“อาหารเป็นพิษ” อาการที่ทุกคนสามารถพบเจอได้ แต่จงอย่าชะล่าใจ

หนึ่งในความผิดปกติของร่างกายที่ทุกคนสามารถพบเจอได้ต้องมีเรื่องของ “อาหารเป็นพิษ” รวมอยู่ด้วยแบบไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะคนที่กินอาหารไม่ค่อยถูกสุขลักษณะ หรือกินของหมดอายุ อย่างไรก็ตามแม้ภาพรวมนี่จะเป็นโรคที่ไม่ได้รุนแรงมากนัก แต่ถ้าตัวคุณเองหรือคนรอบข้างเจ็บป่วยด้วยอาการนี้ผ่านไปหลายวันแล้วยังไม่ดีขึ้น หรืออาการที่แสดงออกรุนแรงมากก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็วที่สุด ลดความเสี่ยงการเสียชีวิต

อาหารเป็นพิษ คืออะไร เกิดจากสาเหตุอะไร

อาหารเป็นพิษ หรือ Food Poisoning คือ ภาวะความผิดปกติหนึ่งของร่างกายที่เกิดจากการกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไปไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิตก็ตาม เชื้อดังกล่าวเมื่อเข้าสู่ระบบย่อยอาหารแล้วจะกระตุ้นให้การทำงานเปลี่ยนไปจากเดิม และภูมิคุ้มกันเองก็พยายามจัดการเอาเชื้อร้ายเหล่านี้ออกไป ส่งผลให้ร่างกายมีอาการต่าง ๆ ตามมาขึ้นอยู่กับประเภทของเชื้อ

ซึ่งสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษก็อย่างที่เกริ่นเอาไว้ว่าเกิดจากร่างกายได้รับเชื้อโรคผ่านทางการอาหารและเครื่องดื่ม โดยสามารถแยกประเภทเชื้อออกได้ ดังนี้

  • เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia Coli) หรือ เชื้ออีโคไล คนส่วนใหญ่ได้ยินชื่อกันบ่อย ๆ มักอยู่กับเนื้อสัตว์ดิบ รวมถึงแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด
  • ซาลโมเนลลา (Salmonella) ส่วนใหญ่พบในเนื้อสัตว์ดิบ ไข่ดิบ นม เนย ชีส ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนม
  • ชิเกลล่า (Shigella) พบเจอบ่อยในน้ำดื่มที่ไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงอาหารสดบางชนิด
  • คลอสติเดียม โบทูลินัม (Clostridium Botulinum) เชื้ออันตรายอีกตัวที่สามารถก่อให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้ ด้วยคุณสมบัติของพวกมันสามารถอาศัยอยู่บริเวณที่ออกซิเจนน้อยได้ นอกจากอาหารดิบแล้วจึงอาจพบอยู่ในอาหารที่ผ่านการบรรจุภัณฑ์ปิดสนิทอย่างดี แต่มีขั้นตอนการผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น ของหมักดอง ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป

ดังนั้นโดยสรุปถึงสาเหตุของอาหารเป็นพิษมักเกิดจากพฤติกรรมของคนที่กินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เป็นประจำ การกินอาหารหรือดื่มน้ำจากแหล่งที่ไม่สะอาด มีแมลงวันตอม อาหารที่เหลือไว้ข้ามคืน หรือทำไว้เป็นเวลานานโดยไม่มีการอุ่นด้วยความร้อนซ้ำ เป็นต้น

อาหารเป็นพิษ อาการเบื้องต้นที่ต้องสังเกตตนเอง

สำหรับผู้ที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ เช่น ไปกินอาหารดิบ อาหารที่เขียงหั่นไม่สะอาด อาหารมีแมลงวันตอม แล้วเกิดอาการที่จะกล่าวถึงให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่าร่างกายของคุณอาจกำลังบ่งบอกถึงภาวะ “อาหารเป็นพิษ”

  • ท้องเสีย ถ่ายเหลว ติดต่อกันหลายครั้งภายในเวลาไม่นาน หรือถ่ายเหลวตลอดวัน (เฉลี่ยเกินวันละ 3-5 ครั้ง) หรือถ่ายเป็นมูกเลือดร่วมด้วย
  • ปวดท้องแบบบีบเกร็งจากการบีบตัวของลำไส้
  • คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรงแบบไม่มีสาเหตุ
  • อาหารเป็นพิษ หนาวสั่น เป็นไข้ ปวดหัว ตัวร้อน ไม่มีแรง ซึม อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยบริเวณเนื้อตัว บางรายอาจมีอาการมือเท้าเย็นร่วม
  • ปัสสาวะน้อย มีสีเข้ม
  • กรณีเด็กเล็กพ่อแม่อาจรู้สึกว่าลูกตาโหล ปากแห้ง เด็กบางคนร้องไห้แต่ไม่มีน้ำตาปนออกมา

อาหารเป็นพิษ หายเองได้ไหม แก้ยังไง รักษาเบื้องต้น

ผู้ป่วยอาหารเป็นพิษสามารถดูแลร่างกายให้หายเองได้ในกรณีที่อาการไม่ได้รุนแรงมากนัก ซึ่งหากถามว่าอาหารเป็นพิษ แก้ยังไง รักษาเบื้องต้นแบบไหนสามารถทำตามได้ดังนี้

  • ดื่มเกลือแร่กลุ่ม ORS เพื่อทดแทนการขาดน้ำของร่างกายจากการถ่ายเหลวติดต่อกันหลายครั้ง
  • พยายามดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้นกว่าปกติ พักผ่อนอย่างเพียงพอเฉลี่ยวันละ 6-8 ชม.
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรงเยอะ กิจกรรมกลุ่มแอดเวนเจอร์ เพื่อลดการเสียเหงื่อของร่างกาย

อาหารเป็นพิษ ควรกินยาอะไร

ในกรณีที่ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษแบบไม่ได้มีอาการรุนแรงใด ๆ มานัก ไม่จำเป็นต้องกินยากลุ่มปฏิชีวนะ เพราะเมื่อเชื้อหมดลงก็จะหายเองได้ภายใน 24 – 48 ชม. การกินยาปฏิชีวนะบ่อย ๆ อาจทำให้เชื้อโรคเกิดการดื้อยา ส่งผลต่อความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในครั้งถัดไปและการยับยั้งอาการของยาก็ด้อยประสิทธิภาพตามด้วย

อาหารเป็นพิษ พะอืดพะอม แก้ยังไง

หนึ่งในอาการเด่นมาก ๆ ของคนที่มีภาวะอาหารเป็นพิษนั่นคือ การพะอืดพะอมคล้ายจะอาเจียน ซึ่งวิธีแก้แนะนำให้พยายามดื่มน้ำอุ่น หรือการจิบน้ำผสมเกลือแร่กลุ่ม ORS หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัดหรืออาหารปริมาณมาก งดการดื่มชา กาแฟ ชั่วคราว งดการสูบบุหรี่ ไม่อยู่ในสถานที่คับแคบ อึดอัด ลดความเครียด และพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน

อาหารเป็นพิษ แบบไหนควรไปหาหมอ

อย่างที่บอกเอาไว้ว่าปกติแล้วภาวะอาหารเป็นพิษจะสามารถหายเองได้ภายในระยะเวลา 24 – 48 ชม. ซึ่งอาการมักค่อย ๆ ทุเลาลงจนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ อย่างไรก็ตามหากเกิดภาวะรุนแรงมาก เช่น ท้องเสียรุนแรงหนัก ปวดท้องรุนแรง ถ่ายเป็นเลือด อาเจียนหนัก-บ่อย อาเจียนเป็นเลือด แขนขาอ่อนแรง ดวงตาพร่ามัว หายใจติดขัด มีไข้สูงมาก พยายามดูแลตนเองเบื้องต้นแล้วแต่ยังไม่ดีขึ้นเกิน 48 ชม. จำเป็นต้องรีบไปพบแพทย์เป็นการด่วน เพราะหากปล่อยไว้อาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้เลย

 วิธีป้องกันการเกิดอาหารเป็นพิษ

หากไม่อยากสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษทุกคนสามารถป้องกันตนเองเบื้องต้นได้ด้วยการทำพฤติกรรมที่เหมาะสมเมื่อต้องกินอาหาร ดื่มน้ำ โดยขอแนะนำเพิ่มเติม ดังนี้

  • ดื่มน้ำสะอาดที่ผ่านการบรรจุขวดอย่างดี น้ำกรองที่เครื่องกรองทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ หรือน้ำต้มสุก
  • เลือกกินเฉพาะอาหารที่ปรุงสุก สะอาด หลีกเลี่ยงการกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ รวมถึงสังเกตอุปกรณ์การทำอาหาร เช่น เขียง มีด ทัพพี จาน-ชามใส่อาหาร ต้องสะอาด ถูกสุขอนามัย
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือน้ำยาล้างมือก่อนทำอาหาร กินอาหาร หรือหยิบจับอาหารทุกครั้ง
  • กรณีต้องกินอาหารค้างคืน หรืออาหารที่ทำไว้หลายชั่วโมง แนะนำให้อุ่นด้วยความร้อนเพื่อจัดการกับเชื้อโรคก่อน เช่น การนึ่ง การทอด การอุ่นกับไมโครเวฟ รวมถึงหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่พึ่งออกจากตู้เย็นโดยไม่มีการจัดเก็บอย่างมิดชิดและยังไม่ผ่านการอุ่นร้อน
  • เก็บอาหารและวัตถุดิบต่าง ๆ ให้พ้นจากสัตว์ที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นหนู แมลงสาบ และอื่น ๆ
  • ในกรณีที่รู้สึกปวดท้อง มวนท้อง หรืออยู่ในภาวะอาหารเป็นพิษขั้นเริ่มต้นควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารรสจัดทั้งเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด เน้นกินอาหารรสอ่อน รวมถึงผลไม้รสเปรี้ยวก็ยังไม่ควรกินเป็นอันขาด

ก่อนกินต้องรู้ เมนูไหนอาจทำให้อาหารเป็นพิษหากไม่สังเกต

เมื่อรู้วิธีป้องกันเรียบร้อยแล้ว แต่เชื่อว่าหลายคนเองบ่อยครั้งอาจยังลืมตัวหรือพลั้งเผลอกินอาหารที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้ จึงอยากนำเอาข้อมูลดี ๆ ที่ควรสังเกตก่อนการกินอาหารบางประเภท เมนูไหนที่จะสุ่มเสี่ยงถ้าไม่ใส่ใจหรือไม่รู้วิธีประเมินความเหมาะสมว่ากินได้หรือไม่?

1. อาหารกลุ่มที่มีกะทิเป็นส่วนผสม

อาหารไทยหลายชนิดมีกะทิเป็นส่วนผสม เช่น แกงเขียวหวาน มัสมั่น พะแนง แกงสายบัว แกงเนื้อ แกงเผ็ด ไปจนถึงพวกบรรดาหลน ขนมจีนน้ำยา (เส้นขนมจีนสดทำจากแป้งก็เสียง่าย) หรือของหวานจำพวก ข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวเหนียวทุเรียน ตะโก้ ขนมใส่ไส้ ลอดช่อง ฯลฯ ซึ่งกะทิจัดเป็นวัตถุดิบที่มีอายุสั้น เสียง่าย หากรู้ว่าเก็บไว้นาน ๆ โดยเฉพาะบริเวณอากาศร้อนควรดมกลิ่นหรือชิมเล็กน้อยก่อนเสมอ ถ้ามีกลิ่นหรือรสเปรี้ยวก็อย่ากินต่อเด็ดขาด

2. ส้มตำและยำ

เมนูแสนอร่อยและเป็นของโปรดสำหรับหลาย ๆ คน ไม่ได้บอกว่าเมนูนี้ห้ามกิน แต่ควรเลือกร้านที่สังเกตถึงความสะอาด ทั้งอุปกรณ์การทำ ห้องครัว มือของพ่อครัวแม่ครัวใส่ถุงมือ หรือล้างมือก่อนทำเสมอ ด้วยเมนูเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่านการปรุงสุกในขั้นตอนสุดท้ายจึงอาจปนเปื้อนเชื้อโรคง่าย ไปจนถึงวัตถุดิบบางชนิด เช่น ถั่วขึ้นรา กุ้งแห้งใส่สี ก็มีส่วนทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน

3. อาหารทะเล

อีกเมนูสุดอร่อยยิ่งบวกกับน้ำจิ้มซีฟู๊ดรสเด็ดมันดีงามอย่าบอกใคร แต่ทั้งนี้ควรเลือกวัตถุดิบสะอาด ไม่ค้างคืนเอาไว้นาน หรือต้องผ่านการแช่แข็ง เน้นการปรุงสุก ลดการกินอาหารทะเลดิบ ๆ จำพวกดองน้ำปลาเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรค

4. อาหารหมักดอง

หากบอกว่านี่คือสาเหตุหลักของการป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษคงไม่ผิดเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะการดองกันเองแบบบ้าน ๆ ปราศจากการป้องกันหรือมาตรฐาน เช่น แหนม ไส้กรอกอีสาน หน่อไม้ปี๊บ บวกดองแล้วกินกันดิบ ๆ ไม่ผ่านการปรุงสุกก็มักเสี่ยงต่อการปวดท้อง ท้องเสีย ได้ง่ายมาก

5. อาหารชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ได้ปรุงสุก

นอกจากที่บอกมาแล้วอาหารอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีการปรุงสุก เช่น ผัก ผลไม้สด ก็ต้องล้างทำความสะอาดให้ดี อาจล้างกับน้ำเกลือ ด่างทับทิม น้ำส้มสายชู หรือการล้างจากน้ำที่ไหลผ่านจากก๊อก ก็จะช่วยชะล้างเชื้อโรค สิ่งสกปรกให้ออกไปได้เช่นกัน

ย้ำอีกครั้งว่าแม้โรคอาหารเป็นพิษอาจดูเหมือนไม่ร้ายแรง แต่ถ้าไม่ระวังการกินของตนเอง หรือเป็นขึ้นมาแล้วยังไม่ดูแลสุขภาพก็อาจทำให้ความรุนแรงของอาการหนักขึ้นจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย จึงอย่าชะล่าใจเป็นอันขาด ทุกมื้อต้องมั่นใจว่าอาหารสะอาด ปลอดภัย กินแบบอร่อยและดีต่อสุขภาพ

REf:

  1. https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1892
  2. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/อันตรายร้ายแรงของอาหาร/
  3. https://www.sikarin.com/health/อาหารเป็นพิษ-อร่อยปาก-ลำ
  4. https://www.paolohospital.com/th-TH/chokchai4/Article/Details/ท้องเสีย-อาหารเป็นพิษ-ซื้อยากินเองได้มั๊ย
  5. https://www.hfocus.org/content/2020/05/19434

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *