ไอโอดีน

ไอโอดีน

เลือกอ่านตามหัวข้อ

Add a header to begin generating the table of contents

ไอโอดีนเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ร่างกายไม่สามารถผลิตเองได้ ดังนั้นจึงต้องได้รับจากอาหารหรืออาหารเสริม ไอโอดีนพบได้ตามธรรมชาติในอาหารบางชนิด และถูกเสริมในเครื่องปรุงรสเช่นเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน ไอโอดีนนั้นจำเป็นต่อการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์อย่าง thyroxine และ triiodothyronine ที่ช่วยในการสร้างโปรตีนและการทำงานของเอนไซม์ รวมทั้งควบคุมการเผาผลาญให้ทำงานปกติ หากร่างกายได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอหรือมากเกินไป ไทรอยด์ฮอร์โมนเหล่านี้จะทำงานผิดปกติและอาจนำไปสู่ภาวะพร่องไทรอยด์ (hypothyroidism) ที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไปหรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (hyperthyroidism) ที่เกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป พร้อมผลข้างเคียงทางลบอื่นๆ ได้อีกในร่างกาย

ปริมาณสารอาหารที่แนะนำ

ปริมาณสารอาหารตามคำแนะนำของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสารอาหารแมคโคร หรือไมโคร จะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของประชากร จุดประสงค์ เทคโนโลยี และงานวิจัยที่เลือดใช้ โดยจะมีการอัพเดทในทุกๆ 5 ปีตามการค้นพบทางการแพทย์ใหม่ๆ (ปัจจุบันเป็นรอบ 2020-2023) โดยชื่อเรียกตามมาตรฐานจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น Recommeded Dietary Allowances (RDA), Dietary Standard, Safe Inteake of Nutrients, Recommended Nutrient Intakes หรือ Recommended Dietary Intakes โดยคุณสามารถดู RDA ของแต่ละสารอาหารได้ตามนี้ [RDA เปรียบเทียบตามแต่ละช่วงอายุ]

ไอโอดีนมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร?

สุขภาพทารกและเด็ก

การผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนเพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์นั้นทำให้สตรีมีครรภ์ต้องได้รับไอโอดีนในปริมาณที่มากขึ้นตาม การได้รับไอโอดีนที่เพียงพอเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตทางร่างกายและการพัฒนาสมองของทั้งทารกในครรภ์และเด็กอ่อน แม้ว่าน้ำนมแม่จะมีไอโอดีนอยู่แต่ปริมาณของธาตุจะขึ้นอยู่กับอาหารที่แม่รับประทาน รวมถึงในนมผงสำหรับทารกหลายสูตรก็มีการเสริมไอโอดีน อย่างไรก็ตาม วิตามินบำรุงก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ (Prenatal Vitamins) บางตัวก็ไม่ได้เสริมไอโอดีน

American Academy of Pediatrics จึงแนะนำให้สตรีมีครรภ์และผู้ให้นมบุตรรับประทานบริโภคไอโอดีนเสริมโดยใช้เกลือเสริมไอโอดีน แต่ไม่แนะนำให้เสริมไอโอดีนในปริมาณสูงเสมอไป เนื่องจากอาจทำให้เกิดปัญหาต่อมไทรอยด์ในผู้หญิงบางคนได้

การขาดสารไอโอดีนในระดับปานกลางถึงรุนแรงในเด็กอาจทำให้มี IQ น้อยลงและมีผลต่อการเจริญเติบโตได้ การเสริมไอโอดีนในเด็กเหล่านี้จะช่วยพัฒนาการทั้งทางร่างกาย อารมณ์และจิตใจ

ภาวะพร่องไทรอยด์และภาวะไทรอยด์เป็นพิษ

ภาวะเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (ภาวะพร่องไทรอยด์) หรือทำงานมากเกินไป (ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ) สัญญาณเริ่มต้นของภาวะพร่องไทรอยด์คือการมีระดับฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นต่อมไทรอยด์เพื่อสร้างฮอร์โมนในเลือดสูง (thyroid stimulating hormone or TSH) ซึ่งมักบ่งบอกถึงการได้รับไอโอดีนในปริมาณต่ำ นอกจากนี้ยังอาจเกิดขึ้นในผู้ที่มีประวัติขาดสารไอโอดีนที่รับประทานไอโอดีนเสริมในปริมาณสูงเป็นต้น

โรคคอพอก (Goiter) เกิดจากการได้รับไอโอดีนมากหรือน้อยเกินไปเป็นเวลานานซึ่งเป็นผลให้เกิดภาวะพร่องไทรอยด์ที่ต่อมทำงานน้อยเกินไป หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่ต่อมทำงานมากเกินไป จึงทำให้ต่อมไทรอยด์ใหญ่ขึ้นกว่าปกติจนเป็นก้อนที่ด้านหน้าของคอ นอกจากนี้กอยโทรเจน (goitrogen) ที่พบได้ในผักตระกูลกะหล่ำบางชนิดยังสามารถรบกวนการดูดซึมไอโอดีนของต่อมไทรอยด์และทำให้เกิดโรคคอพอกได้ ผู้ที่ขาดสารไอโอดีนหรือภาวะพร่องไทรอยด์อยู่แล้วควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

ไอโอดีนสามารถพบในอาหารชนิดไหนบ้าง?

ไอโอดีนพบได้ในดินและทะเล ซึ่งปริมาณแร่ธาตุที่มีอยู่ในอาหารก็จะแตกต่างกันไปตามแหล่งที่พบ ไอโอดีนพบมากในอาหารเหล่านี้

  • สาหร่ายทะเล เช่น โนริ เคลป์ คอมบุ วากาเมะ
  • ปลาและหอย เช่น ปลาค็อด ทูน่ากระป๋อง หอยนางรม กุ้ง
  • เกลือบริโภคเสริมไอโอดีน
  • ผลิตภัณฑ์นม (นม ชีส โยเกิร์ต)
  • ไข่
  • ตับวัว
  • ไก่
  • นมผงดัดแปลงสำหรับทารก

สัญญาณเตือนของการขาดไอโอดีน

ไอโอดีนควบคุมการเผาผลาญสารอาหารในร่างกายและเปลี่ยนพลังงานที่ได้รับจากอาหารเป็นพลังงานที่ส่งเสริมการทำงานของเซลล์และการเจริญเติบโตทางร่างกาย ดังนั้นการขาดไอโอดีนจะมีผลต่อการการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามปกติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสตรีมีครรภ์และทารก ภาวะขาดไอโอดีนอาจทำให้แท้งบุตรหรือตายระหว่างคลอดได้ รวมไปถึงมีลักษณะแคระแกร็นและมีความบกพร่องของสมรรถนะทางสมอง (Cognitive Impairment) เช่น  การมีปัญหาในการอ่าน การเขียน การพูดคุย การแก้ปัญหา ทักษะทางสังคม)

ภาวะขาดไอโอดีนในผู้ใหญ่เกิดขึ้นเมื่อมีการบริโภคไอโอดีนน้อยกว่า 10-20 ไมโครกรัมต่อวันอาจนำไปสู่ภาวะพร่องไทรอยด์ (Hypothyroid) ที่เกิดจากต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนน้อยไป และรบกวนการทำงานปกติของระบบเผาผลาญ เช่น การควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิร่างกาย และน้ำหนักตัว ก้อนหรืออาการบวมที่คอเรียกว่า คอพอก มักเกิดร่วมกับภาวะพร่องไทรอยด์ สัญญาณอื่นๆ ของภาวะพร่องไทรอยด์ ได้แก่:

  • ความอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • ความไวต่อความเย็น
  • ท้องผูก
  • ผิวแห้งและผมแห้ง
  • น้ำหนักมากขึ้นหรืออ้วนขึ้น

ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะขาดไอโอดีน ได้แก่ ผู้ที่ไม่ใช้เกลือเสริมไอโอดีนหรืออาหารเสริมที่มีไอโอดีน สตรีมีครรภ์ ผู้ที่ทานอาหารมังสวิรัติหรือไม่รับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์ และผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีระดับไอโอดีนในดินต่ำ เช่น บริเวณภูเขา

ความเป็นพิษ

การบริโภคไอโอดีนในปริมาณสูงไม่เป็นปัญหาในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงส่วนใหญ่ ซึ่งสังเกตได้จากประเทศที่รับประทานสาหร่ายทะเลที่อุดมไปด้วยไอโอดีนเป็นประจำ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลี แต่บางคนที่เป็นโรคระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์ในต่อมไทรอยด์หรือผู้ที่มีประวัติภาวะขาดไอโอดีนเรื้อรังอาจมีความไวต่อการได้รับไอโอดีนเสริมซึ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะขาดสารไอโอดีน เช่น ภาวะพร่องไทรอยด์และคอพอก ไอโอดีนส่วนเกินอาจนำไปสู่การหลั่งฮอร์โมนมากไปจากต่อมไทรอยด์ทำให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ สัญญาณของภาวะดังกล่าวคือการเผาผลาญที่เพิ่มขึ้น น้ำหนักลง หัวใจเต้นเร็วหรือไม่สม่ำเสมอ มือสั่น หงุดหงิด เหนื่อยล้า และเหงื่อออกง่าย ในบางครั้งการเพิ่มปริมาณไอโอดีนในอาหารเหนือค่า Recommended Daily Intakes เพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เกิดภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษที่เกิดจากไอโอดีนในผู้ที่แพ้ง่ายได้

การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าการบริโภคสาหร่ายทะเลในปริมาณสูงมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของมะเร็งต่อมไทรอยด์บางชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยหลังหมดประจำเดือน

การบริโภคไอโอดีนมากเกินไปอาจมาจากการใช้อาหารเสริมในปริมาณสูงหรือการรับประทานสาหร่ายทะเลและเกลือที่เสริมไอโอดีนมากเกินไป แต่โดยทั่วไปแล้วพิษของไอโอดีนรุนแรงนั้นเป็นไปได้ยาก อาการที่พบได้ได้แก่ มีไข้ อาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกแสบร้อนที่ปาก คอ และท้อง จนถึงอาการโคม่า

รู้หรือไม่?

  • ในสหรัฐอเมริกา ผู้คนได้รับไอโอดีนในอาหารส่วนใหญ่จากเกลือและนมเสริมไอโอดีน
  • อาหารเสริมไอโอดีนอาจมีผลกับยารักษาความดันโลหิตและยาขับปัสสาวะบางชนิด เช่น lisinopril, spironolactone และ amiloride ทำให้เกิดการสะสมของโพแทสเซียมที่เป็นอันตรายในเลือดที่เรียกว่าภาวะโพแทสเซียมสูง
  • ไอโอดีนเป็นองค์ประกอบของสารทึบรังสีที่อาจใช้ก่อนการเอ็กซ์เรย์หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) ช่วยดูดซับรังสีเพื่อให้เห็นภาพอวัยวะของร่างกายได้ชัดเจนขึ้น

Reference

  1. Institute of Medicine Panel on Micronutrients. Dietary Reference Intakes for Vitamin A, Vitamin K, Arsenic, Boron, Chromium, Copper, Iodine, Iron, Manganese, Molybdenum, Nickel, Silicon, Vanadium, and Zinc. National Academy Press, Washington, DC, 2001.
  2. U.S. Department of Health and Human Services. Iodine Fact Sheet for Health Professionals. https://ods.od.nih.gov/factsheets/Iodine-HealthProfessional/ Accessed 9/20/21.
  3. Murai U, Yamagishi K, Kishida R, Iso H. Impact of seaweed intake on health. European Journal of Clinical Nutrition. 2021 Jun;75(6):877-89.
  4. Farebrother J, Zimmermann MB, Andersson M. Excess iodine intake: sources, assessment, and effects on thyroid function. Annals of the New York Academy of Sciences. 2019 Jun;1446(1):44-65.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *