พรีไบโอติก โพรไบโอติก กับบทบาทสำคัญที่มีต่อสุขภาพของทุกคน

โพรไบโอติก พรีไบโอติก

พรีไบโอติก โพรไบโอติกกำลังเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมากในวงการแพทย์เนื่องจากมีบทบาทต่อการส่งเสริมสุขภาพลำไส้และสร้างประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวมในด้านต่าง ๆ การทำความเข้าใจข้อมูลอย่างละเอียดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่อยากให้ทุกคนศึกษาเอาไว้

พรีไบโอติก โพรไบโอติกคืออะไร?

โพรไบโอติก คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรียและยีสต์ สร้างประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์เมื่อรับประทานในปริมาณที่เพียงพอ กลุ่มโพรไบโอติกที่พบมากที่สุด ได้แก่ แลคโตบาซิลลัสและบิฟิโดแบคทีเรียม ส่วนสายพันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มแบคทีเรียดีก็จัดเป็นโพรไบโอติกด้วย

พรีไบโอติก คือ ส่วนผสมของอาหารที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถย่อยได้จึงช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและการทำงานของจุลินทรีย์ดีในลำไส้ พูดง่าย ๆ ก็คือพวกมันทำหน้าที่เป็นอาหารของแบคทีเรียดีในลำไส้นั่นเอง ซึ่งพรีไบโอติกทั่วไป ได้แก่ ฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ (FOS) และกาแลคโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ (GOS)

ประโยชน์ของโพรไบโอติก

1. ดูแลสุขภาพระบบทางเดินอาหาร

โพรไบโอติกช่วยฟื้นฟูสมดุลตามธรรมชาติของแบคทีเรียในลำไส้ได้ดี และยังพบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาอาการต่าง ๆ เช่น โรคท้องร่วงที่เกิดจากยาปฏิชีวนะ โรคท้องร่วงจากการติดเชื้อ และอาการลำไส้แปรปรวน (IBS)

2. ช่วยเพิ่มระดับภูมิคุ้มกัน

โพรไบโอติกสามารถเพิ่มการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ได้เป็นอย่างดี บางสายพันธุ์ยังกระตุ้นการผลิตแอนติบอดีจำเพาะและกระตุ้นการทำงานของมาโครฟาจและทีลิมโฟไซต์ ซึ่งมีผลต่อระดับภูมิคุ้มกันด้วย

3. ดีต่อสุขภาพจิต

มีข้อมูลอ้างอิงใหม่ ๆ ที่บ่งชี้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพของลำไส้และสุขภาพจิต เพราะลำไส้ถือเป็นสมองส่วนที่ 2 ของร่างกาย ซึ่งโพรไบโอติกบางชนิดยังมีฤทธิ์ต้านอาการซึมเศร้าและฤทธิ์ลดความวิตกกังวลอีกด้วย

ประโยขน์ของพรีไบโอติก

ด้วยความที่พรีไบโอติกถือเป็นอาหารหลักของโพรไบโอติกจึงมีส่วนสำคัญช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรียดีในลำไส้ เช่น ไบฟิโดแบคทีเรียและแลคโตบาซิลลัส ส่งผลเชิงบวกต่อสุขภาพของลำไส้และกระบวนการเผาผลาญ

การทำงานของโพรไบโอติก พรีไบโอติกแตกต่างกันอย่างไร

โพรไบโอติกถือเป็นแบคทีเรียที่สร้างประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหารโดยตรง เมื่อคุณบริโภคโพรไบโอติกนั่นเท่ากับกำลังเพิ่มกำลังทหารเพื่อช่วยส่งเสริมสุขภาพและป้องกันไม่ให้แบคทีเรียตัวร้ายเข้ามาสร้างผลเสียต่อสุขภาพ

ในทางกลับกัน พรีไบโอติกเป็นเส้นใยหรือสารประกอบที่ไม่สามารถย่อยได้ซึ่งทำหน้าที่เป็น “อาหาร” ของแบคทีเรียดีภายในลำไส้ เมื่อบริโภคพรีไบโอติกนั่นเท่ากับคุณกำลังส่งเสริมการเจริญเติบโตและการทำงานของแบคทีเรียที่ดีเหล่านี้ ช่วยให้พวกมันขยายตัวและเสริมประโยชน์ต่อสุขภาพดียิ่งขึ้น

ทานพรีไบโอติกและโพรไบโอติกอย่างสม่ำเสมอดีต่อสุขภาพ

1. กระตุ้นการทำงานของแบคทีเรียดี

พรีไบโอติกทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารสำหรับแบคทีเรียดีในลำไส้ โดยเฉพาะสายพันธุ์หลัก เช่น ไบฟิโดแบคทีเรีย และแลคโตบาซิลลัส ด้วยการมอบสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตให้กับแบคทีเรียเหล่านี้ พรีไบโอติกจะช่วยเพิ่มจำนวนและการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างสมดุลลำไส้และช่วยส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตามแม้ว่าทั้งพรีไบโอติก โพรไบโอติกจะมีอิทธิพลต่อสุขภาพและกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียดี แต่ก็ทำงานด้วยกลไกที่แตกต่างกัน โพรไบโอติกจะเพิ่มปริมาณของแบคทีเรียเหล่านี้โดยตรง ในขณะที่พรีไบโอติกช่วยบำรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของแบคทีเรียดีในร่างกายให้ทำงานดีขึ้นกว่าเดิม

2. บำรุงกระดูก

พรีไบโอติกบางชนิดช่วยเพิ่มการดูดซึมแร่ธาตุ เช่น แคลเซียมและแมกนีเซียม จึงช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกและการมีสุขภาพที่ดีได้

3. ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

พรีไบโอติกช่วยลดระดับของไซโตไคน์ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ การทานในปริมาณที่เหมาะสมจึงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้เช่นกัน

ทั้งพรีไบโอติก โพรไบโอติกล้วนมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพของลำไส้ และยังส่งผลต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ ของมนุษย์ด้วย การเลือกทานในปริมาณที่เหมาะสมทุกวันจึงมีส่วนช่วยให้ทั้งร่างกายและจิตใจสมบูรณ์แข็งแรงนั่นเอง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *