โรควิตกกังวล จากการแยกจากในเด็ก (Separation Anxiety Disorder)

โรควิตกกังวล

โรควิตกกังวล จากการแยกจากในเด็ก เป็นโรคทางใจที่สามารถเป็นได้แต่ตั้งวัยเด็ก สิ่งนี้จะสร้างความทุกให้เด็กเป็นอย่างมาก และอาจส่งผลต่อสุขภาพของร่างกาย เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจโรคนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

ชีวิตคนเรามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่แบบคาดไม่ถึงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายบ้าน การหย่าร้าง การตกงาน การเจ็บป่วยหนักระยะสุดท้าย หรือการเสียชีวิต สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน

เป็นสัจธรรมของชีวิต เป็นสิ่งธรรมดาของโลกใบนี้ ไม่มีใครอยากพบเจอสถานการณ์ที่ยากลำบากแบบนี้ ความเศร้าโศกเสียใจจากการพลัดพรากคนที่รัก ความวิตกกังวลอนาคต 

รวมๆนี้อาจทำให้เกิดโรควิตกกังวลขึ้น สิ่งที่เราทำได้คือ ยอมรับมัน และก้าวต่อไป และในฐานะที่เราอาบน้ำร้อนมาก่อน เราจะทำอะไรได้บ้างหากมันเกิดกับลูกของเรา เลือกอ่าน :

โรควิตกกังวล จากการแยกจากในเด็ก คืออะไร?

โรควิตกกังวล ในการแยกจากกันในเด็ก (Separation Anxiety Disorder; SAD) เป็นภาวะซึมเศร้าเมื่อเด็กต้องอยู่ห่างจากครอบครัว ห่างคนใกล้ชิด หรือห่างจากเพื่อนสนิท เกิดความกลัวจะสูญเสียคนๆ นั้นไป หรือกลัวที่จะไม่ได้อยู่กับคนๆ นั้นอีก

โดยปกติแล้วเด็กเกือบทุกคนที่มีอายุระหว่าง 18 เดือนถึง 3 ปี มีความวิตกกังวลเวลาที่จะแยกจากกันอยู่แล้ว แต่ถ้ายังวิตกกังวลติดต่อกันเกิน 4 สัปดาห์จะถือว่าเข้าข่ายเป็นโรควิตกกังวลจากการแยกจาก

สาเหตุของ โรควิตกกังวล จากการแยกจากในเด็ก (SAD)

1. การย้ายบ้าน

เป็นประสบการณ์ที่ให้ทั้งความตื่นเต้นและความวิตกกังวลในตัวเดียวกัน การที่ต้องสูญเสียเพื่อนสนิท สถานที่โปรดในโรงเรียนที่เคยอยู่ประจำ เพื่อนใหม่จะน่ากลัวไหม โรงเรียนใหม่จะสนุกเหมือนโรงเรียนเก่าไหม อะไรที่ดีดีตอนนี้มันกำลังจะหายไป ความกังวลจะเกิดขึ้นมากมาย

สิ่งที่คุณต้องทำคือสอนลูกให้มองโลกในแง่ดี เล่าถึงอดีตของคุณว่าคุณผ่านจุดนั้นมาแล้วได้ยังไง หลังจากนั้นคุณพบอะไรที่มีความหมายบ้าง

เพื่อนใหม่ที่ดี สถานที่ใหม่ที่น่าสนใจที่อยู่ในละแวกบ้านใหม่ เช่น น้ำตก สวนสัตว์ หรืออะไรก็ว่าไปที่คุณคิดว่าลูกน่าจะชอบ เพื่อคลายความกังวล

เตรียมช่องทางติดต่อกับเพื่อนลูกให้เรียบร้อย ทดลองให้พวกเขาได้แชทหรือโทรหากันก่อนที่จะย้ายไปจริงๆ ลูกจะได้รู้สึกว่าสามารถคุยกับเพื่อนได้เสมอถ้าต้องการSapiens Health แนะนำ

หากคุณสนใจแนวคิดการเรื่องการเพิ่มเพื่อนให้ลูก เพื่อที่ลูกจะได้หายเหงาหายกังวล ผมแนะนำให้ลองอ่านบทความ “ลูกไม่มีเพื่อน ! 9 วิธีช่วยลูก ก่อนเป็นโรคซึมเศร้า” ครับ

2. ความวิตกกังวล เมื่อคนในครอบครัวตกงาน

เมื่อมีคนในครอบครัวตกงานแล้วเงินสะดุด สิ่งนี้จะนำพาความเครียดมาให้แน่นอน การปกปิดไม่ให้ลูกรู้ไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะสุดท้ายเขาจะต้องรู้อยู่ดี แล้วจะปิดไปทำไมให้รบกวนจิตใจอยู่ทุกวัน ยังเครียดกันไม่พอรึ

ตั้งสติของคุณก่อน ทำความเข้าใจว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นถาวร ก็แค่สถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น ยังไงคุณก็ต้องหางานใหม่ให้ได้ในเร็ววัน แต่คุณจะต้องขอความร่วมมือกับทุกคนในครอบครัวให้ช่วยกันลดค่าใช้จ่ายลง 

ค่าใช้จ่ายบางอย่างถ้าลดลงอาจเกิดข้อพิพาทได้โปรดระวัง(ส่วนมากจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ทำให้เกิดความสุขชั่วคราว เช่น การเที่ยว การซื้อของกิน) ให้พิจารณาเป็นเคสๆไป หรืออาจใช้วิธีค่อยๆลดลงทีละนิด เพื่อให้ทุกๆคนปรับตัวได้

หากคุณพยายามปกปิดข่าวการตกงานนี้แล้วบอกแค่ว่าให้ลูกช่วยลดค่าใช้จ่ายลง ลูกอาจเข้าใจผิดว่าตนเองถูกทำโทษ เกิดคำถามมากมายในตัวเองโดยที่หาคำตอบไม่ได้ จนนำไปสู่ความเครียดและความวิตกกังวล

3. พ่อแม่หย่าร้าง

เมื่อพ่อแม่ตัดสินใจหย่าร้างกัน เด็กจะรู้สึกราวกับว่าโลกทั้งใบพังทลายลงไป ให้หาเวลามานั่งคุยกันล่วงหน้าทั้งพ่อแม่ลูกก่อนที่จะประกาศหย่าอย่างเป็นทางการ

อธิบายให้ลูกรู้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างคุณทั้งสองมาถึงจุดที่ไปต่อไม่ไหว แต่ให้ลูกรู้ว่าพวกคุณยังรักเขาอยู่เสมอไม่มีวันเปลี่ยน เพียงแต่อาจจะไม่ได้อยู่พร้อมหน้ากันก็เท่านั้น

ผมสนับสนุนให้มีการเลี้ยงดูร่วมกัน ไม่ใช่แค่เรื่องกำลังทรัพย์เพียงอย่างเดียว แต่คุณต้องมอบความรู้สึกรักด้วย เช่น แชทคุยกับลูกบ่อยๆ วันนี้ทำอะไรบ้าง เพื่อนๆที่โรงเรียนเป็นไง สนใจเรื่องอะไร ให้ลูกรู้สึกว่ายังมีพ่อและแม่อยู่เคียงข้างเสมอ

บางครอบครัวลูกอาจมีอาการก้าวร้าว และกล่าวหาว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นความผิดของพวกคุณ ช่วงเวลานั้นลูกจะไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณอธิบาย แต่ลูกจะเข้าใจเองเมื่อเขาโตขึ้น

สิ่งที่คุณทำได้ในตอนนี้คือเงียบ รับฟัง และทำความเข้าใจ ว่าที่ลูกเป็นแบบนี้ก็เพราะมีความคาดหวังว่าคำพูดของเขาอาจจะทำให้พ่อกับแม่คืนดีกัน คุณอาจลองทบทวนอีกคร้ังว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ทบทวนความรู้สึกว่าคุณทั้งสองยังรักกันอยู่ไหม

อย่าพูดไม่ดีเกี่ยวกับอดีตคู่สมรสของคุณต่อหน้าลูก

อย่าคาดหวังให้ลูกเลือกข้าง

อย่าโต้เถียงเกี่ยวกับปัญหาการเลี้ยงดูลูกต่อหน้าลูก

อย่าทำเป็นช่วยดูแลลูกเพียงเพื่อต้องการทราบความเป็นไปของอดีตคู่สมรสกับแฟนใหม่ของเขา

อย่าใช้ลูกเป็นข้อต่อรองเพื่อทำร้ายอดีตคู่สมรส

ในขณะที่ลูกกำลังเสียใจกับการหย่าร้าง คุณควรอะลุ่มอล่วยกับกิจวัตรประจำวันของลูก วันนี้ไม่ต้องล้างจานก็ได้ เล่นเกมส์เยอะหน่อยก็ได้ เกเรได้บ้างไม่ว่าลูก เมื่อจิตใจลูกเริ่มดีขึ้นก็ค่อยให้ลูกกลับมาทำกิจวัตรประจำวันเหมือนเดิม

ถ้าลูกต้องการใช้เวลาร่วมกันระหว่างสองครอบครัว พยายามรักษากิจกิจกรรมที่ทำร่วมกันทั้งสองบ้าน ทำเหมือนคุณกับอดีตคู่สมรสเป็นเพื่อนกันหากเป็นไปได้

ถ้าเรื่องนี้เกินมือคุณ ให้ปรึกษาจิตแพทย์ถึงวิธีการช่วยเหลือลูก

4. ความวิตกกังวล จากการพลัดพรากจากความตาย

หากมีคนในครอบครัวเจ็บป่วยรุนแรงในระยะสุดท้ายที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ลูกจะรู้สึกไม่มั่นคง เกิดความวิตกกังวลในหลายๆเรื่องต่างๆ นาๆ

หากลูกอายุยังน้อย อาจจะไม่เป็นไรเพราะยังไม่เข้าใจเรื่องความตาย อย่างมากก็แค่รู้ว่าไปอยู่บนสวรรค์แล้ว แต่ถ้าลูกเริ่มโตแล้วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ให้หาเวลาเงียบๆ กุมมือลูกคุณไว้ เริ่มพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับเรื่องอาการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว สาเหตุการเกิดของโรค วิธีการรักษาของแพทย์ จุดสิ้นสุดของการรักษา ความคาดหวังของคนที่เจ็บป่วยในขณะนี้

พูดเรื่องความตายคืออะไร และหลังจากตายแล้วจะเป็นยังไง จะส่งผลต่อชีวิตของทุกคนในครอบครัวอย่างไร

หากลูกคุณมีคำถาม ผมแนะนำให้คุณจงเป็นผู้ฟังที่ดีก่อน แล้วพยายามตอบคำถามในเชิงพุทธ เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนเกิดมาก็ต้องตาย แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ยังมีคนที่รักลูก และจะดูแลลูกอยู่เสมอ

หากลูกคุณต้องการไปเยี่ยมคนที่ป่วยที่โรงพยาบาล ให้คุณหรือคนในครอบครัวพาลูกเข้าเยี่ยม ปล่อยให้ลูกอยู่กับผู้ป่วยได้นานเท่านาน ให้คำแนะนำในการเยี่ยมผู้ป่วยและการปฏิบัติตัวที่โรงพยาบาล การเห็นผู้ป่วยมากมายอาจทำให้ลูกคุณคิดได้ว่า เรื่องการเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็เป็นกัน

ลูกอาจมีอาการเศร้าโศกเสียใจกับการจากไปของคนในครอบครัว อาจเสียใจนานเป็นเดือนหรือนานเป็นปี ซึ่งอายุของเด็กจะมีผลโดยตรงกับความเข้าใจในเรื่องของความตาย ดังข้อมูลต่อไปนี้

เด็กแรกเกิด – 2 ขวบ
ไม่เข้าใจเรื่องของความตาย แต่อาจจะรู้สึกถึงความผิดปกติของบรรยากาศในบ้าน อาจมีอาการซึมหากคนที่ดูแลอยู่เป็นประจำจากไปอย่างกะทันหัน

อายุ 3-6 ปี
เริ่มเข้าใจเกี่ยวกับความตายอยู่นิดหน่อย แต่อาจคิดว่าจะกลับมาได้อีก อาจคิดว่าเพราะตัวเองทำตัวไม่ดีเลยถูกลงโทษด้วยการให้มีการตายเกิดขึ้น อาจมีอาการแสดงออกถึงการกลัวการพลัดพราก เช่น มีการดูดนิ้ว การร้องอาละวาด

อายุ 6-9 ปี
พอจะเข้าใจว่าความตายคือการสิ้นสุดของชีวิต การจากไปแบบไม่สามารถหวนกลับมาได้ เข้าใจว่าทำไมจึงตาย มีความรู้สึกเป็นห่วงเพื่อนหรือคนที่ตนเองรักจะตายจากไป

อายุ 9-12 ปี
เข้าใจเรื่องความตายมากขึ้น รู้ว่าความตายเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิต อาจมีอารมณ์โกรธ ความรู้สึกผิด หรือความสนใจต่อสาเหตุการตาย อาจมีความกังวลกับผลที่จะตามมาจากการตายของคนในครอบครัว เช่น การกินอยู่ใช้จ่าย สถานะทางการเงิน การใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต แต่เด็กบางคนอาจแยกตัวอยู่คนเดียว ทำเหมือนตัวเองไม่เป็นไรและพยายามปิดกั้นความรู้สึกที่แท้จริง

5. สารเคมีในร่างกายและสิ่งแวดล้อม

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าอาจเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมี 2 ชนิดในสมอง (นอร์เอพิเนฟรินและเซโรโทนิน) หรือหากเป็นสมาชิกในครอบครัวเองที่เกิดความวิตกกังวล จากเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ ก็จะมีแนวโน้มสูงที่เด็กจะเกิดความเศร้าและความวิตกกังวลไปด้วย

อาการของ โรควิตกกังวล จากการแยกจากในเด็ก มีอะไรบ้าง?

อาการของ SAD อาจพบเจอได้ในเด็กชั้น ป.3  เช่น ช่วงปิดเทอม หรือช่วงพักรักษาอาการเจ็บป่วยระยะยาว เด็กแต่ละคนอาจมีอาการที่แตกต่างกัน ที่พบได้บ่อยๆ คือ

  • ไม่ยอมนอนคนเดียว
  • ฝันร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฝันเกี่ยวกับการพรากจากกัน
  • กังวลมากเกินไปเมื่อต้องห่างไกลจากบ้านหรือครอบครัว
  • กังวลมากเกินไปเกี่ยวกับความปลอดภัยของสมาชิกในครอบครัว
  • ไม่อยากไปโรงเรียน
  • กลัวการอยู่คนเดียว
  • ปวดท้อง ปวดหัว หรือปวดส่วนอื่นๆ บ่อยครั้ง
  • เครียดจนปวดกล้ามเนื้อ
  • กังวลเรื่องความปลอดภัยของตัวเองมากเกินไป
  • กังวลมากเกินไปหรือเมื่อต้องนอนนอกบ้าน
  • ตื่นตระหนก อารมณ์ฉุนเฉียว ในเวลาที่ต้องแยกจากพ่อแม่หรือผู้ดูแล

อาการดังกล่าวอาจดูเหมือนปัญหาสุขภาพทั่วไป จึงรู้ได้ยาก ให้หมั่นสังเกตอาการ หรือลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยวินิจฉัยSapiens Health แนะนำ

หากเด็กจมอยู่กับอาการเหล่านี้เป็นเวลานานมากๆโดยไม่ได้รับการรักษา อาจพัฒนาให้เด็กเกิดความคิดฆ่าตัวตายได้ คุณสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้ที่บทความ “เด็กฆ่าตัวตาย ! สาเหตุและวิธีป้องกัน” ครับ

แนวทางการรักษา โรควิตกกังวล จากการแยกจากในเด็ก

การรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการคนไข้ อายุ และสุขภาพ

การกินยา ยาแก้ซึมเศร้า หรือยาแก้วิตกกังวล อาจช่วยให้เด็กบางคนรู้สึกสงบขึ้น

การบำบัดแบบครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญเป็ยอย่างมากในการรักษา ช่วยปลอบประโลมฟื้นฟูจิตใจ

การสนับสนุนจากโรงเรียน โรงเรียนของเด็กควรมีส่วนร่วมในการดูแลด้วย เนื่องจากเด็กใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่โรงเรียน

บทส่งท้าย

หากลูกเป็นโรควิตกกังวล สิ่งที่เราต้องทำคือคอยปลอบประโลมจิตใจ จนกว่าลูกจะปรับตัวได้ ให้ลูกเปิดใจพูดถึงความรู้สึกต่างๆหากลูกต้องการ เช่น กำลังโกรธ ตกใจ ทำอะไรไม่ถูก หรือกำลังเศร้าอย่างไร

คุณจะต้องยืนอยู่ข้างๆลูกเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จับมือลูกไว้และก้าวข้ามผ่านมันไปด้วยกัน เมื่อวันเวลาแห่งความยากลำบากผ่านพ้นไป เขาจะเติบโตขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกจะยิ่งแน่นแฟ่นมากขึ้น

สุดท้ายเวลาจะเยียวยาทุกสิ่ง คอยสังเกตดูว่าลูกเสียใจน้อยลงหรือเปล่า วิธีที่จะทำให้ลูกหายเศร้าเร็วขึ้นคือต้องพยายามไม่สร้างปัจจัยที่จะทำให้ลูกนึกถึงเรื่องนี้บ่อยนัก

การพาทำกิจกรรมใหม่ๆ พาไปกินอาหารใหม่ๆ  ซื้อหนังสือเกี่ยวกับวิธีสร้างความสุขให้ตัวเองให้ลูกอ่าน พาไปพบเพื่อนใหม่ๆ ที่สนใจเรื่องเดียวกัน

หากลูกมีอาการเศร้ามาก และคุณรับมือไม่ไหว อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญReference

  1. The australian parenting website
  2. HARVARD T.H .CHAN | School of Public Health
  3. Nationwide Children’s Hospital – Separation Anxiety Disorder in Children (Nationwide Children’s Hospital is one of the largest and most comprehensive pediatric hospitals and research institutes in the United States)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *