การดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ สุขภาพดีทั้งแม่และลูก

การดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์

การดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ และการเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์

วันนี้พี่แอ๋วอยากพาคุณแม่มือใหม่หรือผู้หญิงที่เริ่มวางแผนอยากมีลูกมารู้จักวิธีการ เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ การดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ จนถึงช่วงการคลอด คุณแม่จะได้ดูแลสุขภาพตัวเองได้เต็มที่ อีกทั้งยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น

แน่นอนว่าความกังวลใจเกี่ยวกับการดูแลครรภ์ย่อมเกิดขึ้น เพราะกว่าที่เจ้าตัวน้อยจะลืมตาออกมาดูโลกนั้นจะต้องอยู่ในท้องคุณแม่ถึง 9 เดือน ดังนั้นการใส่ใจดูแลครรภ์อย่างถูกวิธีคือสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจและร่วมมือกันเพื่อให้เจ้าตัวน้อยคลอดออกมาอย่างสมบูรณ์และแข็งแรง

วันนี้พี่แอ๋วมีคำแนะนำที่สำคัญเกี่ยวกับการดูแลครรภ์ การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกาย อาการแพ้ท้อง การดูแลร่างกาย อารมณ์ ความสัมพันธ์ของคุณแม่ตั้งครรภ์  และอื่นๆ มีอะไรบ้างมาดูกันค่ะ

เลือกอ่านหัวข้อที่น่าสนใจ

การดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ เริ่มจากวางแผนเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์

ที่มารูปภาพ: pixabay.com

1. ปรึกษาแพทย์ หรือผู้ให้คำปรึกษา ด้านพันธุกรรมหากมีอาการผิดปกติในครอบครัว

2. ตรวจสุขภาพทั้งคุณพ่อคุณแม่ หากคุณมีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น โรคธาลัสซีเมีย โรคเลือด โรคติดเชื้อที่สามารถถ่ายทอดทางเลือดได้ หรือโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ

3. รับประทานกรดโฟลิคเสริมวันละ 400 ไมโครกรัม (ไมโครกรัม) อย่างน้อย 1 เดือนก่อนตั้งครรภ์และ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

4. การฉีดวัคซีน

4.1 ปรึกษาหมอ วางแผนการฉีดวัคซีนตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์

4.2 วัคซีนที่ควรฉีดก่อนตั้งครรภ์ เช่น วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส (Varicella vaccine), วัคซีนป้องกันโรคหัด-คางทูม

4.3 หัดเยอรมัน (Measles-Mumps-Rubella, MMR)

4.4 วัคซีนที่ควรฉีดระหว่างการตั้งครรภ์ วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ

4.5 บาดทะยัก (Diphtheria and Tetanus toxoids combine (DT/dT) vaccine), วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Inactivated influenza vaccine)

4.6 วัคซีนป้องกันโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์มีความสำคัญ แนะนำให้ฉีดภายใต้การดูแลของแพทย์Sapiens Health แนะนำ

สำหรับคุณแม่ที่เป็นห่วงเรื่องการฉีดวัคซีนขณะตั้งครรภ์ ปลอดภัยหรือไม่? ปลอดภัย ทั้งมีการวิจัยว่าทำมาเพื่อคุณแม่และลูกในครรภ์ รวมถึงป้องกันโรคร้ายแรงระหว่างตั้งครรภ์ แถมประสิทธิภาพอยู่ดูแลลูกหลังคลอดอีก 2-3 เดือน เพียงแค่ต้องวางแผนให้ดีค่ะ วัคซีนไหนฉีดช่วงไหน

5. หยุดดื่มแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป เช่น กาแฟ ชา โคล่า และเครื่องดื่มชูกำลัง

6. งดการสูบบุหรี่และยาที่ไม่สั่งโดยแพทย์

7. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สมดุล อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุSapiens Health แนะนำ

หากการเตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า ไม่เป็นไรค่ะ แนะนำคุณแม่ฝากครรภ์ได้ที่โรงพยาบาล เพื่อจะได้เริ่มวางแผนการดูแล ประเมิน และติดตามการตั้งครรภ์

การดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์

ที่มารูปภาพ: pixabay.com

เป็นการดูแลสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์ทั้งขณะตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตร ซึ่งเป็นขั้นตอนสําคัญที่จะทําให้ทั้งแม่และบุตรมีสุขภาพดี แข็งแรง และยังเปิดโอกาสให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้เรียนรู้ทักษะพื้นฐานในการดูแลตนเองและบุตรจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ ทราบว่าอะไรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของบุตรในครรภ์ และรู้จักวิธีการดูแลทารกแรกเกิดและสุขภาพของตนเองหลังคลอดบุตร

การดูแลตัวเองก่อนการตั้งครรภ์สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่เริ่มวางแผนจะมีทารกหรืออย่างน้อย 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ โดยอาจเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีดังต่อไปนี้

  • เลิกสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • รับประทานกรดโฟลิกขนาดอย่างน้อย 400 ไมโครกรัมทุกวัน
  • ปรึกษาแพทย์เรื่องโรคประจำตัวและยาหรืออาหารเสริมที่รับประทานอยู่
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นอันตรายและสารพิษที่บ้านหรือที่ทํางาน
  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับการตั้งครรภ์: รับประทานอาหารเพื่อให้สารอาหารครบ 5 หมู่ หมายถึงผลไม้ ผัก และอาหารที่มีแคลเซียม โปรตีน และธาตุเหล็กจำนวนมาก หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน ไขมัน และดื่มน้ำมากๆ
  • ออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ ในระดับเบาถึงปานกลางสม่ำเสมอ เช่น นั่งพิง เหยียดขาตรง วางมือข้างลำตัว กระดกเท้าทั้งสองขึ้นลงสลับกัน โดยส้นเท้าวางอยู่กับที่ขณะกระดกเท้าขึ้น หายใจเข้าลึกๆ และหายใจออก เมื่อกดปลายเท้าลง ทำวันละ 8-10 ครั้ง การเดิน โยคะ ว่ายน้ำ นอกจากนี้การทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่วิตกกังวลจนเกินไป
  • การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มตั้งครรภ์จนถึงใกล้คลอด ควรระวังการใช้ท่าที่จะเป็นอันตรายต่อฝ่ายหญิง และควรงดร่วมเพศในรายที่มี เลือดออกทางช่องคลอดขณะตั้งครรภ์ หรือช่วง 3 เดือนก่อนคลอด ที่มีการเกร็งตัวของมดลูกบ่อยผิดปกติ รวมทั้งคุณแม่ที่มีประวัติการแท้งในครรภ์ก่อนๆ หรือการคลอดก่อนกำหนด

การดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่มีอาการแพ้ท้อง

อาการคลื่นไส้ อาเจียนช่วงเช้า เวียนศีรษะ ไวต่อกลิ่นและรสชาติ เหม็นกลิ่นสิ่งต่าง ๆ เช่น กลิ่นอาหาร หิวบ่อย ปัสสาวะบ่อยกรดไหลย้อน เป็นต้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย

  • แนะนำให้นอนพัก งดอาหารรสจัด รสเผ็ด รสเปรี้ยวจัด ห้ามปล่อยให้ท้องว่าง หากคุณแม่กินอาหารในแต่ละมื้อได้ไม่มาก ให้แบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ แต่กินหลาย ๆ มื้อแทน อาจจะแบ่งมื้ออาหารเป็น 5-6 มื้อต่อวันเลยก็ได้ จะช่วยให้ได้รับอาหารเพียงพอต่อความต้องการ
  • เลี่ยงอาหารมันและรสเผ็ด หรืออาหารรสจัด มีเครื่องเทศมาก เนื่องจากทำให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นหน้าอกได้ง่าย หลีกเลี่ยงกลิ่นที่ทำให้ท้องของคุณแม่ปั่นป่วน  และการดื่มน้ำมาก ๆ ให้ดื่มน้ำก่อนหรือหลังอาหารสัก 30 นาที ระหว่างวันให้จิบน้ำบ่อย ๆ ก็สามารถช่วยอาการแพ้ท้องได้
  • คุณแม่ที่แพ้ท้องรุนแรงควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ เช่น คลื่นไส้หนักทั้งวัน ไม่สามารถกินอาหารหรือดื่มน้ำได้ อาเจียนวันละ 3-4 ครั้ง อาเจียนออกมาเป็นสีน้ำตาล หรือมีเลือดปน น้ำหนักลดลงจนผิดปกติ ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ มีภาวะขาดน้ำหรือมีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ ตาพร่ามัว ลิ้นและปากแห้ง น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย และเซื่องซึม หัวใจเต้นเร็ว อ่อนเพลียมาก
  • เพราะการตั้งครรภ์อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ในหญิงตั้งครรภ์สำคัญมาก บางท่านอาจรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือหดหู่มาก คุณพ่อหรือบุคคลในครอบครัวมีส่วนช่วยอย่างมาก
  • อาการแพ้ท้องพบได้บ่อยในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ โดยมักเริ่มตั้งแต่ 6-8 สัปดาห์ สำหรับผู้หญิงหลายๆ คน อาการจะหายไปหลังจาก 12 สัปดาห์แรก สำหรับผู้หญิงบางคน ใช้เวลานานกว่านี้

พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์

ที่มารูปภาพ: flickr.com
เดือนที่ 1

ทางการแพทย์จะเริ่มนับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย เป็นวันแรกของการตั้งครรภ์และนับไปจนครบ 40 สัปดาห์เป็นวันคะเนกำหนดคลอด

เดือนที่ 2 (5 – 8 สัปดาห์)
  • ตัวอ่อนในครรภ์จะมีความยาวประมาณ 4 – 25 มิลลิเมตร
  • รูปร่างโค้งงอ
  • การตั้งครรภ์ยังไม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัด
  • ตัวอ่อนเริ่มพัฒนาอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ ระบบประสาท ตา แขนและขา
  • ตรวจพบการเต้นของหัวใจของตัวอ่อนในครรภ์ช่วงอายุครรภ์ตั้งแต่ 6 สัปดาห์ขึ้นไปจากการทำอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอดได้ด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง
เดือนที่ 3 (9 – 12 สัปดาห์)
  • ตัวอ่อนมีความยาวจากหัวถึงก้นประมาณ 5 – 7 เซนติเมตร
  • แขนขาจะเริ่มปรากฏให้เห็นการเคลื่อนไหว
  • ตา ปาก จมูก และหู เริ่มปรากฏให้เห็น
  • สมองมีพัฒนาการไปเรื่อย ๆ ตลอดเวลา
  • ปลายเดือนอวัยวะต่าง ๆ พัฒนาเกือบครบทุกส่วน
เดือนที่ 4 (13 – 16 สัปดาห์)
  • ทารกมีความยาวจากหัวถึงก้นประมาณ 7 – 12 เซนติเมตร
  • ทารกโตขึ้นวันละ 2 – 3 มิลลิเมตร
  • ใบหน้าตัวอ่อนเห็นชัดเจนขึ้น
  • นิ้วมือนิ้วเท้าเห็นชัดเจน
  • เริ่มฟังเสียงหัวใจทารกได้ด้วยเครื่องฟังเสียงหัวใจ
เดือนที่ 5 (17 – 20 สัปดาห์)
  • ทารกมีความยาวจากหัวถึงเท้าประมาณ 16 – 25 เซนติเมตร
  • ทารกมีน้ำหนักประมาณ 100 – 300 กรัม
  • สามารถฟังหัวใจทารกเต้นได้ด้วยหูฟัง จากการฟังทางหน้าท้อง
  • เริ่มมีขนตา ขนคิ้ว มีขนอ่อนปกคลุมทั่วตัวและหน้า
  • หูทำงานเต็มที่เริ่มได้ยินเสียงแม่
  • เปลือกตายังปิดสนิท
  • คุณแม่จะรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์
เดือนที่ 6 (21 – 24 สัปดาห์)
  • ทารกมีความยาวประมาณ 25 – 30 เซนติเมตร
  • ทารกมีน้ำหนักประมาณ 300 – 600 กรัม
  • ผมที่ศีรษะและคิ้วจะปรากฏชัดขึ้น
  • ตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงมองเห็นเพศชัดเจน
เดือนที่ 7 (25 – 28 สัปดาห์)
  • ทารกมีความยาวประมาณ 30 – 35 เซนติเมตร
  • ทารกมีน้ำหนักประมาณ 600 -1,000 กรัม
  • ผิวทารกมีรอยย่น เริ่มมีไขมันใต้ผิวหนัง
  • ศีรษะโต มีขนคิ้วและขนตา
  • สามารถลืมตาและหลับตาได้แล้ว ได้ยินเสียงจากภายนอก
  • สะอึกได้
เดือนที่ 8 (29 – 32  สัปดาห์)
  • ทารกมีความยาวประมาณ 35 – 40 เซนติเมตร
  • ทารกมีน้ำหนักประมาณ 1,000 -1,600 กรัม
  • ผิวหนังบางแดงและคลุมด้วยไข ยังเหี่ยวย่นอยู่
  • ถ้าเป็นผู้ชายลูกอัณฑะจะเริ่มเลื่อนลงในถุง
เดือนที่ 9 (33 – 36 สัปดาห์)
  • ทารกมีความยาวประมาณ 40 – 45 เซนติเมตร
  • ทารกมีน้ำหนักประมาณ 1,600 -2,500 กรัม
  • ผิวหนังแดง รอยย่นเริ่มหายไป
  • เริ่มดิ้นแรงจนสามารถเห็นความเคลื่อนไหวจากภายนอกได้
  • ปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่
เดือนที่ 10 (37 – 40 สัปดาห์)
  • ทารกมีความยาวประมาณ 45-50 เซนติเมตร
  • ทารกมีน้ำหนัก 2,500 กรัมขึ้นไป
  • มีการสะสมไขมันมากขึ้น รอยย่นของผิวหนังหายไป
  • เป็นระยะครบกำหนดคลอด

** ทารกอาจคลอดเมื่อไรก็ได้ระหว่างสัปดาห์ที่ 37 – 42 สัปดาห์

การฝากครรภ์กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

การดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ ควรจะต้องฝากครรภ์กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จะทำการนัดตรวจ การฝากครรภ์จึงสำคัญที่สุด เพื่อช่วยดูแลรักษาสุขภาพของแม่และทารกในครรภ์ให้ดำเนินไปได้ด้วยดีตลอดการตั้งครรภ์และการคลอด รวมถึงการลดอัตราตายและภาวะแทรกซ้อนของแม่และเด็ก

  • ทุกเดือนในช่วง 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
  • ทุกสองสัปดาห์ในเดือนที่ 7 และ 8 ของการตั้งครรภ์
  • ทุกสัปดาห์ในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์

ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากอายุหรือปัญหาทางด้านสุขภาพ แพทย์จะทำการนัดตรวจบ่อยขึ้น เมื่อไปตามนัดแพทย์จะทําการตรวจสุขภาพตามปกติ ซึ่งอาจรวมไปถึง

  • แพทย์พิจารณาการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะในบางช่วงขณะตั้งครรภ์
  • การตรวจวัดความดันโลหิต
  • การตรวจวัดน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์
  • การตรวจวัดการเจริญเติบโตและอัตราการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์

แพทย์จะทำการตรวจตําแหน่งของทารกในเดือนสุดท้าย ระหว่างการตั้งครรภ์นั้นสามารถเข้าร่วมชั้นเรียนการเตรียมตัวเป็นคุณแม่มือใหม่ตามที่แพทย์แนะนำได้ โดยคุณแม่มือใหม่จะได้เรียนรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้างระหว่างการตั้งครรภ์ การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนคลอด วิธีการดูแลทารก เช่น การอาบน้ำและให้นม เป็นต้น

อาหารที่เหมาะสมสำหรับหญิงตั้งครรภ์

ที่มารูปภาพ: pxfuel.com

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เนื่องจากร่างกายของแม่มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างและหลังการตั้งครรภ์ โภชนาการหลังคลอดที่เหมาะสมสามารถช่วยให้แม่ฟื้นความแข็งแรงและเริ่มให้นมบุตรได้ คุณแม่ที่ให้นมบุตรควรรับประทานอาการทุกครั้งที่รู้สึกหิว แต่ควรเลือกอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการแทนขนมหรืออาหารไขมันสูง และควรดื่มน้ำมาก ๆ อาหารที่รับประทานควรมีสารอาหารครบ 5 หมู่ได้แก่

  • แคลอรี่ ที่ต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 20
  • ปรตีน ควรเลือกรับประทานโปรตีนที่หลากหลาย เน้นโปรตีนจากปลา เต้าหู้ ไข่ และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หรือดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว
  • วิตามิน ช่วยให้ร่างกายคุณแม่มีความสมดุลและเพิ่มความแข็งแรง รวมถึงเสริมสร้างพัฒนาการและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ สำหรับการรับประทานวิตามินเสริมควรปรึกษาแพทย์ อาทิ วิตามินเอ บี ซี ดี อี เค รวมถึงคุณแม่ที่มีอาการท้องผูกควรรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์เพิ่ม
  • แร่ธาตุต่างๆ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก อาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ เนื้อแดง ไข่แดง และนม คุณแม่ส่วนใหญ่มีความจำเป็นต้องรับประทานจากยาเม็ดธาตุเหล็กเพิ่ม เนื่องจากการรับประทานอาหารอย่างเดียวไม่เพียงพอ
  • เน้นเนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว ผัก และผลไม้
  • โฟเลต มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสมองและระบบประสาท หากทารกขาดโฟเลตอาจเกิดภาวะกะโหลกศีรษะไม่ปิด หรือไขสันหลังไม่ปิด และแนะนำให้รับประทานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน โฟเลตมีมากในผักใบเขียว ถั่วเหลือง ส้ม กล้วย และนมเสริมโฟเลต
  • แคลเซียม จำเป็นในการพัฒนาการสร้างกระดูกและฟัน ซึ่งรับประทานได้จากนม และอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น กระดูกอ่อน ปลาเล็กปลาน้อย รวมถึงการรับประทานยาเม็ดแคลเซียม
  • น้ำ ช่วงตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่มีความต้องการน้ำมากเป็นพิเศษ จึงควรดื่มน้ำให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น ช่วยแก้ปัญหาอาการท้องผูก และป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งเป็นอันตรายอย่าง

ใช้ชีวิตให้ถูกสุขลักษณะ

  • รักษาความสะอาด
  • ใส่เสื้อผ้าให้หลวมสบาย
  • ไม่ใส่รองเท้าส้นสูง
  • ดูแลรักษาฟัน ขูดหินปูน
  • ดูแลหน้าท้อง ทรวงอก ระบบขับถ่าย
  • มีเพศสัมพันธ์ด้วยท่าที่เหมาะสม ในกรณีที่ไม่มีข้อห้าม ตามคำแนะนำของแพทย์
  • พักผ่อนนอนหลับวันละ 8 – 14 ชั่วโมง
  • ออกกำลังกายและทำงานแบบพอดี ได้แก่ การเดิน การเล่นโยคะ

การเตรียมเต้านม

  • การดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ ในช่วง 3-4 เดือนก่อนคลอด คุณแม่ที่มีหัวนมสั้นหรือหัวนมบอด ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ เพื่อแก้ไขให้หัวนมยาวพอที่ลูกจะใช้ดูดนมได้ ไม่เช่นนั้นอาจคัดเต้านม จนน้ำนมไหลไม่สะดวก นอกจากนี้คุณแม่ควรเลือกเสื้อชั้นใน ที่มีขนาดพอเหมาะกับเต้านมที่จะขยายใหญ่ขึ้น

การปฏิบัติงานประจำวัน

  • ทำงานได้ตามปกติ แต่ไม่ควรทำงานหนัก
  • ไม่ควรออกกำลังกายจนเหนื่อย
  • การออกกำลังกายควรเริ่มหลังตั้งครรภ์ได้ 4 เดือน

อาการที่คุณแม่ต้องระวัง

หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพราะอาจเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ

  • น้ำหนักขึ้นมากกว่าปกติ
  • เปลือกตาบวม
  • ปวดศีรษะตรงหน้าผากและขมับข้างขวา
  • ตาพร่า
  • ปัสสาวะไม่ออก
  • เลือดออกผิดปกติ

การเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด

ทั้งการคลอดปกติ หรือการผ่าคลอด สามารถร่วมวางแผนกับสูตินรีแพทย์ที่ฝากครรภ์ได้เลยค่ะ

พี่แอ๋วจะมาแชร์การเตรียมของใช้ที่จำเป็นสำหรับลูกรัก เสื้อผ้า ผ้าอ้อม ถุงมือ ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว เสื้อ ขวดนม และอุปกรณ์ทำความสะอาดขวดนม อุปกรณ์อาบน้ำ อ่างอาบน้ำ ฟองน้ำ / ผ้าขนหนูผืนเล็ก สบู่ แชมพู เบาะหรือผ้าปูรองอาบน้ำ ที่นอน และผ้าปูรองนอน กรรไกรตัดเล็บ

  • เตรียมบ้านและอุปกรณ์สำหรับเด็ก ให้บริเวณบ้านมีความปลอดภัย
  • เตรียมเป้อุ้มเด็ก และรถเข็นเด็ก

สัญญาณเตือนก่อนการคลอด

  • มีอาการเจ็บท้องบริเวณมดลูกมาก บ้างน้อยบ้าง เป็นๆ หายๆ ไม่ถี่มากเกินไปนั้นเป็นอาการเจ็บท้องจากการเกร็งตัวหรือ บีบตัวของมดลูก
  • มีเลือดไหลออกทางช่องคลอด
  • มีน้ำหรือของเหลวใสไหลออกจากช่องคลอด
  • มีอาการปวดเกร็งบริเวณหน้าท้อง (มดลูก)

ตลอดระยะเวลาของ การดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ ให้มีคุณภาพต้องรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ใช้ชีวิตให้ถูกสุขลักษณะ ทำงานและออกกำลังกายแบบพอดี ไม่กังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การคลอด และการเลี้ยงเด็กแรกเกิด ที่สำคัญเมื่อคุณแม่ทราบเทคนิคในการดูแลครรภ์แล้ว สิ่งสำคัญคือต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมในการคลอดบุตร และปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง ปกป้องสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ได้อย่างเหมาะสม

และนี่ก็เป็นข้อมูลความรู้ที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้วิธี เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์ พัฒนาการทารกในครรภ์ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจและร่วมมือกันเพื่อให้เจ้าตัวน้อยคลอดออกมาอย่างสมบูรณ์และแข็งแรง และเตรียมความพร้อมในการดูแลลูกน้อยตามวัยให้เขาเติบโตขึ้นอย่างมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรง

ขอให้ลูกน้อยของคุณมีความสุขและสุขภาพแข็งแรงในทุกวันนะคะ H-Kid และพี่แอ๋วขอเป็นกำลังใจให้ค่ะReference

  1. the australian parenting website | raisingchildren.net.au
  2. HARVARD T.H .CHAN | School of Public Health

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *