เด็กฆ่าตัวตาย ! สาเหตุและวิธีป้องกัน
การฆ่าตัวตายในช่วงวัยเด็กนั้น เมย์มองว่าเป็นปัญหาที่ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญ เรียนรู้และเข้าใจความรู้สึกของลูกหลาน เพราะว่าภาวะความเครียดที่เกิดในเด็กอาจมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเรื่องการเลี้ยงดู แรงกดดัน การเรียน หรือสังคมที่ทำให้เด็กมีความอึดอัดภายในความรู้สึกจนไม่สามารถหาทางออกได้
หลายครั้งที่เมย์ได้ยินข่าวเรื่อง “เด็กฆ่าตัวตาย” เมย์มีความรู้สึกสงสารจับใจ ทำไมต้องคิดสั้นด้วย อายุยังน้อยแท้ๆ แต่เมย์ก็พอเข้าใจว่าเหตุผลของเด็กที่ฆ่าตัวตายนั้น มาจากสาเหตุที่พวกเขาไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง ไม่มีทางออก ชีวิตถูกบีบคั้น ทางออกสุดท้ายคือจบชีวิตตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น
ช่วงวัยที่ก่อเหตุ “ฆ่าตัวตาย” มากที่สุด??
การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 3 ของกลุ่มวัยรุ่นไทย เมย์ได้ข้อมูลมาจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ กรมสุขภาพจิต รายงานถึงจำนวนคนฆ่าตัวตายสำเร็จหรือเสียชีวิตโดยแบ่งเป็นช่วงอายุดังนี้ค่ะ
- เด็กในกลุ่มวัยเรียน อายุ 15-24 ปี มีเหตุการณ์ฆ่าตัวตายในปี 2563 อยู่ที่ 428 คน และปี 2564 อยู่ที่ 439 คน
- กลุ่มวัยทำงานตอนต้น อายุ 25-34 ปี พบว่ามีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ ในปี 2563 จำนวน 896 คน และปี 2564 จำนวน 956 คน
ซึ่งจะเห็นได้ว่าจำนวนเด็กฆ่าตัวตายนั้นเพิ่มขึ้นตลอดทุกปี มันแปลกไหมล่ะคะ ที่ทุกวันนี้โลกของเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นอย่าต่อเนื่อง แต่สุขภาพจิตใจของคนกลับแย่ลง ทำให้เกิดเหตุการณ์ฆ่าตัวตายอยู่เรื่อยๆ แล้วผู้ปกครองอย่างเราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และภูมิต้านทานให้เด็กๆ ผ่านเรื่องราวร้ายๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจไปให้ได้ หรือจะประคับประคองความรู้สึกของลูกๆ จนกว่าพวกเขาจะเรียนรู้ชีวิตได้มากพอจนมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจได้เอง
เมย์แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ศึกษาและทำความเข้าใจถึงสาเหตุการฆ่าตัวตายในเด็ก และมุ่งเน้นไปที่วิธีการป้องกันและแนวทางปฏิบัติเป็นหลักค่ะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เด็กฆ่าตัวตายขึ้นอีก หรืออย่างน้อยก็อาจช่วยลดจำนวนเด็กที่คิดจะฆ่าตัวตายลงได้บ้าง โดยเมย์จะพูดไปทีละหัวข้อดังนี้ค่ะ
เด็กฆ่าตัวตาย สาเหตุและวิธีป้องกัน
การฆ่าตัวตาย คืออะไร?
การฆ่าตัวตายมีความหมายในทางความคิดและการกระทำคือ การทำร้ายชีวิตของตนเองด้วยวิธีการต่างๆ เช่น กินยาเกินขนาด ใช้เชือกรัดคอตนเอง ใช้อาวุธปืนยิงตนเอง รวมถึงคนที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย มีความพยายามในการฆ่าตัวตาย
ซึ่งการฆ่าตัวตายมีหลายวิธีมากๆ สามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เมย์อยากบอกว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ตายง่ายมาก หากสภาพจิตใจเค้าอ่อนแอมีความคิดอยากฆ่าตัวตายแล้วละก็ คงไม่สามารถที่จะห้ามไม่ให้เกิดได้ ทางที่ดีควรป้องกันก่อนที่มันจะเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย น่าจะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าค่ะ
ปัจจัยที่ทำให้เด็กฆ่าตัวตาย
1. เป็นผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า
ในเด็กที่มีอาการป่วยอยู่แล้วหรือเคยเป็นซึมเศร้ามาก่อนอาจทำให้เกิดการฆ่าตัวตายได้ง่ายกว่าปกติ สำหรับภาวะซึมเศร้านั้นอาจมาจากสาเหตุของเรื่องราวในชีวิตที่เด็กพบเจอ เหตุการณ์แย่ๆ ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น พ่อแม่หย่าร้างกัน การย้ายบ้านไปอยู่ที่ไกลๆ การสูญเสียเพื่อนสนิทหรือสมาชิกในครอบครัว ถูกคนอื่นด่าว่าทำให้ด้อยค่าตัวเอง อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีการแข่งขันมากเกินไปจนกดดันตัวเอง ติดจอมือถือติดโซเชียลรับเอาความคิดลบของคนอื่นมาใส่ตัวเองจนกระบวนความคิดกลายเป็นคิดลบแบบเคยชิน หรือแม้กระทั่งการเสพข่าวที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายซ้ำๆ อาจทำให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบได้ค่ะ
แนวทางป้องกัน
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่ามีลูกมีอาการซึมเศร้า เช่น เบื่ออาหาร เก็บตัว เบื่อหน่ายหมดความสนใจหรือความสุขในการทำกิจกรรมต่างๆ นอนไม่หลับ หรือหลับๆ ตื่นๆ หรือหลับมาก รู้สึกไร้ค่า รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง มีความคิดอยากตาย คิดทำร้ายตัวเอง ถ้ามีอาการเหล่านี้แม้อาจจะเพียงข้อเดียวเกิน 2 สัปดาห์ ให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทันทีเลยนะคะ
2. เป็นผู้ป่วยโรคไบโพลาร์
โรคไบโพลาร์ เป็นโรคที่มีอาการซับซ้อน คนที่ป่วยโรคนี้จะมีอาการตื่นตัวมากในช่วงที่มีอารมณ์ขึ้น มีระดับความตื่นเต้นที่มากเกินกว่าปกติ ส่งผลให้อาจนอนไม่หลับ สลับกับอารมณ์จิตตก รู้สึกเศร้า สิ้นหวัง และไม่สนใจสิ่งรอบข้าง อาการของโรคไบโพลาร์จะขึ้นๆ ลงๆ อยู่นานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ โรคไบโพลาร์สามารถพบเจอในเด็กที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น เนื่องจากเป็นช่วงที่อารมณ์แปรปรวนมาก แต่ผู้ปกครองมักดูไม่ออกว่าลุกมีอาการป่วย คิดว่าเป็นเพียงอารมณ์แปรปรวนตามประสาวัยรุ่น
แนวทางป้องกัน
โรคไบโพลาร์เป็นโรคทางจิตใจ ไม่ใช่นิสัย ไม่ใช่บุคลิก เรียกง่ายๆ คือ ภาวะอารมณ์สองขั้ว บางช่วงมีอารมณ์เศร้าเหมือน “โรคซึมเศร้า” บางช่วงมีอารมณ์อีกขั้ว คือ อารมณ์คึกคะนอง อารมณ์ดีเกินไป เมย์แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลองเช็คลูกน้อยที่บ้านว่ามีแนวโน้มจะเป็นโรคไบโพลาร์หรือไม่ เช่น เด็กที่มีอารมณ์เศร้ามากแบบเด่นชัด และเด็กที่มีอารมณ์ดีมากเกินไปจนผิดปกติ เพื่อหาแนวทางรักษาต่อไปนะคะ
3. มีปัญหาครอบครัว
ปัจจัยอีกอย่างที่จะทำให้เด็กฆ่าตัวตายได้อาจมาจากปัญหาครอบครัว ความรู้สึกที่เด็กๆ ถูกกระทำหรือกระทบกระเทือนจิตใจ การสูญเสียสมาชิกในครอบครัวทำให้เกิดความเศร้าความกังวล เด็กอาจไม่ได้รับความอบอุ่นเท่าที่ควร การถูกทอดทิ้ง ขาดทั้งพ่อและแม่ในการดูแลเอาใจใส่พวกเขา เรื่องสำคัญอีกอย่างนึงที่เมย์ให้ความสำคัญคือ ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังโดยไม่มีใครว่างพอจะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบเจอได้บ่อยมากๆ ในครอบครัวของสังคมไทย เมย์มองว่าเด็กที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ครอบครัวมีปัญหาอยู่ตลอด เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัว ทำให้บรรยากาศแวดล้อมมีแต่ความเครียดจะยิ่งทำให้เด็กกดดันและเป็นสาเหตุให้ฆ่าตัวตายได้
แนวทางป้องกัน
ผู้ปกครองควรปลอบโยนเมื่อลูกน้อยได้รับเรื่องที่กระทบต่อจิตใจ และคอยรับฟังเรื่องราวและความรู้สึกของลูกเสมอ เมื่อเด็กหาทางออกไม่ได้ ไม่มีคนให้คำปรึกษา ก็อาจหันไปพึ่งสื่อออนไลน์ ซึ่งบางทีสื่อบางอย่างอาจทำให้ได้รับข้อมูลที่ผิดเพี้ยนไม่ถูกต้อง และเกิดการหมกมุ่นสะสมความเครียดมาเรื่อยๆ จนเกิดความคิดฆ่าตัวตายชั่ววูบ Sapiens Health แนะนำ
คุณพ่อคุณแม่ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องความวิตกกังวลของเด็กได้ที่บทความ โรควิตกกังวล จากการแยกจากในเด็ก โรควิตกกังวล จากการแยกจากในเด็ก (Separation Anxiety Disorder)
4. มีปัญหาส่วนตัว
เด็กก็มีปัญหาส่วนตัวได้เช่นกัน อาจจะเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างเช่น ผู้ปกครองเข้มงวดเกินไปจนเกิดแรงกดดัน นำไปสู่ความเครียดต่อเนื่องสะสมเป็นระยะเวลานาน ถูกทำร้ายร่างกายจากคนใกล้ตัว หรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศ หาทางออกไม่ได้ ไม่กล้าพูดกับใครเพราะถูกข่มขู่ จนเกิดความเครียดสะสมทำให้เลือกที่จะจบชีวิตดีกว่าต้องอับอาย หรือจะเป็นเหตุการณ์ถูกเพื่อนแกล้งที่โรงเรียนอยู่เสมอและไม่ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับพ่อแม่ว่าเกิดปัญหาที่โรงเรียน ทำให้พวกเขาคิดว่าไม่มีพ่อแม่หรือเพื่อนที่คอยปกป้อง จนทำให้รู้สึกด้อยค่าตัวเอง
ยุคนี้เมย์บอกเลยว่ามองข้ามไม่ได้กับปัญหาเรื่องความรัก เด็กๆ เรียนรู้ที่จะมีคนใกล้ชิด มีแฟน เกิดเป็นความรู้สึกดีๆ ที่พวกเขาอาจจะรู้สึกปลอดภัย และเมื่อต้องเลิกรากัน เด็กจะรู้สึกสูญเสียมาก อาจจะทำใจรับความรู้สึกนั้นไม่ได้ จนเกิดเป็นการฆ่าตัวตายได้ค่ะ
แนวทางป้องกัน
หากเป็นเรื่องปัญหาส่วนตัวของลูก เมย์แนะนำว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจนิสัยและสิ่งที่ลูกต้องการ รับฟังความคิดของพวกเขาอย่างเปิดใจ และไม่ตัดสินว่าผิดหรือถูก แต่เป็นการอยู่เคียงข้างพวกเขา เพื่อให้เด็กๆ รู้สึกปลอดภัยและไว้ใจที่จะเล่าปัญหาส่วนตัวให้พ่อแม่อย่างเราฟังได้ ถ้าเรารู้ปัญหาของลูกว่าเค้ามีอะไรในใจ หรือเจอสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกแย่เร็วแค่ไหน คุณพ่อคุณแม่ก็จะสามารถหาวิธีเยี่ยวยาใจของลูกได้เร็วยิ่งขึ้นค่ะ
5. มีภาวะติดสุราหรือสารเสพติด
สิ่งเร้าที่ในยุคสมัยนี้มีหลายอย่างมาก เมย์มองว่าเป็นเรื่องที่เด็กๆ เข้าถึงได้ง่ายใกล้ตัวมากค่ะ อย่างเช่น สุรา บุหรี่ ยาเสพติด เด็กอาจเคยผ่านสถานการณ์ที่แย่ๆ มาก่อน มีปัญหาครอบครัวร่วมด้วย ไม่มีคนค่อยให้กำลังใจหรือให้คำปรึกษาแนะนำในทางที่ถูกต้อง จนหันไปเดินสู่เส้นทางอบายมุข เพราะสิ่งเสพติดทุกประเภทจะมีผลระบบประสาทและสมอง ทำให้เกิดอาการหลอนหรืออารมณ์ดี สนุกสนาน ทำให้เด็กๆ ลืมความรู้สึกแย่ภายในใจได้ชั่วคราว เพราฉะนั้นเมย์มองว่าการที่เด็กๆ ดื่มสุราและใช้สารเสพติด เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจฆ่าตัวตายได้ง่ายหากหยุดใช้
แนวทางป้องกัน
คุณคุณแม่ควรจะให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ถึงโทษของสุราและยาเสพติดตั้งแต่ยังเล็ก โดยเฉพาะยุคนี้เมย์เห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้ากำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นเป็นอย่างมาก เข้าถึงได้ง่าย ซื้อขายได้ด้วยตัวเอง ทำให้อาจจะเป็นสิ่งเร้าอย่างดี จนกลายเป็นการเสพติดได้ในอนาคต และส่งผลระยะยาวต่อสมองและความคิดของเด็กๆ
6. มีปัญหาด้านการเข้าสังคม
เมย์มองว่าเด็กรุ่นใหม่อาจจะเข้าสังคมไม่ค่อยเก่งมากนัก เพราะเติบโตมาในยุคของดิจิทัล ทำให้การสื่อสารต่อหน้าลดน้อยลง ส่งผลให้การปรับตัวเข้าสังคมของเด็กๆ อาจเป็นสาเหตุของความเครียดสะสมได้ เด็กอาจไม่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น ไม่มีศรัทธาและไม่มีศาสนาที่เป็นที่พึ่งทางใจ การอยู่ในสภาพสังคมที่บีบคั้นในหลายๆ เรื่อง การแข่งขันสูง ความไร้น้ำใจของผู้คน การมองโลกในแง่ร้าย สิ่งเหล่านี้จะสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อเด็ก อาจเกิดเป็นอารมณ์ชั่ววูบคิดฆ่าตัวตายได้
แนวทางป้องกัน
สิ่งที่จะทำให้เด็กๆ ปรับตัวเข้าสังคมได้ดีขึ้น คงหนีไม่พ้นการเริ่มต้นจากสังคมภายในครอบครัวก่อน สภาพแวดล้อมใกล้ตัวจะส่งผลให้ลูกได้เรียนรู้ที่จะเข้ากับผู้อื่น มีน้ำใจ ช่วยเหลือผู้อื่น โดยคุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มพาลูกไปเจอสังคมใหม่ๆ สอนลูกน้อยให้เล่นกับเด็กคนอื่นตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อจะได้ปรับตัวได้ง่ายเมื่อเติบโตขึ้นค่ะ
7. มีปัญหาสุขภาพ
เรื่องสุขภาพก็มีส่วนสำคัญที่จะส่งผลต่อเรื่องอารมณ์ของเด็กๆ หากลูกของเรามีโรคประจำตัว โรคเรื้อรัง พิการ มีอาการเจ็บปวดรุนแรงจากโรคเป็นระยะเวลานาน พวกเขาก็จะเครียดสะสมและคิดว่าทำไมชีวิตจะต้องมาเจอกับโรคร้ายแบบนี้ และไม่รู้ว่าจะหายดีได้หรือไม่ ทำให้พวกเขาอาจจะคิดสั้นได้ในที่สุดเพื่อลดความเจ็บปวดทรมาน
ในเด็กที่มีการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นโรคที่ไม่สามารถหายขาดได้ และในสังคมไทยปัจจุบันอาจไม่ได้เป็นที่ยอมรับ ทำให้เค้ารู้สึกว่าโดนรังเกียจและด้อยค่าตัวเอง จนใช้วิธีหลุดพ้นจากความทรมานเหล่านี้โดยการฆ่าตัวตายในที่สุดค่ะ
แนวทางป้องกัน
ปัญหาเรื่องสุขภาพของลูกคุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ความเจ็บปวดที่อยู่ภายในเราไม่สามารถวัดได้ว่ามากน้อยแค่ไหน หมั่นหาเด็กๆ ไปพบแพทย์อยู่เป็นประจำเพื่อรักษาโรค หากเอาใจใส่เป็นพิเศษปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยให้อาหารป่วยหายขาดได้ในที่สุด ซึ่งระหว่างการรักษาก็ต้องคอยให้กำลังใจ ปลอบประโลมใจลูกน้อย ให้เค้ารู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย จะได้เครียดหรือกังวลใจต่อสุขภาพของตัวเอง
อาการของเด็กที่มีแนวโน้มคิดฆ่าตัวตาย
1. พูดคุยเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายบ่อยครั้ง
หากเด็กๆ พูดถึงเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับการฆ่าตัวตายหรือบอกเป็นนัยว่าไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว…เมย์ว่านั่นเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่เลยค่ะ เมื่อพวกเค้าพูดถึงความรู้สึกสิ้นหวัง ความหดหู่ เบื่อโลก ไม่อยากอยู่ในโลกนี้แล้ว ให้ผู้ปกครองคิดเลยว่ามีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายอย่างแน่นอน
2. ทำตัวเหินห่าง
เด็กๆ ในกลุ่มช่วงวัยรุ่นอาจมีโรคส่วนตัวสูง แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตและแยกให้ออกว่าลูกของเราพยายามถอยห่างจากเพื่อนหรือครอบครัวมากเกินไปหรือเปล่า บางทีเด็กๆ อาจแสดงออกว่าไม่มีอารมณ์อยากคุยด้วย ไม่ออกไปเที่ยวข้างนอก อยากเก็บตัวอยู่แต่ในห้องไม่ออกไปเจอผู้คนหรือสนใจโลกภายนอก ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายได้ค่ะ
3. เขียนบันทึกที่เกี่ยวกับความตาย
การแสดงออกความรู้สึกหากไม่ได้พูดออกมาเด็กๆ ก็อาจจะใช้วิธีการเขียนแทนก็ได้นะคะ เมย์เคยเห็นเคสที่เขียนเกี่ยวกับการจากลา คิดถึงเรื่องราวหลังจากที่ตัวเองตายไปแล้ว อาจแต่งเป็นบทเพลง บทกวี หรือเขียนจดหมายในกระดาษ ที่พบบ่อยๆ ก็คงจะเป็นการตัดพ้อและโพสต์ข้อความลงบนโซเชียลมีเดียระบายความในใจ ในเด็กบางคนอาจจะเริ่มให้สิ่งของล้ำค่าของตัวเองกับพี่น้องหรือเพื่อนฝูง เขียนจดหมายเกี่ยวกับการจากลา และคาดหวังว่าการจากไปจะมีคนสนใจหรือจดจำในแบบที่ต้องการ หากลองพิจารณาดูแล้วจะเห็นได้ว่าเด็กกำลังขอความช่วยเหลืออยู่ก็ได้นะคะ
4. เบื่อหน่ายชีวิต
นิสัยของเด็กทั่วไปมักจะมีความกระตือรือร้นอยู่เสมอ แต่หากลูกของคุณมีความรู้สึกหมดความสนใจในกิจกรรมที่ตัวเองเคยชอบ ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เช่น ปกติชอบเตะบอลหลังเลิกเรียน แต่อยู่ดีดีก็บอกไม่อยากเล่นอีกแล้ว เบื่อ ไม่อยากทำอะไรเลย ชีวิตไร้จุดหมาย แบบนี้เมย์คิดว่าต้องรีบพูดคุยกับลูกโดยด่วนเลยนะคะ
5. ความอยากอาหารหรือน้ำหนักเปลี่ยนไป
หากพูดถึงเรื่องการกิน เมย์คิดว่าเป็นอาการที่สังเกตยากกว่าอาการอื่นๆ เพราะเรื่องการกินมากเกินไปหรือน้อยเกินไป อาจมาจากสาเหตุเรื่องความเครียด โรคภัยและปัญหาสุขภาพร่วมด้วย แต่เรื่องการกินก็เป็นอาการของเด็กที่คิดฆ่าตัวตายในบางรายเช่นเดียวกันค่ะ เด็กๆ จะไม่สนใจกินอาหารหรือกลับกัน กินอาหารว่างมากเกินปกติ อย่างไรถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจเมย์แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอดีที่สุดนะคะ
6. นอนหลับยาก
หากมีความวิตกกังวลในจิตใจ ก็อาจส่งผลให้นอนไม่หลับได้ง่ายค่ะ อาการของเด็กที่มีแนวโมฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จะไม่สามารถหยุดความคิดของตัวเองได้ ทำให้มีอาการนอนกระสับกระส่าย ตื่นกลางดึกอยู่บ่อยครั้ง
7. ร่างกายอ่อนเพลียไร้เรี่ยวแรง
ความรู้สึกของเด็กที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย เมย์มองว่าเด็กๆ น่าสงสารมากเลยค่ะ พวกเค้ากำลังขาดบางสิ่งบางอย่างที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากความรู้สึกที่ติดอยู่ในใจ อาจจะขาดพลังใจในการใช้ชีวิตอยู่ต่อ ซึ่งพลังของจิตใจนั้นมีผลต่อการดำเนินชีวิตอย่างมมากเลยล่ะ เมื่อหมดพลังใจ ก็ส่งผลทำให้ร่างกายไม่มีแรงไปด้วยค่ะ
8. รู้สึกไร้ค่า
ในสังคมสมัยนี้เมย์คิดว่ามีการเปรียบเทียบ และแข่งขันกันสูงมาก คุณพ่อคุณแม่ควรจะเรียนรู้พฤติกรรมของลูกและให้คำปรึกษาพวกเค้าอยู่เสมอ หากเมื่อใดที่ลูกของเราพูดถึงตัวเองในทางลบมากเกินไป โดยอาจเปรียบเทียบตัวเองกับเพื่อนฝูง ให้รีบสอบถามสิ่งที่ลูกประสบพบเจอและคอยอยู่เคียงข้างเค้าในวันที่เจอเรื่องแย่ๆ ด้วยนะคะ
9. สมาธิสั้น
ลองสังเกตเด็กที่มีปัญหาในการโฟกัสสิ่งที่อยู่ตรงหน้า จดจำสิ่งต่างๆ ที่พูดหรือเห็นไม่ค่อยได้ ใช้เวลาในการคิดช้ากว่าแต่ก่อน อาจมีผลมาจากจิตใจที่สร้างความเคยชินกับการสร้างความคิดในแง่ลบอยู่ตลอดเวลาก็เป็นไปได้
10. กระวนกระวายใจ
ความรู้สึกกระวนกระวายใจอาจมาจากหลายสาเหตุ แต่มีผลต่อจิตใจของเด็กๆ เป็นอย่างมาก เด็กที่มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย อาจมีอาการอยู่ไม่สุข มีความปั่นป่วนภายในจิตใจ เดินไปเดินมาตลอด ขยับร่างกายไปมา อยู่ไม่นิ่ง
หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกของเรามีอาการเหล่านี้ 5 อาการหรือมากกว่า เด็กบางคนอาจจะมีอาการเกือบตลอดเวลาหรือเป็นแทบทุกวัน ติดต่อกันยาวนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือในเด็กบางคนอาจมีไม่ถึง 5 อาการแต่สงสัยว่ามีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายข้อใดข้อหนึ่ง ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันที
วิธีการดูแลและรักษาเด็กที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย
1. แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หากในบ้านหรือระแวกบ้านมีเด็กที่มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่รพ.สต./สอ. หรือเจ้าหน้าสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อจะได้คอยเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายของเด็ก (สังเกตสัญญาณเตือนก่อนที่จะกระทำการฆ่าตัวตาย) จะได้ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น
2. การบำบัดโดยครอบครัว
ครอบครัวเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดีที่สุดสำหรับเด็ก สมาชิกในครอบครัวทุกคนจะต้องร่วมด้วยช่วยกัน เปลี่ยนแปลงการมีปฎิสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับเด็กให้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะพฤติกรรมที่ไม่ดีบางอย่างที่ทำกันมานานจนชิน เช่น การใช่น้ำเสียงที่เกรี้ยวกราดอยู่เป็นประจำ การดุด่าว่ากล่าวกันจนติดเป็นนิสัย การด้อยค่าคนในครอบครัวโดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อเตือนสติ
เมย์แนะนำว่าหากมีเด็กที่มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายหรือใครก็ตามในครอบครัวที่จะฆ่าตัวตาย ให้รีบปรึกษานักบำบัดทันที เพราะนักบำบัดจะทำงานร่วมกับครอบครัว คอยสังเกตพฤติกรรมของทุกคน เพื่อดูว่าสมาชิกในครอบครัวมีการพูดคุยโต้ตอบกันอย่างไร และทำการปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมก่อนเกิดปัญหา สมาชิกในครอบครัวต้องเรียนรู้ที่จะสื่อสารกันให้ดีขึ้น การฟังอย่างตั้งใจ และฝึกการควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ไม่ให้กระทบกระทั่งกัน
นักบำบัดยังช่วยให้สมาชิกในครอบครัวเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยการทำความเข้าใจปัญหา การกำหนดเป้าหมายที่สามารถทำร่วมกันได้ การระดมความคิดในการแก้ปัญหา การพัฒนาและการนำแผนปฏิบัติการไปใช้ และประเมินว่าแผนดังกล่าวทำงานได้ดีหรือไม่ หลักฐานแสดงให้เห็นว่าการบำบัดด้วยครอบครัวช่วยให้เด็กฟื้นตัวเร็วขึ้นและอยู่ในระยะบรรเทาอาการได้นานขึ้น จะเห็นได้ว่าการบำบัดด้วยครอบครัว เน้นที่การช่วยเหลือทั้งครอบครัว และช่วยลดความกังวลด้านจิตใจของเด็กได้มาก รวมถึงภาวะซึมเศร้าอีกด้วย
3. การบำบัดแบบจับคู่
การบำบัดแบบจับคู่ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการบำบัดทางจิตใจ เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ทักษะการสื่อสารและการแก้ปัญหา เพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ในแต่ละสถานการณ์ จะสามารถช่วยให้เด็กเรียนรู้การทำหน้าที่ในสังคมกับผู้ใหญ่และเด็กคนอื่นๆ เมย์ยกตัวอย่างเช่น การบำบัดระหว่างพ่อกับลูกชายมีประโยชน์อย่างมาก หลายบ้านพ่อและลูกชายจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เป็นทีมเดียวกัน จะช่วยให้การบำบัดเป็นได้ด้วยดี ในการจัดการกับความเศร้าโศกหรือการสูญเสีย ความขัดแย้งกับผู้อื่น และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายในบ้าน
เริ่มต้นด้วยการที่พ่อกับลูกชายพูดคุยกันอยู่เสมอ การสนทนาที่ดีระหว่างคุณกับลูกสามารถช่วยให้คุณประเมินได้ว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นในใจของลูก ซึ่งลูกอาจจะอยากให้พ่อแม่รับรู้ความรู้สึกโดยที่พวกเขาไม่ต้องพูดออกมา การสนทนาอาจเป็นก้าวสำคัญในการช่วยให้ลูกได้รับความช่วยเหลืออย่างที่เขาต้องการก็เป็นได้
เมย์แนะนำให้ถามลูกของคุณว่า “เคยมีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองหรือไม่?” หรือ “เคยมีความคิดที่จะจบชีวิตของตัวเองบ้างไหม?” ให้ความสำคัญกับการตอบสนองของลูกคุณอย่างจริงจังก็จะทำให้คุณใกล้ชิดและเข้าใจลูกได้มากขึ้น หากลูกของคุณบอกว่ามีความคิดหรือความรู้สึกเหล่านี้ ให้รีบโทรหาสายด่วน สุขภาพจิต 1323 เพื่อขอคำแนะนำทันที และคอยดูแลพวกเขาอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้ลูกอยู่คนเดียว และไม่ตัดสินลูกทั้งเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกที่เค้าแสดงออกมา
4. การบำบัดทางความคิด
เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการบำบัดโรคซึมเศร้าที่เมย์พบบ่อยที่สุด คือการบำบัดพฤติกรรมทางความคิด ใช้สำหรับจัดการความวิตกกังวลและภาวะสุขภาพจิต ความคิดที่แปรปรวน ความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างจากผู้อื่น จะใช้แนวทางป้องกันโดยการบำบัดทางความคิด วิธีนี้ก็จะช่วยให้ลูกของคุณมองเห็นความคิดและความเชื่อเชิงลบที่เกิดขึ้นในหัวของเขาบ่อยๆ ว่ามีความแตกต่างอย่างไร และผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงหรือไม่
เมย์ขอยกตัวอย่าง เช่น การด้อยค่าตัวเองว่ายังไม่ดีพอ (ทั้งๆ ที่มีคนที่เจอสิ่งที่แย่กว่าเราอีกมากในโลกนี้) หรือการที่เด็กๆ มีความคิดวาดภาพผลลัพธ์ที่เลวร้ายต่อเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ การบำบัดด้านความคิดจะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะรับมือและฝึกเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่อความคิดในอนาคต
การเข้ารับการบำบัดทางความคิดเมย์มองว่ามีข้อดีอย่างมากเลยค่ะ เพราะจะได้ฝึกวิธีคิดสอนลูกและคนในครอบครัวให้มีทักษะติดตัวในการจัดการกับความคิดเชิงลบและลดแนวโน้มการเป็นภาวะซึมเศร้าได้ดี ในช่วงสองสามเดือนแรกของการรักษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะกำหนดตารางเวลาการนัดตรวจ เพื่อดูว่าการรักษาได้ผลดีเพียงใดและทำการปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาตามความเหมาะสม ซึ่งเด็กละคนจะปรับเปลี่ยนไม่เหมือนกัน โดยทั่วไปการรักษาภาวะซึมเศร้าจะเป็นการติดตามผลระยะยาวกับทีมสุขภาพจิต เพื่อเฝ้าระวังการกำเริบของโรคและให้การบำบัดแบบ “กระตุ้น” ตามความจำเป็นค่ะ
5. การบำบัดกระตุ้นพฤติกรรม
ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ว่าจะในเด็กหรือผู้ใหญ่ มักจะหลีกเลี่ยงการทำสิ่งที่เคยชอบ เพราะความหมดพลังใจ ไม่มีแรงกระตุ้นอยากทำสิ่งต่างๆ ในชีวิต จนเกิดอารมณ์ความคิดสะสมทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าและมีแนวโมที่จะฆ่าตัวตายได้ในที่สุด เมย์ขอแนะนำการบำบัดด้วยการกระตุ้นพฤติกรรมเป็นการบำบัดรูปแบบใหม่ มุ่งเป้าไปที่การหลีกเลี่ยงภาวะซึมเศร้าโดยเฉพาะ เป็นประโยชน์ในการรักษาเด็กโดยตรง
การบำบัดจะใช้วิธีทำกิจกรรมตามที่กำหนด ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างพฤติกรรมเชิงบวก เพื่อกระตุ้นและดึงดูดให้เด็กๆ อยากกลับมามีส่วนร่วมอีกครั้ง วิธีนี้เมย์มองว่าสามารถช่วยลดความห่างเหินภายในครอบครัวได้ด้วย ปรับปรุงอารมณ์ของเด็กๆ ให้ดีขึ้น ผู้ปกครองสามารถช่วยเหลือโดยการสนับสนุนกิจกรรมของลูกและร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันภายในครอบครัว
6. การใช้ยา
การเลือกใช้วิธีการรักษาแบบใช้ยานั้น เมย์มองว่าเด็กๆ ต้องมีอาการของผู้ป่วยอยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรง และจิตแพทย์อาจสั่งยาแก้ซึมเศร้า เช่น ฟลูออกซีทีน (โปรแซค, ซาราเฟม และอื่นๆ) ซึ่งพบว่าอาการในเด็กอายุระหว่าง 7 – 17 ปี กินยาแล้วดีขึ้น ซึ่ง Fluoxetine เป็นยา SSRI ซึ่งเป็นยาทั่วไปที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรค OCD และปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ สามารถช่วยให้การควบคุมอารมณ์ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการใช้ยารักษาเมย์แนะนำให้ปรึกษาแพทย์และได้รับยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น เพราะยาบางประเภทอาจมีผลต่อระบบประสาทและสมองของเด็กๆ โดยตรงนะคะ
7. การบำบัดแบบผสมผสาน
ในบางเคสที่เมย์เคยเห็นเด็กๆ อาจจะต้องใช้การบำบัดทางด้านความคิด จิตใจ และการใช้ยาร่วมกันถึงจะได้ผลดี ซึ่งการบำบัดแบบผสมผสาน จะเสริมสร้างแรงจูงใจร่วมกับการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมต่อภาวะซึมเศร้า และหากในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้รับยาร่วมด้วยก็จะทำให้มีแนวโน้มของอาการที่ดีขึ้นค่ะ
8. จัดตารางกิจวัตรประจำวัน
การจัดตารางเวลาชีวิตของลูก เมย์คิดว่าคุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเลยค่ะ เพราะการรักษาตารางกิจวัตรประจำวันของเด็กที่บ้านและที่โรงเรียน จะช่วยฝึกฝนให้พวกเขามีวินัยและฝึกกระบวนความคิดที่มีความมั่นคง ทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเป็นประจำ ทำงานบ้าน ทำการบ้าน และกิจกรรมระหว่างกันภายในครอบครัว
สิ่งนี้จะทำให้เด็กๆ มีหน้าที่ที่ต้องทำ และช่วยเปลี่ยนจุดสนใจจากที่เคยอยู่ว่างๆ ชอบคิดเชิงลบ หันไปทำกิจกรรมต่างๆ ผู้ปกครองอาจช่วยส่งเสริมเวลาเล่นกับลูกๆ ทางกายภาพ เช่น เล่นกีฬา การฝึกเต้น เล่นดนตรี ที่สำคัญคือต้องให้อิสระในการเล่นและทางความคิดของพวกเขาด้วยนะคะ
9. นอนอย่างคุณภาพ
การนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญส่งผลต่อร่างกายโดยตรง หากลูกของเราติดจอมากๆ ให้นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ออกจากห้องนอนก่อนเข้านอนทุกครั้ง และลองหาสิ่งของอื่นมาเป็นจุดสนใจแทน อาจจะเพิ่มหนังสือสำหรับอ่านก่อนนอน เพื่อความผ่อนคลาย ชุดนอนแสนสบาย เครื่องเสียงสีขาว หรือผ้าห่มผืนใหม่ที่ช่วยกระตุ้นให้ลูกๆ อยากนอนหลับ
วิธีป้องกันเด็กฆ่าตัวตาย
- เมื่อเด็กๆ เอ่ยปากบอกว่าจะทำร้ายหรือฆ่าตัวตาย เมย์ขอเตือนว่าอย่าเพิ่งตัดสินพวกเขานะคะ อย่าคิดว่าเด็กทำเพื่อเรียกร้องความสนใจ ให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่าต้องตระหนักถึงสิ่งที่ลูกของเราพูดออกมา วิเคราะห์และสอบถามความรู้สึกของลูก หากเด็กเรียกร้องความสนใจ แล้วถูกละเลยจนเป็นเรื่องปกติ อาจจะเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะทำร้ายตัวเองมากขึ้น
- ทุกครอบครัวควรให้ความสำคัญกับการพูดคุยภายในบ้านของเราให้มากขึ้น พยายามเปิดช่องทางพูดคุย สนับสนุน แสดงความห่วงใยและความรักต่อกัน เมย์แนะนำให้ลองสังเกตว่าถ้าเด็กๆ เล่าเรื่องให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง นั่นเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไว้ใจคุณ และมองว่าพ่อแม่เป็นคนที่รับฟังและจะคอยช่วยเหลือหากเขามีปัญหา
- เด็กและการเข้าสังคมเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตพวกเขาอยู่เสมอ หากเด็กๆ ต้องไปโรงเรียนได้เจอกับเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ การทะเลาะกับเพื่อนอาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กมันอาจรู้สึกเป็นเรื่องใหญ่มากๆ อย่ามองข้ามหรือเพิกเฉยต่อสิ่งที่เด็กกำลังเผชิญอยู่ เพราะมันจะทำให้พวกเขารู้สึกสิ้นหวังและโดดเดี่ยวมากขึ้น
- ผู้ปกครองทุกคนควรเปิดใจและพร้อมจะรับฟังปัญหาของลูกอยู่ตลอดเวลา พ่อแม่บางคนไม่กล้าที่จะตั้งคำถาม ว่าเคยคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองหรือเปล่า บางคนอาจคิดว่าหากถามจะไปปลูกฝังความคิดเรื่องการฆ่าตัวตายให้กับลูก เมย์แนะนำให้ลองเปลี่ยนวิธีการพูดเป็นการอธิบายว่าทำไมคุณถึงถามก็อาจช่วยได้ เช่น คุณอาจจะพูดว่า: “คือสังเกตเห็นว่าหนูพูดเกี่ยวกับเรื่องอยากตาย เลยอยากรู้ว่า หนูเคยมีความคิดที่จะพยายามฆ่าตัวตายบ้างไหม?” เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารก็จะช่วยให้คำถามที่รุนแรงต่อจิตใจอาจเบาลงได้ในความรู้สึกของเด็กๆ ค่ะ
- หากความสัมพันธ์ของคุณและลูกไม่ค่อยสู้ดีมากนัก เด็กๆ รู้สึกไม่สบายใจที่จะพูดคุยกับคุณ เมย์แนะนำให้ลองหาบุคคลที่เป็นกลางมาพูดคุยแทน เช่น ญาติคนอื่นๆ พระ โค้ช ที่ปรึกษาโรงเรียน หรือแพทย์ที่เด็กรู้จัก ก็จะช่วยให้เด็กสบายใจและอาจยอมพูดสิ่งที่คิดอยู่ภายในใจได้ง่ายขึ้น
- สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ไม่ควรมองข้ามคือ การตรวจสอบยาอันตรายทั้งหมดภายในบ้าน เพราะยาหลายชนิดสามารถเป็นเครื่องมือในการฆ่าตัวตายได้ในทันที หากลูกของคุณมีปัญหาซึมเศร้าควรหลีกเลี่ยงยาทุกประเภทที่พวกเขาสามารถหยิบจับได้เอง เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องเด็กฆ่าตัวตายด้วยวิธีกินยาเกินขนาด
พอมาถึงจุดนี้ที่เมย์ได้เรียนรู้เรื่องราวของเด็กฆ่าตัวตาย ซึ่งมีหลากหลายปัจจัยและหลายสาเหตุมากๆ แต่เมย์อยากให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนมองให้เห็นถึงสิ่งที่ใกล้ตัวมากที่สุดก่อน ความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่กับลูกอาจทำให้สิ่งต่างๆ แย่ลงได้เร็วมาก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่อารมณ์แปรปรวน พวกเขาถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสฆ่าตัวตายสูงมาก ความรู้สึกโดดเดี่ยว ถูกเข้าใจผิด ถูกลดคุณค่า การลอกเลียนแบบ หรือเกิดความคิดแปลกประหลาด เป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดได้ง่ายมาก
ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองทุกคนมีบทบาทในการสนับสนุนเยาวชน เป็นต้นแบบให้เด็กๆ แสดงออกทางความคิดและพฤติกรรมที่เหมาะสม สร้างโลกที่เด็กรับรู้ได้ว่าชีวิตของพวกเขามีคุณค่าในตัวเอง และจะไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว เมย์อยากให้ทุกคนมีบทบาทในการเสริมสร้างสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเด็กๆ และควรมีส่วนร่วมในการป้องกันการสูญเสียชีวิตอันแสนเศร้าจากเหตุการณ์เด็กฆ่าตัวตาย ให้ลดน้อยลง สร้างมาตรฐานใหม่สังจะดีขึ้นได้หากทุกคนช่วยกันนะคะ
1. กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข | https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30670
2. ศูนย์บริการข้อมูล | ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.) | https://resourcecenter.thaihealth.or.th
3. CDC Online Newsroom | https://www.cdc.gov/media/releases/2023/p0213-yrbs.html
5. กรุงเทพธุรกิจ | https://www.bangkokbiznews.com/health/social/1025931
6. HISO | www.hiso.or.th/hiso/picture/reportHealth/ThaiHealth2020/thai2020_18.pdf
7. ศูนย์เฝ้าระวังป้องกันการฆ่าตัวตาย | https://suicide.dmh.go.th/news/view.asp?id=78
8. The National Center for Biotechnology Information | https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3134404/
9. มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก | https://www.thaichildrights.org/
10. Nemours KidsHealth – Christina M. Cammarata, PhD | https://kidshealth.org/en/parents/suicide.html
11. https://www.hitap.net/wp-content/uploads/2014/09/psychotic-cartoon-press.pdf
12. Mayo Clinic : Top-ranked Hospital in the Nation | https://www.mayoclinic.org/