พัฒนาการเด็กวัย 1-3 ขวบ มีอะไรบ้าง ดูแลอย่างไร?

พัฒนาการเด็กวัย 1-3 ขวบ

พัฒนาการเด็กวัย 1-3 ขวบ มีอะไรบ้าง ดูแลอย่างไร?

รู้ไหมว่า…พัฒนาการเด็กวัย 1-3 ขวบถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ ทุกคนภายในครอบครัวต้องเตรียมพร้อม เรียนรู้และปรับตัวให้อยู่ร่วมกัน ร่วมมือเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพด้วยการจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย พูดคุยสื่อสาร และพาไปพบเจอสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อให้เกิดการทำกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัว

ช่วง 1 ขวบ พัฒนาการทางสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษาจะพัฒนาเป็นอย่างมาก พัฒนาการด้านภาษาจะรวดเร็ว เด็กจะเรียนรู้คำศัพท์เพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่าระหว่างวันเกิดปีแรกและปีที่สอง

ช่วง 2 ขวบ อัตราการสร้างไมอีลินเพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นกลไกที่สำคัญที่สุดในการทำงานของสมอง ซึ่งช่วยให้สมองทำงานซับซ้อนมากขึ้น ช่วยพัฒนาการคิดขั้นสูงและทักษะด้านอื่นๆ

ช่วง 3 ขวบ สมองเริ่มเติบโตเต็มที่ความหนาแน่นของซินแนปติกในเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้า (preconfrontal cortex) สูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์ของระดับผู้ใหญ่ทำให้เด็กๆ เริ่มเข้าใจเหตุและผลได้ดีมากขึ้น

เลือกอ่าน :

พัฒนาการเด็กวัย 1-3 ขวบ

พัฒนาการเด็กวัย 1-3 ขวบ เวลาทองแห่งการพัฒนา

ช่วงสามปีแรกเมย์คิดว่าเป็นช่วงพัฒนาการที่ท้าทายสำหรับพ่อแม่ ลูกๆ จะมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องภาษาและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมไปถึงทางกายภาพ ได้แก่ กล้ามเนื้อ ร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญา

พัฒนาการเด็กวัย 1-3 ขวบ ด้านอารมณ์

“ฉันเป็นฉันเอง”

ลูกน้อยเริ่มเคลื่อนไหวได้เอง ทำให้มีอิสระ อยากทำอะไรเอง ดังนั้นพฤติกรรม ไม่เอา ไม่ทำ เกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือแทบจะทุกวัน เช่น ไม่ยอมให้พ่อแม่ป้อน ต้องการหยิบจับด้วยตัวเอง เมื่อพ่อแม่ขัดใจ ก็อาจแสดงพฤติกรรม กรีดร้อง ดิ้น อาละวาด ได้ค่ะ

“หยุดไม่อยู่! อยากได้ อยากทำ”

ส่วนใหญ่เมื่อถึงวัย 3 ขวบ เด็กจะสามารถคุมตนเองได้ในระดับหนึ่ง เพราะได้รับการฝึกให้รอคอย หากเคยมีประสบการณ์ว่าบางครั้งต้องรอถึงจะได้รางวัลก็จะสามารถรอได้ค่ะ ซึ่งความสามารถในการคุมตนเองนำไปสู่การช่วยเหลือตนเองและการฝึกขับถ่าย ฝึกให้ลูกลองใช้ห้องน้ำ เดินไปเองหรือลุกนั่งเอง เรียนรู้ที่จะบอกว่าปวดเข้าห้องน้ำตอนไหน คุณพ่อคุณแม่ต้องเอาใจใส่ในช่วงนี้มากขึ้นเพื่อฝึกฝนเด็กๆ

“ความผูกพันแน่นแฟ้นขึ้น” (Attachment)

วัยนี้เมย์มองว่าความผูกพันที่สร้างขึ้นระหว่างเด็กกับผู้เลี้ยงดูไม่ว่าจะพ่อแม่หรือครอบครัว มีควาสำคัญมากต่อความรู้สึกและพัฒนาของลูกในอนาคต การมีความผูกพันมั่นคง เป็นเรื่องที่จำเป็นต่อพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคมของเด็กเมื่อโตขึ้น แม้ดูเหมือนเด็กต้องการอิสระบ้าง และปฏิเสธความช่วยเหลือจากพ่อแม่ แต่ภายใต้จิตใจเด็กก็ยังต้องการให้พ่อแม่อยู่ใกล้ๆ และคอยเข้าหาเค้าอยู่เสมอนะคะ

“หนูเป็นคนแบบนี้” (Temperament)

การแสดงออกของเด็กๆ ในช่วงนี้จะชัดเจนมากเลยค่ะ เด็กมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่เผชิญจนแสดงออกมาทาง การพูด สีหน้า และการเคลื่อนไหว เรียกว่า “พื้นอารมณ์” โดยมีเรื่องของพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องบางส่วน

ผู้เชี่ยวชาญคุณ Chess and Thomas ได้ติดตามเด็กจำนวนมากกว่า 100 คนและพบ 9 ลักษณะของพื้นอารมณ์ ได้แก่ การปรับตัว, ความกระตือรือร้น, อารมณ์, สมาธิ ,ความอดทน ฯลฯ ได้แบ่งเด็กออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ

  • เด็กเลี้ยงง่าย (40%)
  • เลี้ยงยาก (10%)
  • แบบผสม และ แบบปรับตัวช้า (15%)

ซึ่งเมย์เห็นในหลายเคสปัญหาการเลี้ยงดูมักเกิดจากการที่ เด็กมีความแปรปรวนด้านพื้นอารมณ์ กับความคาดหวังและบุคลิกภาพของผู้ปกครอง ซึ่งพ่อแม่บางท่านอาจคิดว่าตัวเองเลี้ยงลูกไม่ดีจึงทำให้ลูกแสดงออกมาในแบบที่ไม่ตรงความคาดหวังของตัวเอง เพราะอันที่จริงเมย์อยากบอกว่าพื้นอารมณ์เป็นเรื่องที่มาจากภายในตัวเด็กเองค่ะ ไม่ได้มาจากการเลี้ยงดูโดยตรงเท่านั้น ดังนั้นการที่เด็กดื้อไม่เท่ากันมาจากพื้นฐานอารมณ์ของเด็กแต่ละคน หากอธิบายจากหลักการของพื้นอารมณ์ โดยเฉพาะเด็กที่ปรับตัวยากและอารมณ์เสียง่าย ก็มักดื้อมากกว่าปกติค่ะ

พัฒนาการเด็กวัย 1-3 ขวบ ด้านสติปัญญา

การดูแลและพัฒนาการเด็กด้านสติปัญญาช่วงวัย 1-3 ขวบ เป็นเรื่องที่ต้องให้เวลาและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็กค่ะ ในช่วงวัยนี้เด็กจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากการเรียนรู้โดยใช้ประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว โดยในความคิดตัดสินใจ มีเหตุมีผล และจำคำศัพท์ต่างๆ ได้มากขึ้น ทำให้คุณพ่อ คุณแม่ต้องสอนและเรียนรู้พัฒนาของลูกไปพร้อมๆ กันค่ะ

การเปลี่ยนแปลงด้านสติปัญญาของลูกน้อย

  • กระบวนความคิดเป็นรูปธรรม สามารถจับต้องได้ มองเห็นและลองลงมือทำด้วยตัวเอง
  • มีการลองผิดลองถูก หยิบจับเอง เดินไปตามจุดต่างๆ ในช่วงอายุ 18-24 เดือน
  • เริ่มมีการเล่นสมมติบทบาท เช่น เอากาละมังมาเป็นหมวก หรือมีการเลียนแบบเหตุการณ์ในอดีต
  • เด็กๆ เริ่มเล่นแบบมีจินตนาการ แต่อาจลืมว่าความสามารถทางสติปัญญาจำกัด ไม่ได้นึกถึงความรู้สึกของผู้อื่น
  • โลกหมุนรอบตัวแบบตนเองเป็นศูนย์กลางและคิดว่าทุกคนจะต้องตามใจและรู้สึกเหมือนที่ตนเองรู้สึก
  • สามารถแยกแยะ หยิบจับของเล่น จัดเรียงสิ่งของตามรูปร่างและสีได้เอง
  • เลียนแบบพฤติกรรมของผู้อื่น ทำตามพฤติกรรมของอีกคนหนึ่งโดยเฉพาะผู้ใหญ่และเด็กโต
  • มีความกระตือรือร้นมากขึ้น และตื่นเต้นทุกครั้งในการอยู่ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ
  • เริ่มแสดงพฤติกรรมท้าทาย ต่อต้าน แสดงออกว่าไม่เชื่อฟัง

พัฒนาการเด็กวัย 1-3 ขวบ ด้านร่างกาย

ด้านการเจริญเติบโต

ลูกน้อยเริ่มมีอัตราการเจริญเติบโตช้าลงหลังอายุ 2 ปี น้ำหนักเพิ่มขึ้น 2-2.5 กิโลกรัม/ปี สูงขึ้นเฉลี่ย 6-7 เซนติเมตร/ปี รอบหัวเพิ่มขึ้นเพียง 2.5 เซนติเมตรในช่วงอายุ 2-12 ปี คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตลูกในวัยนี้ไม่ควรมีน้ำหนักเท่าเดิมนานเป็นสัปดาห์ เมย์แนะนำให้ใส่ใจเรื่องโภชนาการมากขึ้น เรื่องความสูงที่เพิ่มขึ้นในเด็กวัยนี้ มักเกิดจากการยืดของช่วงล่างมากกว่าช่วงกลางลำตัว มีความตึงตัวของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น และมวลไขมันลดลง ทำให้เด็กวัยนี้ดูเหมือนตัวยืดขึ้นค่ะ

ด้านการการเคลื่อนไหว

ในเรื่องของพัฒนาการด้านร่างกายที่เมย์เห็นได้ชัดเลยก็คือ เด็กจะเดินได้เร็วขึ้น ไม่ค่อยล้ม, วิ่งเร็วขึ้น, เดินขึ้นบันได มือเดียวจับ, ปีนขึ้นเก้าอี้, เดินขึ้นลงบันไดตามลำพัง, เตะบอลลูกใหญ่ ดินขึ้นบันไดสลับเท้า, ขี่รถสามล้อ, ยืนขาเดียวได้ช่วงสั้นๆ ในส่วนของกล้ามเนื้อมัดเล็กของลูกน้อยทำงานได้ดีขึ้น เช่น ขีดเขียนยุกยิก ระบายสี ขีดเส้นตรง ลอกรูปวงกลมได้เอง

อายุพัฒนาการตามช่วงวัยวิธีการส่งเสริมพัฒนาการ
วัย 12-18 เดือน ⦁ ยืนเองได้ชั่วครู่หรือจูงมือเดิน 
⦁ วางของซ้อนกันได้ 2 ชิ้น 
⦁ ใส่วงกลมลงในช่องปักหมุดลงในช่อง
⦁ เรียกพ่อแม่หรือพูดคำพยางค์เดียว
⦁ พูดคุยชี้บอกส่วนต่างๆ ของร่างกาย 
⦁ ใช้คำบอกส่วนต่างๆ บนใบหน้า 1-3 ส่วน
⦁ ใช้ช้อนตักอาหารได้เองมีหกเล็กน้อย
⦁ ให้ลูกน้อยมีโอกาสลอง ยืน เดิน ด้วยตัวเอง
⦁ หาของเล่นเป็นชิ้น ให้หยิบจับ
⦁ ให้เล่นของเล่นเพื่อการเรียนรู้ เช่น หมุดไม้  หยิบห่วงใส่แท่งไม้
⦁ ให้ลูกเจอคนในครอบครัวบ่อยๆ ฝึกเรียกชื่อพูดคุย
⦁ เรียนรู้จากหนังสือภาพ ให้ลูกเรียนรู้อวัยวะต่างๆ
⦁ เล่นทายคำ ทายส่วนต่างๆ ของร่างกาย
⦁ ให้หยิบตักอาหารรับประทานเอง
วัย 18-24 เดือน ⦁ เดินได้คล่องมากขึ้นเริ่มวิ่งได้เอง 
⦁ เดินขึ้นบันไดเดินถอยหลังเตะลูกบอล
⦁ วางของซ้อนกันได้ 4-6 ชั้น แยกสี 2 สี
⦁ ขีดเขียนเป็นเส้นยุ่งๆ ไม่เป็นตัว
⦁ ชี้รูปภาพตามบอกได้
⦁ พูดคำโดดได้มากขึ้นพูดเป็นวลี 2-3
⦁ เริ่มจำชื่อตัวเองเมื่ออายุ 2 ปีเริ่มบอกชื่อเล่นได้
⦁ ใช้ช้อนตักอาหารได้เริ่มถอดเสื้อผ้าเองได้
⦁ พาลูกเดินเล่นในสนามหญ้าฝึกเดินและวิ่งเล่น
⦁ สอนให้เล่นอย่างปลอดภัย เตะบอล ปีนป่ายเครื่องเล่นเด็ก
⦁ ให้เล่นของเล่นที่มีสีสันซับซ้อนกว่าเดิม หรือรูปทรงที่แตกต่าง
⦁ พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งรอบตัว ให้ดูภาพ เล่าเรื่อง เล่านิทานสั้น ๆ
⦁ เริ่มฝึกการขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะให้เป็นที่ เช่น กระโถนหรือส้วมที่ดัดแปลงให้เหมาะกับเด็กเล็ก
⦁ พูดคุยกับลูกและสร้างภาพจำว่าตัวเองคือใคร ชื่ออะไร
⦁ ฝึกให้เรียนรู้เสื้อผ้าและของใช้ตัวเอง
วัย 24-36 เดือน⦁ เตะบอลขว้างบอลกระโดดอยู่กับที่
⦁ เดินขึ้นลงบันไดขี่จักรยาน 3-4 ล้อ
⦁ เปิดหนังสือทีละแผ่นเขียนกากบาทและวงกลมได้
⦁ พูดได้เป็นประโยคโต้ตอบได้ตรงเรื่อง
⦁ บอกชื่อตัวเองได้ ร้องเพลงง่าย ๆ
⦁ บอกเวลาจะถ่ายปัสสาวะและอุจจาระได้ 
⦁ ถอดเสื้อผ้าและใส่เองได้
⦁ ให้เล่นเครื่องเล่นในสนามกับเด็กอื่น ปืนป่าย  กระโดด  
⦁ ฝึกขึ้นบันได ขี่จักรยาน 3 ล้อโดยดูแลอย่างใกล้ชิด
⦁ ฝึกขีดเขียน ระบายสี นับเลข เล่นบทบาทสมมุติ หาของเล่นที่มีสี ขนาด รูปทรง หรือพื้นผิวที่แตกต่างกัน
⦁ พูดคุยเล่านิทานร้องเพลงกับลูกส่งเสริมให้ลูกพูด  เล่าเรื่อง ร้องเพลง พ้อมแสดงท่าทาง
⦁ ใส่ใจความรู้สึกของลูกน้อยและตอบสนองโดยไม่บังคับ
⦁ ฝึกให้ลูกรับประทานอาหารและสวมใส่เสื้อผ้าเอง
⦁ ฝึกลุกน้อยให้ไปเข้าห้องน้ำเมื่อจะถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ โดยคอยมองดูและช่วยเหลือใกล้ชิด

อาหารที่เหมาะสำหรับเด็กวัย 1-3 ปี

ช่วงวัย 1-3 ปีถือเป็นช่วงแห่งการเคลื่อนไหวอย่างแท้จริง และอาหารก็คือกำลังสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยเป็นรากฐานแห่งพัฒนาการของลูกได้ โดยเฉพาะอาหารหลัก 5 หมู่ ที่มีประโยชน์ครบถ้วนเหมาะสำหรับเด็ก และช่วยสร้างนิสัยการกินที่ดีต่อสุขภาพไปตลอดชีวิตด้วยค่ะ

คาร์โบไฮเดรต : มีอยู่มากในข้าว แป้ง ขนมปัง 

โปรตีน : วัตถุดิบหลักได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ ถั่ว ธัญพืช และนมสด เป็นต้น เป็นขุมพลังที่สร้างการเจริญเติบโตตั้งแต่กระดูก กล้ามเนื้อ ไปจนถึงเส้นผม และทำหน้าที่สร้างเนื้อเยื่อใหม่ ซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ชำรุด ควบคุมการทำงานของปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย

ไขมัน : เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานสูงสุด และจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็กๆ เพราะเป็นที่ละลายวิตามิน เอ ดี อี และเค ทั้งนี้ ยังเป็นส่วนประกอบของระบบในร่างกาย เช่น ระบบประสาท เนื้อเยื่อ และผนังเซลล์ สุดท้ายไขมันใต้ผิวหนังยังช่วยลดการกระทบกระเทือนของอวัยวะต่างๆ อีกด้วย

วิตามินและแร่ธาตุ : เมื่อลูกวิ่งเล่นจนเหนื่อย จะสูญเสียสังกะสีทางเหงื่อและปัสสาวะ โดยสังกะสีจะมีในอาหารทะเล ไข่ จมูกข้าวสาลี ส่วนแหล่งอาหารที่มีแร่ธาตุอื่นๆ สูงได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ ผัก ถั่ว และผลไม้โดยเฉพาะกล้วย 

เมย์ขอแชร์เคล็ดลับโภชนาการ เรื่อง “ผลไม้” ดีต่อร่างกายของลูกน้อย…เพราะวิตามินในผลไม้มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ที่ช่วยบำรุงสมองและทำให้ระบบประสาททำงานได้ดี สามารถสั่งงานให้ร่างกายทำงานได้มีประสิทธิภาพและความหวานของผลไม้ยังช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกสดชื่น ผลไม้มีรสหวานที่ได้จากน้ำตาลฟลุกโตสซึ่งให้พลังงานน้อย และทำให้ลดการเกิดฟันผุ ซึ่งดีต่อร่างกายลูกน้อยของเราค่ะ

แหล่งอาหารสำคัญของเด็กวัย 1-3 ปี

นม – ลูกน้อยสามารถดื่มนมวัวชนิดธรรมดาได้แล้ว ลูกในวัยนี้ใช้พลังงานเยอะต่อวันจึงต้องดื่มนมเพื่อช่วยเสริมสารอาหาร นมจะช่วยให้ร่างกายลูกเจริญเติบโตเร็วขึ้น สารอาหารในนมนั้นจะมีแคลเซียมสร้างกระดูกให้แข็งแรง โดยลูกควรได้รับนมวันละไม่ต่ำกว่า 3/8 ออนซ์ ร่างกายถึงจะได้แคลเซียมพอเพียงต่อการสร้างกระดูกและฟันที่แข็งแรง
ผลไม้ –เริ่มจากให้ลูกทานทีละชนิด จะได้เรียนรู้รสชาติของผลไม้แต่ละอย่างที่แตกต่างกันออกไป ลองหั่นให้ลูกหม่ำเป็นชิ้น (ขนาดพอคำ) เพราะจะได้เส้นใยจากผลไม้มากกว่าปั่นเป็นน้ำค่ะ เลือกชนิดที่มีเนื้อนิ่ม เคี้ยวง่าย เช่น มะละกอสุก กล้วยสุก มะม่วงสุก เป็นต้น และเปลี่ยนสลับชนิดผลไม้ให้หลากหลาย เพื่อให้ลูกน้อยได้รับวิตามินเอ ซี อย่างครบถ้วนค่ะ
แป้ง – เป็นอาหารที่สร้างพลังงานได้เป็นอย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่ที่เมย์เห็นลูกๆ จะชอบกินเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว โดยเฉพาะเส้นใหญ่ เพราะกินง่ายลื่นคอ ไม่แข็งหรือแห้งเกินไป แนะนำให้ปรับให้มีคาร์โบไฮเดรตเพิ่มความหลากหลาย เช่น มักกะโรนี หรือขนมปัง
เนื้อสัตว์ – วัยนี้ลูกน้อยสามารถกินเนื้อสัตว์ได้ทุกชนิด สามารถให้ลูกลองกินเนื้อปลา อกไก่ฉีก หรือหมูสับ ตุ๋นจนนิ่ม ปรุงรสเล็กน้อย เพื่อให้ลูกกินได้ง่าย โดยสัดส่วนเนื้อสัตว์ ผัก จะต้องสมดุลและเหมาะสม เพื่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยค่ะ

ปัญหาการกินและการแก้ไขของเด็กวัย 1-3 ปี

1. ไม่กินผัก

ปัญหายอดฮิตของลูกน้อย ซึ่งเมย์มองว่าที่ผ่านมาลูกอาจมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับผัก เช่น ถูกบังคับให้กินเมื่อยังไม่พร้อม อีกทั้งกากใยของผัก เมื่อสัมผัสถูกลิ้นแล้วทำให้รู้สึกสากๆ ไม่นุ่มนิ่มเหมือนอาหารประเภทอื่น ช่วงวัย 1-3 ปี เด็กมักจะชอบอาหารรสอ่อน ไม่ชอบผักหรือของที่จะต้องเคี้ยวมากๆ เมย์แนะนำให้เลือกผักที่นิ่มและมีรสหวานอ่อนๆ เช่น แครอท มะเขือเทศ ต้มหรือผัดให้เปื่อยนิ่ม จะช่วยฝึกให้ลูกน้อยทานผักได้ง่ายขึ้นค่ะ

2. ไม่กินเนื้อสัตว์

เด็กๆ บางคนไม่ยอมกินเนื้อสัตว์ จะเลือกกินแต่ข้าว ขนมปัง เพราะเนื้อสัตว์อาจมีกลิ่น มีความเหนียว เคี้ยวยาก แม้ว่าจะสับละเอียดแล้วแต่ลูกก็มักจะคายทิ้งออกมาเมื่อรู้สึกไม่อยากกิน เมย์แนะนำให้พยายามปรับให้ลูกกินเนื้อสัตว์ เริ่มจากเนื้อไก่ ปลาน้ำจืด เพราะไม่มีกลิ่น กินง่าย เนื้อนิ่มและลองหาวัตถุดิบที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ เช่น ไข่ เต้าหู้ มาปรุงอาหารปรับเปลี่ยนเมนูใหม่ค่ะ

3. เบื่ออาหาร

วัยแห่งการเรียนรู้การกินและรสชาติ ลูกน้อยจะเรียนรู้การกินแบบผู้ใหญ่และปฏิเสธอาหารที่ไม่น่าสนใจ ไม่น่าดึงดูดใจ มีสิ่งอื่นอย่างของเล่น ที่น่าสนใจกว่าอาหาร ทำให้ลูกรู้สึกไม่อยากกินอาหารที่อยู่ตรงหน้า หรืออีกปัจจัยคือบรรยากาศในการกินไม่ดีก็มีส่วนในการทำให้เบื่ออาหารได้ค่ะ เมย์แนะนำให้สร้างบรรยากาศการกินข้าวให้สนุกสนาน งดของกินจุบจิบหรือให้ลูกกินอาหารให้เป็นเวลามากขึ้น และพยายามให้ลูกกินไข่ให้ได้วันละ 1 ฟองเพื่อการันตีว่าลูกได้สารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายค่ะ

4. อมข้าว 

ลูกน้อยชอบอมข้าว บางทีอาจไม่อยากกินข้าวหรือไม่อยากกลืนอาหาร เมย์แนะนำให้งดอาหารทุกอย่างก่อนมื้ออาหาร ยกเว้นน้ำเปล่า เมื่อลูกหิวจะยอมกินเอง ฝึกลูกให้กินด้วยตัวเองให้เค้ารู้สึกสนุกกับการกิน แม้จะเลอะเทอะบ้างก็ต้องยอม และที่สำคัญต้องชมเมื่อลูกกินข้าวได้มากด้วยนะคะ

5. เลือกกิน

พฤติกรรมเลือกกินเป็นได้ตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งอาจส่งผลเสียในระยะยาว อาจทำให้กินยากและเลือกกินแต่อาหารที่ชอบในอนาคตได้ เมย์แนะนำให้ลูกได้ลิ้มลองอาหารแปลกใหม่เสมอโดยค่อยๆ ป้อนทีละน้อย ลองสังเกตุว่าลูกไม่ชอบอาหารอะไรและพยายามสร้างความรู้สึกที่ดีกับอาหารที่ลูกปฏิเสธ เช่น กินให้ดูเป็นตัวอย่างแล้วให้ลูกลองชิมดูบ้าง หรืออีกวิธีหนึ่งลองดัดแปลงจัดปรุงอาหารให้ดูน่ากิน แปลกใหม่ไม่ซ้ำซากก็ช่วยได้ค่ะ

5. ติดฟาสฟูดส์ 

อาหารขยะเป็นอาหารที่อร่อย รสชาติถูกใจเด็กๆ แถมยังมีสีสันของแพ็กเกจที่น่ากินอีกด้วย แต่กระบวนการปรุงเน้นรวดเร็วและสารอาหารที่ได้รับก็อาจจะไม่ครบถ้วน ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพของลูกน้อย เมย์แนะนำให้ลองตั้งเป็นกฎในบ้านเลยว่าจะให้ลูกกินอาหารประเภทนี้ได้เดือนละกี่ครั้ง จำกัดการกินเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของลูกน้อยค่ะ

พัฒนาการของเด็กวัย 1-3 ขวบ นั้นมีหลากหลายปัจจัยที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เพื่อจะช่วยให้การเลี้ยงดูลูกน้อยง่ายขึ้น เมย์อยากบอกว่าเรื่องพัฒนาการเด็กวัย 1-3 ขวบยังไม่หมดแค่นี้ ติดตามได้ที่ Ep.2  นะคะ

พัฒนาการเด็กวัย 1-3 ขวบ มีอะไรบ้าง ดูแลอย่างไร ? Ep.2

หากพูดถึงช่วงเวลาที่สำคัญวัยเด็กคงจะหนีไม่พ้นช่วงพัฒนาการเด็กวัย 1 – 3 ขวบ เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพัฒนาการในแต่ละด้านที่หลากหลายและซับซ้อน ด้านกายภาพที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ด้านการสื่อสาร อารมณ์ สังคม ด้านการเรียนรู้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะก้าวแรกที่ลูกน้อยจะได้เรียนรู้เร็วที่สุดคือจากครอบครัวที่ใกล้ชิดค่ะ

เมย์มองว่าคุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มต้นฝึกเรื่องนิสัยการกินให้เด็กๆ ตั้งแต่ยังเล็กช่วงวัย1-3 ขวบกำลังดี จะช่วยให้ลูกน้อยมีระเบียบวินัยในการกินและเห็นคุณค่าของอาหารมากยิ่งขึ้น ช่วงแรกอาจจะต้องฝืนใจและอดหน่อยหน่อย แต่ต่อไปก็จะง่ายกับพ่อแม่เมื่อลูกๆ เติบโตค่ะ

6 วิธีในการทำให้มื้ออาหารของครอบครัวสนุกสนาน

1.จัดสรรเวลาให้มื้ออาหารร่วมกัน
ครอบครัวควรมีช่วงเวลาร่วมกันในหนึ่งวัน เมย์แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่รับประทานอาหารร่วมกันเป็นประจำกับลูก เป็นมื้อเช้าหรือมื้อเย็นก็ได้และอาจจะลองวิธีการป้องกันปัจจัยกระตุ้น หรือจุดสนใจอื่นๆ เช่น ปิดโทรทัศน์ ไม่เล่นมือถือ เน้นการสนทนาภายในครอบครัว จะทำให้ช่วงเวลานี้พิเศษยิ่งขึ้นค่ะ

2. ลดความเร่งรีบ
การฝึกเผื่อเวลากับทุกสถานการณ์เป็นเรื่องที่ดี เมย์มองว่าหากคุณเผื่อเวลาไว้ประมาณ 20-30 นาทีสำหรับมื้ออาหารของครอบครัวทกครั้ง จะทำให้ลูกๆ มีเวลารับประทานอาหารมากขึ้น ได้ลองอาหารประเภทอื่นๆ และพัฒนานิสัยการกินที่ดีต่อสุขภาพ เพราะว่าการกินแต่ละครั้งจะต้องไม่เร่งรีบ ซึ่งส่งผลดีต่อกระเพาะอาหารและระบบย่อยของลูกน้อย นอกจากนี้ยังช่วยให้คุณแม่มีเวลาพักผ่อน สนทนา พูดคุยกันภายในครอบครัวมากขึ้นอีกด้วย

3. ให้ทุกคนมีส่วนร่วม
กิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างจิตนาการและส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย สติปัญญา อีกอย่าง เมย์มองว่าการให้ลูกน้อยมีส่วนร่วมในการเตรียมมืออาหารด้วยตัวเองช่วยเสริมพัฒนาการได้หลายด้าน ให้ลูกๆ มีส่วนร่วมในการเลือกและเตรียมอาหารสำหรับครอบครัว ตัวอย่างเช่น ล้างผักและผลไม้ นอกจากนี้ยังสามารถให้ลูกช่วยจัดโต๊ะ หากลูกๆ ได้ลองทอด้วยตัวเองแล้ว จะช่วยเพิ่มโอกาสที่ลูกจะกินอาหารที่เค้าเตรียมด้วยตัวเอง และยังเป็นการกระตุ้นให้เด็กๆ ลองอาหารที่หลากหลายขึ้นด้วย

4. ใช้มื้ออาหารของครอบครัวเป็นโอกาสในการพูดคุย
ในระหว่างการทานอาหารร่วมกันภายในครอบครัว เมย์มองว่าเป็นช่วงจังหวะที่ดีในการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเด็กๆ ได้ติดตามเรื่องราวที่ลูกได้ทำในแต่ละวัน การถามคำถามระหว่างพ่อแม่ลูก เช่น ให้ลูกเล่าเรื่องดีๆ หนึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนวันนี้ หรืออีกอย่างให้คุณพ่อคุณแม่พูดเรื่องราวของตนเองให้ลูกๆ ฟัง เน้นเรื่องที่เป็นเชิงบวกเท่านั้นนะคะ จะทำให้ลูกไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดให้พูดมากเกินไป แต่ถ้าลูกไม่อยากพูดจริงๆ ก็ไม่ควรไปเร่งเร้า วิธีการนี้จะช่วยให้บรรยากาศในการรับประทานอาหารสนุกสนานและฝึกฝนการเข้าสังคมไปในตัว

5.เน้นการรับประทานที่มีคุณภาพและอร่อย
หลายครั้งที่เมย์เห็นว่าหลายครอบครัวมีการกดดันลูกเวลาทานอาหาร หรือพูดเชิงเปรียบเทียบระหว่างเด็กอีกคน เช่น พูดว่า ‘ว้าว ทำได้ดีมาก น่ากินจัง’ หรือ ‘ดูน้องสาวของลูกสิ น้องกินมากกว่า’ จะเป็นการกดดันลูกและทำให้เค้ารู้สึกไม่มีคุณค่าและพ่ายแพ้ เมย์แนะนำให้ลองเปลี่ยนกระกระทำใหม่ดีกว่าค่ะ หลีกเลี่ยงการพูดถึงปริมาณอาหารหรืออาหารที่รับประทานเข้าไปในแต่ละมื้อกับลูก จะช่วยลดความกดดันเวลาเด็กๆ ต้องทานอาหารได้ สิ่งนี้จะทำให้เวลารับประทานอาหารเด็กรู้สึกผ่อนคลายและสนุกสนานมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการใช้อาหารเป็นการลงโทษหรือติดสินบน ตัวอย่างเช่น ไม่ควรพูดว่า ‘ถ้ากินบร็อคโคลี่แล้วแม่จะให้ทานไอศกรีม’ สิ่งนี้จะทำให้ลูกสนใจขนมมากกว่าอาหารเพื่อสุขภาพ

6. เพิ่มความคิดสร้างสรรค์เวลารับประทานอาหาร
การเพิ่มความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในการรับประทานอาหารเมื่อมีเวลาหรือในโอกาสพิเศษ จะทำให้ทุกคนสนุกสนานกับมื้ออาหารมากขึ้น เช่นการเปลี่ยนบรรยากาศปิกนิกที่สวนสาธารณะ ในสวนหลังบ้าน หรือบนพื้นห้องนั่งเล่น และในโอกาสสุดพิเศษอาจจะมีการเชิญแขกมาทานอาหารเย็น เช่น เพื่อน ปู่ย่าตายาย หรือเพื่อนบ้าน ก็จะช่วยให้ลูกๆ รู้สึกว่าการรับประทานอาหารมื้อนั้นสำคัญและน่าตื่นเต้น

พัฒนาการเด็กวัย 1-3 ขวบเกี่ยวกับการออกกำลังกาย

เมย์มองว่าการออกกำลังกายมีความสำคัญต่อสุขภาพของลูกน้อยเป็นอย่างมาก ลูกน้อยควรได้ขยับร่างกาย กล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ของเค้าอยู่เสมอ จะช่วยให้ลูกของคุณพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว ช่วยให้ลูกคิด และเปิดโอกาสให้ลูกได้สำรวจโลกของพวกเขาด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นเมย์อยากให้คุณพ่อคุณแม่หาโอกาสเล่นกับลูกๆ หรือพาพวกเค้าออกไปเล่นที่สนามเด็กเล่น เพื่อเสริมสร้างความคล่องตัว กระตือรือร้น ของร่างกาย

พัฒนาการเด็กวัย 1-3 ขวบเกี่ยวกับสุขภาพ

ลูกน้อยในช่วงวัยนี้จะมีอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่น หวัด ปวดหู และกระเพาะและลำไส้อักเสบ โดยทั่วไปจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ในระยะยาวต่อพัฒนาการทางร่างกาย แต่หากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องอาจมีภาวะเรื้อรังหรือระยะยาว และส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ได้

เทคนิคป้องกันอาการวัยทองของลูกน้อย

เมย์อยากให้คุณพ่อคุณทุกคนรู้จักอาการ Temper tantrum หรืออาการวัยทอง เป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็กวัย 1-4 ขวบ เนื่องจากสมองในการควบคุมอารมณ์ของลูกยังทำงานไม่เต็มที่ ทำให้การแสดงออกทางอารมณ์ของลูกค่อนข้างจะรุนแรง เช่น ร้องอาละวาด โวยวาย ล้มตัว ชักดิ้นชักงอ ร้องไห้ ทำลายของ หรือ การทำร้ายคนอื่น เป็นการแสดงอารมณ์โกรธหรือไม่พอใจออกมาอย่างชัดเจน

เมย์อยากบอกว่าอาการเหล่านี้สามารถป้องกันได้นะคะ เริ่มจากการที่ลูกน้อยจะต้องทำกิจวัตรประจำวันให้สม่ำเสมอ เด็กๆ ชอบอะไรที่เป็นกิจวัตรเหมือนเดิม ที่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ การทำอะไรที่เป็นกิจวัตรอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทานข้าว นอนกลางวัน เข้านอน จะช่วยทำให้ลุกเรียนรู้ว่าเวลาไหนต้องทำอะไรกิจวัตรในแต่ละวันก็จะราบรื่น

เมย์ขอแนะนำแนวทางในการป้องกันอาการวัยทองในเด็ก รวบรวมข้อมูลมาให้ดังนี้ค่ะ

1.ให้ลูกได้มีตัวเลือก
ลูกน้อยเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ จะเริ่มรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร บางครั้งลูกอาจรู้สึกว่าถูกบังคับหากไม่ได้เลือกด้วยตัวเอง การให้ลูกได้เลือกบ้างจะช่วยลดความรู้สึกโดนบังคับได้ เช่น อาจมีของ 2 อย่างให้เลือกทานหรือเลือกเล่น เป็นต้น

2.ให้ลูกได้นอนพักผ่อนเพียงพอ
เด็กๆ ชอบการเล่นเป็นที่สุด จนบางครั้งอาจลืมความง่วงไป แต่คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่ในการจัดตารางการนอนให้เป็นเวลา ทำเป็นกิจวัตรประจำวัน หากลูกล่นจนไม่ได้พักผ่อนจะมีภาวะเหนื่อยสะสมทำให้มีอาการง่วงนอนมากๆ อาจทำให้เกิดอาการ temper tantrum ได้และยากที่จะทำให้สงบลงได้

3.ให้ลูกได้ทานอาหารตามเวลา
ลูกๆ มักไม่รู้ตัวว่ารู้สึกหิวตอนไหน จนกระทั่งเห็นอาหาร คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่ให้ลูกได้ทานอาหารตามเวลาที่กำหนดตามมื้อหาร หากลูกรู้สึกหิวมากๆ มักจะทำให้เกิดอาการ temper tantrum ได้ง่ายเช่นกัน เพราะฉะนั้นอย่าให้ลูกหิวจัดนะคะ

4.ให้สัญญาณก่อนการเปลี่ยนกิจกรรม

เด็กๆ มักจะไม่พอใจเมื่อ ถูกบอกให้หยุด!! หรือต้องออกจากกิจกรรมที่กำลังสนุกสนานอยู่ ส่งผลให้เมื่อต้องเปลี่ยนกิจกรรมกระทันหันลูกมักจะเกิดอาการ temper tantrum ได้ง่าย เมย์ขอแนะนำเทคนิคในการป้องกันแบบนี้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่ต้องแจ้งลูกล่วงหน้า ว่าจะมีการหยุดเล่น หรือเปลี่ยนกิจกรรม เช่น เดี๋ยวเราจะเล่นต่ออีก 5 นาที แล้วเราจะไปทานข้าวนะคะ หรือ ฟังเพลงนี้จบเราจะไปอาบน้ำกันนะคะ เป็นต้น การแจ้งล่วงหน้าจะทำให้เค้าได้รู้ว่าอะไรจะกำลังจะเกิดขึ้น และสามารถเข้าใจได้ง่ายกว่า

5.หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นอาการ
เด็กแต่ละคนอาจมีตัวกระตุ้นอาการ temper tantrum ที่แตกต่างกัน เช่น อาการง่วง อาการหิว หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตลูกน้อยของคุณในทุกวัน ก็พอจะเดาอาการได้ ให้พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำให้เกิดอาการเหล่านั้นล่วงหน้า จะช่วงลดอาการ temper tantrum หรืออาการวัยทองของลูกน้อยได้ค่ะ

6.หลีกเลี่ยงการห้าม
ลูกมักจะรู้สึกไม่พอใจหากถูกห้ามทำอะไรบ่อยๆ ให้เปลี่ยนมาเป็นการบอกว่าเค้าว่าควรทำยังไงแทน เช่น เมื่อลูกกำลังจะปีนโต๊ะ ต้องเลี่ยงคำว่า “ห้ามปีนโต๊ะนะ” เปลี่ยนเป็น โต๊ะมันสูงมากหากหนูปีนจะตกเป็นอันตรายได้ ให้แม่ช่วยอุ้มขึ้นหรือไปเอาบันไดมาไหมคะ เป็นต้น จะสามารถป้องกันอาการ temper tantrum ได้

7.ชื่นชมเมื่อทำความดี
เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสมหรือทำความดี พ่อแม่ควรให้การชื่นชมบ่อยๆ เพราะการที่เค้าเรียนรู้พฤติกรรมที่เหมาะสม เค้าจะเริ่มปรับใช้เมื่อเค้าเริ่มมีอารมณ์ของ temper tantrum และสามารถลดอาการเหล่านี้ได้ค่ะ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พ่อแม่ต้องเข้าใจในอาการวัยทองของเด็ก เป็นหนึ่งในพัฒนาการที่ปกติของลูก ลูกอาจจะยังมีอาการเหล่านี้ได้ จนกว่าสมองส่วนที่สามารถควบคุมอารมณ์เติบโตได้อย่างเต็มที่ ระหว่างนี้เมย์อยากให้คุณพ่อคุณแม่เรียนรู้การรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องเจออย่างเหมาะสมค่ะ

ความผิดปกติในพัฒนาการเด็กวัย 1-3 ขวบที่ควรปรึกษาแพทย์

อายุ 18 เดือน หรือ 1.5 ปี

  • เดินไม่ได้ ไม่ขยับกล้ามเนื้อส่วนขา
  • ไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือชี้สิ่งต่างๆ ให้ดู
  • ไม่รู้ว่าสิ่งของที่ใช้เป็นประจำทุกวันคืออะไรหรือใช้เพื่ออะไร
  • ไม่เลียนแบบท่าทางของคนอื่น ๆ
  • ไม่เรียนรู้คำใหม่ๆ หรือรู้คำศัพท์น้อยกว่า 4 คำ ซึ่งไม่รวมคำเรียกพ่อแม่อย่าง ปาป๊า มาม้า ชื่อสัตว์เลี้ยงหรือสิ่งของ
  • ไม่แสดงความสนใจเมื่อพ่อแม่เพิ่งกลับมาหรือดูไม่กังวลเมื่อต้องห่างจากพ่อแม่

อายุ 2 ปี

  • เดินไม่มั่นคงหรือไม่คล่องตัว
  • ยังไม่เริ่มพูดเป็นวลีหรือประโยคสั้น ๆ เช่น กินข้าว กินนม อาบน้ำ เป็นต้น
  • ไม่รู้ว่าสิ่งของที่คุ้นเคยในชีวิตประจำวันใช้ทำอะไร เช่น จาน ชาม ช้อน แปรงสีฟัน เป็นต้น
  • ไม่เลียนแบบพฤติกรรม คำพูด หรือคำศัพท์จากผู้อื่น
  • ไม่สามารถทำตามคำบอกง่าย ๆ เช่น หยิบ จับ พูด เขียน

อายุ 3 ปี

  • มีปัญหาในการเดินขึ้น-ลงบันได
  • มีน้ำลาย น้ำมูก ไหลออกจากจมูกและปาก
  • พูดเป็นประโยคไม่ได้ หรือพูดไม่ชัด จนฟังไม่เป็นภาษา
  • ไม่เข้าใจคำบอกหรือคำแนะนำง่ายๆ เช่น ให้ลองเดินไปหยิบของแต่ไม่เข้าใจ
  • เล่นของเล่นทั่วไปไม่ได้ เช่น ลูกบอล ตัวต่อ
  • ไม่เล่นบทบาทสมมติเป็นผู้อื่น
  • ไม่สบตาพ่อแม่หรือผู้อื่น

ปัญหาการนอนในพัฒนาการเด็กวัย 1-3 ขวบ

ลูกนอนไม่หลับ

อาการของลูกน้อยที่นอนไม่หลับมีจากปัจจัยหลายประการ สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนคือเด็กสามารถหลับได้ด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรฝึกให้ลูกเรียนรู้ที่จะหลับเมื่ออยู่ในสถานการณ์บางอย่าง เช่น ดูดนม อุ้ม หรือเขย่าตัว จนลูกหลับในอ้อมกอดของพ่อแม่ เพราะจะทำให้ลูกไม่เคยฝึกกล่อมตัวเองจนหลับเองได้ ซึ่งต้องปล่อยให้ลูกน้อยได้ฝึกฝนเอง ทั้งช่วงเริ่มต้นของการนอนหลับหรือเมื่อตื่นกลางดึก ไม่ควรรีบสร้างสถานการณ์เดิมๆ แต่ต้องคอยเฝ้าดูอยู่ห่างๆ เพื่อให้ลูกหลับได้เอง

การปรับพฤติกรรม

เมื่อเด็กอายุประมาณ 1 ปี พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกนอนพร้อมกับสิ่งที่จะช่วยให้ลูกสามารถหลับเองได้ เช่น ผ้าห่มผืนโปรดของลูก ตุ๊กตาที่ชอบกอด เป็นต้น โดยพ่อแม่ควรกล่าวชื่นชมลูก เมื่อลูกสามารถหลับเองได้ เมย์ขอย้ำว่าสำคัญที่สุดคือพ่อแม่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อช่วยปรับพฤติกรรมการนอนของลูกให้พัฒนาขึ้นค่ะ

ลูกไม่ยอมเข้านอน

สาเหตุที่ลูกไม่ยอมเข้านอนอาจมีหลายปัจจัย อาจมีผลมาจากสุขภาพหรือสิ่งเร้ากระตุ้นต่างๆ ที่ทำให้ยังไม่อยากนอนตอนนี้ เมย์แนะนำให้พ่อแม่เริ่มฝึกลูกให้นอนอยู่บนที่นอนของเขาตั้งแต่แรก คอยลูบตัว ลูบหลังให้หลับไปเองโดยไม่ต้องอุ้มขึ้นมากล่อมนอน วิธีการนี้ควรเริ่มฝึกตั้งแต่แรกเกิด ทำซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายทารกก็จะเคยชินกับการเข้านอนแบบที่พ่อแม่สอนและเข้านอนได้เองค่ะ

สาเหตุที่ลูกไม่ยอมเข้านอนในช่วงเวลากลางคืน

  • นอนช่วงกลางวันมากเกินไป
  • ลูกไม่ได้ออกกำลังกาย ขยับร่างกายมากเท่าที่ควร
  • ไม่วางกฎเกณฑ์ให้ชัดเจน เช่น ให้ลูกนอนดึกในวันหยุด
  • ให้ลูกกินมื้อดึก จนมีผลเรื่องสุขภาพหรือระบบย่อยอาหาร

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนช่วงกลางวันมากเกินไป ควรพาลูกออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และต้องปรับกิจวัตรก่อนนอนให้ชัดเจน งดกิจกรรมที่เป็นการกระตุ้นหรือเล่นมากเกินไปก่อนเข้านอน สร้างความรู้สึกผ่อนคลาย ในช่วง 20-30 นาทีก่อนเข้านอน เช่น อ่านนิทาน ฟังเพลง หรือพูดคุยกับลูก และให้ลูกเข้านอนในเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ลูกมีนิสัยการนอนที่ดีในอนาคตค่ะ

ในช่วงวัยเริ่มต้นของลูกน้อยพัฒนาการเด็ก 1-3 ขวบ เป็นช่วงเวลาที่มีความหลากหลายเรื่อง พัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา ทำให้เมญ์มองว่าเป็นวัยทองแห่งการเรียนรู้ของเด็กๆ เลยล่ะ ทั้งความคิดที่แปลกใหม่ ความเฉลียวฉลาด และความคิดสร้างสรรค์ ที่พร้อมจะแสดงออกมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นถึงตัวตนของเขา เรามีหน้าที่คอยสนับสนุนและส่งเสริมให้ลูกๆ ปลดปล่อยความเป็นตัวตนออกมาอย่างเต็มที่ เพื่อให้สมองเติบโตอย่างสมบูรณ์และมีพัฒนาการรอบด้านอย่างเต็มศักยภาพ เมย์เชื่อว่าการเลี้ยงลูกไม่มีถูกหรือผิด แค่อยากแนะนำให้เตรียมความพร้อมและเรียนรู้พฤติกรรมของลูกน้อยตามที่คุณหมอแนะนำ จะช่วยให้เข้าใจลูกมากขึ้นและเลี้ยงพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

Reference

  1. Raising Children Network , The Australian Parenting Website
  2. HARVARD T.H .CHAN | School of Public Health

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *