อและทำให้ปอดเคลื่อนอากาศได้มากขึ้น เมื่อทำเป็นประจำ จะส่งเสริมให้หัวใจ ปอด และระบบไหลเวียนโลหิตแข็งแรงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ควรส่งเสริมให้เด็กวัยประถมเล่นกีฬาหลากหลายประเภท เป็นการกระตุ้นพัฒนาการทางร่างกายทุกส่วน โดยใช้การ เคลื่อนไหวร่างกายหลากหลายสลับกันไป เช่น ฟุตบอล แบดมินตัน กระโดดเชือก ว่ายน้ำ เป็นต้น

การใช้กิจกรรมผ่านวิธีการเล่น จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรง ช่วยให้มีการทรงตัวดี คล่องแคล่ว และสุขภาพแข็งแรง ระบบประสาทและการเคลื่อนไหวจะทำงานสอดคล้องกันได้เป็นอย่างดี

  • การวิ่ง เดิน ว่ายน้ำ เต้นรำ และขี่จักรยาน เป็นตัวอย่างของการออกกำลังกายแบบแอโรบิก การเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ให้กล้ามเนื้อทำงานหนักกว่าปกติ และทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น 
  • การปีนต้นไม้ การปีนป่ายบนโขดหิน และการขุดทรายหรือดิน เป็นตัวอย่างของกิจกรรมที่ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น
  • การเสริมสร้างกระดูกอาศัยการเคลื่อนไหวทวนแรงโน้มถ่วง และส่งเสริมการเจริญเติบโตของกระดูก กิจกรรมใดๆ ที่ทำให้เกิดการกระแทกกับพื้นสามารถช่วยสร้างกระดูกให้แข็งแรงได้ รวมถึงการวิ่ง การกระโดด การเล่น ฟุตบอล และบาสเก็ตบอล

การวิจัยชี้ให้เห็นว่าระยะเวลาทั้งหมดที่คนๆ หนึ่งออกกำลังกายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการปรับสมดุลสุขภาพ

คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ ว่าการออกกำลังกายให้ประโยชน์อย่างไรให้กับน้องๆ ?

ประโยชน์ของการให้ลูกออกกำลังกาย

1.ช่วยให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดแข็งแรงขึ้น ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เบาหวานชนิดที่ 2 ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน

3.ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ เพิ่มการสร้างมวลกระดูก ทำให้กระดูกเจริญเติบโต ซึ่งมีผลต่อความสูง

4.ช่วยให้สุขภาพกระดูกดีขึ้น ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนได้

5.ช่วยควบคุมน้ำหนักและปรับสมดุลองค์ประกอบของร่างกาย  การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมน้ำหนัก

6.ให้เด็กเกิดการเรียนรู้ พัฒนาระบบประสาทสั่งการ การเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อ

7.ช่วยส่งเสริมสุขภาพกาย ใจ ให้แข็งแรง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายกับ พ่อ แม่ เพื่อนๆ เด็กในวัยเดียวกันหรือวัยใกล้เคียงกัน จะทำให้เด็กเกิดความสนุกสนาน เพราะได้มีสังคม และทำให้สุขภาพ ร่างกาย แข็งแรง อารมณ์แจ่มใส และรู้สึกว่าตนเองเป็นคนแข็งแรง มีความมั่นใจ และกล้าแสดงออก ลดความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า

8.ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น

9.อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิด

10.บรรเทาความเบื่อหน่าย

แม้จะมีประโยชน์มากมาย แต่มีเด็กประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้นที่ออกกำลังกายทุกวัน แต่ในฐานะพ่อแม่สามารถทำอะไร ได้หลายอย่างเพื่อช่วยส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพของลูก สิ่งสำคัญที่ต้องจำไว้คือ การช่วยให้ลูกค้นพบสิ่งที่เขาชอบ ส่งเสริมให้ทำกิจกรรมเพิ่มขึ้นทีละน้อยเพื่อลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ควรคำนึงถึงอายุของลูกและสิ่งที่เหมาะสมสำหรับเด็ก เด็กเล็กอาจจะทำกิจกรรมในช่วงเวลาสั้นๆ จากนั้นจึงพักผ่อน ในขณะเด็กโตสามารถคงความกระฉับกระเฉงได้เป็นระยะเวลานานขึ้น หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีโครงสร้างมากขึ้น 

เด็กอายุเกิน 5 ปี จะใช้เวลาไม่เกินสองชั่วโมงต่อวันกับโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ หรือวิดีโอเกม เมื่อเป็นไปได้ ควรส่งเสริมให้ลูกออกไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ 

หากเด็กไม่อยากออกกำลังกาย ไม่ต้องการเข้าร่วมในกิจกรรม หรือไม่มีความชอบกับกิจกรรมนั้น ๆ รู้สึกว่าถูกบังคับ ดังนั้นการออกกำลังกายในวัยเด็กจึงต้องมีความเหมาะสมตามพัฒนาการทางร่างกาย

การออกกำลังกายตามวัย

1.วัยเด็กเล็ก (2-6 ปี)

  • วัยนี้ชอบวิ่ง เช่น การวิ่งเล่นไล่จับ วิ่งเก็บของ  
  • ชอบการกระโดด กระโดดกระต่ายขาเดียว กระโดดเชือก 
  • ชอบการโยน การขว้าง เช่น ขว้างลูกบอล เล่นโยนรับลูกบอล
  • ชอบกลิ้งม้วนตัว หรือการปีนป่ายเครื่องเล่นต่างๆ ชอบเล่นน้ำ ว่ายน้ำ 

สำหรับเด็กในวัยนี้ไม่ควรให้ออกกำลังกายที่ตั้งกฎกติกา หรือมีระเบียบ ต้องแนะนำเด็กเสมอว่าเป็นการเล่น และเลือกที่ เหมาะสมกับพัฒนาการ ควรระวังเรื่องอุบัติเหตุ เช่น หกล้ม ศีรษะกระแทก

2.เด็กวัยประถม (7-12 ปี)

จะมีพัฒนาการทางกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวที่สมบูรณ์ขึ้น สามารถเล่นได้ซับซ้อนมากกว่าวัยเด็กเล็ก  เล่นตามระเบียบ กติกา กฎการเล่นได้บ้าง เข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยาก เช่นการโยนลูกบอลให้ลงห่วง หรือตะกร้า

** กิจกรรมที่ดี คือกิจกรรมที่เด็กไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณพ่อคุณแม่กำลังทำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการออกกำลังกาย เช่น การแข่งขันกีฬา 

กีฬา ส่งผลเชิงบวกอื่นๆ อย่างไร

  • เพิ่มทักษะ
  • กินอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น
  • ความนับถือตนเองดีขึ้น
  • ห่างไกลจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ หรือยาเสพติด
  • พัฒนาทักษะทางสังคมและมิตรภาพที่กว้างขึ้น
  • ผลการเรียนดีขึ้นและอัตราการสำเร็จในการศึกษาเพิ่มขึ้น

จุดเน้นของกีฬาเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในตอนแรกจะเน้นไปที่ความสนุกสนาน การเรียนรู้เกม 

ความปลอดภัยด้านกีฬา

หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาหรือการแข่งขัน  เคล็ดขัดยอก กระดูกหัก และการถูกกระทบกระแทก สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ และในขณะที่ใครก็ตามที่ออกกำลังกายอาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ แต่เด็กก็มีแนวโน้มที่จะ ได้รับบาดเจ็บมากกว่า เพราะว่าร่างกายของเด็กยังคงพัฒนาอยู่ ในระหว่างพัฒนาการทางร่างกายในช่วงนี้ 

ในเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะกีฬาที่เน้นประเภทน้ำหนักหรือความสวยงาม เช่น บัลเล่ต์หรือยิมนาสติก การฝึกฝนมาก เกินไปในบางครั้งอาจเป็นอันตรายได้ รวมกับปริมาณแคลอรี่ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งจำเป็นต่อความต้องการ พลังงานสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนได้ การเปลี่ยนแปลงนี้สามารถเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโตและพัฒนาการได้ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงของการบาดเจ็บและอาการบางอย่าง

การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติเสมอไป สำหรับเด็กที่เน้นเล่นกีฬาประเภทใดประเภทหนึ่ง การไม่หยุดพักอาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยหน่ายและเครียดได้

จะป้องกันการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬามากเกินไป ได้อย่างไร ?

  • ส่งเสริมให้ลูกมีส่วนร่วมในกีฬาหลายประเภท
  • หลีกเลี่ยงการมุ่งเน้นไปที่กีฬาประเภทเดียวจนกว่าลูกจะโตเต็มที่ 
  • หลักการทั่วไปที่ดีคืออย่าเล่นกีฬาประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อสัปดาห์เกินกว่าอายุของเด็ก ตัวอย่างเช่น นักเบสบอลอายุ 10 ขวบ ไม่ควรเล่นเบสบอลเกิน 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

นอกจากนี้ ลูกยังสามารถป้องกันการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอื่นๆ ได้โดย

  • สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอย่างเหมาะสม เช่น แผ่นรอง หมวกกันน็อค สนับเข่า และอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ
  • ฝึกความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นเป็นประจำ
  • หยุดพักระหว่างเล่นเกม และฝึกซ้อมเมื่อจำเป็น
  • ปฏิบัติตามกฎและไม่มีส่วนร่วมในพฤติกรรมการเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยง เช่น การเข้าปะทะในการเล่นฟุตบอล
  • เมื่อได้รับบาดเจ็บให้ออกไปนั่งพักนอกสนาม
  • รักษาร่างกายให้ชุ่มชื้นทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเกม การฝึกซ้อม

เคล็ดลับการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ปกครองและโค้ช

จากการสำรวจเด็กๆ เป้าหมายสูงสุดของการเล่นกีฬาคือการมีความสนุกสนาน ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างผู้ปกครอง และโค้ชสามารถช่วยให้เด็กๆ พัฒนาทักษะที่จำเป็นและสนุกกับการเล่นกีฬา

สิ่งที่พ่อแม่คาดหวังจากโค้ช

  • การสื่อสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับการฝึกซ้อมและตารางการแข่งขัน วิธีฝึกซ้อมที่บ้าน และอุปกรณ์ที่จำเป็น
  • แนวทางปฏิบัติที่มีการจัดการอย่างดีซึ่งช่วยพัฒนาทักษะ
  • เน้นความปลอดภัยของผู้เล่น
  • การปฏิบัติต่อผู้เล่นอย่างยุติธรรมและสม่ำเสมอ
  • การวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะ
  • เน้นที่ผู้เล่นทำให้ดีที่สุด ไม่ใช่ชัยชนะ
  • มีเป้าหมายสูงสุดในการช่วยให้เด็กๆ พัฒนาและเติบโต ในการเล่นกีฬา

สิ่งที่โค้ชคาดหวังจากพ่อแม่เด็ก

  • ฝึกซ้อมที่บ้านกับลูกเพื่อพัฒนาทักษะ
  • รับส่งลูกตรงเวลาฝึกซ้อม
  • แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับลูกและทีมงานในเชิงบวก
  • ปล่อยให้โค้ชทำหน้าที่ฝึกสอนในระหว่างการฝึกซ้อมและการแข่งขัน และไม่ตะโกนสั่งสอนลูกจากข้างสนาม เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนให้กับลูกและผู้เล่นคนอื่นๆ
  • อัปเดตโค้ชเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพหรือพฤติกรรมที่อาจมีของลูก เพื่อให้ปลอดภัยในระหว่างการฝึกซ้อม 
  • บางครั้งปัญหาเกิดขึ้นระหว่างการฝึกซ้อมหรือเกม ให้พ่อแม่ติดต่อโค้ชเพื่อนัดหมายหารือปัญหา ไม่ปะทะในทันที วิธีนี้ช่วยให้อารมณ์สงบลง สามารถพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ลูกหรือผู้เล่นคนอื่นๆ และผู้ปกครองคนอื่นไม่ได้ยิน
  • หลีกเลี่ยงการพูดในแง่ลบเกี่ยวกับโค้ชหรือทีมต่อหน้าลูก ซึ่งอาจลดขวัญกำลังใจและความกระตือรือร้นได้ 

การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การใช้กล้ามเนื้อ เป็นการกระตุ้นพัฒนาการทางสมองที่สำคัญของเด็ก และช่วยทำให้เกิดประสบการณ์หลากหลาย ได้เห็น ได้ฟัง ได้สัมผัส ถูกปล่อยให้ลองทำเอง ได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง จะได้ฝึกการตัดสินใจและฝึกการคิดวิเคราะห์ ปรับตัว แก้ปัญหา เพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพมากขึ้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *